หมายเลขตัวเรือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
178 คือหมายเลขตัวเรือของเรือ JS Ashigara (DDG-178) สังกัดกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น

หมายเลขตัวเรือ[1] (อังกฤษ: Hull number) คือหมายเลขประจำเรือที่กำหนดให้กับเรือต่าง ๆ หมายเลขมีการกำหนดความหมายและการใช้งานที่แตกต่างกันไปตามประเภทของเรือและประเทศผู้กำหนดหมายเลขเหล่านั้น บางครั้งใช้ในความหมายอื่นนอกจากเรือ เช่น บนพาหนะทางทหาร

สำหรับเรือของกองทัพ หมายเลขที่มีจำนวนน้อยกว่า สามารถบ่งบอกได้ถึงอายุการเข้าประจำการของเรือที่ยาวนานกว่าเรือที่มีชุดหมายเลขมากกว่า สำหรับเรือของพลเรือนนั้น หมายเลขประจำตัวของเรือ (Hull Identification Number: HIN) ใช้สำหรับติดตามประวัติการใช้งานของเรือลำนั้น

การใช้งาน[แก้]

ทวีปยุโรป[แก้]

ในยุโรป เรือจะได้รับหมายเลขประจำตัวเรือ (Craft Identification Number: CIN หรือ Hull Identification Number: HIN) ซึ่งกำหนดเป็นมาตรฐาน EN ISO 10087:2006 โดยตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวระบุตัวเลขและตัวอักษรจำนวน 14 หลัก ที่จัดสรรให้โดยไม่ซ้ำกันและใช้งานถาวร ออกให้กับเรือเดินทะเลทุกลำในยุโรป จัดสรรโดย European Recreational Craft Directive ซึ่งใช้รูปแบบมาจากของอเมริกา

สำหรับเรือขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักเกิน 300 ตันกรอสจะได้รับหมายเลข IMO ประจำตัวเรือระหว่างประเทศแบบถาวร และเรือยุโรปที่มีความยาวมากกว่า 20 เมตร จะได้รับหมายเลข ENI (European Number of Identification หรือ European Vessel Identification Number) แบบถาวร

ตัวอย่างหมายเลขประจำตัวเรือ CID/HIN อาจจะมีรูปแบบ GB-ABC00042-A8-99 โดยที่

  • GB คือรหัสประเทศ ตามมาตรฐาน ISO 3166-1
  • ABC คือรหัสประจำตัวผู้ผลิต (Manufacturer Identity Code: MIC) ของบริษัท Acme Boat
  • 00042 คือเรือลำนี้สร้างเป็นลำที่ 42 จากผู้ผลิตรายนี้
  • A8-99 คือชุดวันที่ผลิตและปีของโมเดลเรือ
    • A8 คือเดือนมกราคม 1998 สำหรับวันที่กระดูกงูถูกวางในเดือนที่ใกล้ที่สุด เดือนจะแสดงตามลำดับ โดย A แทนเดือนมกราคม B แทนเดือนกุมภาพันธ์ เรียงไปจนถึง L แทนเดือนธันวาคม
    • 99 คือปี 1999 ซึ่งเป็นรุ่นของเรือที่ผลิตสำหรับปีนั้น[2]
ยานเกราะพิฆาตรถถัง เอสยู-85 พร้อมหมายเลขประจำพาหนะ 222

ในสหราชอาณาจักร British Marine Federation จะเป็นผู้ออกรหัสประจำตัวผู้ผลิตในนามของกระทรวงยุทธศาสตร์ธุรกิจ พลังงานและอุตสาหกรรม[2] โดยสำหรับผู้สร้างเรือท้องถิ่นหรือมือสมัครเล่นนั้นสามารถขอรับหมายเลขประจำตัวเรือ HIN แบบครั้งเดียวได้จาก Royal Yacht Association ซึ่งจะออกหมายเลขในช่วงช่วง GB-RYAxxxxx ซึ่งเป็นรหัสประจำตัวผู้ผลิตของตน[2]

