ข้ามไปเนื้อหา

เครา ฟารีนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เครา ฟารีนี
เกิดค.ศ. 1876
ลาว อาณาจักรสยาม
เสียชีวิต16 เมษายน ค.ศ. 1926(1926-04-16) (49–50 ปี)
บรุกลิน รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ
ชื่ออื่น"จุดเชื่อมโยงที่หายไป"

เครา ฟารีนี (อักษรโรมัน: Krao Farini; ค.ศ. 1876 – 16 เมษายน ค.ศ. 1926) เป็นหญิงลาว[ก]จากตอนเหนือของประเทศสยาม[1] ผู้มีภาวะที่มีการเจริญของขนเพิ่มขึ้นทั่วร่างกายหรือที่เรียกว่าโรคมนุษย์หมาป่า จากความผิดปกติดังกล่าวเธอถูกนำตัวไปจัดแสดงในนิทรรศการทั่วทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19[2][3] เคราได้รับการอุปถัมภ์ดูแลจากวิลเลียม ลีโอนาร์ด ฮันต์ (หรือเป็นที่รู้จักในนาม อันโตนีโอ ฟารีนี) ซึ่งแสวงหาประโยชน์จากรูปลักษณ์ของเธอในคณะละครสัตว์ ทั้งยังโฆษณาว่าเคราคือมนุษย์ดึกดำบรรพ์หรือเป็นจุดเชื่อมโยงที่หายไประหว่างมนุษย์กับลิงตลอดชีวิตของเธอ[1][4]

ประวัติ

[แก้]

ไม่มีข้อมูลในช่วงชีวิตตอนต้นของเครามากนัก ทราบแต่เพียงว่าเคราเกิดในดินแดนลาว ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอาณาจักรสยาม[5] (ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นบริเวณภาคเหนือของไทยในปัจจุบัน)[1] จอร์จ เชลลี (George Shelley) ผู้ที่อ้างว่าเป็นเพื่อนร่วมทางของคาร์ล บ็อค (Carl Bock) ในการเดินทางไปสยาม ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ ดิออวอสโซไทมส์ (The Owosso Times) ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน 1884 ให้ข้อมูลว่า เคราถูกจับพร้อมกับพ่อแม่ของเธอเมื่อเดือนมกราคม 1881 จากป่าแห่งหนึ่งในดินแดนลาว และกล่าวอีกว่าเคราเป็นสมาชิกของชนเผ่าที่มีขนปกคลุมทั่วใบหน้าและลำตัว ไม่มีภาษาพูด อาศัยอยู่บนต้นไม้ ยังชีพด้วยการหาของป่า รู้จักเครื่องไม้เครื่องมือไม่มากนัก และก่อไฟไม่เป็น[6] และยังได้ระบุลักษณะกายวิภาคที่แปลกไปจากคนปรกตินอกเหนือไปจากขนที่ปกคลุมทั่วร่างกาย เช่น เธอมีกระดูกสันหลังส่วนอกและกระดูกซี่โครงที่แข็งแรง มีกระพุ้งแก้มและกระดูกข้อต่อที่แข็งแรงว่องไว แต่เธอกลับไม่มีกระดูกอ่อนในหูและจมูก[7]

เคราและวิลเลียม ลีโอนาร์ด ฮันต์ใน ค.ศ. 1883

ขณะที่ เดอะนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) ฉบับ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1883 ระบุว่า หลังครอบครัวของเคราถูกทางการสยามควบคุมตัวได้ไม่นาน บิดาของเธอก็ถึงแก่กรรมด้วยอหิวาตกโรค ส่วนมารดาก็ถูกกรมการเมืองสยามคุมตัวไปกรุงเทพมหานคร[4][8] เคราถูกแยกออกจากมารดา คาร์ล บ็อค นำตัวเธอลงมายังกรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะส่งเธอให้กับวิลเลียม ลีโอนาร์ด ฮันต์ (หรือเป็นที่รู้จักในนาม อันโตนีโอ ฟารีนี) สำหรับการแสดงในคณะละครสัตว์ ซึ่งขณะนั้นเครามีอายุเพียง 6 ขวบ[1]

