การรับรู้ความใกล้ไกล
การรับรู้ความใกล้ไกล เป็นสมรรถภาพทางการเห็นในการมองโลกเป็น 3 มิติ และการเห็นว่าวัตถุหนึ่งอยู่ใกล้ไกลแค่ไหน แม้เราจะรู้ว่าสัตว์ก็สามารถรู้สึกถึงความใกล้ไกลของวัตถุ (เพราะสามารถเคลื่อนไหวอย่างแม่นยำหรืออย่างสมควรตามความใกล้ไกล) แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่รู้ว่า สัตว์รับรู้ความใกล้ไกลทางอัตวิสัยเหมือนกันมนุษย์หรือไม่[1]
ความใกล้ไกลจะรู้ได้จากตัวช่วย (cue) คือสิ่งที่มองเห็นต่าง ๆ ซึ่งปกติจะจัดเป็น[2][3]
- ตัวช่วยที่มองเห็นด้วยตาทั้งสอง โดยอาศัยการเห็นเป็น 3 มิติของสองตา ตัวช่วยที่ได้จากสองตารวมทั้งการเห็นเป็น 3 มิติ (stereopsis), การเบนเข้าของตาทั้งสอง (eye convergence), การมองเห็นวัตถุเดียวกันจากมุมมองที่ไม่เหมือนกัน (binocular disparity), และข้อมูลความใกล้ไกลเนื่องด้วยพารัลแลกซ์
- ตัวช่วยที่เห็นด้วยตาเดียว โดยหมายถึงลักษณะต่าง ๆ ที่ปรากฏในสองมิติซึ่งสามารถเห็นได้ด้วยเพียงตาเดียว รวมทั้งขนาด (คือวัตถุที่ไกลจะสร้างมุมสายตาจากบนถึงล่างที่แคบกว่าวัตถุที่ใกล้) ลาย/รายละเอียดของวัตถุ และพารัลแลกซ์เนื่องด้วยการเคลื่อนไหว (motion parallax)
ตัวช่วยจากตาเดียว
[แก้]ตัวช่วยที่เห็นด้วยตาเดียวสามารถให้ข้อมูลความใกล้ไกลแม้เมื่อไม่ได้ใช้สองตามอง โดยรวมหัวข้อต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- พารัลแลกซ์เนื่องด้วยการเคลื่อนไหว (Motion parallax)
- เมื่อผู้มองเคลื่อนที่ การเคลื่อนที่โดยเปรียบเทียบของวัตถุนิ่ง ๆ ที่มองเห็น จะช่วยบอกความใกล้ไกลโดยเปรียบเทียบ ถ้ามีข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางและความเร็วของการเคลื่อนที่ พารัลแลกซ์เช่นนี้จะให้ข้อมูลความใกล้ไกลแบบสัมบูรณ์ ไม่ใช่แค่โดยเปรียบเทียบ[4] ปรากฏการณ์นี้สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อขับรถ เพราะวัตถุที่ใกล้จะผ่านไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่วัตถุไกล ๆ จะดูนิ่ง ๆ สัตว์ที่ไม่เห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตาเนื่องจากลานสายตาของตาทั้งสองไม่ได้มองที่วัตถุเดียวกัน จะมีพฤติกรรมเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้อย่างชัดเจนเทียบกับมนุษย์ (ที่สามารถรู้ความใกล้ไกลด้วยสองตา) เช่น นกบางชนิดจะผงกหัวเพื่อให้ได้ motion parallax และกระรอกจะวิ่งไปในแนวตั้งฉากกับแนวสายตาเพื่อจะรู้ความใกล้ไกล[5]
- ความใกล้ไกลเพราะการเคลื่อนไหวหรือการรับรู้ความใกล้ไกลแบบจลน์ (kinetic depth perception)
