อาร์เอส มิวสิค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บริษัท อาร์เอส มิวสิค จำกัด
ประเภทบริษัทจำกัด
อุตสาหกรรมดนตรี
ก่อตั้งพ.ศ. 2547 (ค่ายเพลง)
2 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 (บริษัท)
สำนักงานใหญ่27 อาคารอาร์เอสกรุ๊ป ซี ชั้น 4 ถนนประเสริฐมนูกิจ แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร, ,
บุคลากรหลัก
สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ (ประธานกรรมการ)
พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร)[1]
ผลิตภัณฑ์
บริษัทแม่อาร์เอส
เว็บไซต์www.rsmusicth.com

บริษัท อาร์เอส มิวสิค จำกัด (อังกฤษ: RS Music Company Limited) เป็นบริษัทจำกัดที่ประกอบธุรกิจเพลงส่วนกลาง ในเครือบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) โดยเริ่มแรกเป็นค่ายเพลงย่อยที่แยกตัวออกมาในช่วงที่มีการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลงในปี พ.ศ. 2547 แต่ต่อมาค่ายย่อยอื่นหลาย ๆ ค่ายได้ทยอยลดสถานะและยุบรวมเข้าด้วยกัน จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายให้ใช้ชื่อ อาร์เอส มิวสิค เป็นชื่อกลางสำหรับหน่วยธุรกิจ ต่อมาได้เปลี่ยนรูปแบบกลับมาเป็นค่ายเพลงหลักส่วนกลางตามเดิม จนกระทั่งลดบทบาทในปี พ.ศ. 2561

ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 อาร์เอสได้จัดตั้งอาร์เอส มิวสิค ขึ้นเป็นกลุ่มธุรกิจเพลงในเครืออีกครั้ง และยกระดับเป็นบริษัทเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ผ่านการเปลี่ยนชื่อบริษัทที่ดำเนินการสถานีวิทยุคูลฟาเรนไฮต์ 93 เพื่อเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอนาคต

ประวัติ[แก้]

ค่ายเพลง[แก้]

พ.ศ. 2547 ค่ายเพลงอาร์เอส มิวสิค เปิดตัวในฐานะ 1 ใน 11 ค่ายเพลงย่อยของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) อยู่ภายใต้การบริหารของ คมวิทย์ เชษฐโชติศักดิ์ และ ต้น - ชาญกฤษณ์ บุญสิงห์ หัวหน้าทีมผลิตเพลง[2] โดยส่งศิลปินเบอร์แรก นอยซ์ (Noize) ออกมาในช่วงกลางปี

พ.ศ. 2548 แจ้งเกิดวงดนตรี แอม ฟายน์ จนถือว่าเป็นวงดนตรีที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของทีมเพลงนี้ ได้ขณะเดียวกันมีการปรับโครงสร้างค่ายเพลงในเครือบริษัทอาร์เอสใหม่ ทำให้ ค่าย อะ-ฮ่า, แวมม์ และ บ้านโรงบ่ม ยุบรวมเข้ากับ อาร์เอส มิวสิค เกิดเป็นยูนิตย่อยชื่อ บิ๊กบลู เร็คคอร์ด (big BLUE Records)

พ.ศ. 2549 เปลี่ยนชื่อทีมเพลงของอาร์เอส มิวสิค ดั้งเดิม มาเป็นยูนิตย่อยชื่อ โน มิ้วท์ (No Mute) และยุบรวมอีก 3 ค่ายเพลงย่อย มอนสเตอร์ มิวสิก, บั๊คทาวน์ เร็คคอร์ด และ เรียลแอนด์ชัวร์ เข้ามาเป็นยูนิตย่อย ร็อกสกิน (Rockskin)

พ.ศ. 2550 ยุบรวมเข้ากับค่ายเพลง เมโลดิก้า และอีก 2 ค่ายย่อยที่ถูกลดสถานะคือ อะบอริจินส์ และ จีโนม เร็คคอร์ด กลายเป็นค่ายส่วนกลางค่ายเดียวในชื่อ เมโลดิก้า ตามนโยบายของ ชมพู - สุทธิพงษ์ วัฒนจัง และจัดตั้งค่ายเพลง กามิกาเซ่ ขึ้นเป็นค่ายเพลงสำหรับกลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะ

พ.ศ. 2551 เปลี่ยนชื่อค่าย เมโลดิก้า กลับมาเป็น อาร์เอส มิวสิค เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่จะให้เป็นค่ายเพลงส่วนกลางของบริษัท

