การไหว้
ไหว้ เป็นการทักทายของชาวไทย เพื่อแสดงความเคารพหรือสักการะด้วยการพนมมือเช่นเดียวกับการทำ อัญชลีมุทรา ของวัฒนธรรมอินเดีย ถือเป็นการให้เกียรติและแสดงถึงความมีสัมมาคารวะแก่กันและกัน นอกจากนี้ยังแสดงถึงการขอบคุณ การขอโทษ การยกย่อง หรืออื่น ๆ ตามแต่โอกาส[1] การไหว้จะใช้สองมือขึ้นประนมเหมือนดอกบัวตูมไว้ระหว่างอก นิ้วแนบชิดสนิทกัน ศอกสองข้างแนบชิดลำตัว และยกขึ้นไหว้ในระดับต่าง ๆ โดยใช้มือกับใบหน้าเป็นตัวแบ่งระดับ[2]
การไหว้ยังคงเป็นธรรมเนียมที่สืบเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน กลายเป็นมารยาทพื้นฐานของชาวไทย สำหรับการทักทาย การขอบคุณ[3] บางครั้งการไหว้ขอโทษก็ทำเพื่อให้ตนพ้นจากความผิด[4]
ประวัติ
[แก้]พะนอม แก้วกำเนิด อดีตเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กล่าวว่าการไหว้ เป็นการแสดงออกโดยธรรมชาติของมนุษย์เพื่อแสดงความรักและเคารพต่อกัน[1] วัฒนธรรมการไหว้ของไทย มีมาแต่เมื่อไร ไม่ปรากฏหลักฐาน[1] คาดว่าน่าจะรับมาจากอารยธรรมอินเดียผ่านศาสนาฮินดูและพุทธ ซึ่งมีการประนมมือเช่นเดียวกันนี้มาตั้งแต่ 4,000 ปีก่อน ดังปรากฏหลักฐานเป็นภาพในตราประทับทำจากดินเหนียวของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ[5] ส.พลายน้อย ระบุว่า มีหลักฐานทางโบราณคดีเป็นรูปคนพนมมือบนหินชนวนจากวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย และตุ๊กตาสังคโลกเป็นรูปผู้ชายนั่งพนมมือ แสดงให้เห็นว่าคนไทยรู้จักการไหว้มาช้านานแล้ว[6] ซึ่งเมื่อชาวไทยรับวัฒนธรรมการไหว้มา ก็ได้ปรับปรุงให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต เวลา และสถานที่ จนกลายเป็นขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมหนึ่งของไทย[1][2]
แต่เดิมคนไทยจะทักทายคำพูดต่าง ๆ ร่วมไปด้วย เช่น สบายดีหรือ ไปไหนมา หรือกินข้าวมาหรือยัง[7] ทว่าความหมายบ่งไปเชิงสู่รู้ ฟังดูไม่เหมาะสมนัก[8] กระทั่งพระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เป็นผู้ริเริ่มการทักทายด้วยคำว่า "สวัสดี" เป็นคำทักทายทั้งเมื่อพบหน้าและจากกัน ใช้กันในหมู่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2476 ต่อมาในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้ใช้คำดังกล่าวเป็นคำทักทายเมื่อ พ.ศ. 2481[9][10] ซึ่งคำทักทายนี้จะถูกใช้พูดประกอบการไหว้ อย่างไรก็ตามคำว่า สวัสดี ถือเป็นวาจาอันเป็นมงคลที่มีมาช้านาน ดังปรากฏในจารึกยุคอาณาจักรตามพรลิงค์ เมื่อ พ.ศ. 1773[6] นอกจากหลักฐานจากภาคใต้แล้ว ศิลาจารึกจากภาคเหนือและภาคอีสานก็มีการใช้คำว่าสวัสดี เพราะเป็นถ้อยคำมงคลในพระศาสนา[11]
การปฏิบัติ
[แก้]การไหว้นั้นไม่จำกัดท่วงท่า สามารถไหว้ได้ในหลายอิริยาบถไม่ว่าจะนั่งเก้าอี้ ยืน หรือนั่งกับพื้น[1] กระทำด้วยกิริยาอ่อนน้อมสวยงาม โดยการไหว้ ประกอบด้วยกิริยาสองส่วน ดังนี้[12]
- อัญชลี คือการพนมมือ โดยการพนมมือด้วยการนำมือสองข้างมาประกบกัน กระพุ่มมือคล้ายรูปดอกบัว ไม่แบนราบ พนมมือแนบไว้ระหว่างหน้าอก ปลายนิ้วมือเฉียงพอประมาณหรือเอียง 45 องศา นิ้วทุกนิ้วเรียงชิดสนิทกันไม่กางออกจากกัน ศอกสองข้างแนบชิดติดลำตัวไม่กางศอก[2]