- เมื่อวัตถุกำลังเคลื่อนที่เข้ามาใกล้คนที่มองอยู่ ภาพที่ตกลงที่จอประสาทตาจะเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าวัตถุนั้นกำลังวิ่งเข้ามาใกล้ ๆ[6] โดยการเปลี่ยนแปลงของขนาดสิ่งเร้าเทียบกับผู้สังเกตการณ์เช่นนี้ไม่ใช่ทำให้เห็นว่าเพียงแค่กำลังเคลื่อนที่เท่านั้น แต่จะช่วยให้รู้ระยะทางของวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว ดังนั้น ในบริบทนี้ ขนาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นตัวช่วยบอกความใกล้ไกล[7] เมื่อวัตถุที่เคลื่อนไหวเล็กลง ก็จะปรากฏว่าอยู่ห่างไกลขึ้น ส่วนปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกันก็คือ สมรรถภาพของระบบการเห็นในการคำนวณเวลาที่วัตถุจะวิ่งเข้ามาถึงตัว โดยอาศัยอัตราการขยายขนาดในลานสายตา ซึ่งเป็นสมรรถภาพที่มีประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่การขับรถจนถึงการเล่นกีฬา แต่ถ้าจะกล่าวให้แม่นยำ สมรรถภาพเช่นนี้เป็นการคำนวณ "ความเร็ว" ไม่ใช่คำนวณ "ความใกล้ไกล" เช่นเมื่อขับรถ คนขับจะสามารถตัดสินเวลาที่จะมาบรรจบกันโดยอาศัยการรับรู้ความใกล้ไกลแบบจลน์
- ปรากฏการณ์ความใกล้ไกลแบบจลน์ (Kinetic depth effect)
- คือถ้าวัตถุคงรูปที่อยู่นิ่ง ๆ เช่น ลูกบาศก์ที่ทำจากเส้นลวด วางบังแสงหน้าจอกึ่งทึบ เงาของมันจะตกลงอยู่ที่จอ ผู้สังเกตการณ์อีกด้านหนึ่งจะเห็นเงาสองมิติของวัตถุนั้น แต่เมื่อลูกบาศก์หมุน ระบบการเห็นจะสามารถดึงข้อมูลที่จำเป็นเพื่อให้เห็นมิติที่ 3 จากการเคลื่อนไหว แล้วทำให้เห็นเป็นลูกบาศก์ได้ นี่เป็นตัวอย่างของ "ปรากฏการณ์ความใกล้ไกลแบบจลน์"[8] เป็นปรากฏการณ์ที่ก็เกิดด้วยถ้าวัตถุที่หมุนเป็นวัตถุทึบตัน (ไม่ใช่แค่ลายเส้น) ตราบเท่าที่เงาบนจอมีเส้นต่าง ๆ ซึ่งมองเห็นเป็นมุมหรือขอบ และเส้นต่าง ๆ เหล่านี้เปลี่ยนไปทั้งโดยความยาวและโดยทิศทางเมื่อวัตถุกำลังหมุน[9]
- ทัศนมิติ (Perspective)
- เส้นขนานที่วิ่งยาวไปทางด้านหน้าจะดูเหมือนเข้าบรรจบกันในระยะไกล ๆ หรือระยะอนันต์ คุณสมบัติเช่นนี้ทำให้เราสามารถรู้ระยะส่วนต่าง ๆ ของวัตถุหนึ่ง ๆ โดยเปรียบเทียบ หรือระยะโดยเปรียบเทียบของวัตถุต่าง ๆ ในทัศนียภาพได้ ตัวอย่างก็คือ เมื่อยืนอยู่ที่หน้าทางหลวงตรง ๆ แล้วมองไปตามทาง จะเห็นถนนแคบลงเรื่อย ๆ ในระยะห่างออกไปไกล ๆ
- ขนาดโดยเปรียบเทียบ
- ถ้าวัตถุสองอย่างมีขนาดเหมือนกัน (เช่น ต้นไม้สองต้น) แม้ขนาดสัมบูรณ์จะยังไม่รู้ แต่ขนาดโดยเปรียบเทียบก็จะให้ข้อมูลความใกล้ไกลโดยเปรียบเทียบของวัตถุทั้งสอง ถ้ามุมมองจากบนถึงล่างของวัตถุที่ตกลงบนจอประสาทตาของวัตถุหนึ่งใหญ่กว่าอีกวัตถุหนึ่ง (ที่รู้ว่าขนาดเท่ากัน) วัตถุที่มุมใหญ่กว่าก็จะดูใกล้กว่า
- ขนาดที่คุ้นเคย