พ.ศ. 2552 ชมพู สุทธิพงษ์ ลาออกจากอาร์เอสไปอยู่กับ โซนี่ มิวสิก จึงมีการปรับนโยบายให้หัวหน้าของทีมผลิตเพลงแต่ละทีมดูแลกันเอง แต่ยังคงใช้ชื่อส่วนกลาง อาร์เอส มิวสิค ในการทำการตลาด

พ.ศ. 2553 ปรับรูปแบบกลับมาเป็นค่ายเพลงหลักส่วนกลางของบริษัทตามที่เคยเป็นมาก่อน พ.ศ. 2547 โดยเน้นไปที่กลุ่มศิลปิน ป๊อบ, ร็อก ทั้งศิลปินหน้าเก่าและใหม่ แต่โดยรวมจะโตกว่าศิลปินวัยรุ่นในค่าย กามิกาเซ่

พ.ศ. 2554 เปิดค่ายย่อย การ์เด้น มิวสิค (Garden Music) เพื่อทำเพลงในแนวทางที่ต่างจากแนวแมสทั่วๆ ไป

พ.ศ. 2555 เปิดตัวค่ายเพลง โช มิวสิค (CHO Music and Entertainment)

พ.ศ. 2556 เปลี่ยนชื่อค่ายเป็น เยส มิวสิก (Yes! Music)

พ.ศ. 2558 ยุบค่าย โช มิวสิค และ ย้ายศิลปินรุ่นเก่าจากค่ายกามิกาเซ่เข้ามาอยู่ในสังกัด

พ.ศ. 2561 อาร์เอส มิวสิค ได้ลดบทบาทตามนโยบายของบริษัทแม่ซึ่งเน้นธุรกิจพาณิชย์และสื่อเป็นหลัก โดยยุบค่ายเพลงแนวเพลงไทยสากลในเครือทั้งหมด คือ เยส มิวสิก, กามิกาเซ่ และ การ์เด้น มิวสิค ดังนั้นจึงเหลือค่ายเพลงในเครืออาร์เอสเพียงค่ายเดียวคืออาร์สยาม ซึ่งเพิ่มแนวดนตรีเพลงไทยสากลเข้าไปเพิ่มนอกเหนือจากลูกทุ่งด้วย ทำให้อาร์เอส มิวสิค ได้รับหน้าที่ในการกำกับดูแลค่ายเพลงอาร์สยามไปโดยปริยาย

พ.ศ. 2563 จัดตั้งกลุ่มธุรกิจอาร์เอส มิวสิค ขึ้นอีกครั้ง โดยมีทั้งหมด 3 ค่าย คือ โรสซาวด์ (RoseSound) ซึ่งเป็นชื่อแรกของอาร์เอส, กามิกาเซ่ และอาร์สยาม[3]

บริษัท[แก้]

ต่อมาเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของอาร์เอสได้อนุมัติการแยกธุรกิจ (Spin-off) ของกลุ่มธุรกิจอาร์เอส มิวสิค ออกมาจัดตั้งเป็นบริษัทย่อย เพื่อรองรับการระดมทุนสาธารณะผ่านการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2567 ทำให้มีการเปิดช่องทางสื่อสังคมของตัวเองอย่างเป็นทางการในชื่อ "RS Music Thailand"[4] และได้มีการเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์และชื่อบริษัทจาก บริษัท คูลลิซึ่ม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุคูลฟาเรนไฮต์ 93 มาเป็น บริษัท อาร์เอส มิวสิค จำกัด (อังกฤษ: RS Music Company Limited) ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2566[5]

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 อาร์เอส มิวสิค ได้เปิดตัวศิลปินคนแรกภายหลังการเตรียมแยกธุรกิจ คือ บีม - กวี ตันจรารักษ์ อดีตสมาชิกวงดีทูบี ซึ่งเป็นศิลปินภายใต้โปรเจกต์พิเศษ RS Homecoming ที่นำอดีตศิลปินในเครืออาร์เอสกลับมาทำผลงานเพลงในสังกัดเดิม เพื่อฉลองครบรอบ 40 ปีของอาร์เอส[6] โดยออกผลงานเพลงชื่อว่า "Call Me Daddy" ซึ่งบีมร้องร่วมกับธีร์และพีร์ซึ่งเป็นบุตรชายฝาแฝดของเขา[7]

