พระยาเทพวงศ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาเทพวงศ์

เจ้าน้อยอุปเสน
พระยานครแพร่
ครองราชย์ก่อน พ.ศ. 2348-พ.ศ. 2359[1]
รัชกาลก่อนหน้าพระยาแสนซ้าย
รัชกาลถัดไปพระยาอินทวิไชย
พิราลัยพ.ศ. 2359
พระชายาแม่เจ้าสุชาดาราชเทวี
พระนามเต็ม
พระยาเทพวงศ์
พระบุตรพระยาอินทวิไชย
เจ้าปิ่นแก้ว
เจ้าพุทธวงศ์
ราชวงศ์แสนซ้าย
พระบิดาพระยาแสนซ้าย
พระมารดาแม่เจ้าเมืองแพร่อรรคราชเทวี
เจ้าผู้ครองนครแพร่แห่ง
ราชวงศ์แสนซ้าย
*พระยาแสนซ้าย
*พระยาเทพวงศ์
*พระยาอินทวิไชย
พระยาพิมพิสารราชา
เจ้าพิริยเทพวงษ์

พระยาเทพวงศ์ เจ้าหลวงเทพวงศ์ หรือ เจ้าหลวงอุปเสน ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์แสนซ้าย ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ราชประวัติ[แก้]

พระยาเทพวงศ์ มีพระนามเดิมว่า "เจ้าน้อยอุปเสน" และมีอีกพระนามว่า "เทพวงษ์" ซึ่งมาจากชื่อทางพระ เป็นโอรสของพระยาแสนซ้าย เจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 1 แห่งราชวงศ์แสนซ้าย[2] และก่อนขึ้นเป็นพระยาแพร่ ทรงเคยดำรงตำแหน่งพระเมืองไชย (พระเมืองใจ) มาก่อน ตามที่พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) กล่าวว่า

"...เมืองแพร่นั้น เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น พระยาแสนซ้ายได้เป็นเจ้าเมือง ครั้นถึงแก่กรรมแล้ว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ตั้งพระเมืองใจบุตรพระยาแสนซ้ายเป็นพระยาแพร่..."[3]

พระองค์ทรงเป็นเจ้าหลวงที่มีปิยวาจา พูดไพเราะน่าฟัง พูดเก่ง พูดจาสิ่งใด ใครๆก็เชื่อฟังหมดจนชาวเมืองให้การเคารพนับถือ พับสาที่เก็บรักษาไว้ที่วัดดอยจ่าคำเรียกพระนามพระองค์ว่า "เจ้าหลวงลิ้นทอง (ลิ้นตอง)" อันเป็นนามที่สื่อถึงความสามารถด้านเจรจากับทุกฝ่ายผลประโยชน์ที่ลงตัวของกลุ่มชน มีผลสืบเนื่องให้เมืองแพร่ธำรงอยู่หนึ่งในห้าหัวเมืองประเทศราชล้านนา

พระยาเทพวงศ์ถึงแก่พิราลัย ในปี พ.ศ. 2359 พระอินทวิไชย ราชโอรสองค์โต จึงได้เสด็จขึ้นครองนครแพร่ต่อจากพระองค์เป็นพระยาอินทวิไชย ดังระบุในพับสาวัดดอยจำค่าว่า

"...เจ้าหลวงลิ้นทองเสวยเมืองอยู่ได้ ๔๕ ปี เถิงสวัรคต(สวรรต) ว่าง ๑ ปี เจ้าหลวงอินทวิไชยผู้เปนลูกขึ้นแทน..."

ราชโอรส-ธิดา[แก้]

พระยาเทพวงศ์ ราชโอรส-ธิดา กับแม่เจ้าสุชาดา (ราชธิดาในพระยาศรีสุริยวงศ์ (พระเมืองไชย) เจ้าผู้ครองนครแพร่สมัยกรุงธนบุรี) ดังนี้

  • เจ้าน้อยอินทวิไชย (อินต๊ะวิไจย) ต่อมาคือ พระยาอินทวิไชย เจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 3 ราชเทวีคือแม่เจ้าสุพรรณวดี[4]
  • เจ้าปิ่นแก้ว (อ้างอิงจากหนังสือเชื้อสายเจ้าหลวงเมืองแพร่ 4 สมัย เรียบเรียงโดยบัวผิว วงศ์พระถาง เจ้าไข่มุกต์ ประชาศรัยสรเดช และร.ต.ดวงแก้ว รัตนวงศ์) สมรสกับเจ้าวังขวา มีโอรส-ธิดา ดังนี
  • เจ้าเขียว สมรสกับ พระวังขวา (เจ้าหนานคำแสน)
  • เจ้าพิมพิสาร ต่อมาคือ พระยาพิมพิสารราชาเจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์แสนซ้าย ราชเทวีคือแม่เจ้าแก้วไหลมา
  • เจ้าเรือนแก้ว สมรสกับ พระยาบุรีรัตน์ (เจ้าหนานปัญญา มหายศปัญญา)
  • เจ้าแก้ววรรณา สมรสกับ พระวังซ้าย (เจ้าวังซ้ายเฒ่า)
  • พระยาราชวงศ์ (เจ้าน้อยสุริยวงศ์) สมรสกับ เจ้าบัวคำ และเจ้าบัวจีน
  • เจ้าพุทธวงศ์

ราชกรณียกิจ[แก้]

  • ทรงบูรณะวัดหัวข่วง(วัดสำเภา) และวัดศรีชุม(วัดท่านางเหลียว) เมืองแพร่
  • ก่อนปีพ.ศ. 2353 มีการขุดเหมืองหลวง เพื่อให้ชาวเมืองได้ใช้น้ำโดยการผันน้ำจากลำน้ำแม่สาย

พระอิสริยยศ[แก้]

  • ก่อน พ.ศ. 2348 พระเมืองไชย (พระเมืองใจ)
  • พ.ศ. 2348-2359 พระยานครแพร่

ราชตระกูล[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. วรชาติ มีชูบท. เจ้านายฝ่ายเหนือและตำนานรักมะเมียะ. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2556. 428 หน้า. หน้า 20. ISBN 978-616-220-054-0
  2. ภูเดช แสนสา.เจ้าผู้ครองนครแพร่ยุคประเทศราชของสยาม ใน หมุดหมายประวัติศาสตร์ล้านนา: รวมบทความวิชาการในวาระครบรอบ ๖ ทศวรรษ ศาสตราจารย์สรัสวดี-รองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล. บริษัทโรงพิมพ์ตะวันออกจำกัด (มหาชน), พ.ศ. 2556.
  3. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๑๑ ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ พิมพ์เป็นที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงธรรมสารเนติ (อบ บุนนาค); วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ ณ วัดประยูรวงศาวาส; พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร
  4. "เจ้าหลวงเทพวงศ์ลิ้นตอง (ลิ้นทอง)". วังฟ่อนดอตคอม. 17 กรกฎาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)