ตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Legend of the Galactic Heroes)
ตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี
ปกภาครีเมคในปี 2018
銀河英雄伝説
(Ginga Eiyū Densetsu)
แนวสเปซโอเปร่า, การทหาร, การเมือง, วิทยาศาสตร์
นวนิยายชุด
เขียนโดยโยชิกิ ทานากะ
สำนักพิมพ์Tokuma Shoten
วางจำหน่ายตั้งแต่30 พฤจิกายน 198215 พฤจิกายน 1987
จำนวนเล่ม10 เล่ม
โอวีเอ
Legend of the Galactic Heroes
กำกับโดยโนโบรุ อิชิงูโระ
ดนตรีโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีวิทยุเบอร์ลิน
สตูดิโอArtland
ฉาย ธันวาคม 1988 มีนาคม 1997
ความยาว25 นาที (ตอนละ)
ตอน110 ตอน
อนิเมะโรง
  • My Conquest is the Sea of Stars (1988)
  • Golden Wings (1992)
  • Overture to a New War (1993)
โอวีเอ
LOGH Gaiden
สตูดิโอJ.C.Staff
ฉาย 1998 2000
ตอน24+28
อนิเมะนวนิพนธ์
  • DIE NEUE THESE - Encounter (2018)
  • DIE NEUE THESE - Stellar War (2019)
  • DIE NEUE THESE - Clash (2022)
  • DIE NEUE THESE - Intrigue (2022)
icon สถานีย่อยการ์ตูนญี่ปุ่น

ตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี (ญี่ปุ่น: 銀河英雄伝説, เยอรมัน: Die Legende der Sternhelden ,อังกฤษ: Legend of the Galactic Heroes) เรียกย่อว่า กินเอย์เด็น หรือ LOGH เป็นวรรณกรรมบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ แต่งโดยดร.โยชิกิ ทานากะ เริ่มตีพิมพ์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1982

ตำนานวีรบุรุษกาแล็กซีเป็นนิยายที่มียอดขายสูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับห้าของญี่ปุ่น[1] จุดเด่นและเอกลักษณ์ของเรื่องนี้อยู่ที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ ซึ่งถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบที่คล้ายกับการศึกษาพงศาวดารและบทวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นรูปแบบการนำเสนอที่ไม่มีนิยายเรื่องใดเคยนำเสนอมาก่อน

วรรณกรรมนี้ถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะวางจำหน่ายแบบวิดีโอเทประหว่างปี 1988 ถึง 1997 ซึ่งกลายเป็นโอวีเอที่มีความยาวที่สุดจนถึงปัจจุบัน[2] ตำนานวีรบุรุษกาแล็กซีได้รับเรตติ้งเป็นอันดับหนึ่งในตารางของฐานข้อมูล AniDB[3]และได้รับการยกย่องโดยหลายสำนักให้เป็นอนิเมะที่ดีที่สุดตลอดกาลของแนวสเปซโอเปร่า[4][5][6] แนวการทหาร[7][8] และแนวการเมือง ซึ่งส่งอิทธิพลต่อการแต่งอนิเมะในเวลาถัดมาอย่างเช่น 12 อาณาจักรเทพยุทธ์ และ โค้ด กีอัส

การเมืองในตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี มักถูกสรุปว่าเป็นการปะทะระหว่างระบอบเผด็จการกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการสรุปแต่ผิวเผินและไม่ถูกต้องมากนัก แก่นแท้ของมันคือการปะทะระหว่างระบอบเผด็จการหลายรูปแบบ: เผด็จการอภิชนาธิปไตย, เผด็จการธรรมาธิปไตย, เผด็จการมวลชนาธิปไตย และเผด็จการเสนาธิปไตย โดยที่มีรัฐชาติทุนนิยมได้ประโยชน์จากความขัดแย้งดังกล่าว

การทหารในตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี อยู่ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีสเตลธ์และการกวนคลื่นถูกพัฒนาถึงขีดสุด ปฏิบัติการสงครามจึงต้องกลับไปพึ่งกลวิธีโบราณ ตามแบบที่ปรากฏในพิชัยสงครามสมัยโบราณ หลักการทหารในตำนานวีรบุรุษกาแล็กซีแบ่งออกเป็นสองแนวคิดหลัก จักรวรรดิกาแล็กซีมีความโน้มเอียงไปทางแนวคิดของเคลาเซอวิทซ์ ซึ่งสนับสนุนการทำลายข้าศึกให้มากที่สุดโดยไม่แบกรับความเสี่ยงมากเกินไป ขณะที่เสรีพันธมิตรดาวเคราะห์มีความโน้มเอียงไปทางแนวคิดของซุนวู ซึ่งสนับสนุนการชนะศึกโดยไม่ต้องปะทะข้าศึก

ภูมิหลัง[แก้]

สงครามกาแล็กซีครั้งที่หนึ่ง[แก้]

มนุษยชาติรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวภายใต้รัฐบาลเอกภาพเมื่อคริสต์ศักราช 2129 โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่บริสเบน พวกเขาจัดตั้งกระทรวงอวกาศ และตั้งฐานสำรวจบนดาวเคราะห์ไอโอเมื่อปี 2166 ต่อมาเมื่อทฤษฎีการเดินทางเร็วกว่าแสงของดร.ยาโนเชอร์ได้รับการพิสูจน์ในปี 2360 ยุคแห่งการย้ายถิ่นฐานสู่ระบบดาวอื่นจึงเริ่มขึ้นในปี 2404 อย่างไรก็ตาม อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจยังคงถูกผูกขาดโดยดาวโลก บรรดาดาวนิคมต่างสั่งสมความไม่พอใจ และปะทุเป็นสงครามกาแล็กซีครึ่งที่หนึ่งระหว่างดาวโลก กับสหภาพดาวนิคมที่นำโดยระบบดาวซิริอุสในปี 2689 ถึง 2704 และจบลงด้วยชัยชนะของซิริอุส ดาวโลกหมดสิ้นอำนาจทางเศรษฐกิจ-การเมืองและกลายเป็นดาวเคราะห์ที่ถูกลืม กลุ่มทหารรับจ้างในสงครามครั้งนี้ก็ผันตัวเป็นสลัดอวกาศ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2706 นายพาล์มเกร็น ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งการปลดปล่อยและเป็นผู้นำสูงสุดของซิริอุส ป่วยตายกะทันหัน นายกรัฐมนตรีทาวเซนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่บิดาผู้สร้างชาติ กำจัดผู้สร้างชาติสองคนที่เหลือ และกลายเป็นเผด็จการ แต่ในปีถัดมา ทาวเซนต์ถูกลอบสังหารโดยระเบิดนิวตรอน การตายของทาวเซนต์ซึ่งผู้ขาดอำนาจทั้งหมด ส่งผลให้เกิดกลียุคแห่งการแก่งแย่งอำนาจและสงครามกลางเมืองยาวนานกว่าเก้าสิบปี

สหพันธ์กาแล็กซี[แก้]

ในปี 2801 มนุษยชาติผ่านพ้นกลียุคและสถาปนาสหพันธ์กาแล็กซี (Galactic Federation) โดยมีดาวหลักอยู่ที่เธโอเรีย ดาวเคราะห์ลำดับสองในระบบดาวอัลดิบาแรน[9] พร้อมประกาศใช้ปีอวกาศที่ 1 ถือเป็นการเริ่ม "ยุคทองแห่งมนุษยชาติ" อย่างไรก็ตาม เมื่อสหพันธ์กาแล็กซีดำรงอยู่สองร้อยกว่าปี ก็เกิดภาวะตกต่ำและชะงักงัน ความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของมนุษย์เสื่อมถอยลง พัฒนาการและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหดหาย

ยุคมืดกินเวลายาวนานเก้าทศวรรษ จนกระทั่งในปีอวกาศที่ 296 รูดอล์ฟ ฟอน โกลเดินบาม อดีตนายทหารยศพลตรีผู้มีชื่อเสียงจากการปราบสลัดอวกาศอย่างราบคาบ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสหพันธ์กาแล็กซี และสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จมากมาย นอกจากรูดอล์ฟจะเป็นนายกรัฐมนตรี ยังอาศัยช่องโหว่ในรัฐธรรมนูญ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีโดยการลงมติของสภาสหพันธ์ ถือเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ต่อมาในปีอวกาศที่ 308 รูดอล์ฟประกาศตนเป็น "กงสุลตลอดชีพ" ผู้มีอำนาจบริหารและตุลาการ

จักรวรรดิกาแล็กซี[แก้]

ปีอวกาศที่ 310 (ค.ศ. 3110) รูดอล์ฟแปรสภาพสหพันธ์กาแล็กซีเป็นจักรวรรดิกาแล็กซี เขาตั้งตัวเป็น "ไคเซอร์ผู้ศักดิ์สิทธิ์และละเมิดมิได้แห่งกาแล็กซี" และประกาศใช้ปีจักรวรรดิที่ 1 การปกครองของรูดอล์ฟมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง สามารถปราบการทุจริตโกงกินอย่างหมดจด รูดอล์ฟมีความเชื่อในหลักสุพันธุศาสตร์ เขามองว่าความอ่อนแอเป็นบาปที่มิอาจอภัยและเป็นต้นตอของความเสื่อมในสังคม สังคมควรจะถูกนำโดยผู้แข็งแรง ทำให้ในจักรวรรดิที่ 9 รูดอล์ฟประกาศใช้ "พ.ร.บ.ขจัดความบกพร่องทางพันธุกรรม" ผู้มีความบกพร่องทางพันธุกรรมและคนยากจนจะถูกบังคับทำหมัน มีการระงับนโยบายสังคมสงเคราะห์ ผู้ป่วยโรคจิตเวชถูกทำการุณยฆาต[9] กฎหมายฉบับนี้ทำให้สมาชิกสภาจักรวรรดิออกมาโจมตีรูดอล์ฟอย่างรุนแรง รูดอล์ฟจึงยุบสภาและปราบปรามผู้วิจารณ์ และตั้งกรมรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อตรวจหาและกำจัดผู้เห็นต่าง ก่อให้เกิดผู้เสียชีวิตกว่าสี่พันล้านคน นอกจากนี้ เขายังจัดตั้งระบบขุนนางเพื่อค้ำจุนราชวงศ์ โดยการเลือกสรรมอบอภิสิทธิ์แก่กลุ่มคนที่เขาคิดว่าเป็น "เลิศชน"

หลังรูดอล์ฟสวรรคตในปีอวกาศที่ 351 (ปีจักรวรรดิที่ 42) หลานตาของรูดอล์ฟได้ครองราชย์เป็นจักรพรรดิซีกิสมุนด์ที่ 1 และเกิดการลุกฮือของพวกสาธารณรัฐนิยมทั่วจักรวรรดิ แต่ก็ถูกทหารและข้าราชการที่รูดอล์ฟเลี้ยงดูปราบปรามราบคาบจนมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยล้านคน ด้วยเหตุนี้ ระบอบการปกครองของจักรวรรดิจึงมีความมั่นคง

เสรีพันธมิตรดาวเคราะห์[แก้]

ปีอวกาศที่ 473 (ปีจักรวรรดิที่ 164) ชายหนุ่มนักสาธารณรัฐนิยมที่ชื่อ อาร์เลอ ไฮเนสเซิน (Arle Heinessen) พร้อมพรรคพวกจำนวนสี่แสนคนหลบหนีจากดาวเคราะห์อัลแทร์ 7 ซึ่งเป็นเสมือนค่ายแรงงานของจักรวรรดิ พวกเขาสร้างยานอวกาศที่ชื่อว่า อีออน ฟาเซคัซท์ จากน้ำแข็งแห้งขนาด 122 กิโลเมตรที่มีอยู่ตามธรรมชาติบนดาวดวงนี้ และทำการหลบหนีไปกบดานที่ดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง พวกเขารวบรวมวัสดุที่จำเป็นและสร้างกองเรืออพยพระหว่างระบบดาวจำนวนแปดสิบลำ แล้วจึงทำการหลบหนีออกจากอาณาเขตจักรวรรดิ พวกเขาร่อนเร่นานหลายปีจนไปถึงห้วงอวกาศส่วนที่ยังไม่เคยถูกพบ (ซึ่งต่อมาเรียกว่าระเบียงอีเซอร์โลน) และสามารถข้ามห้วงอวกาศส่วนนั้นจนไปถึงแขนคนยิงธนู–กระดูกงูเรือ

