ข้ามไปเนื้อหา

โทกูงาวะ โยชิโนบุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โทะกุงะวะ โยะชิโนะบุ)
โทกูงาวะ โยชิโนบุ
徳川慶喜
โทกูงาวะ โยชิโนบุ, ค.ศ. 1867
โชกุนแห่งเอโดะ
ดำรงตำแหน่ง
29 ส.ค. 1866 – 19 พ.ย. 1867
กษัตริย์จักรพรรดิโคเม
จักรพรรดิเมจิ
ก่อนหน้าโทกูงาวะ อิเอโมจิ
ถัดไปสิ้นสุด
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด28 ตุลาคม ค.ศ. 1837(1837-10-28)
เอโดะ, ญี่ปุ่น
เสียชีวิตพฤศจิกายน 22, 1913(1913-11-22) (76 ปี)
เขตบุงเกียว โตเกียว จักรวรรดิญี่ปุ่น
โทกูงาวะ โยชิโนบุ
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
คันจิ徳川 慶喜
ฮิรางานะとくがわ よしのぶ
การถอดเสียง
โรมาจิTokugawa Yoshinobu

โทกูงาวะ โยชิโนบุ (ญี่ปุ่น: 徳川 慶喜; とくがわ よしのぶโรมาจิTokugawa Yoshinobu สามารถอ่านได้อีกอย่างว่า โทกูงาวะ เคกิ (Tokugawa Keiki), 28 ตุลาคม ค.ศ. 1837 - 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1913) เป็นโชกุนลำดับที่ 15 และโชกุนคนสุดท้ายของรัฐบาลเอโดะแห่งประเทศญี่ปุ่น

โยชิโนบุเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลเอโดะมาหลายสมัย และได้เคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปรัฐบาลโชกุนซึ่งกำลังอยู่ในภาวะเสื่อมถอย แต่จบลงด้วยความล้มเหลวอย่างรุนแรงยิ่ง ภายหลังเมื่อสละตำแหน่งและถวายอำนาจของโชกุนคืนแก่จักรพรรดิเมจิแล้ว โยชิโนบุได้เกษียณตนเองและใช้ชีวิตโดยหลบเลี่ยงจากสายตาของสาธารณชนตลอดช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยวัย 76 ปี นับว่าเป็นโชกุนผู้มีอายุยืนที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ปฐมวัย

[แก้]
โทกูงาวะ โยชิโนบุ ในวัยเด็ก (ขณะนั้นใช้ชื่อว่า "มะสึไดระ ชิจิโรมะ")

โทกูงาวะ โยชิโนบุ เกิดอยู่ที่นครเอโดะ (โตเกียว) โดยเป็นบุตรคนที่ 7 ของโทกูงาวะ นาริอากิ ไดเมียวแห่งแคว้นมิโตะ ซึ่งแคว้นนี้นับเป็น 1 ใน 3 สายตระกูลสำคัญของตระกูลโทกูงาวะ (โกะซังเคะ) ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะได้รับเลือกให้ขึ้นสืบทอดตำแหน่งโชกุน

เมื่อแรกเกิดนั้น โยชิโนบุใช้ชื่อว่า "มะสึไดระ ชิจิโรมะ"[1] และได้รับการอบรมเลี้ยงดูให้นิยมการทหารอย่างเข้มงวด[2] เขาได้รับการสั่งสอนในวิชาอักษรศาสตร์และศิลปะการป้องกันตัว ตลอดจนถึงการศึกษาหลักวิชารัฐศาสตร์และการปกครองตามธรรมเนียมดั้งเดิม[3]

ด้วยการส่งเสริมของผู้เป็นบิดา ชิจิโรมะจึงได้รับการยอมรับเป็นบุตรบุญธรรมของสายตระกูลฮิโตะสึบาชิ อันเป็นตระกูลสำคัญหนึ่งตระกูลหนึ่งของตระกูลโทกูงาวะ เพื่อให้มีโอกาสที่จะได้รับเลือกให้สืบทอดตำแหน่งโชกุนได้มากยิ่งขึ้น[4] เขาได้อยู่ในตำแหน่งของผู้นำตระกูลในปีค.ศ. 1847 พร้อมทั้งได้รับยศและราชทินนามจากราชสำนัก และไดรับการเปลี่ยนชื่อเป็น "โยชิโนบุ"[5] ต่อมาเมื่อโทกูงาวะ อิเอซาดะ โชกุนลำดับที่ 13 ได้เสียชีวิตลงในปีค.ศ. 1858 โยชิโนบุจึงได้ถูกเสนอชื่อในฐานะของผู้สืบทอดผู้มีศักยภาพในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว[6] ซึ่งบรรดาผู้สนับสนุนของเขาถูกโน้มน้าวใจด้วยความสามารถและประสิทธิภาพในการจัดการเกี่ยวกับกิจการต่างๆ ภายในตระกูล อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตรงการข้ามภายใต้การนำของอี นะโอะสุเกะ กลับเป็นฝ่ายชนะ โทกูงาวะ โยะชิโตะมิ ซึ่งเป็นผู้ถูกเสนอชื่อของฝ่ายดังกล่าวได้ถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่งโชกุนคนที่ 14 ในชื่อ โทกูงาวะ อิเอโมจิ[7] หลังจากนั้นไม่นาน ขณะที่กำลังเกิดการกวาดล้างศักราชอันเซ โยชิโนบุพร้อมทั้งบรรดาผู้สนับสนุนก็ถูกลงโทษด้วยการกักตัวในบ้านพักประจำแคว้นที่นครเอโดะ[8] ตัวโยชิโนบุเองก็ถูกถอดจากฐานะผู้นำของตระกูลฮิโตะสึบาชิด้วย

ยุคแห่งการสำเร็จราชการแทนโชกุนของไทโร อี นะโอะสุเกะ เป็นที่จดจำจากการบริหารนโยบายที่ผิดพลาดและการต่อสู้ทางการเมืองอย่างดุเดือด หลังการลอบสังหารอีที่ประตูซะกุระดะในปีค.ศ. 1860 โยชิโนบุก็ได้รับคืนฐานะผู้นำตระกูลฮิโตะสึบาชิอีกครั้ง และได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ดูแลโชกุน (ญี่ปุ่น: 将軍後見職โรมาจิshōgun atomi-shokuทับศัพท์: โชงุง อะโตะมิ-โชะคุ) ในปีค.ศ. 1862 และได้รับการแต่งตั้งภายในระยะเวลาอันสั้น[9] ในช่วงเวลาเดียวกันนั้เอง พันธมิตรที่ใกล้ชิดโยชิโนบุ 2 คน คือ มะสึไดระ โยะชินะงะ และมะสึไดระ คะตะโมะริ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งระดับสูงเช่นกัน โดยโยะชินะงะได้เป็นหัวหน้าฝ่ายกิจการการเมือง (ญี่ปุ่น: 政治総裁職โรมาจิseiji sōsai shokuทับศัพท์: เซญิ โซไซ โชะคุ) ,[10] ส่วนคะตะโมะริอยู่ในตำแหน่งผู้พิทักษ์พระนครเกียวโต (ญี่ปุ่น: 京都守護職โรมาจิKyoto Shugoshokuทับศัพท์: เกียวโตชุโงะโชะคุ) .[11] ในเวลาต่อมาบุรุษทั้งสามนี้ ได้มีบทบาทอย่างยิ่งในการปราบปรามเหตุไม่สงบทางการเมืองในกรุงเกียวโต และรวบรวมพันธมิตรต่างๆ เพื่อต่อต้านกิจกรรมของฝ่ายกบฏจากแคว้นโจชู นอกจากนี้ทั้งสามยังเป็นบุคคลสำคัญในกลุ่มการเมืองแนวทาง "โคบุ-กัตไต" (ประสานราชสำนักกับรัฐบาล) ซึ่งพยายามหาทางทำให้ราชสำนักกับรัฐบาลโชกุนปรองดองกันด้วยการแต่งงานทางการเมือง[12]

ในปีค.ศ. 1864 โยชิโนบุในฐานะผู้บัญชาการกองทหารล้อมวัง ประสบความสำเร็จในการขับไล่กองกำลังของแคว้นโจชูซึ่งพยายามยึดครองประตูฮะมะงุริของพระราชวังหลวงที่เกียวโต ปฏิบัติการดังกล่าวสำเร็จลงได้ด้วยการใช้กำลังทหารจากพันธมิตรระหว่างแคว้นไอสึกับแคว้นซัตสึมะ[13]

ดำรงตำแหน่งโชกุน

[แก้]
โชกุน โทกูงาวะ โยชิโนบุ
คณะทูตทหารฝรั่งเศส ซึ่งโทกูงาวะ โยชิโนบุ ได้เชิญให้เข้ามาช่วยปรับปรุงกองทัพรัฐบาลโชกุนให้เป็นกองทัพสมัยใหม่ใน ค.ศ. 1867

หลังมรณกรรมของโชกุนโทกูงาวะ อิเอโมจิ อย่างกะทันหันในปีค.ศ. 1866 โยชิโนบุถูกเลือกให้ขึ้นสืบทอดตำแหน่งเป็นโชกุนลำดับที่ 15[14] เขาเป็นโชกุนตระกูลโทกูงาวะเพียงคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งอยู่นอกนครเอโดะ เพราะเขาจะไม่มีโอกาสได้เหยียบย่างสู่ปราสาทเอโดะเลยตลอดสมัยแห่งการเป็นโชกุน[15]

ทันทีที่โยชิโนบุได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็ได้เริ่มขึ้น มีการปฏิรูปรัฐบาลโชกุนครั้งใหญ่เพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับความช่วยเหลือจากจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 ในการสร้างโรงหล่อปืนใหญ่ที่เมืองโยโกซูกะ ภายใต้การอำนวยการของเลออองซ์ แวร์นี (Leonce Verny) และบรรดาผู้ติดตามจากคณะทูตทหารฝรั่งเศส เพื่อปรับปรุงกองทัพของรัฐบาลหรือรัฐบาลโชกุนให้มีความทันสมัย[16]

กองทัพแห่งชาติทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ ซึ่งรัฐบาลโชกุนได้ดำเนินการจัดตั้งมาก่อนอยู่แล้ว ก็ได้รับการเสริมกำลังโดยความช่วยเหลือของฝรั่งเศส และการจัดซื้ออาวุธจากสหรัฐ[17] นักสังเกตการณ์จำนวนมากมองว่ารัฐบาลเอโดะกำลังวางรากฐานไปสู่การปรับปรุงฐานกำลังและอำนาจ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวจะล้มเหลวลงในเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งปี

สงครามโบะชิง

[แก้]
โทกูงาวะ โยชิโนบุ ในเครื่องแบบนายทหารฝรั่งเศส, ค.ศ. 1867

ด้วยความหวาดกลัวต่อการเสริมความมั่นคงของรัฐบาลโชกุนภายใต้ผู้นำที่เข้มแข็งและเฉลียวฉลาด ซามูไรจากแคว้นซัตสึมะ แคว้นโจชู และแคว้นโทซะ ได้รวมกลุ่มเป็นพันธมิตรต่อต้านรัฐบาลใหม่ ภายใต้คำขวัญ "เทิดทูนจักรพรรดิ ขับคนป่าเถื่อน" ("ซนโนโจอิ") และผสมด้วยความกล้วว่าโชกุนผู้นี้จะเป็นเหมือนดั่ง "กำเนิดใหม่ของอิเอยาซุ" ซึ่งจะช่วงชิงอำนาจจากจักรพรรดิสืบต่อไป ทั้งหมดจึงร่วมกันปฏิบัติการเพื่อนำมาซึ่งจุดจบของระบอบโชกุน แม้ว่าเป้าหมายในบั้นปลายของแต่ละฝ่ายจะแตกต่างกันก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แคว้นโทซะซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองสายกลางมากกว่าอีกสองแคว้น ได้เสนอการประนีประนอมโดยให้โชกุนโยชิโนบุยอมสละตำแหน่งของตนเสีย แต่ยังคงให้สิทธิเป็นประธานสภาปกครองประเทศชุดใหม่ที่จะตั้งขึ้นอันประกอบด้วยไดเมียวจากแคว้นต่างๆ ในที่สุดแล้ว ยามาโนะอูจิ โทโยโนริ ไดเมียวแห่งโทซะ พร้อมด้วยโกะโต โชจิโร ผู้เป็นที่ปรึกษาคนสนิท ก็ได้เรียกร้องให้โยชิโนบุลาออกจากตำแหน่ง[18] เพื่อให้แนวทางดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

โทกูงาวะ โยชิโนบุ บัญชาการการรบเพื่อป้องกันปราสาทโอซะกะในช่วงสงครามโบะชิง ค.ศ. 1868 (ภาพเขียนราว ค.ศ. 1870)
เมื่อตระหนักว่าฝ่ายศัตรูยกทัพมาพร้อมด้วยราชธวัชของจักรพรรดิ โทกูงาวะ โยชิโนบุ ได้ตัดสินใจละทิ้งปราสาทโอซะกะและหลบหนีกลับมายังนครเอะโด (ภาพเขียนราว ค.ศ. 1870)

โยชิโนบุได้สละตำแหน่งในปลายปีค.ศ. 1867 ยังผลคือการถวายอำนาจการปกครองบ้านเมืองคืนแก่จักรพรรดิอย่างเป็นทางการ[19] หลังจากนั้นจึงมีการถอนกำลังรบของรัฐบาลโชกุนจากนครหลวงเกียวโตมาประจำอยู่ที่เมืองโอซะกะ อย่างไรก็ตาม แคว้นซัตสึมะและแคว้นโจชูถึงแม้จะสนับสนุนการจัดตั้งสภาไดเมียว แต่ก็คัดค้านในการให้โยชิโนบุขึ้นเป็นประธานสภาดังกล่าว[18] ทั้งสองแคว้นได้รับราชโองการลับจากจักรพรรดิ[18] ให้ใช้กำลังในการต่อต้านโยชิโนบุ (ซึ่งภายหลังได้มีการพิสูจน์ว่าเป็นการปลอมเอกสาร)[20] และเคลื่อนกำลังพลจำนวนมากของทั้งสองแคว้นเข้าสู่กรุงเกียวโต[21] มีการเรียกประชุมโดยฝ่ายราชสำนักเกิดขึ้น เพื่อริบยศศักดิ์และที่ดินทั้งหมดของโยชิโนบุ[22] ถึงแม้ว่าจะไม่มีปฏิกิริยาใดที่อาจตีความได้ว่าฝ่ายโยชิโนบุจะทำความผิดหรือก่อความรุนแรงก็ตาม สำหรับผู้ที่คัดค้านการประชุมดังกล่าวก็ถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมประชุมด้วย[21] โยชิโนบุแสดงท่าทีคัดค้านและร่างหนังสือประท้วงเพื่อจะนำส่งไปยังราชสำนัก[23] ด้วยการร้องขอของบริวารจากแคว้นไอสึ แคว้นคุนะวะ และแคว้นอื่นๆ รวมทั้งผู้ที่เห็นด้วยส่วนน้อยนิดจากซัตสึมะและโจชู โยชิโนบุได้เคลื่อนพลจำนวนมากไปกับตนเพื่อนำหนังสือดังกล่าวไปสู่ราชสำนัก[24]

เมื่อกองทัพโทกูงาวะมาถึงนอกนครหลวงเกียวโต ขบวนทัพทั้งหมดถูกยับยั้งไม่ให้เข้ามาในเขตพระนครหลวงและถูกโจมตีโดยทัพของซัตสึมะและโจชู เปิดฉากการปะทะกันครั้งแรกของสงครามโบะชิงในยุทธการโทะบะ-ฟุชิมิ[25] แม้กำลังของฝ่ายโทกูงาวะจะเหนือกว่า แต่โยชิโนบุได้ละทิ้งกองทัพของตนท่ามกลางการต่อสู้เมื่อตระหนักว่าฝ่ายซัตสึมะและโจชูต่อสู้ภายใต้ราชธวัชของพระจักรพรรดิ และหลบหนีไปยังนครเอโดะ[26] เขาได้กักกันตนเองให้อยู่แต่ในที่พัก และนำส่งหนังสือยอมสวามิภักดิ์ถวายแก่พระจักรพรรดิ ข้อตกลงสันติภาพได้ถูกส่งมายังโยชิโนะบุผ่านทางทะยะสึ คะเมะโนะสุเกะ ประมุขผู้เยาว์แห่งสาขาหนึ่งของตระกูลโทกูงาวะ ผู้ซึ่งโยชิโนบุได้รับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมและแต่งตั้งให้เป็นประมุขของตระกูลโทกูงาวะ[27] ในวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1868 ปราสาทเอโดะได้ถูกส่งมอบแก่กองทัพในสมเด็จพระจักรพรรดิ[28][29] และเมืองเอโดะทั้งเมืองได้ถูกเว้นจากการทำลายด้วยสงคราม

พร้อมกันกับคะเมะโนะสุเกะ (ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โทกูงาวะ อิเอซาโตะ") โยชิโนบุได้ย้ายไปอยู่ที่ชิซูโอกะ ซึ่งเป็นถิ่นฐานที่โทกูงาวะ อิเอยาซุ ผู้สถาปนารัฐบาลเอโดะใช้ชีวิตหลังออกจากตำแหน่งโชกุนเมื่อหลายศตวรรษก่อน อิเอซาโตะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นไดเมียวแห่งแคว้นชิซูโอกะ แต่ในอีกไม่กี่ปีต่อมาก็สูญเสียฐานะดังกล่าวไป เนื่องจากระบบแว่นแคว้นและระบบศักดินาแบบดั้งเดิมทั้งหมดถูกรัฐบาลเมจิยกเลิก

ฮาตาโมโตะ (ซามูไรผู้ขึ้นตรงต่อโชกุน) จำนวนมาก ได้ย้ายติดตามโยชิโนบุมาตั้งถิ่นฐานที่ชิซูโอกะด้วย แต่ด้วยจำนวนฮาตาโมโตะที่มีมาก ทำให้โยชิโนบุไม่สามารถหารายได้มาดูแลคนเหล่านี้ได้เพียงพอ ผลก็คือมีฮาตาโมโตะจำนวนมากที่เกลียดชังโยชิโนบุ บางส่วนส่วนถึงขนาดต้องการจะเอาชีวิตเขาด้วยก็มี[30] โยชิโนบุระมัดระวังตัวเองในเรื่องนี้และหวาดกลัวต่อการลอบสังหาร จนต้องคอยสลับตารางเวลานอนของตนเอง เพื่อสร้างความสับสนแก่บรรดามือสังหารที่อาจเข้ามาฆ่าตนได้ทุกเมื่อ[31]

ภายหลังโยชิโนบุและครอบครัวทั้งหมด ได้ย้ายกลับมาอยู่ที่เอโดะ (ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงโตเกียว) ในปีค.ศ. 1897 ตราบจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

ปัจฉิมวัย

[แก้]
โทกูงาวะ โยชิโนบุ ในช่วงปัจฉิมวัย

หลังการเกษียณตัวเองจากตำแหน่งทางการเมือง โยชิโนบุได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ โดยไม่เปิดเผยตัวแก่สาธารณะ และทุ่มเทกับการทำงานอดิเรกต่างๆ เช่น การวาดภาพสีน้ำมัน ยิงธนู ล่าสัตว์ ถ่ายรูป หรือขี่จักรยาน[32] รูปถ่ายบางส่วนของเขาเพิ่งจะได้รับการตีพิมพ์เมื่อไม่กี่ปีมานี้จากโทกูงาวะ โยชิโตโมะ ผู้เป็นทายาทชั้นเหลนของโยชิโนบุ[33]

ในปีค.ศ. 1902 จักรพรรดิเมจิได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โยชิโนบุตั้งตระกูลของตนขึ้นใหม่ในฐานะตระกูลสาขาของตระกูลโทกูงาวะ โดยได้รับพระราชทานยศเจ้าขุนนางชั้นสูงสุดคือ ชั้นโคชะคุ (เทียบเท่ากับคำว่า Prince หรือเจ้าชายในภาษาอังกฤษ) เพื่อเป็นบำเหน็จแก่การรับใช้ชาติญี่ปุ่นด้วยความภักดีของโยชิโนบุ[34]

โทกูงาวะ โยชิโนบุ ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1913 เวลา 16:10 น. ในรัชสมัยของจักรพรรดิไทโช ร่างของเขาได้รับการฝังไว้ที่สุสานยะนะคะ กรุงโตเกียว

บุตรีคนที่ 9 ของโยชิโนบุ คือ "โทกูงาวะ สึเนโกะ" (ค.ศ. 1882 – 1939) ได้อภิเษกสมรสกับจอมพลเรือ เจ้าชายฮิโรยาซุ เจ้าฟูชิมิ (เป็นพระญาติชั้นลูกพี่ลูกน้องชั้นที่สองของจักรพรรดิโชวะและจักรพรรดินีโคจุง และเป็นพระนัดดาของเจ้าชายโคโตฮิโตะ เจ้าคังอิน) เมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1896

เกียรติยศ

[แก้]

ศักราชในยุครัฐบาลของโยชิโนบุ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. Takano, Tokugawa Yoshinobu, p. 26. Sons of the lord of Mito did not bear the name Tokugawa unless they themselves became the next lord.
  2. Tokugawa, Tokugawa yonbyakunen no naishobanashi, pp. 138-140.
  3. Takano, p. 28.
  4. Takano, p. 38.
  5. Takano, p. 48.
  6. Borton, Japan's Modern Century, p. 40.
  7. Borton, pp. 39-40.
  8. Takano, pp. 12-13.
  9. Murray, Japan, p. 362; Kobiyama, Matsudaira Katamori no shōgai, p. 75; Bolitho, Collapse of the Tokugawa Bakufu, p. 9.
  10. Kobiyama, p. 75.
  11. Takano, pp. 132-133.
  12. Kobiyama, pp. 84-87; Totman, p. 45; Takano, p. 20.
  13. See Japan 1853-1864, Or, Genji Yume Monogatari, trans. by Ernest Mason Satow. (Tokyo: Naigai Shuppan Kyokai), for more.
  14. Borton, p. 63.
  15. Tokugawa, Tokugawa yonbyakunen no naishobanashi, vol. 2, p. 162.
  16. Sims, French Policy Towards the Bakufu and Meiji Japan, 1854-95, p. 236.
  17. Treat, Japan and the United States: 1853-1921, p. 89
  18. 18.0 18.1 18.2 Beasley, The History of Modern Japan, p. 96.
  19. Takano, p. 256.
  20. Yamakawa, Aizu Boshin Senshi, pp. 7-9.
  21. 21.0 21.1 Beasley, p. 97.
  22. Beasley, p. 97; Yamakawa, Aizu Boshin Senshi, p. 148-151.
  23. Totman, p. 416. For a copy of the original text of the message, see Yamakawa, pp. 89-90.
  24. Totman, p. 417.
  25. Sasaki, pp. 23-24; Bolitho, pp. 420-422.
  26. Kobiyama, p. 124.
  27. Griffis, The Mikado: Institution and Person, p. 141.
  28. Takano, p. 267.
  29. Tokyo, an administrative perspective. Tokyo Metropolitan Government. 1958. p. 21. สืบค้นเมื่อ 9 April 2011.
  30. Tokugawa Munefusa, Tokugawa yonbyakunen no naisho banashi, vol. 1, p. 131
  31. Tokugawa, pp. 131-133
  32. Tokugawa, p. 136-138.
  33. For an example of Yoshinobu's photography, see: Tokugawa Yoshitomo, Tokugawa Yoshinobu-ke e yōkoso, p. 73.
  34. Takano, p. 273.
  35. "Ibaraki Prefecture e-newsletter". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-02. สืบค้นเมื่อ 2011-05-26.