- เนื่องจากมุมจากบนถึงล่างของภาพวัตถุที่ตกลงบนจอประสาทตาจะลดลงเมื่อไกลออกไป ข้อมูลนี้เมื่อรวมกับความรู้ที่มีก่อนว่าวัตถุมีขนาดเท่าไร จะช่วยกำหนดความใกล้ไกลสัมบูรณ์ของวัตถุ ยกตัวอย่างเช่น คนมักจะคุ้นเคยกับขนาดโดยเฉลี่ยของรถยนต์ ความรู้ที่มีก่อนนี้เมื่อรวมกับข้อมูลเกี่ยวกับมุมมองของภาพที่ตกลงที่จอประสาทตา จะช่วยกำหนดความใกล้ไกลสัมบูรณ์ของรถในทัศนียภาพที่เห็น
- ขนาดสัมบูรณ์
- แม้ขนาดแท้จริงของวัตถุจะไม่รู้และมีแค่วัตถุเดียวที่มองเห็น แต่วัตถุที่เล็กกว่าจะดูไกลกว่าวัตถุที่ใหญ่กว่าเมื่ออยู่ในที่เดียวกัน[10]
- ทัศนมิติเนื่องจากอากาศ
- เนื่องการกระเจิงแสงในบรรยากาศ วัตถุที่อยู่ไกลออกไปจะมีความเปรียบต่างของความสว่างและความอิ่มตัวสีที่ลดลง (คือสว่างน้อยลงและสีจางลง) เพราะเหตุนี้ ภาพจะดูพร่ามัวมากยิ่งขึ้นถ้าวัตถุอยู่ไกลออกไป ในสาขาคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า distance fog (ความพร่าลางเพราะทางไกล) คือ ฉากหน้า/พื้นหน้าจะมีความเปรียบต่างสูง ส่วนฉากหลัง/พื้นหลังจะมีความเปรียบต่างต่ำ ดังนั้น วัตถุที่มีความเปรียบต่างต่าง ๆ กันเทียบกับพื้นหลังจะดูใกล้ไกลต่างกัน[11] สีของวัตถุที่อยู่ไกล ๆ ยังจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเพิ่มขึ้น (เช่น ภูเขาที่อยู่ไกล ๆ) มีจิตรกรชาวยุโรปบางท่าน (เช่น ปอล เซซาน) ที่ใช้สีที่อบอุ่น (เช่น สีแดง สีเหลือง และสีส้ม) เพื่อทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ใกล้ ๆ และสีที่เย็นชากว่า (สีน้ำเงิน สีม่วง สีน้ำเงินอมเขียว) เพื่อแสดงวัตถุที่อยู่ไกลกว่า
- การปรับตาดูใกล้ไกล
- นี่เป็นการปรับตัวทางกล้ามเนื้อ-สายตาเพื่อให้เห็นใกล้ไกล คือ เมื่อเราพยายามมองวัตถุที่อยู่ไกล ๆ กล้ามเนื้อซิลิอารีจะยืดเลนส์ตาออก ทำให้มันบาง และดังนั้น จึงเปลี่ยนความยาวโฟกัสของเลนส์ ความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ ก็จะส่งไปยังเปลือกสมองส่วนการเห็นเพื่อใช้แปลผลความใกล้ไกลของสิ่งที่เห็น แต่กลไกนี้จะให้ข้อมูลความใกล้ไกลในระยะที่น้อยกว่า 2 เมตรเท่านั้น
- การบัง (Occultation)
- นี่เกิดเมื่อภาพที่อยู่ใกล้กว่าบังภาพที่อยู่ไกลกว่า[12] คือ ถ้าวัตถุแรกบังอีกวัตถุหนึ่ง มนุษย์จะเห็นวัตถุแรกว่าใกล้กว่า แต่ข้อมูลนี้ก็เป็นเพียงแค่การจัดลำดับความใกล้ไกลโดยเปรียบเทียบเท่านั้น ส่วนการบังแสง (ambient occlusion) จะอาศัยรูปร่างและลายผิวของวัตถุ ปรากฏการณ์เช่นนี้จะช่วยลดเวลาในการรู้ความใกล้ไกลทั้งในสถานการณ์ตามธรรมชาติและในห้องทดลอง[13][14]
- ทัศนมิติเชิงโค้ง (Curvilinear perspective)