ในปีอวกาศที่ 527 (ปีจักรวรรดิที่ 218) หลังจากเดินทางกว่าครึ่งศตวรรษเป็นระยะทางกว่าหนึ่งหมื่นปีแสง กองเรืออพยพซึ่งมีประชากรเหลืออยู่หนึ่งแสนหกหมื่นคน ค้นพบดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่เอื้อต่อการตั้งลงหลักปักฐานในระบบดาวแห่งหนึ่ง พวกเขาตั้งชื่อดาวเคราะห์ดวงนั้นว่า "ไฮเนสเซิน" และประกาศสถาปนาเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ พวกเขาถือว่าตนเองคือรัฐผู้สืบทอดโดยธรรมของสหพันธ์กาแล็กซี จึงนำระบบปีอวกาศกลับมาใช้ ถือเป็นการเปิดฉากศตวรรษอันรุ่งโรจน์อีกครั้ง

สงครามกาแล็กซีครั้งที่สอง[แก้]

จักรวรรดิกาแล็กซีในรัชสมัยจักรพรรดิฟรีดริชที่ 3 (รัชกาลที่ 20) ค้นพบระเบียงอวกาศแห่งหนึ่ง จึงข้ามระเบียงดังกล่าวไปถึงแขนคนยิงธนู–กระดูกงูเรือ และค้นพบการดำรงอยู่ของเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ จักรวรรดิจึงประกาศให้อีกฝ่ายเป็นกลุ่มกบฏและรีบจัดตั้งกองกำลังปราบปราม ทั้งสองเปิดฉากสู้รบกันในปีอวกาศที่ 640 (ปีจักรวรรดิที่ 331) ที่ระบบดาวดากอนซึ่งตั้งอยู่ในระเบียงดังกล่าว ในยุทธการครั้งนี้ แม้ว่าจักรวรรดิจะมีจำนวนมากกว่าแต่ก็พ่ายแพ้ยับเยินให้แก่กองทัพเสรีพันธมิตรที่เตรียมตัวรับมือเหตุการณ์เช่นนี้มาเป็นเวลานาน เมื่อข่าวความปราชัยแพร่ไปในจักรวรรดิ ประชาชนที่อดกลั้นต่อการปกครองของจักรวรรดิ ก็หลั่งไหลอพยพไปยังเสรีพันธมิตรหลายระลอก ส่งผลให้ประชากรของเสรีพันธมิตรขยายตัวอย่างก้าวกระโดด

ในปีอวกาศที่ 682 (ปีจักรวรรดิที่ 373) พ่อค้าผู้มั่งคั่งชื่อว่าเลโอโพลด์ ลาพ จากดาวเทร์ร่า (ดาวโลก) เป็นผู้มีหัวคิดกว้างไกล เขาเดินสายโน้มน้าวและติดสินบนผู้มีอำนาจในจักรวรรดิ ทำให้สามารถก่อตั้งแคว้นปกครองตนเองเฟซานในระเบียงเฟซาน หนึ่งในสองเส้นทางที่ใช้ไปมาหาสู่กับเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ เขายอมรับพระราชอำนาจของไคเซอร์เหนือแคว้นเฟซาน แลกกับการได้อำนาจปกครองตนเองและสิทธิในการค้าขายกับจักรวรรดิและเสรีพันธมิตร อย่างไรก็ตาม เฟซานถือว่าเป็นรัฐบริวารที่มีอิสรภาพที่สุดในจักรวรรดิ มีอำนาจปกครองตนเองในทางพฤตินัยอย่างสมบูรณ์ เฟซานวางตัวเป็นกลางระหว่างจักรวรรดิและเสรีพันธมิตร และไม่มีกองทัพเป็นของตนเอง ตำแหน่งบริหารของเฟซานเรียกว่า "ลันเดสแฮร์" (Landesherr) หรือเจ้าแคว้น[9] เนื่องด้วยเฟซานไม่มีรายจ่ายทางทหาร และทำการค้าขายกับสองประเทศ จึงมีความร่ำรวยสะสมมหาศาล และพยายามครอบงำระบบเศรษฐกิจการคลังของทั้งสองประเทศ

