ไอดี เร็คคอร์ด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บริษัท ไอดี เร็คคอร์ด จำกัด
อุตสาหกรรมMusic
ก่อตั้งพ.ศ. 2547
สำนักงานใหญ่419/1 ซอย ลาดพร้าว 15 ถ.ลาดพร้าว แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
บุคลากรหลัก
เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ - กรรมการผู้จัดการ
ศศิกานต์ อภิชาตวรศิลป์ - Creative Group Head
ผลิตภัณฑ์Indy & Pop

ไอดี เร็คคอร์ด (ID Records) เป็นค่ายเพลงในเครือบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) โดยเป็นหนึ่งในค่ายย่อยที่แยกออกมาในช่วงของการปรับรูปแบบธุรกิจเพลงของอาร์เอส ในช่วงปี 2546 - 2547 โดยมีแนวทางการทำงานในแนวทางค่อนข้างอิสระและหลากหลาย โดยคอนเซ็ปต์ของค่ายคือ ID หมายความได้ทั้ง ตัวตนที่ชัดเจนของศิลปิน (IDENTITY) และ อิสระของแนวเพลง (INDEPENDENCE)


ประวัติ[แก้]

พ.ศ. 2545 บริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น ในขณะนั้น ได้มีแนวคิดที่จะทำการปรับรูปแบบของธุรกิจเพลง จากการรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลาง มาเป็นการเปิดบริษัทลูกขึ้นมาเป็นค่ายเพลงย่อยๆ เพื่อแบ่งหน้าที่การผลิตเพลงตามแต่ละกลุ่มเป้าหมายของแนวเพลง โดยเริ่มต้นจากการปรับโครงสร้างของทีมผลิตเพลงในยุคนั้น ให้กลายมาเป็นรูปแบบบริษัทที่ดำเนินการบริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง โดยทีมผลิตเพลงของค่ายอาร์เอสในขณะนั้นมีดังนี้ MP1 (ดูแลโดย สุทธิพงษ์ วัฒนจัง), MP2 (ดูแลโดย เทพนม สุวรรณบุณย์ และ อนุชา อรรจนาวัฒน์), MP3 (ดูแลโดย พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร และ ธีระศักดิ์ วดีศิริศักดิ์) รวมทั้งทีมเพลงใหม่ของ ปอนด์ ธนา ลวสุต

พ.ศ. 2546 เจมส์ เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ หนึ่งในศิลปินวัยรุ่นชื่อดังของค่ายจึงได้มีแนวคิดที่จะฟอร์มทีมผลิตเพลงเป็นของตัวเองขึ้นมาบ้าง ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นค่ายเพลง ไอดี เร็คคอร์ด

พ.ศ. 2547 เปิดตัวค่ายอย่างเป็นทางการด้วยศิลปินหน้าใหม่ในแนวทางที่ต่างๆกันไป เช่น ไซมีส เก็ทโต้ กับแนวเพลงฮิพฮอพ, โจ้ เดอะเพียนิสต์ นักเปียโนผู้พิการทางสายตา, มะตูม วงดนตรีป๊อปแจ๊สบิ๊กแบนด์ที่มีสมาชิกถึง 9 คน เป็นต้น

พ.ศ. 2548 มีการเปิดกว้างในการทำงานมากขี้นโดยมีการยืมตัวทีมนักแต่งฝีมือดีจากค่ายต่างๆ มาร่วมทำงานให้กับทางค่าย อาทิเช่น ทีมเพลงของ เบเกอรี่มิวสิค ในอัลบั้ม James Alive อัลบั้มฉลองครบรอบ 10 ปีการทำงานในวงการเพลงของเจ้าของค่าย, ทีมเพลง อะ-ฮ่า ของ ระวี กังสนารักษ์ ในอัลบั้ม Four-Mod ของ 2 สาวศิลปินหน้าใหม่ โฟร์-มด หรือทีมเพลง Ninja 2513 ของ เอก ชัชชัย ชาบำเหน็จ ในอัลบั้ม เจมส์ แซบ สตอรี่ นอกจากนี้ยังได้มีการเปิดตัวค่ายเพลงสำหรับเด็ก ไอดี คิดส์ ขึ้นมาเพื่อทำเพลงสำหรับกลุ่มเด็กประถมและอนุบาลโดยเฉพาะ

พ.ศ. 2549 หลังจากมีข่าวลือหนาหูไปทั่ววงการในช่วงกลางปี ในที่สุด เจมส์ เรืองศักดิ์ ก็ได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นผู้บริหารของไอดี เร็คคอร์ด รวมทั้งการเป็นศิลปินของค่ายอาร์เอส แล้วย้ายไปทำงานเป็นผู้บริหารของโรงเรียนสอนดนตรี มีฟ้า ในเครือ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ แทน ทำให้มีการยุบรวมค่ายเพลง ไอดี เร็คคอร์ด เข้ากับค่ายเพลง เมโลดิก้า หลังจากปล่อยศิลปินเบอร์สุดท้าย แบล็ควานิลลา

ศิลปินในสังกัด[แก้]