- ที่รอบ ๆ ลานสายตา เส้นขนานจะกลายเป็นเส้นโค้ง เหมือนกับในรูปที่ถ่ายผ่านเลนส์ตาปลา ปรากฏการณ์นี้จะช่วยเพิ่มความรู้สึกว่าอยู่ในเหตุการณ์/สถานการณ์ที่เป็น 3 มิตินั้นจริง ๆ ภาพถ่าย (หรือภาพวาด) ปกติจะไม่ใช้ทัศนมิติเช่นนี้ เพราะได้วางกรอบภาพกำจัดส่วนที่แสดงปรากฏการณ์นี้ออก โดยถือว่าเป็น "ความบิดเบือนของภาพ" แต่จริง ๆ แล้ว "ความบิดเบือน" นี้เป็นไปตามธรรมชาติของแสง และสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพที่เห็นคล้ายกับลักษณะทางทัศนมิติอื่น ๆ ที่เห็นภายในกรอบภาพ ซึ่งให้ข้อมูลความใกล้ไกลเกี่ยวกับภาพ
- รายละเอียด (Texture gradient)
- รายละเอียดของวัตถุที่อยู่ใกล้ ๆ สามารถมองเห็นได้ชัด เทียบกับมองไม่เห็นสำหรับวัตถุที่อยู่ไกล ๆ ยกตัวอย่างเช่น สำหรับถนนกรวด กรวดที่อยู่ใกล้ ๆ สามารถเห็นรูปร่าง ขนาด และสี แต่เมื่อไกลออกไป ก็ไม่สามารถเห็นรายละเอียดเหล่านั้น
- แสงสว่างและเงา
- แสงที่ตกลงที่และสะท้อนจากวัตถุ รวมทั้งเงาที่ทอดจากวัตถุ เป็นตัวช่วยให้สมองกำหนดรูปร่างและตำแหน่งของวัตถุในปริภูมิได้[15]
- ความพร่ามัวในบางส่วนของภาพ
- ความพร่ามัวของภาพตรงที่ไม่ใช่จุดโฟกัส เป็นเทคนิคสามัญในการถ่ายภาพและวิดีโอเพื่อแสดงความใกล้ไกล ซึ่งเป็นตัวช่วยสำหรับตาเดียวแม้จะไม่มีตัวช่วยอื่น ๆ โดยอาจให้ความรู้สึกใกล้ไกลโดยธรรมชาติสำหรับรูปที่มากระทบกับจอประสาทตา เพราะตาของมนุษย์ก็มีขอบเขตจำกัดในการโฟกัสด้วยเหมือนกัน นอกจากนั้นแล้ว ยังมีขั้นตอนวิธีของคอมพิวเตอร์หลายอย่าง ที่สามารถใช้ประมาณความใกล้ไกลอาศัยความพร่ามัวของภาพตรงที่ไม่ใช่จุดโฟกัส[16] แมงมุมกระโดดบางพันธุ์ยังรู้ความใกล้ไกล้โดยอาศัยเทคนิคนี้อีกด้วย[17]
- มุมเงย
- เมื่อมองเห็นวัตถุเทียบกับขอบฟ้า เรามักจะเห็นวัตถุที่ใกล้กับขอบฟ้ามากกว่าว่าไกลกว่า และวัตถุที่อยู่ไกลขอบฟ้ามากกว่าว่าใกล้กว่า[18] นอกจากนั้น วัตถุที่เคลื่อนจากตำแหน่งที่ใกล้กับขอบฟ้า ไปยังตำแหน่งที่สูงหรือต่ำกว่าขอบฟ้า วัตถุนั้นก็จะดูเหมือนว่าเข้ามาใกล้คนดู
ตัวช่วยจากสองตา
[แก้]การเห็นด้วยสองตาจะช่วยให้ข้อมูลความใกล้ไกลของทัศนียภาพ โดยกระบวนการรวมทั้ง
- พารัลแลกซ์ (การเห็นเป็น 3 มิติ, ความต่างที่สองตา, binocular parallax)
- สัตว์ที่มีตาอยู่ด้านหน้า (ไม่ใช่ด้านข้าง) สามารถใช้ข้อมูลจากภาพของวัตถุซึ่งตกลงที่จอประสาทตาทั้งสองข้างซึ่งแตกต่างกันเพื่อตัดสินความใกล้ไกล เพราะภาพสองภาพของทัศนียภาพเดียวกันมีมุมต่างกันเล็กน้อย จึงสามารถใช้มุมสามเหลี่ยมเพื่อกำหนดระยะความใกล้ไกลของวัตถุได้อย่างแม่นยำ คือตาแต่ละข้างจะเห็นวัตถุเดียวกันโดยมีมุมต่างกันเล็กน้อย เพราะตาอยู่ที่ตำแหน่งห่างกันตามแนวนอน ถ้าวัตถุอยู่ไกล ความไม่เหมือนกันของภาพที่ตกลงที่จอประสาทตาทั้งสองจะต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าวัตถุอยู่ใกล้ ความไม่เหมือนกันจะมีมากกว่า ภาพออโตสเตอริโอแกรม (Autostereogram) และภาพยนตร์ 3 มิติต่างก็ใช้เทคนิคนี้
