ข้ามไปเนื้อหา

โทกูงาวะ อิเอยาซุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อิเอยาสุ โตกุงาวะ)
โทกูงาวะ อิเอยาซุ
徳川 家康
โชกุน
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 1603 – ค.ศ. 1605
กษัตริย์โกะ-โยเซ
ก่อนหน้าอาชิกางะ โยชิอากิ
ถัดไปโทกูงาวะ ฮิเดตาดะ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
Matsudaira Takechiyo
(松平 竹千代)

31 มกราคม ค.ศ. 1543(1543-01-31)
ปราสาทโอกาซากิ มณฑลมิกาวะ
(ปัจจุบันคือนครโอกาซากิ ประเทศญี่ปุ่น)
เสียชีวิต1 มิถุนายน ค.ศ. 1616(1616-06-01) (73 ปี)
ประเทศญี่ปุ่น
คู่สมรส
บุตร
บุพการี
ลายมือชื่อ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ตระกูลมัตสึไดระ
ตระกูลอิมางาวะ
ตระกูลโอะดะ
ตระกูลโทโยโตมิ
กองทัพบูรพา
ราชสำนักเกียวโต
รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ
หน่วย ตระกูลโทกูงาวะ
ผ่านศึกการล้อมเทราเบะ
การล้อมมารูเนะ
การล้อมปราสาทคามิโนโง
ยุทธการที่อาซูกิซากะ
การล้อมคาเกงาวะ
ยุทธการที่อาเนงาวะ
ยุทธการที่มิกาตางาฮาระ
ยุทธการที่นางาชิโนะ
การล้อมทากาเท็นจิง
ยุทธการที่เท็นโมกูซัง
ยุทธการที่โคมากิและนางากูเตะ
การล้อมโอดาวาระ
กบฏคูโนเฮะ
ยุทธการที่เซกิงาฮาระ
การล้อมโอซากะ
ฯลฯ
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
ชินจิไต徳川 家康
คีวจิไต德川 家康
ฮิรางานะとくがわ いえやす
คาตากานะトクガワ イエヤス
การถอดเสียง
โรมาจิTokugawa Ieyasu

โทกูงาวะ อิเอยาซุ (ญี่ปุ่น: 徳川家康โรมาจิTokugawa Ieyasu 31 มกราคม ค.ศ. 1543 – 1 มิถุนายน ค.ศ. 1616)[1][2] เดิมชื่อ มัตสึไดระ ทาเกจิโยะ เป็นผู้ก่อตั้งและโชกุนคนแรกของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ ซึ่งปกครองญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1603 จนถึงการฟื้นฟูเมจิในปี ค.ศ. 1868 อิเอยาซุนั้นถือกันว่าเป็นหนึ่งในสามผู้ยิ่งใหญ่ที่สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ญี่ปุ่น อีกสองคน คือ โอดะ โนบูนางะ และโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ อิเอยาซุเป็นบุตรชายของไดเมียวเล็ก ๆ ครั้งหนึ่งเคยใช้ชีวิตในฐานะตัวประกันภายใต้ไดเมียวอิมางาวะ โยชิโมโตะ ในนามของบิดาของเขา ต่อมาเขาได้ดำรงตำแหน่งไดเมียวหลังจากการเสียชีวิตของบิดา โดยทำหน้าที่เป็นข้ารับใช้และขุนพลของตระกูลโอดะ[3] และสร้างความแข็งแกร่งภายใต้โอดะ โนบูนางะ [4]

ความพยายามของฮิเดโยชิในการยึดครองเกาหลีนั้นล้มเหลว แต่ไม่กระเทือนถึงขุมกำลังของอิเอยาซุ[3] หลังจากฮิเดโยชิถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1598 และเกิดเหตุการณ์แย่งชิงกันเป็นผู้สืบอำนาจต่อในยุทธการที่เซกิงาฮาระซึ่งอิเอยาซุมีชัยชนะแล้ว อิเอยาซุก็ได้เถลิงอำนาจใน ค.ศ. 1600[3] ต่อมาใน ค.ศ. 1603 จักรพรรดิโกะ-โยเซพระราชทานบรรดาศักดิ์โชกุนให้แก่เขา เวลานั้นเขาอายุ 60 ปีแล้ว จน ค.ศ. 1605 เขายอมสละบรรดาศักดิ์นี้ให้โทกูงาวะ ฮิเดตาดะ ผู้เป็นบุตร สืบแทน แต่ที่จริงเขายังถืออำนาจไว้จนตัวตายใน ค.ศ. 1616 ในช่วงที่เขาเป็นโชกุนนั้น เขาริเริ่มใช้ระบบที่เรียกว่า บากูฮัง เพื่อคุมไดเมียวและซามูไรไว้ใต้ระบอบโชกุน[3][4]