- วันทา คือการไหว้ มีอยู่สามระดับ ในกรณีเพศชายยืนไหว้ ให้ยืนตรง ค้อมตัวลงแล้วยกมือขึ้นไหว้ ให้นิ้วหัวแม่มือตรงตามระดับการไหว้ แล้วกลับมายืนในท่าตรงตามเดิม ส่วนเพศหญิงยืนไหว้ ให้ยืนตรงแล้วถอยเท้าที่ถนัดข้างใดข้างหนึ่งไปข้างหลังเล็กน้อย พร้อมกับย่อตัวแล้วยกมือขึ้นไหว้ ให้นิ้วหัวแม่มือตรงตามระดับการไหว้ จากนั้นให้ลดมือลงแล้วชักเท้ากลับสู่ท่ายืนตรง หรือเพศหญิงจะยืนไหว้แบบเพศชายก็ได้[1][2]
ตามธรรมเนียมไทย เวลาแขกมาบ้านก็ไหว้เจ้าบ้านเพื่อขออนุญาต ครั้นจะขอตัวลาก็ไหว้อีกครั้ง[13] และหากมีการรับของจากผู้อาวุโสกว่า ผู้ด้อยอาวุโสต้องทำการไหว้ก่อนรับของ ถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่ง[14]
สำหรับชาวมุสลิมสามารถไหว้บุคคลได้ เช่นการทำความเคารพครูหรือไหว้ทักทายบุคคลอื่นที่เป็นบุคคลต่างศาสนา[15] แต่ห้ามไหว้สิ่งเคารพอื่น หรือไหว้พร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียน หรือแสดงความเคารพด้วยการกราบไหว้เด็ดขาด เพราะมุสลิมจะบูชาหรือกราบอัลลอฮ์เพียงองค์เดียวเท่านั้น[16] ขณะคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกสามารถไหว้พระสงฆ์ในพุทธศาสนาได้ เพราะเป็นเพศนักบวชควรแก่การเคารพ แต่หากกราบพระจะไม่แบมือ[17] ส่วนพราหมณ์หลวงมีธรรมเนียมการกระหย่งไหว้ ซึ่งมีลักษณะคล้ายการนั่งยอง ก่อนทอดผ้ากราบ แล้วก้มลงกราบเทวรูปจากท่านั่งดังกล่าว[18]
การแบ่งระดับ
[แก้]กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้กำหนดระดับของการไหว้ไว้ 3 ระดับ ดังนี้
- การไหว้ระดับที่ 1 สำหรับไหว้พระรัตนตรัย อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ทั้งยังรวมไปถึงโบราณสถานหรือศาสนสถานอันเนื่องจากพุทธศาสนา ในกรณีที่ไม่สามารถกราบเบญจางคประดิษฐ์ได้ ให้ประนมมือขึ้น ให้นิ้วหัวแม่มือจรดกลางระหว่างคิ้ว นิ้วชี้แตะเหนือหน้าผาก ก้มหน้าขนานกับพื้นพอประมาณ[2] อุปมาว่ารัตนตรัยคือแก้วอันประเสริฐ มีค่าสูงสุด ควรแก่การกราบไหว้[1]
- การไหว้ระดับที่ 2 สำหรับไหว้ผู้มีพระคุณหรือผู้อาวุโส ได้แก่ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ หรือผู้ที่เราเคารพอย่างสูง ให้ประนมมือขึ้น นิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก นิ้วชี้จรดระหว่างคิ้ว[2] อุปมาว่าเป็นบุคคลที่ให้ความเคารพรองจากพระรัตนตรัย เป็นบุคคลที่ให้ลมหายใจ และเป็นบุคคลที่ทำให้มีชีวิตอยู่ในสังคมได้[1]
- การไหว้ระดับที่ 3 สำหรับไหว้บุคคลทั่วไปและบุคคลเสมอกัน วัยไม่สูงกว่าผู้ไหว้ ให้ประนมมือขึ้น หัวแม่มือจรดที่ปลายคาง นิ้วชี้แตะที่จมูก ก้มศีรษะเล็กน้อย[2] อุปมาว่าควรแก่การเคารพรองจากบิดามารดา หรือเป็นบุคคลที่พูดคุยด้วยกันประจำ ควรระวังวาจา[1]
ส่วนการรับไหว้ คือการตอบรับการทักทายจากผู้ด้อยอาวุโสกว่า เพื่อแสดงออกว่าเราให้ความสนใจ ผู้รับไหว้กระพุ่มมือไว้บริเวณหน้าอก ปลายนิ้วชี้อยู่ที่ดั้งจมูก นิ้วหัวแม่มืออยู่บริเวณคาง สายตามองไปที่ผู้ไหว้ด้วยความหวังดี[19] อุปมาว่ามือที่พนมอยู่กลางอกนั้นคือการตอบรับจากใจ[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 "การไหว้ มารยาทไทยที่ควรสืบทอด". กระทรวงวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 Tipvarintorn Imsombat (28 กุมภาพันธ์ 2561). "เอกลักษณ์การไหว้ของไทย". สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ส.พลายน้อย. เกร็ดย่อยร้อยเรื่อง. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2564, หน้า 417