รัสเซีย[แก้]

หมายเลขตัวเรือ ในภาษารัสเซียเรียกว่า bortovoi nomer ระหว่างการรุกรานยูเครนของรัสเซียในปี พ.ศ. 2557 หมายเลขประจำพาหนะทั้งหมดของยานเกราะและรถถังถูกทาสีทับ เพื่อปกปิดการมีอยู่ของกองกำลังรัสเซียในยูเครน และในการรุกรานยูเครนในปี พ.ศ. 2565 กองกำลังรัสเซียที่วางกำลังในเบรารูสก็ปิดบังหมายเลขประจำพาหนะเช่นกัน[3]

ไทย[แก้]

เรือท้าสโก้ นิรันดร์ เป็นเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศ[4]ที่ระบุหมายเลขประจำเรือ (IMO Number) บริเวณท้ายเรือ

พลเรือน[แก้]

สำหรับเรือที่จดทะเบียนเป็นเรือไทยนั้น จะต้องมีการแสดงเครื่องหมายถาวรอยู่ที่ตัวเรือ คือหมายเลขทะเบียนเรือ (Official Nubmer)[note 1][5] รวมถึงอาจจะต้องแสดงหมายเลขประจำเรือ (Ship's identification number: IMO Number)[note 2][6] ด้วย ตามกฎกระทรวงของกรมเจ้าท่า ในบริเวณตำแหน่งต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดตามขนาดของเรือแต่ละประเภท ประกอบไปด้วย

  1. เรือเดินทะเลระหว่างประเทศ ที่เป็นเรือโดยสารขนาดตั้งแต่ 100 ตันกรอสขึ้นไป และเรือบรรทุกสินค้าขนาดตั้งแต่ 300 ตันกรอสขึ้นไป
    1. จะต้องระบุหมายเลขทะเบียนเรือ เป็นเลขอารบิก อยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง คือ หัวเรือภายในด้านขวา ขื่อกลางลำเรือ หรือเก๋งเรือ
    2. จะต้องระบุหมายเลขประจำเรือ (Ship's identification number) ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974 เป็นตัวเลขอารบิก หากมีอักษรภาษาอังกฤษให้ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ อยู่ภายในและนอกลำเรือ ดังนี้
      1. ภายนอกเรือ ให้อยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง บริเวณท้ายเรือ, กลางลำเรือทั้งสองข้างเหนือระดับแนวน้ำ, ข้างเก๋งเรือทั้งสองข้าง หรือ ด้านหน้าของเก๋งเรือ ในกรณีของเรือโดยสารอาจจะอยู่ในพื้นระนาบที่มองเห็นได้จากอากาศ
      2. ภายในเรือ ในจุดของฝากันห้องเครื่องจักรหรือบนฝาระวางสินค้า หากเป็นเรือบรรทุกสินค้าที่มีระวางบรรทุกของเหลว ให้อยู่บริเวณฝากั้นห้องสูบถ่ายสินค้า หากเป็นเรือบรรทุกที่มีระวางบรรทุกยานพาหนะ ให้อยู่ในบริเวณฝากั้นระวางบรรทุก
  2. เรือที่ใช้เดินทางในประเทศไทย ต้องระบุหมายเลขทะเบียนเรือในบริเวณหัวเรือภายนอกทั้งสองข้าง
    เรือใช้เดินทะเลระหว่างประเทศ ที่เป็นเรือโดยสารขนาดต่ำกว่า 100 ตันกรอส และเรือบรรทุกสินค้าขนาดต่ำกว่า 300 ตันกรอส
    1. จะต้องระบุหมายเลขทะเบียนเรือ เป็นเลขอารบิก อยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง คือ หัวเรือภายในด้านขวา ขื่อกลางลำเรือ หรือเก๋งเรือ
  3. เรือใช้เดินลำน้ำระหว่างประเทศ
    1. จะต้องระบุหมายเลขทะเบียนเรือ เป็นเลขอารบิก อยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง คือ หัวเรือภายในด้านขวา ขื่อกลางลำเรือ หรือเก๋งเรือ
  4. เรือใช้เดินทางในประเทศ
    1. จะต้องระบุหมายเลขทะเบียนเรือ เป็นเลขอารบิก อยู่ในบริเวณหัวเรือภายนอกทั้ง 2 ข้าง