ปฐมวัย

[แก้]
แคว้นมิกาวะ

โทกูงาวะ อิเอยาซุ เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1542 ที่ปราสาทโอกาซากิ ในแคว้นมิกาวะ (เมืองโอกาซากิจังหวัดไอจิในปัจจุบัน) เดิมมี่ชื่อว่า ทาเกชิโยะ (竹千代) ซึ่งชื่อทาเกชิโยะนี้เป็นชื่อของบุตรชายคนโตของตระกูลมัตซึไดระมาโดยตลอด ทาเกชิโยะเป็นบุตรชายคนแรกของ มัตซึไดระ ฮิโรตาดะ (松平広忠) ไดเมียวผู้ปกครองปราสาทโอกาซากิในแคว้นมิกาวะ และนางโอได (於大の方) บุตรสาวของมิซูโนะ ทาดามาซะ (水野忠政) ไดเมียวแคว้นข้างเคียง สองปีต่อมาในค.ศ. 1544 เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างตระกูลมัตซึไดระและตระกูลมิซูโนะ ฮิโรตาดะบิดาของทาเกชิโยะจึงหย่ากับนางโอไดมารดาของทาเกชิโยะและส่งนางโอไดกลับไปอยู่ที่แคว้นเดิม

ในช่วงสมัยของฮิโรตาดะบิดาของทาเกชิโยะ ตระกูลมัตซึไดระซึ่งเป็นตระกูลที่ไม่มีอำนาจและกอลกำลังมากนักต้องตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสองตระกูลไดเมียวซึ่งมีอำนาจมากในภูมิภาคได้แก่ตระกูลอิมางาวะ มีผู้นำคืออิมางาวะ โยชิโมโตะ (今川義元) และตระกูลโอดะแห่งแคว้นโอวาริซึ่งมีผู้นำคือโอดะ โนบูฮิเดะ (織田信秀 บิดาของโอดะ โนบูนางะ) ในค.ศ. 1548 โอดะ โนบูฮิเดะ นำทัพเข้ารุกรานแคว้นมิกาวะ ทำให้ฮิโรตาดะตัดสินใจนำตระกูลมัตสึไดระเข้าสวามิภักดิ์ต่ออิมางาวะ โยชิโมโตะ โดยมีข้อแม้ว่าฮิโรตาดะต้องส่งบุตรชายคือทาเกชิโยะอายุเพียงหกปีไปเป็นตัวประกันที่ปราสาทซุมปุ (駿府) ในเมืองชิซูโอกะ อันเป็นฐานที่มั่นของตระกูลอิมางาวะ แต่ทว่าในระหว่างที่ทาเกชิโยะกำลังเดินทางไปปราสาทซูมปุนั้น โอดะ โนบูฮิเดะ ส่งทหารมาลักพาตัวทาเกชิโยะในระหว่างทางมาไว้เป็นตัวประกัน โอดะ โนบูฮิเดะ ข่มขู่มัตซึไดระ ฮิโรตาดะ ว่าหากตระกูลมัตซึไดระไม่ยกเลิกความเป็นพันธมิตรกับตระกูลอิมางาวะจะสังหารทาเกชิโยะไปเสีย ฮิโรตาดะตอบโต้ด้วยการประกาศว่าแม้ว่าตระกูลโอดะจะสังหารบุตรชายของตนเองแต่ฮิโรตาดะก็ยังยืนยันความจงรักภักดีที่มีต่อตระกูลอิมางาวะ โอดะ โนบูฮิเดะ ไม่ได้สังหารทาเกชิโยะแต่ให้ไปอยู่ที่วัดบังโช (万松寺) ที่นาโงยะเป็นเวลาสามปี ในค.ศ. 1549 ฮิโรตาดะบิดาของทาเกชิโยะเสียชีวิต ทาเกชิโยะจึงสืบทอดตำแหน่งไดเมียวแห่งปราสาทโอกาซากิและผู้นำตระกูลมัตซึไดระด้วยอายุเพียงเจ็ดปีเท่านั้น ในปีเดียวกันนั้นเองโอดะ โนบูฮิเดะ เสียชีวิต อิมางาวะ โยชิโมโตะ ส่งทัพเข้ารุกรานแคว้นโอวาริของตระกูลโอดะ ทัพของตระกูลอิมางาวะเจรจากับโอดะ โนบูนางะ (織田信長) บุตรชายของโนบูฮิเดะ ว่าหากฝ่ายตระกูลโอดะส่งตัวทาเกชิโยะให้แก่ตระกูลอิมางาวะจะยุติการรุกราน โอดะ โนบูนางะ ยินยอมให้ทาเกชิโยะเดินทางไปเป็นตัวประกันของตระกูลอิมางาวะที่ปราสาทซูมปุในที่สุด แม้ว่าทาเกชิโยะจะมีตำแหน่งเป็นถึงไดเมียวแต่ทว่าอายุยังน้อยและต้องเป็นตัวประกันใแก่ตระกูลอิมางาวะที่ปราสาทซูมปุ

