ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าจอมมารดาพุ่ม ในรัชกาลที่ 1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าจอมมารดาพุ่ม
เกิดพุ่ม
ราว พ.ศ. 2300
กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
อนิจกรรมกรุงเทพพระมหานคร อาณาจักรรัตนโกสินทร์
ตระกูลจักรี (โดยสมรส)
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
บุตรพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์
บิดาพระยาวิเศษสุนทร (นาคนกเล็ก)
มารดาคุณหญิงสั้น

เจ้าจอมมารดาพุ่ม เป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นพระมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์[1]

เจ้าจอมมารดาพุ่ม เป็นธิดาของพระยาวิเศษสุนทร (นาค นกเล็ก) กับคุณหญิงสั้น[2] เป็นหลานปู่ของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เป็นบุตรชายเจ้าพระยาสุรสีห์พิศมาทิราช (เมฆ) เจ้าพระยาสุรสีห์พิศมาทิราช มีน้องชายคนเดียวคือเจ้าพระยามหาสมบัติ (ผล) เจ้าพระยามหาสมบัติเป็นปู่ของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เจ้าจอมมารดาพุ่ม และ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) จึงเป็นพี่น้องในชั้นเดียวกัน นอกจากนั้น ท่านยังเป็นหลานของเจ้าพระยานคร (หนุ) หรือพระเจ้านครศรีธรรมราช เนื่องจาก มารดาของท่าน คือคุณหญิงสั้น เป็นธิดาของเจ้าพระยานคร และเป็นพี่สาวของ เจ้าจอมฉิม เจ้าจอมปราง และเจ้าจอมยวน พระสนมของสมเด็จพระเจ้าตากลินมหาราช

ท่านเป็นคนกล้าหาญ เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก ท่านยังเด็กอายุเพียง 10 ขวบ หนีพม่าไปกับน้องชายอายุ 8 ขวบ กับพวกบ่าวไพร่ โดนพม่าจับเอาลงเรือ มัดพวกบ่าวไพร่รวมทั้งคนไทยอื่น ๆ ที่จับมาได้หมดทุกคน เว้นแต่เจ้าจอมมารดาพุ่ม และน้องชายยังเป็นเด็กจึงไม่โดนมัด

เมื่อตอนพากันหนีออกมาจากกรุงนั้น ก็เก็บเข้าของใส่กระบุงตะกร้าหาบคอนมาด้วย มีไม้ไผ่คานอันหนึ่งเป็นไม้ทะลวงปล้อง ได้เอาดาบของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ปู่ของเจ้าจอมมารดาพุ่มสอดซ่อนเอาไว้ ขณะที่พม่าจับได้นั้น คุณพุ่มก็ร้องเพลงกล่อมน้องบอกคนไทยที่โดนจับมัดรวม ๆ กันไว้นั้น ว่ามีดาบซ่อนอยู่ในไม้คาน ถ้ามีโอกาสเมื่อใดท่านจะเอาดาบตัดเชือกให้ ขอให้ช่วยกันฆ่าฟันพม่า แล้วพากันหนีไป ครั้นได้โอกาสเย็นวันหนึ่งพม่าพากันขึ้นบกหมด เหลือเฝ้าเรือเฝ้าเชลยอยู่เพียง 2 คน เจ้าจอมมารดาพุ่มจึงแอบเอาดาบในไม้คานออกมาตัดเชือก คนไทยทั้งหมดก็ช่วยกันกลุ้มรุมฆ่าพม่าตาย แล้วพากันหนี พบพวกพม่าลาดตระเวนเป็นหมู่สองสามคนก็ช่วยกันสู้ ว่ากันว่าตระกูลของเจ้าจอมมารดาพุ่มมีไม้กระบองอันหนึ่งเก็บเป็นมรดกตกทอดกันต่อ ๆ มา ที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์เพราะเป็นไม้กระบองที่เคยใช้ต่อสู้กับพม่าในครั้งนั้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. ธนากิต. พระบรมราชินีนาถ เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม. กรุงเทพฯ:พีระมิด. 2543
  2. สาระ มีผลกิจ. ราชสำนักฝ่ายในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ:มิวเซียมเพรส. 2551