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 อาร์เอส มิวสิค ได้ร่วมทุนกับยูนิเวอร์แซลมิวสิกกรุป ซึ่งเป็นพันธมิตร จัดตั้งกิจการร่วมค้า (Joint Venture) มูลค่าประมาณ 1,600 ล้านบาท เพื่อบริหารลิขสิทธิ์เพลงของอาร์เอสทั้งหมด และขยายโอกาสในการเผยแพร่เพลงไทยของอาร์เอสออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยยูนิเวอร์แซลมิวสิกกรุปถือหุ้นจำนวน 70% ส่วนอาร์เอส มิวสิค ถือหุ้นจำนวน 30%[8] และเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม อาร์เอสได้แต่งตั้งพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอาร์เอส มิวสิค[1]

ธุรกิจในเครือ[แก้]

ปัจจุบัน รายได้ของ อาร์เอส มิวสิค มีที่มาจาก 5 แหล่งหลัก ดังนี้

  1. สื่อดิจิทัล (Digital Monetization) เป็นรายได้จากผลงานเพลงภายใต้สังกัดอาร์เอสจากศิลปินทุกยุคทุกสมัย จากช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งสื่อสังคม เช่น ยูทูบ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ติ๊กต็อก และสื่อส่งผ่านสัญญาณต่อเนื่อง เช่น จูกซ์ แอปเปิลมิวสิก สปอติฟาย เป็นต้น
  2. การบริหารลิขสิทธิ์ (Copyright Revenue) เป็นรายได้จากการจัดเก็บและต่อยอดทรัพย์สินภูมิปัญญา ลิขสิทธิ์เพลงอื่น ๆ ของอาร์เอส มิวสิค
  3. โครงการและแคมเปญการตลาด (Marketing Projects & Campaigns) เป็นรายได้จากโครงการหรือแคมเปญการตลาดต่าง ๆ เช่น การพัฒนาผลงานเพลงร่วมกับพันธมิตร
  4. ธุรกิจการแสดงและคอนเสิร์ต (Showbiz & Concerts) เป็นรายได้จากการจัดกิจกรรม เทศกาล และคอนเสิร์ต
  5. การจัดการศิลปิน (Talent Management) เป็นรายได้จากการบริหารและดูแลศิลปินในสังกัด[9]

ศิลปินในสังกัด[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "เปิดใจ "เฮียฮ้อ" คัมแบ็คธุรกิจเพลงในเวลาที่ใช่". ฐานเศรษฐกิจ. 2023-07-13. สืบค้นเมื่อ 2023-07-13.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. "อาร์เอส.ฯ ผุด 11 ค่ายเพลง เน้นงานคุณภาพ หลากหลาย เข้าถึงแฟนทุกกลุ่ม". RYT9. 2004-03-16. สืบค้นเมื่อ 2023-04-28.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "RS MUSIC | NEW ERA เปิดตัวศิลปิน 9 คนรวด". แบไต๋. 2020-11-24. สืบค้นเมื่อ 2023-04-27.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "เฮียฮ้อ เผยบอร์ดบริหารอนุมัติ Spin Off ธุรกิจ RS Music เข้าตลาดฯ ปีหน้า". กรุงเทพธุรกิจ. 2023-04-27. สืบค้นเมื่อ 2023-04-27.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. "ข้อมูลนิติบุคคล : บริษัท อาร์เอส มิวสิค จำกัด". กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์. สืบค้นเมื่อ 2023-08-01.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "'อาร์เอส' ปล่อยโปรเจกต์พิเศษ ฉลองครบรอบ 40 ปี #RShomecoming". สำนักข่าวทูเดย์. 2021-09-24. สืบค้นเมื่อ 2023-06-11.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "'Daddy บีม กวี' พา 'พี่ธีร์ น้องพีร์' เตรียมปล่อยซิงเกิลใหม่สุดมันส์ 'Call Me Daddy'". ทูเดย์เพลย์. สำนักข่าวทูเดย์. 2023-05-17. สืบค้นเมื่อ 2023-05-30.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "อาร์เอส จับมือ ยูนิเวอร์แซล มิวสิค ทุ่ม 1,600 ล้านบาท ร่วมบริหารลิขสิทธิ์เพลง". ไทยโพสต์. 2023-07-01. สืบค้นเมื่อ 2023-07-01.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "'เฮียฮ้อ' พร้อมเขย่าวงการเพลงไทย หลังบอร์ดอนุมัติ นำ RS Music เข้าตลาดปีหน้า". สำนักข่าวทูเดย์. 2023-04-26. สืบค้นเมื่อ 2023-06-11.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]