ในค.ศ. 1556 ทาเกชิโยะได้เข้าพิธี เง็มปุกุ ที่ปราสาทซูมปุ ได้รับชื่อของผู้ใหญ่ว่า มัตซึไดระ โมโตยาซุ (松平元康) สมรสกับนางซึกิยามะ (築山) หลานสาวของอิมางวะ โยชิโมโตะ และได้รับการปล่อยตัวให้กลับไปปกครองปราสาทโอกาซากิเพื่อเป็นไดเมียวข้ารับใช้ของตระกูลอิมางาวะ มัตซึไดระ โมโตยาซุจับศึกครั้งแรกมีหน้าที่ส่งเสบียงเมื่อคราวที่โอดะ โนบูนางะ ยกทัพเข้าล้อมปราสาทเทราเบะ (寺部城) ในค.ศ. 1558 แต่ถูกทัพของโนบูนางะตีแตกไป ในค.ศ. 1559 นางซึกิยามะให้กำเนิดบุตรชายคนโตคนแรกชื่อว่า ทาเกชิโยะ หลังจากที่อิมางาวะ โยชิโมโตะ ถูกสังหารไปในยุทธการโอะเกะฮะซะมะ (Okehazama-no-tatakai, 桶狭間の戦い) เมื่อค.ศ. 1560 โมโตยาซุ จึงเข้าสวามิภักดิ์ต่อโอดะ โนบูนางะ และตระกูลโอดะ

สมัยของโอดะ โนบูนางะ

[แก้]

เมื่ออิมางาวะ โยชิโมโตะ เสียชีวิตไปนั้นทำให้อำนาจของตระกูลอิมางาวะเสื่อมลง โมโตยาซุจึงผันตนเองเปลี่ยนฝ่ายย้ายไปเป็นข้ารับใช้ของโอดะ โนบูนางะ ในค.ศ. 1563 โมโตยาซุให้บุตรชายคนโตของตนคือทาเกชิโยะ ซึ่งได้รับชื่อว่ามัตซึไดระ โนบุยาซุ (松平信康) แต่งงานกับนางโทกุ-ฮิเมะ (徳姫) บุตรสาวของโอดะ โนบูนางะ ในค.ศ. 1564 โมโตยาซุได้ทำการปรามปรามกองทัพพระสงฆ์นักรบที่เรียกว่า อิกโก-อิกกิ (一向一揆) ในแคว้นมิกาวะ ซึ่งเป็นกลุ่มของพระสงฆ์และชาวบ้านที่ยึดมั่นในพระพุทธศาสนามหายานนิกายแดนบริสุทธิ์และต่อต้านการปกครองของซามูไร ในยุทธการอาซูกิซากะ (小豆坂の戦い) ในค.ศ. 1567 โมโตยาซุเข้ารับตำแหน่งในราชสำนักขององค์พระจักรพรรดิโองิมาจิ โมโตยาซุขอพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนตระกูลจากมัตซีไดระเป็น "โทกูงาวะ" เพื่ออ้างการสืบเชื้อสายจากตระกูลมินาโมโตะผ่านทางตระกูลนิตตะ รวมทั้งเปลี่ยนชื่อของตนเองเป็น โทกูงาวะ อิเอยาซุ ในค.ศ. 1569 ได้เอาชนะอิมางาวะ อุจิซาเนะ (今川氏真) บุตรชายของอิมางาวะ โยชิโมโตะ ในการล้อมปราสาทคะเกะงะวะ และในค.ศ. 1570 ได้ร่วมกับโอดะ โนบูนางะในการต่อสู้กับตระกูลอะไซ (浅井) และอาซากูระ (朝倉) ในยุทธการอาเนงาวะ (姉川の戦い) ซึ่งชัยชนะในครั้งนี้ทำให้โอดะ โนบูนางะ มีอำนาจเหนือแถบคันไซอย่างสมบูรณ์