- การเบนตาเข้าหากัน (Convergence)
- นี่เป็นตัวช่วยจากระบบสายตา-กล้ามเนื้อที่ควบคุมการเห็นของตาทั้งสองข้างซึ่งช่วยให้รู้ใกล้ไกล คือเมื่อมองวัตถุเดียวกัน ตาทั้งสองจะโฟกัสที่วัตถุซึ่งทำให้ตาเบนเข้าและยืดกล้ามเนื้อตา (extraocular muscle) เหมือนกับการปรับเลนส์ตาเพื่อดูใกล้ไกล การยืดหดของกล้ามเนื้อจะช่วยกำหนดความใกล้ไกล มุมเบนเข้าจะน้อยกว่าเมื่อดูวัตถุที่ไกล ๆ ปรากฏการณ์นี่จะช่วยสำหรับวัตถุที่ไกลน้อยกว่า 10 เมตร[19]
- เงา 3 มิติที่เห็นจากตาทั้งสองข้าง (Shadow Stereopsis)
- งานศึกษาปี 2532 ได้แสดงว่า ภาพที่ตกที่จอตาทั้งสองข้างซึ่งไม่แตกต่างเนื่องจากพารัลแลกซ์ แต่มีเงาที่แตกต่างกัน จะมองรวมเป็นภาพเดียวและทำให้รู้ความใกล้ไกลของทัศนียภาพได้ โดยนักวิชาการได้ตั้งชื่อปรากฏการณ์นี้ว่า shadow stereopsis ดังนั้น เงานจึงเป็นตัวช่วยกำหนดความใกล้ไกลที่สำคัญเมื่อมองด้วยสองตา[20]
โดยสัมบูรณ์หรือโดยเปรียบเทียบ
[แก้]ในบรรดาตัวช่วยเหล่านี้ การเบนตาเข้าหากัน (Convergence) การปรับตาดูใกล้ไกล และขนาดที่คุ้นเคยเท่านั้นที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความใกล้ไกลแบบสัมบูรณ์ คือบอกระยะทางได้ ส่วนตัวช่วยอย่างอื่น ๆ เป็นข้อมูลโดยเปรียบเทียบ คือ ช่วยบอกว่าวัตถุไหนอยู่ใกล้ไกลกว่ากัน เช่น ความต่างที่สองตาจะให้ข้อมูลโดยเปรียบเทียบเท่านั้น เพราะว่า ขึ้นกับว่าตรึงตาอยู่ตรงที่ใกล้หรือไกล ขนาดความความต่างที่จอตาของวัตถุใกล้ไกลก็จะปรากฏต่าง ๆ กัน จึงทำให้รู้ขนาดโดยเปรียบเทียบเท่านั้น
ทฤษฎีวิวัฒนาการ
[แก้]ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก |
สัตว์กินพืชในที่ราบเปิดส่วนมากโดยเฉพาะสัตว์กีบ จะไม่เห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตาเพราะมีตาอยู่ทางด้านข้าง ซึ่งช่วยให้เห็นภาพปริทัศน์เป็นแพโนรามา เกือบ 360 องศารอบ ๆ ตัว จึงสามารถเห็นสัตว์ล่าเหยื่อที่เข้ามาหาได้ทุกด้าน ส่วนสัตว์ล่าเหยื่อมักจะมีตาทั้งสองข้างมองไปข้างหน้า และเห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตา ซึ่งช่วยให้วิ่งตะครุบหรือเข้าโถมใส่เหยื่อ ส่วนสัตว์ที่ใช้เวลาโดยมากในต้นไม้ก็เห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตาด้วย (เช่นบรรพบุรุษมนุษย์) จึงสามารถบอกความใกล้ไกลได้อย่างแม่นยำเมื่อกระโจนจากกิ่งต้นไม้สาขาหนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่ง
