ข้ามไปเนื้อหา

กระดูกฮาเมต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระดูกฮาเมต
(Hamate bone)
กระดูกฮาเมตจากข้อมือซ้าย
รายละเอียด
ข้อต่อมีข้อต่อกับกระดูก 5 ชิ้น ได้แก่
ด้านต้นกับกระดูกลูเนท
ด้านปลายกับกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 4 และ 5
ด้านใกล้กลางกับกระดูกไตรกีตรัล
ด้านข้างกับกระดูกแคปปิเตต
ตัวระบุ
ภาษาละตินos hamatum
MeSHD051225
TA98A02.4.08.012
TA21259
FMA23730
ศัพท์ทางกายวิภาคของกระดูก

กระดูกฮาเมต (อังกฤษ: hamate bone or unciform bone) เป็นกระดูกที่อยู่ในข้อมือของมนุษย์ซึ่งมีลักษณะเด่นคือมีรูปร่างคล้ายลิ่ม และทีส่วนยื่นของกระดูกที่มีรูปร่างคล้ายตะขอออกมาจากพื้นผิวด้านฝ่ามือ กระดูกนี้เป็นกระดูกข้อมือ (carpus) ในแถวหลังที่วางตัวอยู่ทางด้านใกล้กลาง (ด้านนิ้วก้อย) ซึ่งมีฐานอยู่ด้านล่างติดกับกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 4 และ 5 ส่วนยอดชี้ขึ้นด้านบนและไปทางด้านข้างลำตัว

รากศัพท์ของชื่อกระดูกมาจากภาษาละติน hamus แปลว่า ตะขอ

พื้นผิว

[แก้]

พื้นผิวด้านบน (superior surface) ซึ่งเป็นยอดของลิ่ม มีลักษณะแคบ นูน เรียบ และเกิดเป็นข้อต่อกับกระดูกลูเนท (lunate)

พื้นผิวด้านล่าง (inferior surface) เป็นหน้าประกบเว้า แบ่งเป็นหน้าประกบ 2 อันโดยสันนูน ซึ่งเกิดเป็นข้อต่อกับกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 4 และ 5

พื้นผิวด้านหลัง (dorsal surface) เป็นรูปสามเหลี่ยมที่ขรุขระ สำหรับเป็นจุดเกาะของเอ็นต่างๆ

พื้นผิวด้านฝ่ามือ (volar surface) ด้านล่างและด้านอัลนา (ด้านนิ้วก้อย) มีลักษณะโค้งและมีส่วนยื่นคล้ายตะขอ เรียกว่า ฮามิวลัส (hamulus) ซึ่งชี้ไปทางด้านหน้าและด้านข้าง

พื้นผิวด้านใกล้กลาง (medial surface) เกิดเป็นข้อต่อกับกระดูกไตรกีตรัล (triangular bone) โดยหน้าประกบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วิ่งเฉียงในจากด้านบนลงมาด้านล่างและด้านใกล้กลาง

พื้นผิวด้านข้าง (lateral surface) ส่วนด้านบนและด้านหลังเกิดข้อต่อกับกระดูกแคปปิเตต (capitate) ส่วนที่เหลือขรุขระสำหรับเป็นจุดเกาะของเอ็น

ความสำคัญทางคลินิก

[แก้]

เนื่องจากลักษณะการวางตัวที่ค่อนข้างอยู่ทางด้านนอกของข้อมือ กระดูกฮาเมตจึงจัดว่าเป็นกระดูกที่หักได้ง่ายที่สุดในบรรดากระดูกข้อมือ โดยเฉพาะเมื่อนักกอล์ฟหวดไม้กอล์ฟลงบนพื้นแข็งๆ รอยแตกของกระดูกนี้เป็นรอยแตกแบบ hairline fracture ซึ่งมักจะมองไม่เห็นในภาพเอกซ์เรย์ทั่วไป

อาการจะสังเกตได้จากการกดเจ็บเหนือกระดูกชิ้นนี้ และอาจรู้สึกเจ็บเมื่อกำมือ นอกจากนี้เนื่องจากกระดูกฮาเมตวางตัวอยู่ใกล้กับเส้นประสาทอัลนา (Ulnar nerve) จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสียหายกับเส้นประสาท ทำให้กล้ามเนื้อของมืออ่อนแรง และเสียความรู้สึกของฝ่ามือในบริเวณนิ้วนางและนิ้วก้อย

ภาพอื่นๆ

[แก้]