สงครามกับตระกูลทาเกดะ

[แก้]

เมื่อรวบรวมอำนาจในแถบคันไซได้อย่างเป็นปึกแผ่นแล้ว โอดะ โนบูนางะ ได้เบนความสนใจไปยังแถบคันโตในทางตะวันออก ซึ่งในขณะนั้นตระกูลทาเกดะ (武田) กำลังเรืองอำนาจ มีทาเกดะ ชิงเง็ง (武田信玄) และทาเกดะ คัตสึโยริ (武田勝頼) บุตรชาย เป็นผู้นำ ในค.ศ. 1572 ทาเกดะ ชิงเง็ง ได้ยกทัพเข้าบุกแคว้นโทโตมิ (遠江) อันเป็นดินแดนของตระกูลโทกูงาวะ ในยุทธการมิกะตะงะฮะระ (三方ヶ原の戦い) จังหวัดชิซูโอกะในปัจจุบัน แม้จะได้รับกำลังเสริมจากโอดะ โนบูนางะ แต่การสู้รบในครั้งนี้เป็นความพ่ายแพ้ครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอิเอยาซุ จนต้องหลบหนีออกจากสมรภูมิพร้อมกำลังพลเพียงหยิบมือ แต่โชคดีที่ในปีต่อทาเกดะ ชิงเง็ง ได้เสียชีวิตลงในค.ศ. 1573 ในค.ศ. 1575 คัตสึโยริบุตรชายได้ยกทัพมาล้อมปราสาทนะงะชิโนะ (長篠) ในแคว้นมิกาวะ (จังหวัดไอจิในปัจจุบัน) ซึ่งดูแลป้องกันโดยโอกูไดระ ซาดามาซะ (奥平貞昌) ทั้งอิเอยาซุและโอดะ โนบูนางะต่างส่งทัพของตนเข้ากอบกู้ปราสาทอย่างเต็มที่ จนกระทั่งประสบชัยชนะสามารถขับทัพของตระกูลทาเกดะออกไปได้

กล่าวถึงนางสึกิยามะ ภรรยาของอิเอยาซุ มักจะมีปัญหาขัดแย้งกับลูกสะใภ้อยู่เสมอ คือท่านหญิงโทะกุ ภรรยาของโนบุยะซุ จนกระทั่งในปี 1579 ท่านหญิงโทะกุทนไม่ได้จึงเขียนจดหมายฟ้องโอดะ โนบูนางะ บิดาของตน ว่านางสึกิยามะ ซึ่งเป็นคนจากตระกูลอิมางาวะ ได้ติดต่อและสมคบคิดกับทาเกดะ คัตสึโยริ ในการทรยศหักหลังท่านโอดะ เมื่อทราบเรื่องอิเอยาซุได้มีคำสั่งให้กักขังนางสึกิยามะภรรยาเอกของตนไว้ ต่อมาไม่นานจึงมีคำสั่งจากโอดะ โนบูนางะ ให้โนบุยะซุ บุตรชายคนโตของอิเอยาซุ กระทำการเซ็ปปุกุ และประหารชีวิตนางสึกิยามะ ในข้อหาทรยศสมคบคิดกับตระกูลทาเกดะ อิเอยาซุจึงจำต้องสั่งประหารชีวิตภรรยาและบุตรชายของตนไป แต่ในปีเดียวกันนั้นเอง นางไซโง (西郷の局) ภรรยาน้อยคนโปรดของอิเอยาซุ ได้ให้กำเนิดบุตรชายคนที่สาม คือ นากามารุ หรือภายหลังคือ โทกูงาวะ ฮิเดตาดะ (徳川秀忠)