แต่ก็มีนักมานุษยวิทยาเชิงกายภาพที่มหาวิทยาลัยบอสตันที่ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีนี้ โดยยกสัตว์ในต้นไม้อื่น ๆ ที่ไม่เห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตา รวมทั้งกระรอกและนกบางประเภท และได้เสนอทฤษฎีอื่นแทนคือ Visual Predation Hypothesis (สมมติฐานการล่าเหยื่อด้วยตา) ซึ่งอ้างว่า บรรพบุรุษของไพรเมต (รวมทั้งของมนุษย์) เป็นสัตว์ล่าแมลงคล้ายกับทาร์เซียร์ ซึ่งอยู่ใต้ความกดดันทางการคัดเลือกเพื่อให้มีตามองไปข้างหน้าเหมือนกับสัตว์ล่าเหยื่ออื่น ๆ เขายังใช้สมมติฐานนี้อธิบายมือของไพรเมตที่วิวัฒนาการขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งเขาเสนอว่า เป็นการปรับตัวเหมือนกับที่นกล่าเหยื่อใช้กรงเล็บเพื่อจับเหยื่อ
ศิลปะ
[แก้]ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก |
ภาพถ่ายแสดงทัศนมิติ ปกติจะเป็นภาพ 2 มิติที่แสดงความใกล้ไกลที่ไม่มีจริงในภาพ นี่ต่างจากภาพจิตรกรรม ซึ่งอาจใช้คุณสมบัติทางกายภาพบางอย่างของสี เพื่อสร้างความนูนโค้งที่มีจริง ๆ และลักษณะแสดงใกล้ไกลอื่น ๆ ส่วนกล้องดูภาพสามมิติและภาพยนตร์ 3 มิติ ใช้การเห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตาโดยให้คนดูมองภาพสองภาพที่สร้างจากมุมมองสองมุมที่ต่างกันเล็กน้อย
เซอร์ ชาลส์ วีทสโตน เป็นบุคคลแรกที่กล่าวถึงการรับรู้ความใกล้ไกลว่า มาจากการเห็นที่ไม่เหมือนกันของตาทั้งสองข้าง แล้วต่อมาจึงประดิษฐ์กล้องมองภาพสามมิติ (สเตอริโอสโกป) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีเลนส์สองอัน และแสดงภาพถ่ายสองภาพของทัศนียภาพเดียวกันแต่ต่างมุมกันเล็กน้อย เมื่อมองด้วยสองตาผ่านเลนส์ทั้งสอง ก็จะทำให้รู้สึกถึงความใกล้ไกล[21]
นักศิลป์ที่ได้ฝึกมาแล้วจะรู้ถึงวิธีต่าง ๆ ในการแสดงความใกล้ไกล (รวมทั้งสี ความพร่าลางเพราะทางไกล ทัศนมิติ และขนาดโดยเปรียบเทียบ) และใช้พวกมันเพื่อทำงานศิลป์ให้สมจริงมากขึ้น ผู้ชมอาจจะรู้สึกเหมือนกับจะสามารถจับจมูกของคนที่อยู่ในภาพ (เช่นภาพวาดตนเองของแร็มบรันต์) หรือจับผลไม้ในรูป (เช่น ภาพแอปเปิลของเซซาน) หรือเหมือนกับจะสามารถเข้าไปในภาพวาดเพื่อเดิมชมต้นไม้และทัศนียภาพอื่น ๆ
ส่วนรูปภาพแบบบาศกนิยมเป็นไอเดียที่รวมมุมมองหลาย ๆ มุมมองเข้าในภาพวาดเดียว เหมือนกับจะให้เห็นวัตถุที่อยู่ในรูปจากมุมมองต่าง ๆ[22]
โรคที่มีผลต่อการเห็นใกล้ไกล
[แก้]- โรคตา เช่น ตามัว ประสาทตางอกพร่อง (optic nerve hypoplasia) และตาเหล่ อาจทำให้การรู้ใกล้ไกลบกพร่อง
- เพราะโดยนิยาม การรู้ความใกล้ไกลด้วยสองตาต้องมีตาที่ใช้งานได้ทั้งสอง ดังนั้น คนที่มีตาทำงานข้างเดียวก็จะไม่รู้ความใกล้ไกลแบบที่ต้องใช้สองตา
- การรับรู้ความใกล้ไกลต้องเรียนรู้ผ่านกระบวนการอนุมานที่อยู่นอกอำนาจจิตใจ (unconscious inference) ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยหลังจากผ่านช่วงอายุสำคัญในวัยเด็กไป