ปราการอีเซอร์โลน[แก้]

สงครามที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสนอแนวคิดให้กองทัพเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ ก่อสร้างปราการขนาดใหญ่ไว้ในระเบียงอวกาศ เพื่อเป็นการป้องกันการรุกรานโดยจักรวรรดิ อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวถูกล้มเลิกโดยสมบูรณ์ในสมัยที่พลเอกบรูซ แอชบีย์ เป็นผู้บัญชาการกองเรืออวกาศ เพราะเขามองว่ามันมีราคาแพงเกินไป พลเอกแอชบีย์ตลอดจนคณะนายทหารของเขาได้พิสูจน์ให้เห็นในยุทธการหลายครั้ง ว่าลำพังกองเรือและกลยุทธ์ที่เหมาะสม ก็เพียงพอที่จะป้องกันประเทศ

ความพ่ายแพ้หลายครั้งของกองทัพจักรวรรดิในระเบียงอวกาศ ส่งผลให้จักรพรรดิออทฟรีดที่ 5 (รัชกาลที่ 35) ตัดสินใจอนุมัติให้กองทัพจักรวรรดิทำการก่อสร้างปราการอวกาศขนาดหกสิบกิโลเมตรไว้ที่ระบบดาวอาร์เตน่า ภายในระเบียงอวกาศแห่งดังกล่าวในปีอวกาศที่ 750 การก่อสร้างใช้ระยะเวลายาวนานและงบประมาณบานปลายกว่าที่คิด ในที่สุด ปราการอวกาศก็สร้างเสร็จในปีอวกาศที่ 766 ในสมัยของจักรพรรดิฟรีดริชที่ 4 และได้รับการตั้งชื่อว่า "ปราการอีเซอร์โลน"

นับแต่นั้นเป็นต้นมา กองทัพจักรวรรดิก็ใช้ปราการแห่งนี้เป็นฐานหน้าในการรุกรานเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ กองทัพเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์พยายามทำปฏิบัติการหลายครั้งเพื่อบุกยึดปราการแห่งนี้ แต่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ยับเยินทุกครั้ง

เปิดเรื่อง[แก้]

ยุทธการอัสทาร์ท[แก้]

มกราคม ปีอวกาศ 796 พลเอกอาวุโสไรน์ฮาร์ด ฟอน โลเอินกรัมม์ ผู้บัญชาการกำลังรบนอกไรช์ นำกองเรือ 21,328 ลำเข้ารุกรานระบบดาวอัสทาร์ทของเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ ในการนี้ กองทัพเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์จัดสามกองเรือออกต่อต้าน ซึ่งประกอบด้วยเรือรบทั้งหมด 40,436 ลำซึ่งมีจำนวนในภาพรวมมากกว่ากองเรือจักรวรรดิถึงเท่าตัว นอกจากนี้ สามกองเรือเสรีพันธมิตรยังเข้าหาเพื่อปิดล้อมกองเรือจักรวรรดิจากสามทิศทาง ซึ่งเป็นกลวิธีเคยสำเร็จในยุทธการดากอน คณะเสนาธิการของไรน์ฮาร์ดมองว่าข้าศึกได้เปรียบ และเสนอให้ถอนทัพ แต่ไรน์ฮาร์ดมองว่าแม้ข้าศึกมีจำนวนมากกว่าในภาพรวม แต่ถ้าเทียบกันกองเรือต่อกองเรือ กองเรือจักรวรรดิมีจำนวนมากกว่า ไรน์ฮาร์ดจึงตัดสินใจใช้กลวิธีทำลายทีละส่วนกับกองทัพเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ โดยเริ่มจากทำลายกองเรือที่ 4 ที่อยู่ใกล้สุด