ในค.ศ. 1582 ทัพผสมของตระกูลโอดะและตระกูลโทกูงาวะ เอาชนะทัพของทาเกดะ คัตสึโยริได้ ในยุทธการเท็มโมะกุซัน (天目山の戦い) (จังหวัดยามานาชิในปัจจุบัน) คัตสึโยริได้กระทำการเซ็ปปุกุหลังจากที่พ่ายแพ้ เป็นอวสานของตระกูลทาเกดะ

สมัยของโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ

[แก้]

ในค.ศ. 1582 โอดะ โนบูนางะ ถูกลอบสังหารที่วัดฮนโน โดยอาเกจิ มิตสึฮิเดะ ในเวลานั้นอิเอยาซุพำนักอยู่ที่บริเวณใกล้กับเมืองโอซากะในปัจจุบัน พร้อมกับกำลังพลเพียงน้อยนิด เกรงว่าตนจะถูกลอบสังหารจึงได้เดินทางอย่างหลบซ่อนกลับไปยังปราสาทโอกาซากิ เมื่อถึงแคว้นของตนแล้วก็ได้ทราบข่าวว่า ฮาจิบะ ฮิเดโยชิ (羽柴秀吉 ภายหลังคือ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ) ได้ทำการสังหารอาเกจิ มิตสึฮิเดะ ไปเสียแล้ว และได้ทำการยึดอำนาจเพื่อขึ้นปกครองญี่ปุ่น แต่อิเอยาซุในฐานะที่เป็นข้ารับใช้คนสำคัญของโอดะ โนบูนางะ และมีกำลังพลมาก ยังเป็นอุปสรรคขัดขวางการเถลิงอำนาจของฮาจิบะ ฮิเดโยชิ จนกระทั่งเมื่อโอดะ โนบุกะสึ (織田信雄) บุตรชายคนที่สองของโอดะ โนบูนางะ ซึ่งไม่พอใจการยึดอำนาจของฮิเดโยชิและต้องการที่จะสืบทอดตระกูลโอดะ จึงได้มาขอความช่วยเหลือจากอิเอยาซุ ไดเมียวผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองจึงสู้รบกันในยุทธการโคะมะกิและนะงะกุเตะ (小牧・長久手の戦い) ในค.ศ. 1584 แต่ไม่ปรากฏมีผู้แพ้ชนะเสียทีทั้งสองฝ่ายจึงเจรจาสงบศึก โดยที่ตระกูลโทกูงาวะยอมที่จะเป็นพันธมิตรของฮิเดโยชิ และฮิเดโยชิได้ส่งน้องสาวของตนคือ ท่านหญิงอาซาฮิ (朝日姫) มาเป็นภรรยาเอกคนใหม่ของอิเอยาซุ

ทั้งโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ และโทกูงาวะ อิเอยาซุ ต่างหวาดระแวงกันตลอดมา โดยเฉพาะในคราวสงครามกับตระกูลโฮโจ (Hōjō, 北条) ในค.ศ. 1590 ในแถบคันโต อิเอยาซุได้เคยเป็นพันธมิตรกับโฮโจ อุจิมะซะ (Hōjō Ujimasa, 北条氏政) เมื่อครั้งสงครามกับตระกูลทาเกดะ และได้ยกบุตรสาวของตนคือ ท่านหญิงโทะกุ (Toku-hime, 督姫) ให้ไปแต่งงานกับโฮโจ อุจินะโอะ (Hōjō Ujinao, 北条氏直) ทายาทของโฮโจ อุจิมาซะ ฮิเดโยชิทราบความจริงข้อนี้เป็นอย่างดี และแม้จะขอทัพตระกูลโทกูงาวะเป็นกำลังสำคัญแต่ก็มีความหวาดระแวงอย่างมาก จึงร้องขอให้อิเอยาซุส่งบุตรชายคือ นากะมารุ มาเป็นตัวประกันที่ปราสาทโอซากะ การล้อมปราสาทโอดาวาระของตระกูลโฮโจ จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายโทโยโตมิ และโฮโจ อุจิมะซะได้กระทำการเซ็ปปุกุ ชัยชนะในครั้งนี้ทำให้ฮิเดโยชิเข้าควบคุมแถบคันโตได้อย่างสมบูรณ์ หลังจากศึกในครั้งนี้ฮิเดโยชิได้ตอบแทนอิเอยาซุ ด้วยการขับตระกูลโทกูงาวะออกจากแคว้นมิกาวะ อันเป็นฐานที่มั่นของตระกูลโทกูงาวะมาเกือบหนึ่งร้อยปี และมอบดินแดนทางแถบคันโตอันห่างไกลและกันดารที่เคยเป็นของตระกูลโฮโจให้ปกครอง อิเอยาซุจึงได้เลือกปราสาทเอโดะ เป็นฐานที่มั่นใหม่ของตระกูลโทกูงาวะ