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Howard, Ian (2012). Perceiving in Depth. New York: Oxford University Press. ISBN 978-0-199-76414-3.
- ↑
Goldstein, EB (2014). Sensation and perception (9th ed.). Pacific Grove, CA: Wadsworth.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Burton, HE (1945). "The optics of Euclid". Journal of the Optical Society of America. 35 (5): 357–372. doi:10.1364/JOSA.35.000357.
- ↑ Ferris, SH (1972). "Motion parallax and absolute distance. Journal of experimental psychology". 95 (2): 258–263.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ Kral, K (2003). "Behavioural-analytical studies of the role of head movements in depth perception in insects, birds and mammals". Behavioural Processes. 64: 1–12.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Swanston, M.C.; Gogel, W.C. (1986). "Perceived size and motion in depth from optical expansion". Perception & Psychophysics. 39 (5): 309–326. doi:10.3758/BF03202998.
- ↑ Ittelson, W.H. (April 1951). "Size as a cue to distance: Radial motion". American Journal of Psychology. 64 (2): 188–202. doi:10.2307/1418666. JSTOR 1418666.
- ↑ Wallach, H.; O'Connell, D.N. (1953). "The kinetic depth effect". Journal of Experimental Psychology. 45 (4): 205–217. doi:10.1037/h0056880. PMID 13052853.
- ↑ Kaufman, Lloyd (1974). Sight and Mind. New York: Oxford University Press. pp. 139–141.
- ↑
- Sousa, R; Brenner, E; Smeets, JBJ (2011). "Judging an unfamiliar object's distance from its retinal image size". Journal of Vision. 11 (9): 10, 1–6.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - Sousa, R; Smeets, JBJ; Brenner, E (2012). "Does size matter?". Perception. 41 (12): 1532–1534.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
- Sousa, R; Brenner, E; Smeets, JBJ (2011). "Judging an unfamiliar object's distance from its retinal image size". Journal of Vision. 11 (9): 10, 1–6.
- ↑ O'Shea, RP; Blackburn, SG; Ono, H (1994). "Contrast as a depth cue". Vision Research. 34 (12): 1595–1604. doi:10.1016/0042-6989(94)90116-3. PMID 7941367.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Johnston, Alan. "Depth Perception". UCL Division of Psychology and Language Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 September 2013. สืบค้นเมื่อ 22 September 2013.