แม้การสื่อสารกับกองเรือที่ 4 ขาดหาย ผู้บัญชาการกองเรือที่ 2 และผู้บัญชาการกองเรือที่ 6 ก็ยังคงยึดติดกับการมุ่งไปสนับสนุนกองเรือที่ 4 และเพิกเฉยคำแนะนำของนายทหารเสนาธิการที่เสนอให้สองกองเรือที่เหลือสนธิกำลังกัน ท้ายที่สุด กองเรือที่ 6 ก็ถูกกองเรือจักรวรรดิทำลาย และในขณะที่ข้าศึกเคลื่อนมาเผชิญกับกองเรือที่ 2 ซึ่งเป็นกองเรือสุดท้ายที่เหลืออยู่ เรือธงกองเรือที่ 2 ถูกปะทะ ผู้บัญชาการกองเรือได้รับบาดเจ็บหมดสติ พลจัตวาหยางเหวินหลี่ รองหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการฯจึงเข้าบัญชาการแทน เนื่องจากเป็นผู้มีลำดับอาวุโสสูงสุดในบรรดานายทหารที่ยังปลอดภัยบนเรือธง พลจัตวาหยางเหวินหลี่บัญชาการรบจนสามารถพลิกจากสภาพเสียเปรียบเป็นเสมอกัน และตกอยู่ในภาวะสงครามพร่ากำลัง ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะรบต่อในภาวะดังกล่าว จึงเลิกรบและผละออกจากกันในที่สุด

ชัยชนะของไรน์ฮาร์ด ทำให้เขาได้รับยศเป็นจอมพลแห่งจักรวรรดิและตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองเรืออวกาศจักรวรรดิ ทางด้านของหยางเหวินหลี่ที่สามารถกู้วิกฤต ก็ได้รับยศเป็นยศพลตรีและตำแหน่งผู้บัญชาการกองเรือที่ 13 ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่และมีกำลังเพียงครึ่งเดียวของกองเรือปกติ และภารกิจแรกที่หยางได้รับในฐานะผู้บัญชาการกองเรือ คือการบุกยึดปราการอีเซอร์โลนของจักรวรรดิ

ขั้วอำนาจ[แก้]

ประเทศ จักรวรรดิกาแล็กซี
Galaktisches Reich
เสรีพันธมิตรดาวเคราะห์
Free Planets Alliance
แคว้นเฟซาน
Fezzanland
ดาวหลัก โอดิน (Odin) ไฮเนสเซิน (Heinessen) เฟซาน (Fezzan)
เขตอิทธิพล แขนนายพราน แขนคนยิงธนู–กระดูกงูเรือ ระเบียงเฟซาน
ภาษาทางการ เยอรมัน อังกฤษ เยอรมัน
การปกครอง สหพันธรัฐภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราช ประชาธิปไตยภายใต้ระบบประธานาธิบดี คณาธิปไตย
ก่อตั้งเมื่อ ปีอวกาศ 310 (ค.ศ. 3110) ปีอวกาศ 527 (ค.ศ. 3327) ปีอวกาศ 682 (ค.ศ. 3482)
ประมุขแห่งรัฐ ไคเซอร์ ประธานคณะมนตรีสูงสุด ไคเซอร์
หัวหน้ารัฐบาล นายกรัฐมนตรี ประธานคณะมนตรีสูงสุด เจ้าแคว้น
ประชากร
(ปีอวกาศ 796)
25,000 ล้าน 13,000 ล้าน 2,000 ล้าน
สกุลเงิน ไรชส์มาร์ค (Reichsmark) ดีนาร์ (Dinar) มาร์คเฟซาน (Fezzani Mark)

ตัวละครหลัก[แก้]