บางแหล่งข้อมูล อ้างว่าจอร์จ เชลลี และคาร์ล บ็อค ออกสำรวจเพื่อตามหา "คนขนดก" โดยเริ่มแรกที่อำเภอเริมเบา บริติชมาลายา เพื่อตามหาชนเผ่าจากุน (Jaccoons) ที่มีลักษณะกึ่งคนกึ่งลิงแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จากนั้นทั้งสองได้เดินทางไปย่างกุ้งและกรุงเทพมหานคร ได้รวบรวมคณะเดินทางอันประกอบด้วยผู้คุ้มกันและช้างสองเชือก พร้อมกับส่งสาส์นไปยังกษัตริย์ลาว โดยใช้เวลาเดินทางราวสี่เดือนจึงถึงราชธานีของลาวเรียกว่า "กจัง-กจัง" (Kjang-Kjang) กษัตริย์ลาวจึงส่งทหารไปจับครอบครัวของเครา กษัตริย์ลาวไม่ยอมปล่อยตัวแม่ของเคราออกนอกประเทศ และในขณะเดียวกันก็เกิดการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรค ทำให้คณะเดินทางของเขาล้มป่วย และ "จัวมายง" (Schua Mayong) พ่อของเคราถึงแก่ความตายที่เมืองเชียงใหม่[9]

เอกสารอีกแห่ง ระบุว่าวิลเลียม ลีโอนาร์ด ฮันต์ ได้ทราบถึงการมีตัวตนของเคราครั้งแรกจากแฟรนซิส เทรเวเลียน บักแลนด์ (Francis Trevelyan Buckland) นักธรรมชาติวิทยา ที่ระบุว่าเคราและครอบครัวถูกกษัตริย์พม่ากักขังหน่วงเหนี่ยวในราชสำนักโดยอ้างว่าเป็นบรรณาการจากกษัตริย์ลาว ฮันต์จึงตั้งให้คาร์ล บ็อค นำคณะสำรวจไปพบกับชนเผ่าที่มีขนตามตัวที่มีอยู่ราว 30–40 คน แต่คณะสำรวจไม่สามารถนำชนเผ่านี้กลับมาได้สักคนเดียว บ็อคกลับไปเข้าเฝ้ากษัตริย์พม่าอีกครั้ง คราวนี้กษัตริย์พม่าทรงยอมให้บ็อคพาครอบครัวของเคราออกนอกราชสำนักพม่าเพื่อร่วมเดินทางไปกับคณะสำรวจได้ เมื่อคณะสำรวจอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ก็พากันล้มป่วยด้วยอหิวาตกโรค พ่อของเคราก็ตายลงที่นั่น และหลังจากนั้นอีกหกสัปดาห์ คณะสำรวจก็เดินทางมาถึงกรุงเทพมหานคร คราวนี้กษัตริย์สยามทรงกีดกันมิให้พาตัวเคราออกนอกพระราชอาณาจักร แต่จากการช่วยเหลือของ "เจ้าชายโครโนยาร์" (Kronoiar) ซึ่งบ็อคเคยถวายงานให้ก่อนหน้านี้ ทำให้บ็อคสามารถนำตัวเคราไปยุโรปได้ หากแต่มีข้อแม้ว่าต้องให้ฮันต์รับเลี้ยงเคราอย่างดีด้วย[10]

การทำงาน

[แก้]
เคราใน ค.ศ. 1883

เครา วิลเลียม ลีโอนาร์ด ฮันต์ และคาร์ล บ็อค เดินทางถึงลอนดอนเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1882 ในปีถัดมาเคราได้ออกแสดงตัวในยุโรป เพื่อเป็นตัวอย่างของ "จุดเชื่อมโยงที่ขาดหาย" ระหว่างมนุษย์กับลิง เพื่อเป็นข้อพิสูจน์ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาลส์ ดาร์วิน ณ ที่นั่น เคราได้ศึกษาภาษาเยอรมันและอังกฤษมาบ้าง แต่ถือว่าไวมาก เพราะเคราสามารถพูดภาษาอังกฤษได้หลายคำทั้งที่มาพำนักอยู่อังกฤษเพียงหนึ่งสัปดาห์[4] ต่อมาเคราได้กลายเป็นดาวเด่นในคณะแสดงตลกของวิลเลียม ลีโอนาร์ด ฮันต์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม อันโตนีโอ ฟารีนี ได้ทำการแสดงที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหลวงในเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งดึงดูดผู้ชมได้มหาศาลและสร้างรายได้อย่างงามแก่ฮันต์[1] เมื่อฮันต์รับเธอมาเลี้ยงในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1884 เธอจึงรับ "ฟารีนี" ของเขามาใช้เป็นนามสกุล เครามาถึงฟิลาเดเฟียเมื่ออายุราว 8–9 ขวบ ซึ่งขณะนั้นเครายังอยู่ภายใต้การดูแลจากจอร์จ เชลลี[11]

ค.ศ. 1899 เคราออกทัวร์การแสดงทั่วสหราชอาณาจักร ซึ่งรวมไปถึงการแสดงต่อสาธารณชนที่คาร์ดิฟฟ์และเอดินบะระด้วย[12]

เครามีความสามารถด้านภาษา พบว่าเธอสามารถพูดได้ถึงห้าภาษา[1][4]

เสียชีวิต

[แก้]

เคราใช้ชีวิตในช่วงสามปีสุดท้ายก่อนเสียชีวิต ณ บ้านเลขที่ 309 ถนนอีสต์ไนน์ทีน ในย่านบรุกลิน เธอใช้ชีวิตประจำวันด้วยการสวมผ้าคลุมหน้าเมื่อออกไปที่สาธารณะ กระทั่งเคราเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่เมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1926 ก่อนตายเธอได้ขอให้ฌาปนกิจศพของเธอเสียด้วย เพราะเคราไม่ต้องการให้ใครมาจ้องมองศพของเธอ[13]

เชิงอรรถ

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]

เข้าใจว่าน่าจะเป็นคนจากภาคเหนือของไทยในปัจจุบัน เพราะในช่วงนั้นทางรัฐบาลสยามยังเรียกดินแดนในกลุ่มวัฒนธรรมล้านนาว่าเป็นลาว[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 เสมียนอารีย์ (4 มีนาคม 2566). "ตามรอย "เครา" เด็กหญิงจากสยาม มนุษย์ประหลาดในคณะละครสัตว์ที่อเมริกา". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "Krao Farini". Monstropedia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 October 2012. สืบค้นเมื่อ 1 April 2016.
  3. "Krao, Missing Link of Circus Sideshow, Dies From 'Flu'". The Harrisburg Evening News. 17 April 1926. p. 18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 April 2016. สืบค้นเมื่อ 1 April 2016 – โดยทาง Newspapers.com. สิ่งพิมพ์เผยแพร่เข้าถึงแบบเปิด อ่านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 เสมียนอารีย์ (11 สิงหาคม 2563). "เครา ฟารินี หญิงลาวที่ถูกอ้างเป็นจุดเชื่อมระหว่างลิงกับคน". The People. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. Scudder, John M. (December 1884). "Homo sylvestris". The Eclectic Medical Journal. 44 (12): 611–613. สืบค้นเมื่อ 23 June 2016.
  6. "Missing Link". The Times. Owosso, Michigan. 7 November 1884. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 January 2017. สืบค้นเมื่อ 26 June 2016.
  7. "Missing Link". The Times. Owosso, Michigan. 7 November 1884. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 January 2017. สืบค้นเมื่อ 26 June 2016.
  8. Scudder, John M. (December 1884). "Homo sylvestris". The Eclectic Medical Journal. 44 (12): 611–613. สืบค้นเมื่อ 23 June 2016.
  9. "Men Living In Trees". Timaru, New Zealand. 26 December 1884. สืบค้นเมื่อ 27 June 2016.
  10. "A Journey to Far Siam". The Utica Sunday Tribune. Utica, New York. 23 April 1893. สืบค้นเมื่อ 27 June 2016.
  11. "Missing Link". The Times. Owosso, Michigan. 7 November 1884. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 January 2017. สืบค้นเมื่อ 26 June 2016.
  12. "The Missing Link". Evening Express. Cardiff. 23 January 1899. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 August 2016. สืบค้นเมื่อ 29 June 2016.
  13. "CIRCUS FOLK MOURN 'BEST-LIKED FREAK': Krao, the 'Missing Link,' Buried With Tribute of Tears From Side-Show Associates". New York Times. New York, New York. 19 April 1926.