อ้างอิง

[แก้]
  • Beasley, William G. (1963). The modern history of Japan. (New York: Praeger).
  • Borton, Hugh (1955). Japan's Modern Century. (New York: The Ronald Press Company).
  • Griffis, William Elliot. (1915). The Mikado: Institution and Person. (Princeton: Princeton University Press).
  • Kobiyama Rokurō (2003). Matsudaira Katamori no shōgai. (Tokyo: Shin Jinbutsu Ōraisha).
  • Murray, David (1905). Japan. (New York: G.P. Putnam's Sons).
  • Sasaki Suguru (1977). Boshin sensō. (Tokyo: Chūōkōron-shinsha).
  • Sims, Richard L. (1998). French Policy Towards the Bakufu and Meiji Japan, 1854-95. (London: Routledge).
  • Takano Kiyoshi 高野澄 (1997). Tokugawa Yoshinobu: kindai Nihon no enshutsusha 德川慶喜 : 近代日本の演出者. (Tokyo: Nihon Hōsō Shuppan Kyōkai 日本放送出版協会).
  • Tokugawa Munefusa 徳川宗英 (2004). Tokugawa Yonhyaku-nen no naisho-banashi 徳川四百年の内緒話 Vol. 1. (Tokyo: Bungei-shunju).
  • Tokugawa Munefusa 徳川宗英 (2004). Tokugawa Yonhyaku-nen no naisho-banashi 徳川四百年の内緒話 Vol. 2: Raibaru tekishō hen. (Tokyo: Bungei-shunju).
  • Tokugawa Yoshitomo 徳川慶朝 (2003). Tokugawa Yoshinobu-ke ni Yōkoso: Wagaya ni tsutawaru aisubeki "Saigo no Shogun" no Yokogao 徳川慶喜家にようこそ わが家に伝わる愛すべき「最後の将軍」の横顔. (Tokyo: Bungei-shunju). ISBN 4-16-765680-9
  • Totman, Conrad (1980). The Collapse of the Tokugawa Bakufu, 1862-1868. (Honolulu: University of Hawai'i Press)
  • Treat, Payson J. (1921). Japan and the United States: 1853-1921. (New York: Houghton Mifflin Company).
  • Yamakawa Kenjirō (1933). Aizu Boshin Senshi. (Tokyo: Tokyo Daigaku Shuppankai).

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

[แก้]
  • Matsuura Rei 松浦玲 (1975). Tokugawa Yoshinobu: shōgun-ke no Meiji-ishin 德川慶喜 : 将軍家の明治維新. (Tokyo: Chūōkōronsha 中央公論社).
  • Satow, Ernest Mason, trans. (1905). Japan 1853-1864, Or, Genji Yume Monogatari. (Tokyo: Naigai Shuppan Kyokai).
  • Shibusawa Eiichi 渋沢栄一, ed. (1967–1968) Tokugawa Yoshinobu-kō den 德川慶喜公伝. (Tokyo: Heibonsha 平凡社).

นวนิยาย:

  • Shiba, Ryōtarō (1998). The Last Shogun: The Life of Tokugawa Yoshinobu, trans. Juliet Winters Carpenter. (New York: Kodansha International). ISBN 1-56836-246-3
ก่อนหน้า โทกูงาวะ โยชิโนบุ ถัดไป
โทกูงาวะ อิเอโมจิ
โชกุนแห่งเอโดะรัฐบาล
(ค.ศ. 1866 – 1867)
ยกเลิกตำแหน่งโชกุน
โทกูงาวะ โชมะรุ ประมุขแห่งตระกูลโทกูงาวะ สายฮิโตะสึบาชิ
(ค.ศ. 1847 – 1866)
โทกูงาวะ โมจิฮะรุ
โทกูงาวะ อิเอโมจิ ประมุขแห่งตระกูลโทกูงาวะ
(ค.ศ. 1867 – 1868)
โทกูงาวะ อิเอซาโตะ
ไม่มี (ตั้งสกุลใหม่) ประมุขแห่งโทกูงาวะ โยชิโนบุ-เคะ
(ค.ศ. 1867 – 1868)
โทกูงาวะ โยะชิฮิซะ