ประมง[แก้]

ในประเทศไทยได้กำหนดให้เรือประมงนั้นมีการติดตั้ง เครื่องหมายประจำเรือประมง[note 3][7] บริเวณหัวเรือภายนอกทั้งสองฝั่ง ใกล้เคียงกับชื่อเรือตามที่ได้ลงทะเบียนกับกรมเจ้าท่าเอาไว้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้รับอนุญาตในการทำประมงพาณิชย์ในประเทศไทย[8] และนอกน่านน้ำไทย[9] ตามประกาศของกรมประมง โดยแบ่งอักขระออกเป็น 4 ชุด ดังนี้

  • ชุดที่ 1 พื้นที่ทำประมง ประกอบด้วยตัวอักษร
    • T หมายถึง ทำประมงในพื้นที่อ่าวไทย
    • A หมายถึง ทำประมงในพื้นที่ทะเลอันดามัน
    • H หมายถึง ทำการประมงในทะเลนอกน่านน้ำไทย[9]
  • ชุดที่ 2 ขนาดของเรือ ประกอบด้วยอักษร
    • S หมายถึง ขนาดไม่ถึง 30 ตันกรอส
    • M หมายถึง ขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอส ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 60 ตันกรอส
    • L หมายถึง ขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอส ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 150 ตันกรอส
    • X หมายถึง ขนาดตั้งแต่ 150 ตันกรอสขึ้นไป
      เรือประมงบริเวณท่าเรือบ้านแหลมสิงห์ ที่ระบุทั้งหมายเลขตัวเรือของกรมเจ้าท่า และกรมประมง
  • ชุดที่ 3 ชุดตัวเลขแสดงลำดับที่ของใบอนุญาตให้ทำประมงพาณิชย์ในน่านน้ำไทย หรือนอกน่านน้ำไทย
  • ชุดที่ 4 ประเภทของเครื่องมือในการทำประมง ในกรณีได้รับอนุญาตหลายประเภท ให้ระบุทุกประเภท
    • A หมายถึง อวนลาก
    • B หมายถึง อวนล้อมจับ
    • C หมายถึง คราด
    • D หมายถึง อวนช้อน อวนยก
    • E หมายถึง อวนครอบ
    • F หมายถึง อวนติดตา
    • G หมายถึง อวนรุนเคย
    • H หมายถึง ลอบ
    • J หมายถึง เบ็ดราว
    • K หมายถึง อื่นๆ
    • M หมายถึง เรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

ซึ่งเครื่องหมายประจำเรือประมงดังกล่าว ให้เลือกใช้ได้ 2 รูปแบบ คือ

  1. ตัวอักษรและตัวเลขสีขาว บนพื้นกรอบสีดำหรือน้ำเงินเข้ม
  2. ตัวอักษรและตัวเลขสีดำ บนพื้นกรอบสีขาว
หมายเหตุ[แก้]
  1. หมายเลขทะเบียนเรือ ออกให้โดย กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม
  2. หมายเลขประจำเรือ ออกให้โดย องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization)
  3. เครื่องหมายประจำเรือประมง ออกให้โดย กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทางการทหาร[แก้]

หมายเลขลำเรือของ เรือหลวงสายบุรี (FFG-458) ติดอยู่บริเวณหัวเรือ

กองทัพเรือไทยมีระเบียบในการกำหนดหมายเลขเรือ ในรูปแบบตัวเลข 3 หลัก ร่วมกับสัญลักษณ์การจัดประเภทตัวเรือ (Hull classification symbol) เช่นเดียวกับกองทัพเรือสหรัฐ โดยด้านข้างตัวเรือจะถูกติดเพียงตัวเลขเท่านั้น ไม่ได้ติดสัญลักษณ์การจัดประเภทตัวเรือลงไปด้วย

