เฌโรม โบนาปาร์ต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฌโรม โบนาปาร์ต
เจ้าชายแห่งมงฟอร์
เฌโรมในฐานะกษัตริย์แห่งเว็สท์ฟาเลิน
กษัตริย์แห่งเว็สท์ฟาเลิน
ครองราชย์7 กรกฎาคม 1807 – 26 ตุลาคม 1813
มุขมนตรีโฌแซ็ฟ เฌโรม ซีเมอง
ประสูติ15 พฤศจิกายน 1784
อาฌักซีโย ราชอาณาจักรฝรั่งเศส
สวรรคต24 มิถุนายน ค.ศ. 1860(1860-06-24) (75 ปี)
Vilgénis สาธารณรัฐฝรั่งเศส
คู่อภิเษก
บุตร
พระนามเต็ม
เฌโรม-นโปเลียน โบนาปาร์ต
ราชวงศ์โบนาปาร์ต
บิดาการ์โล บูโอนาปาร์เต
มารดาเลตีเซีย ราโมลีโน
ศาสนาโรมันคาทอลิก
ลายพระอภิไธย

เฌโรม-นโปเลียน โบนาปาร์ต (ฝรั่งเศส: Jérôme-Napoléon Bonaparte) เป็นน้องชายคนสุดท้องของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ต่อมาเขาได้ครองราชย์เป็น เฌโรม-นโปเลียนที่ 1 กษัตริย์แห่งเว็สท์ฟาเลิน ระหว่างปี 1807 ถึง 1813

ภายหลังปี 1816 เขาได้ครองยศเจ้าชายแห่งมงฟอร์ (Prince de Montfort)[1] และต่อมาในปี 1848 ในยุคสาธารณรัฐที่สอง เขาก็ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง ทั้งจอมพลแห่งฝรั่งเศสและประธานวุฒิสภา[2] เขาเป็นในพี่น้องไม่กี่คนของนโปเลียนที่มีชีวิตอยู่จนเห็นการคืนสู่ราชสมบัติของราชวงศ์โบนาปาร์ตภายใต้จักรวรรดิฝรั่งเศสที่สอง

เฌโรมเกิดที่อาฌักซีโย เกาะคอร์ซิกา เป็นบุตรคนที่แปดและคนสุดท้ายของการ์โล บูโอนาปาร์เต กับเลตีเซีย ราโมลีโน พี่ทั้งเจ็ดคนของเขาได้แก่ โฌแซ็ฟ, นโปเลียน, ลูว์เซียง, เอลีซา, หลุยส์, โปลีน และการอลีน ตามลำดับ เฌโรมเข้าศึกษาในโรงเรียนคาทอลิกในกรุงปารีสที่ชื่อว่า Collège de Juilly และ Collège des Irlandais ตามลำดับ

ประวัติ[แก้]

เฌโรมเข้าเป็นทหารเรือฝรั่งเศสเมื่อปี 1800 (ในสมัยสาธารณรัฐที่หนึ่ง) เขาได้รับมอบหมายจากนโปเลียนซึ่งเป็นกงสุลเอก ให้เป็นผู้บังคับการเรือฟริเกตลำหนึ่งสู่หมู่เกาะเวสต์อินดีส ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เขาเข้าใจผิดและยิงเรือสินค้าของอังกฤษ เหตุการณ์ดังกล่าวสามารถลุกลามเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ เฌโรมคิดว่าพี่ชายคงกำลังโกรธเขามาก จึงหนีขึ้นเหนือสู่สหรัฐโดยใช้นามแฝงว่า "แอลเบิร์ต" และตัดสินใจพำนักอยู่ที่นี่เพื่อรอจนกว่าพี่ชายจะใจเย็น

พำนักในอเมริกา[แก้]

ระหว่างที่พำนักอยู่ในสหรัฐ เฌโรมในวัยสิบเก้าปีถูกเพื่อนทหารเรือแนะนำให้รู้จักกับเอลิซาเบธ แพตเตอร์สัน วัยสิบแปดปี ซึ่งเป็นลูกสาวแสนสวยของเศรษฐีอันดับสองของสหรัฐ และแล้วทั้งคู่ก็แต่งงานในคืนวันคริสต์มาสปี 1803 ต่อมาเมื่อนโปเลียนรู้ข่าวการสมรสก็โกรธมาก เพราะวางแผนจะให้เฌโรมแต่งงานกับเจ้าหญิงของราชวงศ์ในยุโรปเพื่อขยายอำนาจตนเอง นโปเลียนเขียนจดหมายถึงสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 7 ร้องขอให้ออกประกาศโมฆียกรรมการสมรสแต่ก็ไม่สำเร็จ และเมื่อนโปเลียนขึ้นเป็นจักรพรรดิในปี 1804 พระองค์ก็ออกประกาศโมฆียกรรมการสมรสด้วยพระองค์เอง

