เรือหลวงสุโขทัย
เรือหลวงสุโขทัย ใน พ.ศ. 2530 | |
ประวัติ | |
---|---|
ประเทศไทย | |
ชื่อ | เรือหลวงสุโขทัย |
ตั้งชื่อตาม | อาณาจักรสุโขทัย |
อู่เรือ | บริษัทต่อเรือทาโคมา ทาโคมา สหรัฐ |
ปล่อยเรือ | 26 มีนาคม พ.ศ. 2527 |
เดินเรือแรก | 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 |
เข้าประจำการ | 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 |
รหัสระบุ |
|
สถานะ | อับปางจากพายุเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565 |
สัญลักษณ์ | |
ลักษณะเฉพาะ | |
ประเภท: | เรือคอร์เวต |
ขนาด (ระวางขับน้ำ): | 960 ตัน |
ความยาว: | 76.8 เมตร |
ความกว้าง: | 9.6 เมตร |
กินน้ำลึก: | 4.5 เมตร |
ความเร็ว: |
|
พิสัยเชื้อเพลิง: | 3,568 ไมล์ทะเล ที่ความเร็วสูงสุด |
อัตราเต็มที่: | 87 นาย |
ยุทโธปกรณ์: |
|
เรือหลวงสุโขทัย (FS-442) (อังกฤษ: HTMS Sukhothai) เป็นเรือคอร์เวตชั้นรัตนโกสินทร์ของกองทัพเรือไทย โดยเป็นเรือลำที่ 2 ที่ชื่อเรือหลวงสุโขทัย[1] เรืออับปางเนื่องจากพายุเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565
เหตุเรือจมดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 24 นาย[2] ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ต่อกองทัพเรือเกี่ยวกับการบำรุงรักษาเรือ การออกเรือท่ามกลางพายุ อุปกรณ์ชูชีพที่ไม่เพียงพอ การค้นหาและกู้ภัยที่ไม่ทันกาล และการสื่อสารในภาวะวิกฤตที่ไม่เหมาะสม
ประวัติ
[แก้]เรือหลวงสุโขทัยเป็นเรือลำที่ 2 ในเรือคอร์เวตชั้นรัตนโกสินทร์ มีความยาวตลอดตัวเรือ 76.8 เมตร ความกว้าง 9.6 เมตร กินน้ำความลึก 4.5 เมตร ระวางขับน้ำปกติ 840 ตัน และระวางขับน้ำสูงสุด 960 ตัน ขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรใหญ่ดีเซล 2 เครื่อง ทำงานบนเพลาใบจักร 2 เพลา ทำความเร็วล่องเรือ 18 นอต และความเร็วสูงสุด 24 นอต[3] ซึ่งมีแผนการต่อเรือลำนี้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2526[4] และเริ่มต้นต่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2527 ณ บริษัทต่อเรือทาโคมา เมืองทาโคมา รัฐวอชิงตัน สหรัฐ ในชื่อโครงการว่า RTN 252 FT PSMM MK-16#446[5] โดยทำพิธีวางกระดูกงูเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2527[6] และเข้าประจำการในกองทัพเรือเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ในหมวดเรือที่ 1 กองเรือฟรีเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ[5]
อาวุธยุทโธปกรณ์
[แก้]เรือหลวงสุโขทัยเป็น 1 ใน 5 ลำที่มีศักยภาพสูงที่สุดของกองทัพเรือ เนื่องจากมีความสามารถในการรบทั้ง 3 มิติ คือ สามารถต่อสู้ได้ทางอากาศ, บนผิวน้ำ และใต้น้ำ[7] เรือหลวงสุโขทัย ประกอบด้วยระบบอาวุธ
- ขีปนาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นฮาร์พูน 2 แท่น แท่นละ 4
- ท่อยิงขีปนาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศอัลบราทรอส
- ท่อยิงตอร์ปิโด 6 ท่อยิง
- ปืนใหญ่เรือ 76/62 จำนวน 1 กระบอก
- ปืนใหญ่ลำกล้องคู่ขนาด 40 มม. 1 ระบบ
- ปืนใหญ่เออร์ลิคอนขนาด 20 มม. จำนวน 2 ระบบ[8]
สำนักข่าวอิศราเปิดเผยว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2565 มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับเรือทั้งสิ้น 60 รายการ มูลค่ากว่า 40.76 ล้านบาท[9]
ภารกิจ
[แก้]เรือหลวงสุโขทัย เข้าประจำการครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530[5] เดิมเรือใช้หมายเลขประจำเรือคือหมายเลข 2 และต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นหมายเลข 442[4]
ใน พ.ศ. 2537 เรือหลวงสุโขทัย เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเรือไทยเข้าร่วมการฝึกกับประเทศออสเตรเลียในการฝึกประจำปี AUSTHAI 94
ใน พ.ศ. 2538 ได้ฝึกยิงขีปนาวุธพื้นสู่อากาศอาสปิเด ต่อเป้าหมายอากาศยานไร้คนขับในระหว่างการฝึกความร่วมมือและความพร้อมทางเรือ หรือ “การัต” (CARAT 95) ร่วมกับกองทัพเรือจากสหรัฐอเมริกา, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และบรูไน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เรือได้ยิงขีปนาวุธนับตั้งแต่ได้จัดซื้อระบบอาวุธมาในปี พ.ศ. 2528[10]
เดือนมกราคม พ.ศ. 2546 เรือหลวงสุโขทัยได้เป็นหนึ่งในหมู่เรือเฉพาะกิจของปฏิบัติการโปเชนตงในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เพื่อกดดันกัมพูชา[11]
จนถึง พ.ศ. 2565 สังกัดกองเรือปราบเรือดำน้ำ[12]
การอับปางจากพายุ
[แก้]เรือหลวงสุโขทัยอับปาง | |
---|---|
รายละเอียด | |
วันที่ | 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565 |
สถานที่ | อ่าวไทย ใกล้อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ |
พิกัด | 11°00′N 99°32′E / 11.00°N 99.53°E |
ประเทศ | ไทย |
เจ้าของ | กองทัพเรือ |
จำนวน | |
ลูกเรือ | 105 |
เสียชีวิต | 29 (ยืนยัน 24 นาย สูญหาย 5 นาย) |
เรือหลวงสุโขทัยอับปางหลังจากเกิดพายุในอ่าวไทย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565[13] ขณะกำลังเดินทางไปร่วมงานฉลองครบรอบ 100 ปี กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ศาลหาดทรายรี จังหวัดชุมพร[14] ในช่วงที่เกิดเหตุ คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและอันดามันมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2–4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร[15] เรือดังกล่าวได้รับความพยายามช่วยเหลืออย่างหนักหลังจากระบบไฟฟ้าและเครื่องสูบน้ำล้มเหลวเนื่องจากน้ำท่วม ความล้มเหลวดังกล่าวเกิดจากน้ำทะเลเข้าสู่ท่อไอเสียในทะเลลึก ซึ่งนำไปสู่การลัดวงจรในระบบไฟฟ้าของเรือ[16][17] นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี เป็นผู้บังคับการเรือในขณะเกิดเหตุ[18] เหตุเรือสุโขทัยล่มนับเป็นเรือรบในราชนาวีไทยลำแรกที่อับปางลงนับตั้งแต่เรือหลวงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2494[19]
บนเรือนั้นมีการเปิดเผยว่ามีเสื้อชูชีพไม่เพียงพอต่อกำลังพลบนเรือ 105 นาย (ซึ่งมากกว่าอัตราเต็มที่)[15] และมีหลักฐานในแชตที่ออกมาว่า เรือหลวงสุโขทัยพยายามขอเข้าเทียบท่ากับท่าเรือประจวบ ซึ่งท่าเรืออนุญาตแล้ว แต่สุดท้ายเรือตัดสินใจเดินทางไปยังสัตหีบแทน[20] ขณะที่เรืออับปางนั้น เรือสุโขทัยมีอายุ 36 ปีแล้ว ซึ่งตามระเบียบและข้อกำหนดมีอายุใช้งาน 40 ปี[21] จากคำให้การของพยานที่บอกว่าเมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 20 ธันวาคม มีคลื่นทะเลและน้ำเริ่มรั่วเข้าบริเวณพื้นห้องชั้นล่าสุด จึงนำปั๊มน้ำเข้ามาสูบน้ำออก จากนั้นเวลา 16.00 น. มีเสียงนายทหารตะโกนแจ้งว่าเกิดเหตุไฟไหม้บนเรือแต่ก็สามารถควบคุมไว้ได้ และเวลาประมาณ 19.00 น. น้ำที่ทะลักเข้าใต้ท้องเรือเริ่มท่วมชั้นล่างสูง ทำให้เพจไทยอาร์มฟอร์ซ.คอม เว็บไซต์อิสระด้านกิจการทหาร วิเคราะห์ว่า น้ำเข้าจากบริเวณหน้าเรือ ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นไปได้ยาก แต่อาจเกิดจากการเข้าทางประตูกั้นน้ำและฝาฮัทช์ที่อาจปิดไม่ได้ หรือชำรุด รวมทั้งอาจมีความผิดปกติหรือรอยแตกของตัวเรือมากกว่าที่ทหารบนเรือทราบ[20] ขณะที่กองทัพเรือชี้แจงว่าเรือหลืองสุโขทัย เพิ่งซ่อมบำรุงไปเมื่อ 2 ปีก่อน และมีการใช้คอมพิวเตอร์สแกนหารอยแตกรอยทะลุทั้งลำแล้ว[22] ผู้บัญชาการทหารเรือยืนยันว่า ต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงและรายงานข้อเท็จจริง ความสูญเสียและความรับผิดตามกฎหมาย แต่บางเรื่องเป็นความลับราชการ ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540[23]
มีเอกชนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดเรือจึงไม่ขอความช่วยเหลือทางวิทยุฉุกเฉินซึ่งเป็นช่องทางสากล และไม่ขอความช่วยเหลือจากเรือ offshore ทั้งที่อยู่ห่างไปเพียง 20 ไมล์ทะเลหรือ 37.04 กิโลเมตร[24] ขณะที่มีกระแสข่าวว่าห้ามสละเรือ ก่อนที่เสนาธิการทหารเรือจะออกมายืนยันว่าไม่มีคำสั่ง[25] ต่อมากองทัพเรือยอมรับว่าขณะเกิดเหตุไม่มีต้นกลบนเรือ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเครื่องจักรและป้องกันความเสียหาย[26] ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 มีการเปิดเผยเอกสารราชการที่ระบุว่าแผ่นเหล็กของเรือใต้แนวน้ำในจุดสำคัญ 13 จุดอาจบางกว่ามาตรฐานถึง 25% ส่วนกองทัพเรือออกมาแถลงอ้างว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด ยังขาดข้อมูลการซ่อมทำของอู่[27]
มูลค่าความเสียหายของเรือคิดเป็น 5,000 ล้านบาท[28] ซึ่งกองทัพเรือเปิดเผยแผนกู้เรือในเดือนธันวาคม 2566 ว่าอาจช้วงเงินจำนวน 100 ล้านบาท[29] โดยในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2566 กองทัพได้มีการกำหนดกรอบงบประมาณในการเก็บกู้เรือไปยังกระทรวงกลาโหมเป็นวงเงินจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อว่าจ้างบริษัทเอกชนในการดำเนินการให้ได้สภาพเรือที่สมบูรณ์ที่สุด ไม่มีการแยกหรือตัดชิ้นส่วนเรือในการเก็บกู้[30] เพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริงและพยายานหลักฐานถึงสาเหตุในการอัปปางต่อไป[31][30][32] โดยเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2567 กองทัพเรือได้แถลงผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร[33]
ลำดับเหตุการณ์และผู้เสียชีวิต
[แก้]เวลา | เหตุการณ์ |
---|---|
15:30 | เรือสุโขทัยขอเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือประจวบฯ เนื่องจากคลื่นลมทะเลรุนแรง |
17:16 | น้ำทะเลเข้าเรือ |
18:00 | ทหารบนเรือแจ้งทางวิทยุว่า เครื่องยนต์มีปัญหา 1 เครื่อง เหลือใช้งานได้ 1 เครื่อง |
18:17 | เครื่องยนต์ดับ เครื่องไฟฟ้าดับ ระบบการสื่อสารล่ม |
19:56 | เรือเอียง 45 องศา |
21:03 | เรือเอียง 80 องศา |
23.08 | ปลดแพชูชีพ |
23:46 | เรือสุโขทัยจมทั้งลำ ที่ระดับความลึกราว 40 เมตร เขตพื้นที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากฝั่งไปประมาณ 19 ไมล์ทะเล (พิกัด 11°00′N 99°53′E / 11.000°N 99.883°E{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้) ลูกเรือทั้งหมดสละเรือ |
ข้อมูลผู้เสียชีวิต ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2565 จำนวน 25 นาย ประกอบด้วย[36]
- ว่าที่เรือเอก สามารถ แก้วผลึก
- พันจ่าเอก อัชชา แก้วสุพรรณ์
- พันจ่าเอก สมเกียรติ หมายชอบ
- พันจ่าเอก อำนาจ พิมที
- พันจ่าเอก คุณากร จริยศ
- จ่าเอก จักร์พงศ์ พูลผล
- จ่าเอก บุญเลิศ ทองทิพย์
- จ่าเอก ชูชัย เชิดชิด
- จ่าโท ธวัชชัย สาพิราช
- จ่าโท สหรัฐ อีสา
- จ่าตรี สถาพร สมเหนือ
- จ่าตรี นพณัฐ คำวงค์
- จ่าตรี ศุภกิจ ทิวาลัย
- จ่าตรี ศราวุธ นาดี
- จ่าตรี สิริธิติ งามทอง
- พลทหาร อัครเดช โพธิ์บัติ
- พลทหาร จิราวัฒน์ ธูปหอม
- พลทหาร สิทธิพงษ์ หงษ์ทอง
- พลทหาร วรพงษ์ บุญละคร
- พลทหาร ปรีชา รักษาภักดี
- พลทหาร จำลอง แสนแก
- พลทหาร ชลัส อ้อยทอง
- จ่าเอก ไพร ร่วมญาติ
- ว่าที่ นาวาตรี พลรัตน์ สิโรดม
- พลทหาร อับดุลอาชิส มะแอ
การค้นหาและกู้ภัย
[แก้]เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม โฆษกกองทัพเรือยืนยันว่าลูกเรือทุกคนปลอดภัย[37] แต่ ณ วันที่ 24 ธันวาคม กองทัพเรือกลับยืนยันว่ามีลูกเรือเสียชีวิตแล้ว 13 นาย[38]
กองทัพเรือ
[แก้]หลังจากเกิดเหตุ กองทัพเรือได้ส่งเรือรบ 3 ลำ คือ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช, เรือหลวงกระบุรี, เรือหลวงอ่างทอง และอากาศยานของกองทัพเรือ 2 ลำ เพื่อช่วยเหลือลูกเรือ[39]
กองทัพอากาศ
[แก้]ในส่วนของกองทัพอากาศได้สนับสนุนอากาศยาน 1 ลำและเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำในการร่วมภารกิจช่วยเหลือของกองทัพเรือ[40]
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
[แก้]ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์จากกองบินตำรวจ ชุดกู้ภัยของกองบิน และกองร้อยกู้ชีพ กองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ รวมถึงเรือตรวจการณ์ของตำรวจน้ำร่วมปฏิบัติภารกิจ[7]
กองทัพเรือต่างประเทศ
[แก้]มีกองทัพเรือมาเลเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอาสาให้ความช่วยเหลือในการกู้ภัย แต่กองทัพเรือไทยยังไม่ตอบรับ[41][42]
สันนิษฐานถึงแก่ความตาย
[แก้]วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 พล.อ. สิทธิพร มุสิกะสิน รองปลัดกระทรวงกลาโหม ทำการแทนปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 254/2566 เรื่อง สันนิษฐานว่าข้าราชการ กห. ถึงแก่ความตายเพราะสูญหายในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 43 และคำสั่ง กห.(เฉพาะ ที่ 281/60 ลง 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เรื่อง มอบอำนาจให้ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ ทำการแทน และสั่งการในนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผนวก ก ข้อ 153 กับคำสั่ง สป.(เฉพาะ) ที่ 555/65 ลง 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เรื่อง มอบอำนาจหน้าที่ให้รองปลัดกระทรวงกลาโหมและหัวหน้าหน่วยขึ้นตรงปฏิบัติราชการ ผนวก ง ข้อ 2.10[43]
ฉะนั้น จึงให้สันนิษฐานว่ากำลังพลกองทัพเรือ จำนวน 4 นาย ได้ถึงแก่ความตายเพราะสูญหาย ในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการ ดังนี้[43]
- พันจ่าเอก จิราวัฒน์ เจริญศิลป์
- จ่าโท โสภณ วงษ์สนิท
- พลทหาร ชัยชนะ ช่างวาด
- พลทหาร ทวีศักดิ์ แซ่เชียว
ข้อวิจารณ์
[แก้]กองทัพเรือถูกวิจารณ์อย่างมากในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เริ่มจากคำถามในการจัดซื้ออาวุธแบบใช้แล้วทิ้ง ขาดการบำรุงรักษา และละเลยชีวิตกำลังพล ส่วนการสื่อสารในภาวะวิกฤตก็ทำได้ไม่ดี จากคำกล่าว มีเสื้อชูชีพก็ไม่ได้หมายความว่าจะรอดชีวิต[44]
ล่าสุด ปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัย ชุดปฏิบัติการของกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐ สามารถนำป้ายเรือหลวงสุโขทัยขึ้นมาจากทะเล เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 บริเวณทะเลอ่าวไทย ในพื้นที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์[45]
ผลการสอบสวนกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง
[แก้]เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2567 กองทัพเรือ โดยพล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานการแถลงข่าว ผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง[33] เกิดความเสียหายกับตัวเรือจำนวน 4 จุด ประกอบกับคลื่นลมแรง ทำให้น้ำเข้าสู่ห้อง Gun bay ปืน 76/62 และห้องกระซับบเชือก ซึ่งเป็นห้องที่อยู่เหนือแนวน้ำ และเหนือจุดศูนย์ถ่วง (Center of Gravity , CG) เป็นเหตุให้เรือสูญเสียความสามารถในการทรงตัว จนเรืออยู่ในสภาวะเอียงเกินกว่า 30 องศา เมื่อเรืออยู่ในสภาวะเอียงเกินกว่า 30 องศา น้ำทะเลก็สามารถเข้าภายในตัวเรือได้ทางช่องทางระบายอากาศ จนเรือสูญเสียกำลังลอย และจมลงในที่สุด[33] โดยสรุปผลการสอบสวนว่าการอับปางไม่ได้เกิดจากความจงใจของ ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย และกำลังพลในเรือแต่เกิดจากสภาพอากาศมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทำให้เรือเกิดภาวะผิดปกติ และเกิดจากน้ำทะเลเข้ามาในตัวเรือจากรูทะลุเป็นเหตุที่ทำให้เรือเอียง และอับปาง[33] อย่างไรก็ตามเห็นว่าผู้บังคับการเรือตัดสินใจผิดพลาด คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ เสนอกองทัพเรือให้ดำเนินการทางวินัยกับผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย เต็มตามอำนาจการลงทัณฑ์ของผู้บัญชาการทหารเรือ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 ลงทัณฑ์ “กัก” เป็นเวลา 15 วัน[33]
ทั้งนี้ ไม่อาจสรุปได้ว่าสิ่งใดทำให้เรือเกิดความเสียหาย เนื่องจากตามรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ไม่พบวัตถุตกอยู่บริเวณรอยแยก
ขณะที่รอยรั่วของเรือที่ยุบเข้าไป เกิดจากวัตถุภายนอกกระแทก ไม่ได้เกิดจากตะเข็บของเรือ ซึ่งเกิดจากการกระแทก แต่ไม่พบวัตถุตกอยู่เช่นกัน ยาว 1 ฟุต กว้าง 3-4 นิ้ว[33]
เวลา | เหตุการณ์ |
---|---|
วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565 | |
17.30 | เรือหลวงสุโขทัยออกเดินทางจากท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ที่หมายคือ หาดทรายรี จังหวัดชุมพร |
20.00 | ถือเข็ม 200 ความเร็ว 15 นอต ขณะนั้นมีคลื่นสูงประมาณ 3 เมตร |
22.00 | เปลี่ยนไปถือเข็ม 220 |
วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565 | |
02.00 | เรือยังคงเดินเรือด้วยทิศทางเดิม เครื่องจักรใหญ่ข้ายเกิดการขัดข้อง ใช้งานเครื่องจักรใหญ่ขวาได้ จึงทำความเร็วได้เพียง 8 นอต (15 กม./ชม.) ขณะเดินทางคลื่นลมมีความแปรปวนตลอดเวลา คลื่นมีความสูงขึ้นเป็นลำดับ |
04.00 | คลื่นมาในทิศหัวเรือ มีความสูงประมาณ 4 ม.ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็วประมาณ 28 นอต |
04.30 | ได้ตรวจพบประตูทางเข้าบริเวณหัวเรือกราบข้ายเปิดอยู่ และสะบัดกระแทกจนเกิดเสียงดัง กำลังพลประจำเรือจึงได้ปิดประตูจนแนบสนิท ต่อมาในเวลาประมาณ 05.00 น.ประตูดังกล่าวเปิดและสะบัดกระแทกจนเกิดเสียงดังอีก เมื่อปิดแล้วไม่สามารถหมุนพวงมือล็อกประตูได้จึงใช้เชือกมัดไว้ไม่ให้เปิดออก |
06.00 | คลื่นสูงประมาณ 4 - 6 เมตร ไม่สามารถนำเรือจอดทอดสมอได้ |
06.30 | เครื่องไฟฟ้าหมายเลข 3 หยุดการทำงาน แผนกช่างกลจึงเดินเครื่องไฟฟ้าหมายเลข 1 ทดแทน ทั้งนี้ในการเดินเรือปกติจะสลับเดินเครื่องไฟฟ้าครั้งละ 1 เครื่อง |
07.00 | ผู้บังคับการเรือตัดสินใจนำเรือกลับขั้นทางเหนือ ทิศทางสวนคลื่น สวนลม ต่อมาเกิดเสียงสัญญาณที่ห้องสะพานเดินเรือเตือนว่ามีน้ำท่วมห้องคลังลูกปืน 40 มม. |
07.30 | ติดต่อ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดชุมพร ในการลำเลียงกำลังพลขึ้นฝั่ง แต่ได้รับแจ้งว่าเรือเล็กไม่สามารถออกมารับกำลังพลดังกล่าวได้เนื่องจากคลื่นลมแรง |
08.00 | เรือหลวงสุโขทัยตกลงใจเดินทางกลับฐานทัพเรือสัตหีบ ระหว่างนั้นได้รับการประสานจากทัพเรือภาคที่ 1 ให้ส่งกำลังพลที่ร่วมเดินทางไปกับเรือจำนวน 30 นาย ขึ้นที่ท่าเรือประจวบ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ |
08.15 | ตรวจพบน้ำนองบริเวณช่องทางเดินหน้าห้องศูนย์ยุทธการ ภายในห้องยุทธการ และห้องวิทยุ ความสูงประมาณ 5 เซนติเมตร เกิดฟ้าช็อต หม้อแปลงไฟฟ้าสำหรับประดับไฟเรือ |
10.00 | เกิดเหตุไฟไหม้จากเครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS) สำหรับคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมภายในห้องวิทยุ ต่อมาได้รับการประสานข้อมูลสภาพคลื่นลมบริเวณท่าเรือประจวบฯ ว่ามีคลื่นและลมรุนแรงมาก ไม่ปลอดภัยต่อการนำเรือเข้าเทียบหรือทอดสมอบริเวณท่าเรือ ทั้งนี้ มีเรือสินค้าของบริษัทที่มีแผนเข้าเทียบ ก็ไม่สามารถเข้าเทียบได้เช่นกัน |
12.00 | ห้องบรรจุลูกปืนมีน้ำไหลเข้ามา |
12.45 | อยู่ห่างจากท่าเรือประจวบฯ ประมาณ 15 ไมล์ ผู้บังคับการเรือตัดสินใจนำเรือกลับฐานทัพเรือสัตหีบ โดยทำความเร็ว 8 นอต ระยะท่าง 100 ไมล์ |
13.00 | ตรวจพบน้ำไหลออกมาจากผนังใยแก้วตัวเรือกราบซ้าย ในห้องปฏิบัติการต่อต้านเรือดำน้ำสูงประมาณ 1 ฟุต โดยคลื่นยังคงรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ความสูง 4 - 6 ม.ลมกระโชกแรง ความเร็วลมมากกว่า 45 กม./ชม. |
15.00 | เกิดน้ำท่วมบริเวณหน้าห้องเครื่องไฟฟ้า 3 |
16.00 | ผู้บังคับการเรือตัดสินใจหันเรือกลับท่าเรือประจวบฯ เรือเอียงประมาณ 30 องศา การควบคุมเรือเป็นไปด้วยความยากลำบาก |
16.30 | ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จึงได้ขึ้นมาปิดประตูผนึกน้ำด้านบนที่เป็นดาดฟ้าหลัก |
16.45 | ได้มีการสั่งการให้กำลังพลที่ร่วมมากับเรือที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานไปรวมตัวที่ห้องเมสจ่า และยังคงประสานขอรับการสนับสนุนเรือลากจูงมาลากเรือหลวงสุโขทัยกลับเข้าฝั่ง |
17.00 | เรือเอียงมากราบซ้ายมากขึ้น อ่านค่าได้จากเครื่องวัดความเอียงของเรือ เรือเอี่ยงอยู่ทีมุมระหว่าง 15 - 30 องศา |
17.30 | ให้กำลังพลทั้งหมดขึ้น มาบนดาดฟ้าทัศนะสัญญาณ |
17.45 | เรือเอียงมากขึ้น ประมาณ 50 - 60 องศา มีการใช้สัญญาณโคมไฟ ไม่บังคับทิศส่งสัญญาณ S O S ขอความช่วยเหลือ และมีสัญญาณไฟตอบรับ |
18.10 | ปิดประตูสะพานเดินเรือทางกราบขวา ได้สั่งการให้ตรวจสอบยอดกำลังพลด้วยวิธีนับตลอด ซึ่งนับกำลังพลได้ครบ 105 นาย ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ได้สั่งการให้เรือหลวงกระบุรีออกเรือจากท่าเรือประจวบฯ ไปช่วยเหลือเรือหลวงสุโขทัย |
18.40 | เรือหลวงสุโขทัยขอความช่วยเหลือเร่งด่วนไปยังศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ เรือเอียงประมาณ 60 องศา |
20.00 | เครื่องบินลาดตระเวนแบบที่ 1 Dornier จำนวน 1 เครื่อง ขึ้นบินเพื่อพิสูจน์ทราบตำบลที่ เรือหลวงสุโขทัย โดยเรือหลวงกระบุรีได้เข้าไปถึงเรือหลวงสุโขทัย |
20.21 | เรือเอียงมาทางกราบซ้ายมากกว่า 70 องศา ท้องเรือโผล่พ้นน้ำจนสามารถเห็นมองใบจักร เรือหลวงกระบุรีเข้าช่วยเหลือ |
23.30 | ท้ายเรือเริ่มจม |
วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2565 | |
00.12 | เรือหลวงสุโขทัยได้จมลงทั้งลำ |
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "เรือหลวงสุโขทัย(ลำที่ 1) – Seafarer Library" (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ ทร.ยืนยันกำลังพล เรือหลวงสุโขทัย เสียชีวิตรายที่ 24 คือ ต้นเรือพลับ
- ↑ Sudprasert, Prudtinan (2022-12-19). "รู้จัก เรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงแห่งราชนาวี เด่นด้านการรบ 3 มิติ". ประชาชาติธุรกิจ.
- ↑ 4.0 4.1 Jane's (2002), p. 709.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 "ประวัติ "เรือหลวงสุโขทัย" รับใช้ชาติยาวนาน 35 ปี ก่อนประสบเหตุอับปาง". อมรินทร์ทีวี เอชดี ช่อง 34 - AMARIN TV HD. 2022-12-19.
- ↑ "เปิดประวัติ "เรือหลวงสุโขทัย" ก่อนอับปางกลางอ่าวไทย". mgronline.com. 2022-12-19.
- ↑ 7.0 7.1 "เรือหลวงสุโขทัย : ผู้เชี่ยวชาญออสเตรเลียชี้โอกาสพบผู้รอดชีวิตจากเรือหลวงสุโขทัยมีริบหรี่". BBC News ไทย. 2022-12-20.
- ↑ "ผ่าสเปก "เรือหลวงสุโขทัย" กับคำถามทำไมอับปาง คลื่นลม-ระบบ ?". thansettakij. 2022-12-21.
- ↑ "ย้อนภารกิจซื้อจ้าง 6 ปี 'เรือหลวงสุโขทัย' ก่อนอับปาง". สำนักข่าวอิศรา. 21 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
- ↑ Asia Pacific Defense Forum. Commander of the U.S. Pacific Command. 1995. p. 47.
- ↑ "ย้อนอดีต! ปฏิบัติการโปเชนตง เมื่อกองทัพไทย เปิดปฏิบัติการช่วยคนไทยจากกัมพูชา". ไทยอาร์มฟอร์ซ.คอม. 2021-01-29. สืบค้นเมื่อ 2022-01-03.
- ↑ "เรือหลวงสุโขทัย : ค้นหาวันที่ 4 ยังไม่พบผู้สูญหายเพิ่ม". BBC News ไทย. 2022-12-19.
- ↑ "Thai Royal Navy Vessel HTMS Sukhothai Sinks". Atlas News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-12-18. สืบค้นเมื่อ 2022-12-18.
- ↑ "นาทีต่อนาที "เรือหลวงสุโขทัย" อับปางลงท้องทะเลอ่าวไทย". Thai PBS. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
- ↑ 15.0 15.1 "เรือหลวงสุโขทัย : แผนค้นหาผู้สูญหายวันที่ 5 กับเงื่อนปมเหตุอับปาง". BBC News ไทย. 23 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
- ↑ "Thai Royal Navy Corvette sank in Gulf of Siam". Fleetmon. สืบค้นเมื่อ 18 December 2022.
- ↑ https://cnn.com/cnn/2022/12/19/asia/thailand-warship-sinks-intl-hnk-ml/index.html[ลิงก์เสีย]
- ↑ พบร่างผู้เสียชีวิต 1 ราย จุด“เรือหลวงสุโขทัย”จม ส่งพิสูจน์อัตลักษณ์
- ↑ "เพจดังวิเคราะห์เบื้องต้นสาเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ตั้ง 10 ข้อสังเกตน่าสนใจ". ch7.com. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
- ↑ 20.0 20.1 "เรือหลวงสุโขทัย : แผนค้นหาผู้สูญหายวันที่ 5 กับเงื่อนปมเหตุอับปาง". BBC News ไทย. 23 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
- ↑ "4 วันหลัง 'เรือหลวงสุโขทัย' อับปาง และความหวังในการค้นหาอีก 23 กำลังพลที่ยังคง 'สูญหาย'". THE STANDARD. 22 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
- ↑ "ทร.เร่งค้นหาผู้สูญหาย 23 ราย เผย เรือหลวงสุโขทัยเพิ่งซ่อมบำรุง 2 ปีก่อน". ประชาชาติธุรกิจ. 21 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
- ↑ "คืบหน้า"เรือหลวงสุโขทัย"อับปาง พบผู้รอดชีวิตเพิ่ม 2 ราย ตาย 4 ราย". pptvhd36.com. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
- ↑ "ครบ 1 สัปดาห์ 'เรือหลวงสุโขทัย' อับปาง พบผู้เสียชีวิต 18 นาย". workpointTODAY. สืบค้นเมื่อ 30 December 2022.
- ↑ "เสนาธิการทหารเรือ ยันคำสั่งเรือห้ามจมไม่เป็นความจริง". อมรินทร์ทีวี. 22 December 2022. สืบค้นเมื่อ 30 December 2022.
- ↑ "พบกางเกงลายพราง ติดหาด แจงต้นกลไม่ลงเรือสุโขทัย เป็นดุลพินิจผู้การ". ข่าวสด. 30 December 2022. สืบค้นเมื่อ 2 January 2023.
- ↑ "ทร.แจงปมเพจดังชี้แผ่นเหล็กซ่อม "เรือหลวงสุโขทัย" ไม่ผ่านมาตรฐาน 13 จุด". คมชัดลึกออนไลน์. 5 January 2023. สืบค้นเมื่อ 5 January 2023.
- ↑ "เพจดังวิเคราะห์! สาเหตุเบื้องต้น ทำเรือหลวงสุโขทัย จมลงนอกชายฝั่งบางสะพาน". ผู้จัดการ. 19 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
- ↑ "เปิดงบ-แผนกู้ซาก "เรือหลวงสุโขทัย" 100 ล้านบาท ทร.ชี้จำเป็นต้องกู้ขึ้นบก". คมชัดลึกออนไลน์. 23 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
- ↑ 30.0 30.1 "ทร.เคาะราคาเสนอกลาโหมกู้ 'เรือหลวงสุโขทัย' ได้สภาพสมบูรณ์ ไม่แตกหัก". คมชัดลึกออนไลน์. 2023-03-01.
- ↑ "กองทัพเรือ เคาะราคากลางชงกลาโหม 200 ล้าน เตรียมกู้เรือหลวงสุโขทัย". workpointTODAY.
- ↑ https://www.pptvhd36.com. "ทร.ชง กลาโหมไฟเขียวงบ 200 ล้านบาท กู้เรือหลวงสุโขทัย". pptvhd36.com.
{{cite web}}
: แหล่งข้อมูลอื่นใน
(help)|last=
- ↑ 33.0 33.1 33.2 33.3 33.4 33.5 33.6 "อ่านฉบับเต็ม ทร.แถลง สาเหตุ "เรือหลวงสุโขทัย" อับปาง". Thai PBS.
- ↑ "ไทม์ไลน์ล่าสุด โศกนาฏกรรม คำสั่งสุดท้าย "เรือหลวงสุโขทัย"". ไทยรัฐ. 27 December 2022. สืบค้นเมื่อ 30 December 2022.
- ↑ "ย้อนไทม์ไลน์ "เรือหลวงสุโขทัย" ก่อนอับปางกลางอ่าวไทย". ฐานเศรษฐกิจ. 20 December 2022. สืบค้นเมื่อ 30 December 2022.
- ↑ "กองทัพเรือ ยืนยันผลพิสูจน์เอกลักษณ์เหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง 'ต้นเรือพลับ' เป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 24". Workpoint Today. 12 January 2023. สืบค้นเมื่อ 12 January 2023.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ""เรือหลวงสุโขทัย" อับปางแล้ว ช่วงก่อนเที่ยงคืน - ลูกเรือทุกคนปลอดภัย". กรุงเทพธุรกิจ. 19 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
- ↑ "ทร.สรุปยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง พบล่าสุด 13 นาย เหลือสูญหายอีก 9 นาย". ผู้จัดการ. 24 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
- ↑ "แถลงการกรณีเรือหลวงสุโขทัยตัวเรือมีอาการเอียงจากคลื่นลมแรง". เพจทางการกองทัพเรือ Royal Thai Navy (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "กองทัพเรือและกองทัพอากาศ ระดมเรือขนาดใหญ่ เครื่องบินลาดตระเวน และโดรน ปูพรมค้นหา 30 กำลังพลบนเรือหลวงสุโขทัย". THE STANDARD. 2022-12-20.
- ↑ "ล่มเพราะอะไร? ทำไมช่วยชีวิตลูกเรือไว้ไม่ได้? สรุปเหตุ 'เรือหลวงสุโขทัย' อับปาง". The MATTER. 21 December 2022. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
- ↑ ทัพเรือสหรัฐฯ, อังกฤษ, มาเลเซีย เสนอตัวที่จะช่วยเหลือ-ค้นหา ลูกเรือร.ล.สุโขทัยแต่ ทร.ไทย ขอบคุณ แจ้งไปว่า เราจะร้องขอ เมื่อมีความจำเป็น, วาสนา นาน่วม 20 ธันวาคม 2565
- ↑ 43.0 43.1 คำสั่งกลาโหม สันนิษฐาน 5 กำลังพลเรือหลวงสุโขทัย ถึงแก่ความตาย.pptvhd36.com. 28 กุมภาพันธ์ 2566. สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2566
- ↑ บำรุงสุข, สุรชาติ (21 December 2022). "สัญญาใจปฏิรูปกองทัพ | สุรชาติ บำรุงสุข". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 24 December 2022.
- ↑ กู้ได้แล้ว ป้ายชื่อเรือหลวงสุโขทัย ใช้เวลาถึง 2 วัน เผยสาเหตุ ทำไมต้องนำขึ้นมาเป็นสิ่งแรก
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เรือหลวงสุโขทัย