สำหรับความหมายของหมายเลขตัวเรือแต่ละหลัก ประกอบไปด้วย[10]

  • หมายเลขหลักที่ 1 บ่งบอกประเภทของเรือ โดยกำหนดไว้ 9 ประเภท ได้แก่
    • 1 หมายถึง เรือบัญชาการ และสนับสนุนการยกพลขึ้นบก
    • 2 หมายถึง เรือดำน้ำ
    • 3 หมายถึง เรือเร็วโจมตี
    • 4 หมายถึง เรือพิฆาต, เรือฟริเกตและเรือคอร์เวต
    • 5 หมายถึง เรือตรวจการณ์
    • 6 หมายถึง เรือทุ่นระเบิด
    • 7 หมายถึง เรือยกพลขึ้นบก
    • 8 หมายถึง เรืออุทกศาสตร์ เรือช่วยรบ และเรือประเภทอื่น ๆ
    • 9 หมายถึง เรือบรรทุกอากาศยาน
  • หมายเลขหลักที่ 2 บ่งบอกถึงชั้นของเรือ โดยจัดชั้นตามคุณลักษณะที่ใกล้เคียงกัน หรือเรือที่ต่อด้วยแบบเรือเดียวกัน
  • หมายเลขหลักที่ 3 บ่งบอกถึงลำดับของเรือในชุดนั้น ๆ เริ่มต้นจาก 1 หากมีมากกว่า 9 ลำ ก็จะเพิ่มชุดตัวเลขจากเดิม 3 หลักขึ้นเป็น 4 หลัก เพื่อรองรับลำต่อไปที่จะกลายเป็นตัวเลข 2 หลัก

ในอดีตกองทัพเรือเคยใช้หมายเลขเรือตัวเดียมาก่อน แต่มาให้หลังเริ่มใช้หมายเลขเรือ 3 หลัก

เรือหลวงคราม
เรือหลวงสุโขทัย
เรือหลวงตาปี
เรือหลวงปิ่นเกล้า
เรือหลวงมกุฎราชกุมาร

สหรัฐ[แก้]

พลเรือน[แก้]

ในประเทศสหรัฐ การใช้งานหมายเลขตัวเรือของพลเรือนที่ผลิตในสหรัฐ หมายเลขตัวเรือจะถูกจัดสรรให้กับเรือตั้งแต่ผลิตและเป็นส่วนหนึ่งของหมายเลขประจำตัวของเรือ (HIN) ซึ่งใช้ระบุตัวตนของเรือและถูกติดอยู่กับตัวเรืออย่างถาวรอย่างน้อย 2 ตำแหน่ง โดยหมายเลขประจำตัวของเรือ (HIN) จะประกอบไปด้วยชุดอักขระ 12 ตัวที่จัดสรรโดยไม่ซ้ำกัน คล้ายกับหมายเลขทะเบียนรถยนต์

ในปี พ.ศ. 2515 หน่วยยามฝั่งของสหรัฐอเมริกาได้ขอให้สร้างรูปแบบที่เป็นมาตรฐานสำหรับหมายเลขประจำตัวของเรือ เพื่อให้สามารถระบุรูปพรรณเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้และติดตามประวัติของเรือได้ดียิ่งขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยมีรูปแบบดังต่อไปนี้

  • อักขระสามตัวแรก ประกอบด้วยรหัสดัชนีโดยผู้ผลิต (Manufacturers Index Code: MIC)[11] และควรเป็นตัวอักษรเท่านั้น
  • อักขระห้าตัว คือชุดหมายเลขประจำรุ่นซึ่งกำหนดโดยผู้ผลิตแบบไม่ซ้ำกัน และสามารถเป็นชุดตัวอักษร และ/หรือ ตัวเลขก็ได้ ยกเว้นตัวอักษร O, I และ Q (อาจทำให้เข้าใจผิดได้ง่าย)
  • อักขระสี่ตัวสุดท้าย กำหนดรุ่นและปีที่ได้รับการตรวจสอบรับรองของเรือ[12]