- ↑
Gillam, B; Borsting, E (1988). "The role of monocular regions in stereoscopic displays". Perception. 17 (5): 603–608. doi:10.1068/p170603. PMID 3249668.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Schacter, Daniel L.; Gilbert, Daniel T.; Wegner, Daniel M. (2011). "Sensation and Perception". Psychology (2nd ed.). New York: Worth, Inc. pp. 136–137.
- ↑ Lipton, L. (1982). Foundations of the Stereoscopic Cinema - A Study in Depth. New York: Van Nostrand Reinhold. p. 56.
- ↑ Mather, G (22 February 1996). "Image Blur as a Pictorial Depth Cue". Proceedings: Biological Sciences. 263 (1367): 169–172. Bibcode:1996RSPSB.263..169M. doi:10.1098/rspb.1996.0027.
- ↑ Nagata, Takashi; Koyanagi, M; Tsukamoto, H; Saeki, S; Isono, K; Shichida, Y; Tokunaga, F; Kinoshita, M; Arikawa, K; และคณะ (2012-01-27). "Depth Perception from image defocus in a jumping spider". Science. 335 (6067): 469–471. Bibcode:2012Sci...335..469N. doi:10.1126/science.1211667. PMID 22282813.
- ↑ Carlson, Neil R.; Miller Jr., Harold L.; Heth, Donald S.; Donahoe, John W.; Martin, G. Neil (2010). Psychology: The Science of Behavior (7th ed.). Pearson. p. 187. ISBN 978-0-205-76223-1.
- ↑ Okoshi, Takanori. (2012). Three-dimensional imaging techniques. Elsevier. pp. 387–387. ASIN B01D3RGBGS.
- ↑ Medina, Puerta A (1989). "The power of shadows: shadow stereopsis". J. Opt. Soc. Am. A. 6 (2): 309–311. Bibcode:1989JOSAA...6..309M. doi:10.1364/JOSAA.6.000309. PMID 2926527.
- ↑ Schacter, Daniel L. (2011). Psychology (2nd ed.). New York: Worth, In. p. 151.
- ↑ Robbins, Daniel (1985). Jean Metzinger: At the Center of Cubism. Jean Metzinger in Retrospect. The University of Iowa Museum of Art. p. 22.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
แหล่งอ้างอิงอื่น ๆ
[แก้]- Howard, Ian P.; Rogers, Brian J. (2012). Perceiving in Depth. New York: Oxford University Press.
- Palmer, S. E. (1999). Vision science: Photons to phenomenology. Cambridge, MA: Bradford Books/MIT Press.
- Pirazzoli, G.P. (2015). Le Corbusier, Picasso, Polyphemus and Other Monocular Giants / e altri giganti monòculi. Firenze, Italy: goWare.
- Pinker, Steven (1997). "The Mind's Eye". How the Mind Works. pp. 211–233. ISBN 0-393-31848-6.
- Sternberg, RJ; Sternberg, K; Sternberg, K (2011). Cognitive Psychology (6th ed.). Wadsworth Pub Co.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - Purves, D; Lotto, B (2003). Why We See What We Do: An Empirical Theory of Vision. Sunderland, MA: Sinauer Associates.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - Steinman, Scott B.; Steinman, Barbara A.; Garzia, Ralph Philip (2000). Foundations of Binocular Vision: A Clinical Perspective. New York: McGraw-Hill Medical. ISBN 0-8385-2670-5.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Depth perception example เก็บถาวร 17 สิงหาคม 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน | GO Illusions.
- Monocular Giants
- What is Binocular (Two-eyed) Depth Perception?
- Why Some People Can't See in Depth
- Space perception เก็บถาวร 22 กรกฎาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน | Webvision.
- Depth perception เก็บถาวร 24 มีนาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน | Webvision.
- Make3D.
- Depth Cues for Film, TV and Photography เก็บถาวร 14 มีนาคม 2015 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน