ข้ามไปเนื้อหา

เรือพระที่นั่งบริแทนเนีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เอชเอ็มวาย บริแทนเนีย)
เอชเอ็มวาย บริแทนเนีย
เรือพระที่นั่งบริแทนเนีย เดินทางออกจากคาร์ดิฟฟ์เป็นครั้งสุดท้าย
ประวัติ
สหราชอาณาจักร
ชื่อเอชเอ็มวาย บริแทนเนีย (HMY Britannia)
เจ้าของThe Royal Yacht Britannia Trust[1]
Ordered5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1952
อู่เรือจอห์น บราวน์ แอนด์ คอมพานี
Yard number691
ปล่อยเรือ16 มิถุนายน ค.ศ. 1952
เดินเรือแรก16 เมษายน ค.ศ. 1953
เข้าประจำการ11 มกราคม ค.ศ. 1954
ปลดระวาง11 ธันวาคม ค.ศ. 1997
รหัสระบุหมายเลข IMO: 8635306
สถานะพิพิธภัณฑ์เรือ เปิดให้สาธารณชนเข้าชม
ลักษณะเฉพาะ
ขนาด (ตัน): 5,769 ตันกรอส (GT)
ความยาว: 126 เมตร (412 ฟุต)
ความกว้าง: 17 เมตร (55 ฟุต)
ความสูง: 37 เมตร (123 ฟุต)
กินน้ำลึก: 4.6 เมตร (15 ฟุต)
ระบบขับเคลื่อน: กังหันไอน้ำ Pametrada จำนวน 2 เครื่อง, กำลัง 12,000 แรงม้า (8,900 กิโลวัตต์)
ความเร็ว: 21.5 นอต (39.8 กม./ชม. 24.7 ไมล์/ชม.)
พิสัยเชื้อเพลิง: 2,400 ไมล์ทะเล (4,400 กม.)
ความจุ: 250 คน
ลูกเรือ:
  • เจ้าหน้าที่ 21 นาย
  • ทหารเรือหลวง 250 นาย

เอชเอ็มวาย บริแทนเนีย (อังกฤษ: HMY Britannia) หรือชื่อเต็มคือ เรือพระที่นั่งบริแทนเนีย (อังกฤษ: Her Majesty's Yacht Britannia) เป็นอดีตเรือพระที่นั่งประจำราชวงศ์อังกฤษ ประจำการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1954–1997 เป็นเรือพระที่นั่งลำที่ 83 นับตั้งแต่พระเจ้าชาลส์ที่ 2 เสด็จเถลิงราชย์ในปี ค.ศ. 1660 และเป็นเรือพระที่นั่งของราชวงศ์ลำที่สองที่ใช้ชื่อนี้ โดยลำแรกเป็นเรือแข่งที่สร้างขึ้นสำหรับเจ้าชายแห่งเวลส์ในปี ค.ศ. 1893 ตลอดระยะเวลาการประจำการ 43 ปี เรือลำนี้ได้เดินทางไปทั่วโลกกว่าหนึ่งล้านไมล์ทะเล เยือนท่าเรือต่าง ๆ มากกว่า 600 แห่งใน 135 ประเทศ ปัจจุบัน เรือบริแทนเนียได้ถูกปลดประจำการแล้ว และถูกจัดแสดงอย่างถาวรที่โอเชียนเทอร์มินอล ในเมืองลีธ เอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ โดยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ มีผู้เข้าชมมากกว่า 300,000 คนต่อปี

การก่อสร้าง

[แก้]

เอชเอ็มวาย บริแทนเนีย ถูกสร้างขึ้นที่อู่ต่อเรือจอห์น บราวน์ แอนด์ คอมพานี (John Brown & Company) ใน ไคลด์แบงค์, ดันบาร์ตันเชียร์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จมาทรงปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1953 และเข้าประจำการเมื่อวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1954 เรือได้รับการออกแบบให้มีเสากระโดงทั้งหมดสามเสา: เสาหน้าสูง 41 เมตร (133 ฟุต), เสากลางสูง 42 เมตร (139 ฟุต), และเสาท้ายสูง 36 เมตร (118 ฟุต) เสาอากาศของเสากระโดงหน้าและกลาง สูง 6.1 เมตร (20 ฟุต) ถูกออกแบบมาให้สามารถพับเพื่อให้เรือลอดใต้สะพานได้

เรือบริแทนเนีย ได้รับการออกแบบให้สามารถดัดแปลงเป็นเรือพยาบาลในยามสงคราม [2] แม้ว่าการออกแบบนี้จะไม่เคยถูกใช้ก็ตาม ในกรณีถ้าเกิดสงครามนิวเคลียร์ สมเด็จพระราชินีและเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ทรงมีพระประสงค์ให้ลี้ภัยบนเรือบริแทนนีย ที่นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของสกอตแลนด์ [3]

บุคลากร

[แก้]
ตราประจำเรือพระที่นั่งบริแทนเนีย

นายทหารราชนาวี ได้รับการแต่งตั้งให้ประจำการบนเรือเป็นเวลาถึงสองปี ลูกเรือเป็นอาสาสมัครจากบริการทั่วไปของกองทัพเรือ หลังจากประจำการครบ 365 วัน พวกเขาสามารถเข้าประจำการถาวรใน Royal Yacht Service ในฐานะ Royal Yachtsmen และให้บริการจนกว่าพวกเขาจะเลือกออกจากบริการหรือถูกไล่ออกด้วยเหตุผลทางการแพทย์หรือทางวินัย เป็นผลให้บางคนทำหน้าที่เป็นเวลา 20 ปีขึ้นไป ลูกเรือยังรวมถึงกองนาวิกโยธิน [4] สมาชิกของ วงดุริยางค์นาวิกโยธิน จะออกเดินทางไปด้วย ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เรือบริแทนเนีย ปฏิบัติหน้าที่ห่างจากท่าเรือบ้านเกิด [5]

ประวัติ

[แก้]

เอชเอ็มวาย บริแทนเนีย ออกเดินทางครั้งแรกจากพอร์ตสมัท ไปยังแกรนด์ฮาร์เบอร์ ประเทศมอลตา เมื่อวันที่ 14–22 เมษายน ค.ศ. 1954 และได้นำเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และเจ้าหญิงแอนน์ ไปยังมอลตาเพื่อไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถและดยุคแห่งเอดินบะระเมื่อสิ้นสุดการทัวร์เครือจักรภพ สมเด็จพระราชินีนาถและดยุกแห่งเอดินบะระเสด็จขึ้นเรือบริแทนเนียเป็นครั้งแรกที่เมืองโทบรุค เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1954 [6]

เอชเอ็มวาย บริแทนเนีย บนคลองเวลล์แลนด์ ในแคนาดา ระหว่างทางไปชิคาโกเมื่อปี 1959 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองการเปิดเส้นทางเดินเรือเซนต์ลอว์เรนซ์
เรือบริแทนเนีย ที่ Spithead Fleet Review ในพระราชพิธีรัชดาภิเษกในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี ค.ศ. 1977

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1959 บริแทนเนีย ได้ล่องเรือบนเส้นทางเดินเรือเซนต์ลอว์เรนซ์ ที่เพิ่งเปิดใหม่ระหว่างเดินทางไปยังเมืองชิคาโก ซึ่งเมื่อเรือเทียบท่า ทำให้สมเด็จพระราชินีเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่เสด็จเยือนเมืองนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ อยู่บนเรือบริแทนเนีย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการล่องเรือนี้ ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด, โรนัลด์ เรแกน, และ บิล คลินตัน ได้รับการต้อนรับบนเรือในปีถัดมา เจ้าหญิงแอนน์และมาร์ค ฟิลลิปส์ ฮันนีมูนบนเรือนี้ในปี 1973 ส่วนเจ้าฟ้าชายชาลส์ได้ฮันนีมูนกับเจ้าหญิงไดอาน่าในปี 1981 เรือได้อพยพผู้ลี้ภัยกว่า 1,000 คนจากสงครามกลางเมืองในเอเดน ในปี 1986 [7] เรือลำดังกล่าวแล่นไปยังแคนาดา ในปี 1991 และจอดเทียบท่าในเมืองโตรอนโต และคิงส์ตัน รัฐออนแทรีโอ

เอชเอ็มวาย บริแทนเนีย จะมีเรือรบของราชนาวีคุ้มกัน เมื่อมีพระราชกรณียกิจ เรือลำนี้เป็นที่พบเห็นเป็นประจำที่งาน Cowes Week ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม และโดยปกติแล้วในช่วงที่เหลือของเดือน จะเป็นบ้านของสมเด็จพระราชินีนาถและราชวงศ์สำหรับการล่องเรือประจำปีรอบเกาะต่างๆ ที่นอกชายฝั่งตะวันตกของสกอตแลนด์ (เรียกว่า "ทัวร์เกาะตะวันตก")

ในช่วงการประจำการในฐานะ เรือยอทช์หลวง บริแทนเนีย ได้ส่งเสด็จสมเด็จพระราชินี สมาชิกราชวงศ์ และบุคคลสำคัญต่างๆ ในการเยือนต่างประเทศทั้งหมด 696 ครั้ง และ 272 ครั้ง ในน่านน้ำของอังกฤษ และได้ล่องเรือไปเป็นระยะทางทั้งหมด 1,087,623 ไมล์ทะเล (2,014,278 กิโลเมตร)[8]

ปลดประจำการ

[แก้]
เรือบริแทนเนีย ที่ลอนดอน ในปี 1997

ในปี ค.ศ. 1994 รัฐบาลอนุรักษ์นิยม ได้ประกาศการปลดประจำการเรือยอทช์หลวง:

เรือยอทช์หลวงได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายในปี 1987 การซ่อมแซมเพิ่มเติมโดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 17 ล้านปอนด์จะมีความจำเป็นในปี 1996–97 แต่จะยืดอายุของเรือไปได้อีกห้าปีเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากอายุของเรือแล้ว แม้หลังจากการบูรณะแล้ว เรือก็ยังดูแลรักษายากและมีราคาแพงในการเดินทาง จึงมีการตัดสินใจให้ปลดประจำการเรือยอทช์หลวง "บริแทนเนีย" ในปี 1997 รัฐบาลจะพิจารณาคำถามว่าจะมีเรือที่จะมาแทนที่เรือ "บริแทนเนีย" หรือไม่

— ไวเคานต์แครนบอร์น, สภาขุนนาง Hansard: 23 มิถุนายน 1994

ในเดือนมกราคม 1997 รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนเรือพระที่นั่งหากได้รับเลือกตั้งใหม่ [9] ช่วงเวลาของการประกาศนั้นใกล้กับช่วงของการเลือกตั้งทั่วไป The Guardian Weekly เรียกมันว่า "เป็นส่วนหนึ่งของประชานิยมที่เรียกร้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ลังเลใจในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป" และรายงานว่า "สมเด็จพระราชินีทรงโกรธ ที่ราชวงศ์ถูกลากเข้าไปในการหาเสียงเลือกตั้ง เพียงแค่เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ต่อสาธารณชน" [10] เซอร์เอ็ดเวิร์ด ฮีธ คัดค้านการจัดการปัญหาของรัฐบาลอย่างเปิดเผย โดยระบุว่า "พรรคอนุรักษ์นิยม เหนือสิ่งอื่นใดต้องเป็นพรรคที่มีเกียรติ และฉันไม่เชื่อว่าการกระทำที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้นเป็นสิ่งที่น่ายกย่องและไม่ควรถูกดำเนินการในลักษณะนี้" [11]

รัฐบาลแย้งว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้รับการพิสูจน์โดยบทบาทในนโยบายต่างประเทศและการส่งเสริมผลประโยชน์ของอังกฤษในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการประชุมที่จัดขึ้นโดย British Invisibles ซึ่งเดิมคือคณะกรรมการการส่งออกที่มองไม่เห็น คณะกรรมการการค้าต่างประเทศประเมินว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นบนเรือยอทช์หลวงช่วยเพิ่มเงิน 3 พันล้านปอนด์ สำหรับกระทรวงการคลัง ระหว่างปี 1991 ถึง 1995 [12]

ฝ่ายค้านพรรคแรงงาน ประกาศว่าจะไม่ผูกมัดการใช้เงินทุนสาธารณะสำหรับเรือทดแทนเป็นเวลาอย่างน้อยสองปีแรกของรัฐบาลแรงงานชุดใหม่ [13] หลังจากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 1997 รัฐบาลชุดใหม่ได้พิจารณาทางเลือกหลายทางสำหรับอนาคตของเรือยอทช์หลวง แต่ได้ข้อสรุปในเดือนตุลาคมของปีนั้นว่าจะไม่มีการแทนที่เรือบริแทนเนีย:

เราขอประกาศอย่างชัดเจนว่าเราจะไม่ใช้เงินสาธารณะไปกับเรือยอชท์หลวง และเราจะรักษาสัญญานั้น พวกเราในกระทรวงกลาโหมจำเป็นต้องปรับเงินทุกบาททุกสตางค์ของผู้เสียภาษีที่เราใช้ไป และในกรณีนี้ ข้าพเจ้าไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง - ตามที่สมเด็จพระราชินีทรงตรัสอย่างชัดเจน - เนื่องจากเรือยอทช์ไม่จำเป็นสำหรับการเดินทางของราชวงศ์ เราได้พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับทางเลือกทางการเงินส่วนบุคคลทั้งหมด แต่สิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ด้วยเงินอุดหนุนรายปีจำนวนมากจากกองทุนสาธารณะเท่านั้น

— จอร์จ โรเบิร์ตสัน, ปลัดกระทรวงกลาโหม, [14]

ภารกิจครั้งสุดท้ายของเรือยอทช์หลวง คือการนำผู้สำเร็จราชการฮ่องกงคนสุดท้าย คริส แพทเทน และเจ้าชายแห่งเวลส์กลับจากฮ่องกง หลังจากการโอนอำนาจอธิปไตยของฮ่องกงให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 เรือบริแทนเนีย ปลดประจำการเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1997 มีรายงานว่าสมเด็จพระราชินีนาถทรงหลั่งน้ำตาในพิธีปลดประจำการ ซึ่งมีสมาชิกอาวุโสส่วนใหญ่ของราชวงศ์เข้าร่วม [15]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "The Royal Yacht Britannia – The Trust". สืบค้นเมื่อ 7 March 2014.
  2. "1953: Queen launches Royal Yacht Britannia". On This Day. BBC. 16 April 1953. สืบค้นเมื่อ 17 August 2011.
  3. Simon Johnson (12 July 2010). "Floating bunker plan to help Queen escape nuclear attack". The Telegraph. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 January 2022.
  4. "Dedicated Crew". www.royalyachtbritannia.co.uk (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-04-11.
  5. Tuohy, William (1993-02-06). "BRITAIN : Finances May Sink the Royal Yacht : The Britannia was used just 31 days in 1991 at a cost of $18 million". Los Angeles Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2021-04-11.
  6. Richard Johnstone-Bryden (2003). The Royal Yacht Britannia: The Official History. Conway Maritime. pp. 30–33. ISBN 978-0-85177-937-9.
  7. Aden: British Evacuation เก็บถาวร 2021-06-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Hansard HL Deb 21 January 1986 vol 470 cc131-4.
  8. Johnstone-Bryden, p. 298.
  9. Evans, Michael; Landale, James (23 January 1997). "Taxpayers to fund Pounds 60m replacement for Britannia". The Times. London.
  10. "Royal family dragged into yacht row". Guardian Weekly. London. 2 February 1997.
  11. Parker, Andrew (28 January 1997). "Public against paying for new Royal yacht". The Scotsman. Edinburgh.
  12. "Great British Ambassador". The Royal Yacht Britannia Trust. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-30. สืบค้นเมื่อ 23 January 2016.
  13. Brown, Colin (28 January 1997). "Poll shows that yacht plan is a vote loser". The Independent. London. สืบค้นเมื่อ 2020-06-08.
  14. "BBC News | Special Report | Britannia says goodbye to nation".
  15. "Pay for your own yacht, PM tells Queen". The Age. 17 January 2012. สืบค้นเมื่อ 17 January 2012.