เป็นนายทหารจักรวรรดิกาแล็กซี เกิดในตระกูลขุนนางชั้นไรชส์ริทเทอร์ (Reichsritter) หลังจากที่พี่สาวถูกรับเข้าไปเป็นหม่อมในไคเซอร์ เขาก็ตัดสินใจเข้าเรียนเตรียมทหารเพื่อทวงคืนพี่สาว และยังเป็นคนชักชวนเคียร์ชไอส์เข้าเป็นทหารเหมือนเขาด้วย เขาเร่งสร้างผลงานและก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนได้เป็นจอมพลแห่งจักรวรรดิในวัยยี่สิบปี เป็นที่อิจฉาของนายทหารและขุนนางมากมาย
เป็นนายทหารเสรีพันธมิตรดาวเคราะห์ บิดาเป็นเจ้าของเรือพาณิชย์อวกาศลำหนึ่ง หยางเป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก เขาเคยคิดจะศึกษาต่อในภาควิชาประวัติศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย แต่เมื่อบิดาเสียชีวิตโดยไม่ได้ทิ้งอะไรให้นอกจากหนี้ เขาจำต้องเข้าเรียนนายร้อยเพื่อที่จะทำให้เขาสามารถเรียนประวัติศาสตร์ได้ฟรี หยางเป็นคนขี้เกียจและเรียนไม่เก่ง วิชาเดียวที่เขาเก่งคือวิชายุทธคดีศึกษา เขาไม่เคยแพ้ศึกใดๆจนมีฉายาว่า "พ่อมดไร้พ่าย" และก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ความฝันของเขาคือการรีบเกษียณจากองทัพ แล้วเงินใช้บำนาญอย่างสุขสบาย
เป็นนายทหารจักรวรรดิกาแล็กซี เขามีบ้านอยู่ติดกับไรน์ฮาร์ด ทั้งสองจึงเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็ก ทั้งสองเรียนโรงเรียนสามัญแห่งเดียวกัน แต่เมื่อไรน์ฮาร์ดตัดสินใจย้ายไปโรงเรียนเตรียมทหาร ไรน์ฮาร์ดเป็นคนชักชวนเคียร์ชไอส์ให้เข้าโรงเรียนเตรียมทหารด้วย เคียร์ชไอส์คอยอยู่เคียงข้างไรน์ฮาร์ดเสมอ เมื่อไรน์ฮาร์ดประสบความสำเร็จทางหน้าที่การงานก็มักจะดึงเคียร์ชไอส์ตามขึ้นไปด้วยเป็นเงาตามตัว

อนิเมะฉบับดั้งเดิม[แก้]

อนิเมะฉบับดั้งเดิมมีจำนวนตอนภาคหลักถึง 110 ตอนและภาคเสริมอีก 52 ตอน บทเพลงประกอบของฉบับนี้ถูกคัดสรรจากบรรดาผลงานของคีตกวีชื่อก้องโลก ได้รับการบรรเลงและอัดเสียงโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีวิทยุเบอร์ลิน (Rundfunk-Sinfonieorchester Berlin) ถือเป็นบันเทิงคดีที่ใช้เพลงคลาสสิกเป็นเพลงประกอบมากที่สุดของโลก เพลงคลาสสิกประกอบเรื่องนี้มีจำนวนถึง 26 แผ่นซีดี

My Conquest is the Sea of Stars (1988)[แก้]

Legend of the Galactic Heroes: My Conquest is the Sea of Stars (銀河英雄伝説 わが征くは星の大海) เป็นอนิเมะฉบับแรกสุดของวรรณกรรมนี้ ฉายครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 1988 เนื้อเรื่องกล่าวถึงยุทธการที่เล็กนีซาในปีอวกาศที่ 795 ซึ่งเป็นการประมือครั้งแรกระหว่างพลเอกไรน์ฮาร์ด ฟอน มือเซิล (ก่อนได้ราชทินนามโลเอินกรัมม์) กับพลจัตวาหยางเหวินหลี่

Legend of the Galactic Heroes (1988–1997)[แก้]

Legend of the Galactic Heroes (銀河英雄伝説) เป็นอนิเมะฉบับที่สองของวรรณกรรมนี้และถือเป็นภาคหลัก วางจำหน่ายเป็นเทปวิดีโอดูที่บ้านระหว่างธันวาคม 1988 ถึงมีนาคม 1997 ภาคหลักนี้มีความยาวทั้งหมด 110 ตอน คิดเป็นระยะเวลารวมกว่า 2,800 นาที ถือเป็น OVA ที่มีความยาวมากที่สุดในอุตสาหกรรมอนิเมะของญี่ปุ่นจวบจนถึงปัจจุบัน ต่อมาถูกทำเป็นฉบับวีซีดี, ดีวีดี และบลูเรย์

Golden Wings (1992)[แก้]

Legend of the Galactic Heroes: Golden Wings (銀河英雄伝説外伝 黄金の翼) เป็นอนิเมะฉบับที่สามของวรรณกรรมนี้วางจำหน่ายเป็นม้วนวิดีโอดูที่บ้านในเดือนตุลาคม 1992 และเข้าโรงภาพยนตร์ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เนื้อเรื่องกล่าวถึงอดีตของไรน์ฮาร์ดตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก จนถึงช่วงที่เขาและเคียร์ชไอส์เข้ารับราชการทหารใหม่ๆ

Overture to a New War (1993)[แก้]

Legend of the Galactic Heroes: Overture to a New War (銀河英雄伝説外伝 新たなる戦いの序曲) เป็นอนิเมะฉบับที่สี่ของวรรณกรรมนี้ วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 1993 เนื้อเรื่องกล่าวถึงช่วงเวลาสามเดือนก่อนถึงยุทธการอัสทาร์ท ซึ่งไรน์ฮาร์ดพึ่งได้รับยศเป็นพลเอกอาวุโส และเป็นช่วงที่ฌ็อง รอแบร์ แลปป์ บอกหยางว่าเขากำลังจะขอหมั้นกับเจสสิก้า

Gaiden (1998–2000)[แก้]

Legend of the Galactic Heroes Gaiden (銀河英雄伝説 外伝) ภาคปรินิพนธ์ เป็นอนิเมะฉบับที่ห้าของวรรณกรรมนี้ แบ่งออกเป็นซีรีส์สองชุด ชุดแรกมี 24 ตอน และชุดที่สองมี 28 ตอน เป็นภาคที่รวมเอาเนื้อเรื่องสั้นส่วนปลีกย่อยในหลายช่วงเวลาเอาไว้ อาทิ ช่วงที่ไรน์ฮาร์ดและเคียร์ชไอส์ไต่ยศในกองทัพจักรวรรดิ, ยุทธการติอามัตครั้งที่สาม, อดีตของกรมทหารโรเซินริทเทอร์, วีรกรรมของหยางในยุทธการเอลฟาซีล เป็นต้น

อนิเมะฉบับ นวนิพนธ์[แก้]

Legend of the Galactic Heroes: Die Neue These (銀河英雄伝説 DIE NEUE THESE) ภาคนวนิพนธ์ เริ่มทำการผลิตโดย Production I.G ในปีค.ศ. 2017 กำกับโดยชุนซูเกะ ทาดะ และตรวจทานบทโดยโนโบรุ ทากางิ ปัจจุบันมีทั้งสิ้นสี่ซีซั่น ซีซั่นละสิบสองตอน ซีซั่นแรกออกอากาศทางโทรทัศน์เมื่อเดือนเมษายน 2018 ซีซั่นสองถูกทำเป็นภาพยนตร์ฉายโรงในปี 2019 ซีซั่นสามและสี่ถูกทำเป็นภาพยนตร์ฉายโรงในปี 2022

อ้างอิง[แก้]

  1. 25 อันดับ LIGHT NOVEL ขายดีที่สุดตลอดกาล 13 สิงหาคม 2018
  2. Ginga Eiyuu Densetsu myanimelist.net
  3. Anime List anidb.net
  4. Best space opera anime anime-planet.com
  5. Top 10 Space Opera Anime [Best Recommendations] honeysanime.com
  6. Six of the Best 1980s Anime Space Operas Anime News Network
  7. Myanimelist.net Top 13 Best Military/War Anime of All Time 7 September 2016
  8. Adam Beach. Anime's 10 Best War Stories 15 June 2021.
  9. 9.0 9.1 9.2 ตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี เล่ม 1. โยชิกิ ทานากะ

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]