ข้ามไปเนื้อหา

เณรคำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิรพล สุขผล

(พระวิรพล ฉัตติโก, สมีคำ)
ชื่ออื่นหลวงปู่เณรคำ ฉัตติโก
ส่วนบุคคล
เกิด18 กันยายน พ.ศ. 2522 (45 ปี 62 วัน ปี)
นิกายธรรมยุติกนิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่สำนักสงฆ์วัดป่าขันติธรรม ศรีสะเกษ
บรรพชา13 กันยายน พ.ศ. 2537
อุปสมบท27 พฤษภาคม พ.ศ. 2542
พรรษา14 ปี 47 วัน
ตำแหน่งอดีตประธานสงฆ์วัดป่าขันติธรรม

วิรพล สุขผล อดีตพระภิกษุชื่อพระวิรพล ฉัตติโก เรียกตนเองว่าหลวงปู่เณรคำ ฉัตติโก และเป็นที่รู้จักในชื่อ เณรคำ ทั้งเคยเป็นประธานสงฆ์สำนักสงฆ์วัดป่าขันติธรรม และมีชื่อเสียงจากความสามารถในการสั่งสอน แต่ภายหลังถูกถอดจากสมณเพศเพราะมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายประการ[1] รวมถึงการอวดอุตริมนุสธรรมที่อ้างว่าตนได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง จำคุก 20 ปี

ประวัติ

[แก้]

วิรพล สุขผล เกิด 18 กันยายน 2522 บ้านทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

บรรพชาและอุปสมบท

[แก้]

เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2537 พระวิรพล ฉัตติโกได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดภูเขาแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีหลวงปู่โชติ อาภัคโค เป็นอุปัชฌาย์แล้วจึงไปจำพรรษาที่วัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดศรีนวล อำเภอและจังหวัดเดียวกัน ก่อนที่จะกลับไปจำพรรษาอีกครั้งที่สำนักสงฆ์ขันติธรรม

สำนักสงฆ์ขันติธรรม

[แก้]

หลังการอุปสมบท พระวิรพล ฉัตติโกได้ใช้พื้นที่ที่ถวายโดยชาวบ้าน ทำการสร้างสำนักสงฆ์ชื่อ สำนักสงฆ์ขันติธรรม ขึ้นที่ตำบลยาง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และต่อมาในภายหลังสำนักสงฆ์นี้ก็ใช้ชื่อโดยทั่วไปว่า วัดป่าขันติธรรม (ปัจจุบันได้รับสถานะเป็นวัดตามกฎหมายแล้วในชื่อวัดสามัคคิยาราม)

การพ้นจากสมณเพศ

[แก้]

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 คณะสงฆ์จังหวัดอุบลราชธานีและคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษได้ขับพระวิรพลออกจากสมณเพศ เนื่องจากผิดวินัยสงฆ์ร้ายแรง ได้แก่เสพเมถุน ต้องอาบัติปาราชิก[2][3] ต่อมามีตัวแทนของพระวิรพลให้ข่าวว่าพระวิรพลได้ลาสิกขาแล้วที่วัดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมปีเดียวกัน[4][5] อย่างไรก็ตามในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ได้มีรายงานข่าวว่าเณรคำยังคงแต่งกายเป็นพระสงฆ์ เณรคำได้อ้างว่าตนมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยและสามารถอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้อย่างถูกกฎหมาย และยังกล่าวอีกด้วยว่าจะตั้งนิกายใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ไทย[6][7]

ถูกจับกุมและดำเนินคดี

[แก้]

ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 มีรายงานว่าตำรวจสหรัฐฯ ได้จับกุมตัวเณรคำได้แล้ว ภายหลังจากที่เณรคำได้ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกหมายจับในคดีพรากผู้เยาว์อายุต่ำกว่าสิบห้าปี, กระทำชำเราเด็กหญิง, ฉ้อโกงประชาชน, ฟอกเงิน เป็นต้น และได้ประสานงานกับทางการสหรัฐฯ ในการติดตามจับกุม[8] ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 ศาลแคลิฟอร์เนียมีคำสั่งให้ส่งตัวเณรคำในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับประเทศไทย ซึ่งในวันที่ 19 กรกฎาคมปีเดียวกัน เณรคำถูกนำตัวมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากนั้นก็ได้ถูกควบคุมตัวไปดำเนินคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษในทันที[9]

ในวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ศาลได้พิพากษาตัดสินในข้อหา 3 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ผิดฐานพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ และฐานฟอกเงิน แต่จำเลยปฏิเสธโดยอัยการโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ถึง 27 มิถุนายน 2556 ต่อเนื่องกัน จำเลยได้อาศัยความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนา โดยหลอกลวงแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดความจริงว่า จำเลยเป็นประธานสงฆ์วัดป่าขันติธรรม จ.อุบลราชธานี และอ้างว่า ได้นิมิตพบองค์อินทร์ ขอให้สร้างพระแก้วมรกตองค์ใหญ่ที่สุดในโลก ต้องใช้หยกเขียวแท้จากประเทศอิตาลี และก่อสร้างเสาวิหารแก้วครอบองค์พระแก้วมรกต 199 ต้น ต้นละ 3 แสนบาท รูปหล่อพระทองคำ (รูปเหมือนจำเลย) ก่อสร้างวิหารสำหรับประชาชนที่วัดป่าฯ สาขา 1 จ.อุบลราชธานี สร้างวัดที่ จ.สุพรรณบุรี รวมทั้งการจัดซื้อเรือจากสหรัฐอเมริกา เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยจำเลยประกาศ ชักชวนให้ประชาชน นำเงิน ทองคำ และทรัพย์สินมาบริจาคกับจำเลย ที่วัดป่าฯ โดยจัดตู้บริจาค 8 ตู้ จนมีผู้เสียหาย 29 ราย หลงเชื่อว่า จำเลยเป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เข้าร่วมบริจาคเงินและทรัพย์สินต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 28,649,553 บาท แล้วจำเลยโอนเงิน 1,130,000 บาทที่ได้จากการฉ้อโกงไปซื้อรถยนต์ตู้โตโยต้า 1 คันโดยทุจริต ทั้งที่ความจริงแล้วจำเลยมิได้ก่อสร้างใดๆ เลย ขณะที่ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า การอวดอ้างนิมิตถึงพระอินทร์แล้วหลอกลวงให้ประชาชนที่เคารพศรัทธา ที่เป็นพุทธศาสนิกชนหลงเชื่อจนบริจาคเงินให้ แล้วนำไปซื้อรถปอร์เช่ รถตู้ รถกระบะ หลายสิบคัน รวมทั้งใช้เงินเกินความจำเป็นความเป็นสงฆ์ กระทั่งจำเลยก็ถูกศาลแพ่งริบทรัพย์ 43,478,992 บาท นั้น ฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยนั้นผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป รวมจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 114 ปี แต่ตามกฎหมายเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว จำคุกสูงสุดตาม ม.91(2) ได้ 20 ปี และให้ชดใช้เงินกับผู้เสียหายกับ 29 ราย ตามจำนวนที่ได้ฉ้อโกงไป

สำหรับคดีอาญาที่เกี่ยวกับการมีสัมพันธ์ทางเพศกับเด็กหญิงนั้น พบว่าคดีเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ 2543-2544 ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รวบรวมหลักฐานและตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์ยืนยันว่าเณรคำได้มีเพศสัมพันธ์กับเด็กหญิงอายุ 14 ปี (ในขณะนั้น) จนตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชาย ซึ่งคดีอนาจารเด็กนั้นได้ขาดอายุความแล้ว อัยการจึงได้ยุติคดีไป ส่วนคดีข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงนั้นศาลอาญาได้นัดพิพากษาในเดือนตุลาคม 2561[10]

กระแสวิจารณ์

[แก้]

ก่อนถูกตัดสินให้พ้นสมนเพศ พระวิรพล ฉัตติโกถูกติเตียนโดยทั่วไปถึงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสม หลังจากที่มีผู้แพร่ภาพพระวิรพลในหลากหลายอิริยาบถที่ผิดอาจาระของสงฆ์ อาทิ วิดีโอแสดงพระวิรพลในเครื่องบินส่วนตัวพร้อมกับถือกระเป๋าหลุยส์ วิตตอง ภาพถ่ายที่พระวิรพลเอนแนบลำตัวไปบนรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงหนังสือที่พระวิรพลแต่งชื่อ ชาติหน้าไม่ขอมาเกิด ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการอวดอุตริมนุสธรรมว่าเป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นจากวัฏสงสารแล้ว ซึ่งในขณะนั้นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ได้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อหาข้อมูลแต่ไม่สามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้เนื่องจากไม่มีอำนาจโดยตรง

สิ่งที่ดีเอสไอตรวจสอบและจับกุม[11]

  1. พรากผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี
  2. กระทำชำเราเด็กหญิง
  3. ฉ้อโกงประชาชน
  4. ความผิดฐานฟอกเงินและ
  5. ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ

อ้างอิง

[แก้]
  1. "รวมข่าวหลวงปู่เณรคำ : MThai News". เอ็มไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-23. สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "เจ้าคณะจังหวัดอุบลฯ ลงนามขับพระเณรคำ พร้อมตรวจสอบทรัพย์สิน-พระในสังกัด". ข่าวสด. 13 กรกฎาคม 2556. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "คณะสงฆ์ศรีสะเกษมติเอกฉันท์ขับ "เณรคำ" พ้นพระ เหตุเสพเมถุน". เอเอสทีวีผู้จัดการ. 13 กรกฎาคม 2556. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-16. สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "ข่าวแพร่'สมีคำ'สึก3วันขอเป็นพลเมืองอเมริกัน". กรุงเทพธุรกิจ. 29 กรกฎาคม 2556. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-05. สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "พระครูฯอ้าง 'สมีคำ' สึกแล้ว รู้จากสื่อไทยที่สหรัฐ". ไทยรัฐ. 30 กรกฎาคม 2556.
  6. "เผยคลิป "เณรคำ" หนี 8 คดีดีเอสไอ 2 ปี โผล่มะกัน! จัดวันเกิด-แยกนิกาย". เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์. 29 กันยายน 2558. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-17. สืบค้นเมื่อ 2016-07-23.
  7. "เผยคลิป "เณรคำ" ในสหรัฐจ่อตั้งนิกายใหม่". โพสต์ทูเดย์. 30 กันยายน 2558.
  8. "'เณรคำ' จนมุม ถูกจับที่สหรัฐ ดีเอสไอขอตัว ส่งกลับ-ไทย!". ไทยรัฐ. 23 กรกฎาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "อธิบดีดีเอสไอรอรับ แจ้งข้อหาสมีเณรคำ". ไทยรัฐ. 20 กรกฎาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. "ย้อนรอยชีวิต... "ไอ้เณรคำ" มหากาพย์จอมคนลวงโลก กับเส้นทางสู่คุก 114 ปี". ผู้จัดการ. 11 สิงหาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. "DSI สรุปผลการดำเนินคดีนายวิรพล สุขผล หรือ พระวิรพล ฉัตติโก หรือ หลวงปู่เณรคำ". กรมสอบสวนคดีพิเศษ. 18 ตุลาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]