อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Vienna Convention on the Law of Treaties)
อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา
  ให้สัตยาบันแล้ว
  ลงนามอย่างเดียว
วันลงนาม23 พฤษาภคม ค.ศ. 1969
ที่ลงนามกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
วันมีผล27 มกราคม ค.ศ. 1980
เงื่อนไขได้รับสัตยาบันจากรัฐสามสิบห้ารัฐแล้ว[1]
ผู้ลงนามหนึ่งร้อยยี่สิบหก
ภาคีหนึ่งร้อยสิบเอ็ด (เมษายน ค.ศ. 2011)
ผู้เก็บรักษาเลขาธิการสหประชาชาติ
ภาษาจีน, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย และสเปน[1]

อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา (อังกฤษ: Vienna Convention on the Law of Treaties) เป็นสนธิสัญญาเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองในเรื่องสนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างรัฐกับรัฐ โดยเป็นการนำกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศมาประมวลไว้ให้เป็นลายลักษณ์อักษร

อนุสัญญาฯ นี้เป็นที่ตกลงรับในวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1969[2] เปิดให้ลงลายมือชื่อในวันรุ่งขึ้น[1] และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1980[1] นับตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 2011 สืบมา มีรัฐหนึ่งร้อยสิบเอ็ดรัฐให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาฯ นี้แล้ว[3]

ประวัติ[แก้]

คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission) แห่งสหประชาชาติ เริ่มยกร่างอนุสัญญาฯ นี้ใน ค.ศ. 1949[2] ในช่วงนั้น ผู้เสนอรายงานการประชุมพิเศษ (special rapporteur) ของคณะกรรมาธิการ ประกอบด้วย เจมส์ เบรียร์ลี (James Brierly), เซอร์เฮิร์ช เลาเทอร์แพชต์ (Hersch Lauterpacht), เซอร์เจอรัลด์ ฟิตซ์เมารีซ (Gerald Fitzmaurice) และ ฮัมฟรีย์ วาลด็อก (Humphrey Waldock)[2] ได้นำเสนอร่างเป็นหลายฉบับและมีการอภิปรายถกเถียงกันหลายยก[2] ใช้เวลายกร่างกว่ายี่สิบปี ใน ค.ศ. 1966 คณะกรรมาธิการจึงตกลงรับร่างซึ่งประกอบด้วยข้อบทเจ็ดสิบห้าข้อเป็นร่างฉบับสุดท้าย[4] มีการประชุมตกลงรับข้อบทแห่งอนุสัญญาฯ นี้ใน ค.ศ. 1968 และ 1969 ที่กรุงเวียนนา ครั้นวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1969 ที่ประชุมสหประชาชาติที่กรุงเวียนนาก็ได้ตกลงรับข้อบทนั้น และเปิดให้ลงลายมือชื่อกันในวันถัดมาทีเดียว[2][4]

เนื้อหาและผล[แก้]

อนุสัญญาฯ นี้ประมวลเอารากฐานแห่งกฎหมายระหว่างประเทศร่วมสมัยเข้าไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้นิยามของคำว่า "สนธิสัญญา" ไว้ว่า คือ "ความตกลงอันทำขึ้นระหว่างรัฐกับรัฐ เป็นลายลักษณ์อักษร และอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ" กับทั้งยืนยันว่า "รัฐทุกรัฐย่อมมีความสามารถทำสนธิสัญญา" ชาติส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะได้เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาฯ นี้หรือไม่ ต่างยอมรับว่า อนุสัญญาฯ นี้เป็น "สนธิสัญญาแห่งเหล่าสนธิสัญญา" อันหาที่เปรียบมิได้ โดยอนุสัญญาฯ นี้ทำหน้าที่เป็นแนวทางอันทรงอำนาจสำหรับการเกิดและผลของสนธิสัญญาบรรดามี

ขอบข่าย[แก้]

ขอบข่ายการใช้บังคับของอนุสัญญาฯ นี้มีจำกัด โดยอนุสัญญาฯ นี้ใช้บังคับแก่สนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างรัฐเท่านั้น ไม่ใช้แก่ที่ทำขึ้นระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศ หรือระหว่างองค์การระหว่างประเทศด้วยกันเอง แต่ว่าเกณฑ์ใดที่ปรากฏไว้ในอนุสัญญาฯ นี้ และผูกพันกับองค์การดังกล่าวตามกฎหมายอื่น ก็ยังคงผูกพันเช่นนั้นอยู่[5] อนึ่ง อนุสัญญาฯ นี้ยังใช้บังคับแก่สนธิสัญญาที่ทำขึ้นโดยรัฐภายในองค์การระหว่างรัฐบาล กับรัฐภายในองค์การระหว่างรัฐบาล ด้วยกันเอง[6] ส่วนความตกลงระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศ หรือระหว่างองค์การระหว่างประเทศด้วยกันเองนั้น จะอยู่ในบังคับแห่ง อนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญาระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศฯ ที่สำคัญ อนุสัญญาฯ นี้ไม่ใช้บังคับแก่ความตกลงที่มิใช่ทำเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ความตกลงแบบสุภาพบุรุษ (gentleman's agreement)[5]

รัฐภาคี[แก้]

บัดนี้ มีรัฐหนึ่งร้อยสิบเอ็ดรัฐให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาฯ นี้

ส่วนรัฐที่ลงลายมือชื่อไปแต่ยังมิให้สัตยาบัน ได้แก่ อัฟกานิสถาน, โบลิเวีย, กัมพูชา, เอลซัลวาดอร์, เอธิโอเปีย, กานา, อิหร่าน, ไอวอรีโคสต์, เคนยา, มาดากัสการ์, เนปาล, ปากีสถาน, ตรินิแดดและโตเบโก, สหรัฐอเมริกา และ แซมเบีย

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Vienna Convention on the Law of Treaties, pg. 1
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 untreaty.un.org, Law of treaties, International Law Commission, last update: 30 June 2005. Consulted on 7 December 2008.
  3. treaties.un.org, Status of Vienna Convention on the Law of Treaties เก็บถาวร 2013-10-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. 4.0 4.1 Brownlie, Ian (1998). Principles of Public International Law (5th ed.). Oxford University Press. pp. 607–08. ISBN 0-19-876299-2.
  5. 5.0 5.1 Article 3 of the Convention.
  6. Articles 2 and 5 of the Convention