หมายเลขประจำตัวของเรือมักจะถูกติดไว้บริเวณท้ายเรือที่มุมขวาบนสุด นอกจากนี้หมายเลขประจำตัวของเรือ อาจถูกระบุไว้ในชื่อเรือ การลงทะเบียนเรือ และถูกระบุอยู่ในเอกสารการประกันภัย

ทางการทหาร[แก้]

หมายเลขลำเรือที่มองเห็นได้ทั้งสองด้านของหัวเรือ ยูเอสเอส อาร์เลห์ เบิร์ก DDG-51

กองทัพเรือสหรัฐ หน่วยยามฝั่งสหรัฐ และองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาตินั้น ใช้รูปแบบของหมายเลขตัวเรือร่วมกันกับ สัญลักษณ์การจัดประเภทตัวเรือ (Hull classification symbol) เพื่อความสะดวกในการระบุตัวตนของเรือ ซึ่งชุดรูปแบบเหล่านี้จะไม่ถูกนำมาใช้งานซ้ำ ทำให้สามารถระบุตัวตนของเรือแต่ละลำได้อย่างเจาะจง อาทิ มีเรืออย่างน้อยแปดลำ ใช้ชื่อว่า ยูเอสเอส เอนเทอร์ไพรซ์ แต่ CV-6 สามารถเจาะจงได้ว่าเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จากบรรดาเรือทั้งหมดที่ใช้งานชื่อเดียวกัน ซึ่งด้านข้างตัวเรือจะถูกติดเพียงตัวเลขเท่านั้น ไม่ได้ติดสัญลักษณ์การจัดประเภทตัวเรือลงไปด้วย จึงมักจะถูกเรียกว่า หมายเลขตัวเรือ

ในบางครั้ง กองทัพเรือสหรัฐก็มีข้อยกเว้นในการเรียงลำดับหมายเลขตัวเรือ อาทิ กองทัพเรือสหรัฐได้สร้างเรือดำน้ำชั้นลอสแองเจลิสลำสุดท้ายชื่อว่า ยูเอสเอส ไชเอนน์ (SSN-773) จากนั้นได้สร้างเรือดำน้ำชั้นซีวูล์ฟจำนวน 3 ลำ กำหนดให้ใช้หมายเลขตัวเรือ SSN-21 ถึง SSN-23 หลังจากนั้นก็กลับมาใช้ลำดับต่อจากเดิมในเรือดำน้ำชั้นถัดไป คือเรือดำน้ำ ยูเอสเอส เวอร์จิเนีย (SSN-774) เรือลำแรกในเรือดำน้ำชั้นเวอร์จิเนีย

นอกจากนี้ เรือรบที่ถูกต่อขึ้นในสหรัฐสำหรับประจำการหรือใช้งานในประเทศอื่นมักจะถูกละเว้นการใช้งานซ้ำหมายเลขตัวเรือเช่นกัน แม้ว่าประเทศปลายทางที่ได้รับจะนำไปกำหนดหมายเลขใหม่ก็ตาม

ออสเตรเลีย[แก้]

พลเรือน[แก้]

ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย หมายเลขประจำเรือ (Hull Identification Number: HIN) จะประกอบด้วยชุดตัวอักษรและตัวเลขที่ไม่ซ้ำกัน จำนวน 14 หลัก[13] ประทับแสดงอยู่บนแผ่นโลหะที่ติดอยู่กับที่ท้ายเรือ สามารถขึ้นรูปหรือแกะสลักก็ได้ไว้ท้ายเรือก็ได้ โดยผู้ผลิตเรือจำเป็นต้องทำเครื่องหมายของเลขประจำเรือให้กับเรือใหม่ทุกลำตามมาตรฐาน (ISO 10087:1995(E)) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544[14]