อิเอยาซุยังได้หลีกเลี่ยง ที่จะส่งกองทัพของตนเข้าร่วมการรุกรานอาณาจักรโชซ็อน (การรุกรานเกาหลีของญี่ปุ่น (พ.ศ. 2135-2141)) ของฮิเดโยชิในค.ศ. 1592 เป็นรักษากำลังทหารของตนเอง ไม่ให้เสียไปกับสงครามที่ไม่คุ้มค่า

ยุทธการที่เซกิงาฮาระ

[แก้]
ยุทธการเซกิงาฮาระ

ในค.ศ. 1598 ไทโค โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยความชราภาพ เหลือบุตรชายคือ โทโยโตมิ ฮิเดโยริ (豊臣秀頼) อายุเพียงห้าปี สืบทอดตระกูลโทโยโตมิต่อมา ก่อนจะถึงแก่อสัญกรรมฮิเดโยชิผู้ซึ่งเกรงว่าบุตรชายของตนอายุน้อยจะถูกบรรดาไดเมียวผู้ทรงกำลังแก่งแย่งอำนาจไป ถึงได้แต่งตั้งให้ไดเมียวที่มีกำลังมากที่สุดจำนวนห้าคนเป็น ผู้อาวุโสทั้งห้า หรือ โกะไทโร (五大老) เป็นผู้สำเร็จราชการแทน ประกอบด้วย โทกูงาวะ อิเอยาซุ, มาเอดะ โทชิอิเอะ (前田利家), โมริ เทรูโมโตะ (毛利輝元), อูเอซูงิ คางากัตสึ (上杉景勝) และอุกิตะ ฮิเดอิเอะ (宇喜多秀家) และฮิเดโยชิยังให้โงะไทโรกระทำการสัตย์สาบานว่าจะคอยช่วยเหลือฮิเดโยริบุตรชายของตนจนกว่าจะเติบใหญ่

อย่างไรก็ตามเมื่อไทโคฮิเดโยชิถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว เกิดความระแวงสงสัยและการคาดการณ์ว่าอิเอยาซุจะยึดอำนาจขึ้นเป็นผู้ปกครองญี่ปุ่นเสียเอง จึงเกิดกลุ่มขุนนางตระกูลโทโยโตมิที่ต่อต้านอำนาจของอิเอยาซุ นำโดยอิชิดะ มิตสึนาริ คนรับใช้คนสนิทของไทโคฮิเดโยชิ ฝ่ายอิเอยาซุไม่รอช้าได้จัดเตรียมเสาะแสวงหาพันธมิตรต่างๆไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว ในค.ศ. 1599 มาเอดะ โทชิอิเอะ ขุนนางที่อาวุโสที่สุดในโงะไทโรซึ่งคอยเป็นผู้ไกล่เกลี่ยได้ถึงแก่อสัญกรรมลง ทำให้บรรดาขุนนางซะมุไรในญี่ปุ่นแบ่งออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน คือ

  • ฝ่ายของมิตสึนาริ ประกอบด้วยไดเมียวจากทางตะวันตกของญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ จึงเรียกว่า ฝ่ายทัพตะวันตก (西軍 ไซงุง) ได้แก่ อิชิดะ มิตสึนาริ, โมริ เทรูโมโตะ, อูเอซูงิ คางากัตสึ, อุกิตะ ฮิเดอิเอะ, ฯลฯ
  • ฝ่ายของอิเอยาซุ ประกอบด้วยไดเมียวจากทางตะวันออกของญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ จึงเรียกว่า ฝ่ายทัพตะวันออก (東軍 โทงุง)