กลับสู่ยุโรป[แก้]

เฌโรมเดินทางกลับถึงแผ่นดินยุโรปในปี 1805 พร้อมกับภรรยาที่ตั้งครรภ์ ทั้งคู่เทียบท่าที่ประเทศเป็นกลางอย่างโปรตุเกส จากนั้นเฌโรมก็แยกทางสู่อิตาลีเพื่อร้องขอให้พี่ชายของเขายอมรับการสมรส เรือของเอลิซาเบธพยายามเทียบท่าที่อัมสเตอร์ดัม หมายจะเดินทางต่อเข้าฝรั่งเศส ด้วยเพราะอยากให้ลูกเกิดบนผืนแผ่นดินฝรั่งเศส แต่จักรพรรดินโปเลียนไม่ยอม ท้ายที่สุด เรือของหล่อนจึงมุ่งสู่ประเทศอังกฤษ หล่อนให้กำเนิดลูกชายในกรุงลอนดอน

นโปเลียนยังคงยืนกรานให้ทั้งคู่หย่ากัน ท้ายที่สุดเฌโรมก็ยินยอมหย่ากับเอลิซาเบธตามประสงค์ของพี่ชาย นโปเลียนจึงแต่งตั้งเฌโรมเป็นนายพลในกองทัพเรือและกองทัพบกในปี 1805 และเป็นกษัตริย์แห่งเว็สท์ฟาเลินในปี 1807 ฝ่ายเอลิซาเบธก็เดินทางกลับสหรัฐเพียงลำพังและไม่เคยติดต่อกับเฌโรมอีกเลย นางตัดสินใจหย่ากับเฌโรมผ่านกระบวนการทางกฎหมายของสหรัฐในปี 1815 และนางก็ไม่ยอมรับเงินค่าดูแลบุตรจากเฌโรมแม้แต่เหรียญเดียว

กษัตริย์แห่งเว็สท์ฟาเลิน[แก้]

หลังขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเว็สท์ฟาเลิน เฌโรมถูกจัดแจงให้แต่งงานกับเจ้าหญิงคาทารีนาแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค ธิดาในพระเจ้าฟรีดริชที่ 1 แห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค อันเป็นประเทศบริวารของจักรวรรดิฝรั่งเศส จักรพรรดินโปเลียนต้องการให้ราชอาณาจักรเว็สท์ฟาเลินเป็นแบบอย่างให้แก่รัฐเยอรมันทั้งหลาย เว็สท์ฟาเลินกลายเป็นรัฐเยอรมันแห่งแรกที่มีรัฐธรรมนูญและรัฐสภา นอกจากนี้ พระเจ้าเฌโรมยังทรงนำเข้าศิลปะและธรรมเนียมมากมายจากปารีส ราชสำนักคัสเซิลของพระองค์จึงอุดมด้วยภาพลักษณ์อันทันสมัย อาณาจักรขนาดเล็กอย่างเว็สท์ฟาเลินเริ่มเป็นที่รู้จักอีกครั้งในหมู่ชนชาวยุโรป

อย่างไรก็ตาม พระเจ้าเฌโรมมีอุปนิสัยฟุ่มเฟือยจนถูกก่นด่าจากจักรพรรดินโปเลียน และทำเว็สท์ฟาเลินเกิดวิกฤตการคลัง ราชสำนักคัสเซิลมีรายจ่ายสูงกว่าราชสำนักปารีสเสียอีก (ทั้งที่ราชสำนักปารีสมีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลในความดูแล) และนโปเลียนก็ปฏิเสธให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เฌโรม[3]

ในปี 1812 เฌโรมได้รับมอบหมายจากจักรพรรดินโปเลียน ให้เป็นผู้บัญชาการหนึ่งทัพน้อยในกองทัพใหญ่ซึ่งมุ่งสู่มินสค์ เฌโรมยืนกรานจะเดินทัพแบบพยุหยาตราอย่างใหญ่โต จนถูกนโปเลียนตำหนิว่าให้เลิกพิธีรีตองกับเลิกนิสัยติดหรูได้แล้ว

อ้างอิง[แก้]

  1. Gentleman's Magazine and Historical Review. London: Henry & Parker. 1860. p. 208.
  2. Taxile Delord (1869). Histoire du Second Empire (1848–1869) (ภาษาฝรั่งเศส). Paris: G. Baillière. Jérôme Bonaparte second empire.
  3. "La Grande Armée" by Georges Blond, translated by Marshall May, p. 303