- ↑ Wattanasukchai, Sirinya (7 June 2019). "Simply saying 'sorry' for crimes is not enough" (Opinion). Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 7 June 2019.
- ↑ Chad Greenwood Economics of the Indus Valley Civilization เก็บถาวร 2007-12-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 6.0 6.1 ส.พลายน้อย. เกร็ดย่อยร้อยเรื่อง. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2564, หน้า 411
- ↑ นิตยา กาญจนะวรรณ (เขียน), ชลธิชา สุดมุข (เรียบเรียง) (22 เมษายน 2556). "คำทักทายในภาษาไทย". ราชบัณฑิตยสภา. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ บาราย (9 สิงหาคม 2558). "ที่มาของคำ "สวัสดี"". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "สวัสดี". ราชบัณฑิตยสภา. 3 กุมภาพันธ์ 2555. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Barmé, Scot (1993). Luang Wichit Wathakan and the creation of a Thai identity. Institute of Southeast Asian Studies. p. 176. ISBN 978-981-3016-58-3.
- ↑ ส.พลายน้อย. เกร็ดย่อยร้อยเรื่อง. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2564, หน้า 413
- ↑ "ศาสนา" (PDF). กระทรวงวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-07-08. สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Rajadhon, Phya Anuman (2015). Thai Traditional Salutation (Thai Culture, New Series No. 14 ed.). Bangkok: Fine Arts Department, Ministry of Culture. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-27. สืบค้นเมื่อ 4 May 2018.
- ↑ "มารยาทในการรับของและการส่งของ". กระทรวงวัฒนธรรม. 11 มกราคม 2559. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ "คำตอบจุฬาราชมนตรี (ประเสริฐ มะหะหมัด) เกี่ยวกับปัญหาขัดแย้งในศาสนาอิสลาม จากการรวบรวมโดย ศอ. บต" (PDF). กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-07-06. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "คำตอบ 23 ข้อ ของจุฬาราชมนตรีเกี่ยวกับปัญหาขัดแย้งในศาสนาอิสลาม เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับราชการ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-07-06. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ เสนอ ดำเนินสดวก. "การไหว้ การกราบ ในอัตลักษณ์คาทอลิก". สังฆมณฑลราชบุรี. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (25 มกราคม 2561). "ช้าหงส์และพราหมณ์ "ยองๆ ไหว้" ในพระราชพิธีตรีปวายตรียัมปวาย". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "เรียนรู้มารยาท การไหว้-การกราบ แบบถูกต้อง เหมาะสมแบบไทย ๆ". campus-star.com. 7 พฤษภาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ การทักทายแบบไทย