ในค.ศ. 1600 อูเอซูงิ คางากัตสึ ได้แสดงความกระด้างกระเดื่องต่ออิเอยาซุอย่างชัดเจน โดยการสะสมกำลังพลและสร้างป้อมปราการโดยไม่ได้รับอนุญาต อิเอยาซุจึงยกทัพหมายจะปราบตระกูลอูเอซูงิ แต่ในเวลาเดียวกันนั้นเองได้ทราบข่าวว่ามิตสึนาริมีความเคลื่อนไหวในแถบคันไซ ยึดปราสาทฟูชิมิ ในนครเกียวโตอันเป็นศูนย์การปกครองของโทโยโตมิ ทำให้อิเอยาซุเปลี่ยนใจยกทัพไปทางตะวันตกเพื่อเข้ายึดปราสาทโอซากะอันเป็นที่อยู่ของโทโยโตมิ ฮิเดโยริ โดยอิเอยาซุเดินทัพมาตามเส้นทางโทไก (東海道) เลียบมาตามชายฝั่งทางด้านใต้ของเกาะฮอนชู และให้ฮิเดตาดะทายาทของตนเดินทัพไปตามเส้นทางนากะเซ็น (Nakasen-dō, 中山道) เพื่อไปสมทบกันที่โอซากะ แต่มิตสึนาริทราบข่าวการยกทัพของอิเอยาซุ จึงได้ยกทัพออกจากเกียวโตมาพบกับทัพของอิเอยาซุที่ทุ่งเซกิงาฮาระ (関ヶ原) ในจังหวัดกิฟุในปัจจุบัน

ในสมรภูมิ อิเอยาซุได้เกลี้ยกล่อมให้ขุนพลฝ่ายทัพตะวันตกคนหนึ่ง ชื่อว่า โคบายากาวะ ฮิเดอากิ (小早川秀秋) ทรยศเปลี่ยนฝ่ายมาเข้ากับฝ่ายตะวันออก ทำให้ทัพฝ่ายตะวันตกต้องพ่ายแพ้ในการรบที่เซกิงาฮาระ อิชิดะ มิตสึนาริ ถูกจับกุมตัวได้และถูกประหารชีวิต

ยุทธการเซกิงาฮาระเป็นยุทธการที่มีความสำคัญที่สุด และเป็นการสู้รบระหว่างซะมุไรอย่างมหึมาครั้งสุดท้าย ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ชัยชนะยุทธการเซกิงาฮาระ มีอำนาจเหนือญี่ปุ่นอย่างเบ็ดเสร็จ ปราศจากไดเมียวผู้ใดที่สามารถต่อต้านอำนาจ

โชกุนอิเอยาซุ

[แก้]
ปราสาทเอโดะ ปัจจุบันคือพระราชวังอิมพีเรียล

เนื่องจากโทกูงาวะ อิเอยาซุ สามารถอ้างการสืบเชื้อสายไปถึงตระกูลมินาโมโตะของจักรพรรดิเซวะ หรือ เซวะ เก็นจิ (清和源氏) ได้ จึงเข้าข่ายมีสิทธิ์สามารถดำรงตำแหน่งโชกุนได้ ในค.ศ. 1603 โทกูงาวะ อิเอยาซุ จึงได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักเกียวโต ให้ดำรงตำแหน่งเซอิไทโชกุน (征夷大将軍) เป็นปฐมโชกุนแห่งตระกูลโทกูงาวะ หรือรัฐบาลเอโดะ อันจะปกครองประเทศญี่ปุ่นไปอีกประมาณสองร้อยห้าสิบปี โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครเอโดะหรือโตเกียวในปัจจุบัน

อิเอยาซุได้อ้างอำนาจการปกครองเหนือไดเมียวทั้งหมดที่เหลืออยู่ในญี่ปุ่น โดยให้ไดเมียวเหล่านั้นมากระทำสัตย์สาบาทเป็นข้ารับใช้ของบะกุฟุ โดยอิเอยาซุได้จำแนกไดเมียวออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ ไดเมียวฟุได (Fudai, 譜代) คือไดเมียวที่เป็นข้ารับใช้เก่าแก่ของตระกูลโทกูงาวะมาแต่สมัยเซ็งโงะกุ หรือตระกูลที่เข้ามาเป็นข้ารับใช้ของตระกูลโทกูงาวะก่อนยุทธการเซกิงาฮาระ และไดเมียวโทซามะ (外様) คือไดเมียวที่ไม่ได้เป็นข้ารับใช้ของตระกูลโทกูงาวะ หรือเข้ามาเป็นข้ารับใช้ของตระกูลโทกูงาวะหลังยุทธการเซกิงาฮาระ โชกุนอิเอยาซุได้มอบดินแดนแคว้นๆต่างๆให้ไดเมียวเหล่านี้ไปปกครอง เรียกว่า ฮัน (藩) โดยโชกุนอิเอยาซุได้มอบฮันในจุดยุทธศาสตร์สำคัญให้ไดเมียวจากตระกูลโทกูงาวะหรือไดเมียวฟุไดไปปกครอง ส่วนไดเมียวโทซามะนั้น ก็คือเจ้าครองแคว้นไดเมียวทั้งหลายในสมัยเซ็งโงะกุ ซึ่งมีอาณาเขตกว้างใหญ่อยู่ก่อนแล้ว