การลงทะเบียนขอรับหมายเลขประจำเรือ ผู้ให้บริการรหัสเรือจะออกใบรับรองหมายเลขประจำเรือให้กับเจ้าของเรือ ซึ่งเป็นหมายเลขที่ถูกรันไว้ก่อนแล้วโดยกระทรวงคมนาคม โดยข้อมูลการลงทะเบียนจะถูกอัพเดทเพิ่มเติมเข้าไปในฐานข้อมูลของรัฐบาล

สำหรับการขอรับหรือตรวจสอบหมายเลขประจำเรือ สามารถติดต่อได้ที่ตัวแทนผู้ให้บริการที่รู้จักกันในชื่อว่า โบทโค้ด (BoatCode) ซึ่งผ่านการรับรองจากกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีตั้งกระจายให้บริการอยู่ทั่วทุกรัฐ ซึ่งให้บริการในการ

  • ตรวจสอบหมายเลขประจำเรือ บนเรือลำใหม่
  • ติดหรือตรวจสอบหมายเลขประจำเรือ ก่อนขายเรือ
  • ติดหรือตรวจสอบหมายเลขประจำเรือ ก่อนโอนกรรมสิทธิ์เรือ

อ้างอิง[แก้]

  1. "เปิดที่มา "เรือฟริเกต" ราชนาวีไทย ชื่อนี้มาได้ไง รู้เอาไว้ มันไม่ง่าย". www.thairath.co.th. 2019-01-08.
  2. 2.0 2.1 2.2 British Marine Federation. "Craft Identification Number". British Marine Federation website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 March 2013. สืบค้นเมื่อ 18 September 2013.
  3. "Russian troops in Belarus trying to hide hull numbers of its combat vehicles". defence-blog.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-01-20.
  4. กรมเจ้าท่า Marine Department (md.go.th)
  5. ราชกิจจานุเบกษา. กฎกระทรวง เครื่องหมายถาวรของเรือไทย พ.ศ. 2565. เล่ม 121 ตอนพิเศษ 102 ง, วันที่ 15 กันยายน 2547, หน้า 38-40
  6. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี. ที่. ท ๑๐๗/๒๕๔๗. เรื่อง การจัดทำเครื่องหมายแสดงเลขประจำเรือ. (Ship's Identification Number) เก็บถาวร 2023-01-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เล่ม 121 ตอนพิเศษ 102 ง, วันที่ 15 กันยายน 2547, หน้า 38-40
  7. "ชาวประมงชุมพร โวย ถูกออกกฎเข้มให้เลือกฝั่งจับปลาได้ทะเลเดียว". www.thairath.co.th. 2016-04-07.
  8. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำเครื่องหมายประจำเรือประมงสำหรับเรือประมงพาณิชย์ในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2561 เก็บถาวร 2023-01-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เล่ม 135 ตอนพิเศษ 54 ง, วันที่ 9 มีนาคม 2561, หน้า 21-23
  9. 9.0 9.1 ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศกรมประมง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำเครื่องหมายประจำเรือประมงสำหรับเรือประมงนอกน่านน้ำไทย พ.ศ. 2564 เก็บถาวร 2023-01-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เล่ม 138 ตอนพิเศษ 106 ง, วันที่ 18 พฤษภาคม 2564, หน้า 15-17
  10. SubLt.Wallopee. "fcsorm". fcsorm.dyndns.org.
  11. "US Coast Guard MIC Database". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 October 2012. สืบค้นเมื่อ 25 September 2012.
  12. "Nautical Knowhow HIN Source".
  13. Araujo, Lucas Ribeiro de (2019-07-18). "How to Check HIN & PPSR". Seaworthy Inspections (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย).
  14. "Hull Identification Number (HIN)". BIAWA (ภาษาอังกฤษ).