กวางผาจีน
กวางผาจีน | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Artiodactyla |
วงศ์: | Bovidae |
วงศ์ย่อย: | Caprinae |
สกุล: | Naemorhedus |
สปีชีส์: | N. gariseus |
ชื่อทวินาม | |
Naemorhedus griseus Milne-Edwards, 1871 | |
ชื่อพ้อง[1] | |
กวางผาจีน หรือ กวางผาจีนถิ่นใต้[2] (อังกฤษ: Chinese goral, South China goral[2]) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกสัตว์กีบคู่ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Naemorhaedus griseus อยู่ในวงศ์ Bovidae
ลักษณะ
[แก้]มีรูปร่างหน้าตาคล้ายแพะ มีหูยาว ขนตามลำตัวหยาบและหนามีสีเทาหรือน้ำตาลเทา มีแถบสีดำพาดอยู่กลางหลัง ตัวเมียจะมีสีขนอ่อนกว่าตัวผู้ บริเวณลำคอด้านในมีขนสีอ่อน ริมฝีปากและรอบ ๆ ตาสีขาว เขาสั้นมีสีดำ ตัวผู้จะมีเขาที่หนาและยาวกว่าตัวเมีย มีความยาวลำตัวและหัว 82–120 เซนติเมตร ความยาวหาง 7.5–20 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ 50–60 เซนติเมตร น้ำหนัก 22–32 กิโลกรัม ผสมพันธุ์ในเดือนตุลาคม–ธันวาคม ใช้เวลาตั้งท้องนาน 6–7 เดือน ออกลูกครั้งละ 1–2 ตัว เป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่าย เมื่อตกใจจะส่งเสียงร้องสั้นและสูงเป็นสัญญานเตือนภัยถึงตัวอื่น ๆ ในฝูง ใช้ประสาทการมองมากกว่าการดมกลิ่นหรือฟังเสียง ซึ่งต่างจากสัตว์กินพืชทั่วไป มักออกหากินตามทุ่งหญ้าโล่งในเวลาก่อนพระอาทิตย์ตกดินจนถึงเวลาเช้าตรู่ กินอาหารได้แก่ หญ้า, ยอดอ่อนของใบไม้, รากไม้ และลูกไม้เปลือกแข็งจำพวกก่อเป็นอาหารหลัก แม้จะอยู่ในเทือกเขาสูง แต่สามารถว่ายน้ำได้ดีเหมือนเลียงผา และเคยมีรายงานว่า เคยลงมากินน้ำและว่ายข้ามแม่น้ำ มีอายุเต็มที่ 11 ปี [3]
การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย
[แก้]มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ตะวันออกของรัฐสิกขิมและรัฐอัสสัมของอินเดีย ภาคกลางและภาคใต้ของจีน, พม่า, ภาคเหนือของไทยและลาว
มักอาศัยและหากินรวมกันเป็นฝูงตามทุ่งหญ้าบนภูเขาและชะง่อนผาบนเทือกเขาสูง ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000–4,000 เมตร ฝูง ๆ หนึ่งจะมีสมาชิกประมาณ 4–12 ตัว และแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย คือ[4]:
- N. g. evansi (Lydekker, 1902) รัฐยะไข่และปะโคะกูในพม่า, ไทย และเป็นไปได้ว่าอาจพบได้ที่ลาว[5]
- N. g. griseus (Milne-Edwards, 1871) พบในหลายมณฑลทางพื้นที่ภาคตะวันออกของจีน, ตะวันตกของพม่า, ตะวันออกของบังกลาเทศ, ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย (ทางด้านตะวันออกและใต้ของแม่น้ำพรหมบุตร) และตะวันออกเฉียงเหนือของไทยรวมถึงพื้นที่บริเวณอ่าวตังเกี๋ยของเวียดนาม และลาว แต่ข้อมูลนี้ยังไม่เป็นที่ยืนยัน [6]
การอนุรักษ์
[แก้]สถานภาพของกวางผาจีน ปัจจุบันเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว ในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ปัจจุบัน พบว่ามีเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวที่ดอยม่อนจอง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีชื่อเรียกของผู้คนในท้องถิ่นว่า "ม้าเทวดา" เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ลึกลับ หายากมาก และเมื่อพบเห็นตัวก็จะหลบหนีไปด้วยความรวดเร็ว[7] โดยถูกล่าเพราะมีความเชื่อว่าน้ำมันจากกะโหลกของกวางผาจีนมีคุณสมบัติทางยาสมานกระดูกรักษาโรคไขข้ออักเสบได้เหมือนกับของเลียงผา[8]
โดยมีการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย คือ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยทำการเพาะเลี้ยงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เริ่มจากพ่อแม่พันธุ์เพียง 2 ตัว ชื่อ "ม่อนจอง" และ"ซีเกมส์" ที่ได้รับมาจากศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 ได้มีการปล่อยกวางผาจีนที่เพาะขยายพันธุ์ได้สู่ธรรมชาติทั้งหมด 9 ตัว และมีการติดปลอกคอวิทยุเพื่อทำการติดตามศึกษาต่ออีกด้วย[8]
- เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2560 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยข่าวดีว่าแนวโน้มประชากรกวางผาในพื้นที่ดอยเชียงดาว ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อำเภอเชียงดาว, จังหวัดเชียงใหม่ สำรวจพิกัดจำนวน15จุด ในความสูงมากกว่า 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พบกวางผาจำนวน 90 ตัว โดยแยกเป็นตัวเต็มวัย65ตัว ตัวไม่เต็มวัย17ตัว และลูกเล็ก8ตัว นับเป็นประชากรที่มากที่สุดตั้งแต่การสำรวจของพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาว
หมายเหตุ
[แก้]กวางผาที่พบในประเทศไทยนั้นเดิมเคยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Naemorhedus caudatus ซึ่งเป็นกวางผาชนิดที่พบได้ไกลถึงเอเชียตะวันออกเช่น จีน, ญี่ปุ่น และคาบสมุทรเกาหลี รวมถึงบางส่วนในไซบีเรียด้วย ต่อมาเมื่อมีการระบุชนิดเพื่อออกชื่อในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ได้เปลี่ยนไปเป็น N. griseus อย่างในปัจจุบัน[7][1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Duckworth JW, Steinmetz R & Rattanawat Chaiyarat (2008). Naemorhedus caudatus. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 2009-01-22.
- ↑ 2.0 2.1 "ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามราชกิจจานุเบกษา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. October 18, 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-09-01. สืบค้นเมื่อ 2013-10-18.
- ↑ กองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน. กรุงเทพฯ : ไซรัสการพิมพ์, 2543. 256 หน้า. ISBN 978-9749-906-651
- ↑ "Naemorhedus griseus". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. สืบค้นเมื่อ 12 July 2016.
- ↑ "Subspecies Sheet". planet-mammiferes. สืบค้นเมื่อ July 12, 2016.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Fiche Espèce". planet-mammiferes. สืบค้นเมื่อ July 12, 2016.[ลิงก์เสีย]
- ↑ 7.0 7.1 กวางผา ม้าเทวดาแห่งหุบผาป่าดอยม่อนจอง เก็บถาวร 2015-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 8.0 8.1 "'กวางผา' หรือ 'ม้าเทวดา' ณ ดอยม่อนจอง". วอยซ์ทีวี. December 25, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-07. สืบค้นเมื่อ July 12, 2016.