โครนอส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โครนอส
บุคลาธิษฐานของเวลา
Time Clipping Cupid's Wings (1694) โดยปีแยร์ มีญาร์
ชื่ออื่นไอออน
สัญลักษณ์เคียวเกี่ยวข้าว, วงล้อจักรราศี
คู่ครองอะแนงกี
บุตร - ธิดา
บิดา-มารดาไม่มี เกิดด้วยตนเอง

โครนอส (อังกฤษ: Chronos, /ˈkroʊnɒs/) หรือ โครโนส (กรีก: Χρόνος, "เวลา", /kʰrónos/) เป็นบุคลาธิษฐานของเวลาในปรัชญาก่อนสมัยโสกราตีสและในวรรณกรรมหลังจากนั้น[1]

มีการสับสันระหว่างโครนอสกับโครนัส (Cronus) ซึ่งเป็นไททัน ตั้งแต่สมัยโบราณแล้วเพราะทั้งสองมีชื่อคล้ายกัน[2] แต่เอกสารโบราณบางชิ้นไม่ได้สับสนโครนอสกับโครนัสเพราะเชื่อว่า ทั้งสองเป็นเทพองค์เดียวกันจริง ๆ โดยความเชื่อนี้ได้เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งเป็นสมัยที่มีการเปรียบเวลาเป็นดั่งพ่อ จึงเรียกเวลาว่า "บิดาเวลา" (Father Time) โดยบิดาเวลานี้มีลักษณะเป็นมนุษย์ที่ถือเคียวด้ามยาว[3] เอกสารกรีกบางชิ้นระบุว่า โครนอสเป็นพี่หรือน้องของไครอส แต่เอกสารชิ้นอื่นระบุว่าเป็นบุตร

นักศิลปะโมเสกแบบกรีก-โรมันมักวาดโครนอสเป็นผู้ชายที่กำลังหมุนกงจักรราศี (Zodiac Wheel)[4] โดยเป็นผู้ชายที่มีอายุสูง มีลักษณะเป็นนักปราชญ์ เครายาวสีขาว ซึ่งลักษณะเหล่านี้มีความคล้ายบิดาเวลา นอกจากนี้โครนอสยังได้รับการเปรียบเทียบกับอีออน (Aion) ซึ่งเป็นเทพแห่งเวลา แต่เป็นเวลาที่หมุนรอบกลับมาที่เดิม[5]

ชื่อและนิรุกติศาสตร์[แก้]

โครนอสและลูก โดยโจวานนี ฟรานเชสโก โรมาเนลลี พิพิธภัณฑ์แห่งชาติในวอร์ซอว์ ภาพวาดในศตวรรตที่ 17 ของไททันโครนัส ซึ่งวาดเป็น "บิดาเวลา" ถือเคียว

ชาวโบราณบางครั้งนับโครนอสว่าเป็นโครนัส[6] พลูทาร์ก นักเขียนชีวประวัติและนักปรัชญาชาวกรีก กล่าวว่าชาวกรีกเชื่อว่าโครนัสเป็นชื่อเชิงอุปมานิทัศน์ของโครนอส[7] นอกเหนือจากชื่อ เรื่องเล่าของโครนัสกินลูกตนเองก็นับว่าเป็นอุปมานิทัศน์ของเวลาแบบจำเพาะที่อยู่ในเขตอิทธิพลของโครนัส ตามทฤษฎีนี้ โครนัสเป็นตัวแทนของการทำลายล้างเวลาที่ได้ครอบงำสรรพสิ่งทั้งปวง แนวคิดนี้ปรากฏขึ้นเมื่อผู้เป็นพระราชาไททันได้กินเหล่าเทพเจ้าแห่งโอลิมปัสไป ซึ่งอาจหมายความว่า อดีตครอบงำอนาคต หรือคนรุ่นเก่ากดขี่คนรุ่นใหม่[ต้องการอ้างอิง] ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา การพิสูจน์รูปพรรณของโครนัสและโครนอสทำให้มี "บิดาเวลา" ถือเคียวเกิดขึ้น[ต้องการอ้างอิง]

ความหมายและรากศัพท์เดิมของคำว่า โครนอส ยังไม่ชัดเจน[8] ศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้โครนอสเป็นแม่คำได้แก่ chronology (ลำดับเวลา), chronometer (มาตรเวลา), chronic (เรื้อรัง, ยืดเยื้อ), anachronism (การผิดกาละ) และ chronicle (บันทึกเหตุการณ์) เป็นต้น

ปรัมปราวิทยา[แก้]

ตามปรัมปราวิทยาแบบออร์เฟียส โครนอส ผู้ไม่มีวันชรา บังเกิดมาจาก "ดินและน้ำ" และให้กำเนิดอีเธอร์และเคออส และไข่ฟองหนึ่ง[9] ไข่ฟองนี้ทำให้มีเฟนีส เทพเจ้าสองเพศ ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดเทพเจ้ารุ่นแรกและเป็นผู้สร้างจักรวาล

ในประมาณศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราช ผลงานที่หายสาบสูญไปของเฟเรสิดีสแห่งไซรอส ชื่อ เฮปตาไมคอส (Heptamychos แปลว่า เจ็ดซอกเล็ก) อ้างว่ามีสามหลักการที่อยู่ชั่วนิรันดร์ คือ โครนอส (Chronos) ซาส (Zas) (ซูส) และ คโธนี (Chthonie) (ยมโลกหรือใต้พิภพ) โดยอสุจิของโครนอสถูกวางไว้ในซอกเล็กต่าง ๆ ของโลก และเป็นสิ่งที่ให้กำเนิดเทพเจ้ารุ่นแรกทั้งปวง[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. "(Dictionary Entry)". Henry George Liddell, Robert Scott, A Greek-English Lexicon. สืบค้นเมื่อ 2015-07-13.
  2. LSJ entry: Κρόνος
  3. Macey, Samuel L. (2013-04-11). Encyclopedia of Time (ภาษาอังกฤษ). Routledge. p. 209. ISBN 9781136508905.
  4. Delaere, Mark (2009). Unfolding Time: Studies in Temporality in Twentieth-century Music (ภาษาอังกฤษ). Leuven University Press. ISBN 9789058677358.
  5. Doro Levi, "Aion," Hesperia 13.4 (1944), p. 274.
  6. LSJ entry: Κρόνος
  7. Plutarch, On Isis and Osiris, 32.
  8. Beekes, R. S. P.. (2009). Etymological Dictionary of Greek, pp. 1651–1652. Brill.
  9. West, p. 178.
  10. Kirk, Raven, and Schofield, pp. 24, 56.