ในช่วงต้นศตวรรษที่สิบเจ็ด ได้มีชาติตะวันตกชาติใหม่มาติดต่อขอทำการค้ากับญี่ปุ่น ได้แก่ฮอลันดาและอังกฤษ ซึ่งมาถึงเมืองนางาซากิในค.ศ. 1600 โดยโชกุนอิเอยาซุได้ให้นายวิลเลียม อดัมส์ (William Adams) ชาวอังกฤษต่อเรือแบบตะวันตกให้แก่ญี่ปุ่นเป็นลำแรกจนสำเร็จในค.ศ. 1604 นับแต่นั้นมาโชกุนอิเอยาซุจึงอนุญาตให้พ่อค้าต่างๆล่องเรือสำเภาแบบตะวันตกไปค้าขายยังอาณาจักรต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่า เรือตราแดง (朱印船) โชกุนอิเอยาซุดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับฮอลันดาและอังกฤษ ในขณะเดียวกันก็พยายามที่จะขับไล่มิชชันนารีชาวโปรตุเกสและสเปนอันเป็นคู่แข่งการค้าของฮอลันดา ขับไล่และปราบปรามชาวคาทอลิก

บั้นปลายชีวิต

[แก้]

ในค.ศ. 1605 โชกุนอิเอยาซุได้สละตำแหน่งโชกุนให้แก่โทกูงาวะ ฮิเดตาดะ บุตรชายที่เป็นทายาทของตน โดยที่อำนาจการปกครองที่แท้จริงยังคงอยู่ที่อิเอยาซุ เปลี่ยนมาดำรงตำแหน่งเป็นโอโงโช (大御所) หรือโชกุนผู้สละตำแหน่ง และย้ายมาพำนักที่ปราสาทซุมปุ (อันเป็นปราสาทที่อิเอยาซุเคยพำนักเมื่อครั้งเป็นตัวประกันของตระกูลอิมางาวะ) โดยการยกให้โชกุนฮิเดตาดะบริหารปกครองอยู่ที่นครเอโดะ ทำให้โอโงโชอิเอยาซุสามารถจัดการกับการค้าขายกับชาติตะวันตกได้ ในค.ศ. 1609 โอโงโชอิเอยาซุออกประกาศอนุญาต ให้บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา เข้ามาตั้งสถานีการค้าที่เมืองท่าฮิระโดะ นอกชายฝั่งเมืองท่านางาซากิ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการค้าขายระหว่างญี่ปุ่นกับฮอลันดาไปอีกสองร้อยห้าสิบปี (ชาวฮอลันดายังคงอยู่ที่ฮิระโดะจนกระทั่งถูกย้ายออกไปที่เกาะเดะจิมะในสมัยของโชกุนโทกูงาวะ อิเอมิตสึ)

ในค.ศ. 1614 เกิดข่าวลือว่าโทโยโตมิ ฮิเดโยริ บุตรชายของโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ซึ่งได้เติบใหญ่อยู่ที่ปราสาทโอซากะ ได้วางแผนกับมารดาของตนคือ นางโยะโดะ (淀殿) ซ่องซุมกำลังคนเพื่อที่จะฟื้นฟูตระกูลโทโยโตมิให้กลับมาปกครองญี่ปุ่นอีกครั้ง ในค.ศ. 1615 โอโงโชอิเอยาซุร่วมกับโชกุนฮิเดตาดะ ยกทัพขนาดมหึมาไปทำการล้อมปราสาทโอซากะ ในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว จนกระทั่งฝ่ายโทโยโตมิพ่ายแพ้ ฮิเดโยริกระทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิต โดยท่านหญิงเซ็ง (千姫) ภรรยาของฮิเดโยริผู้ซึ่งเป็นหลานสาวของอิเอยาซุได้รับการช่วยเหลือออกมาก่อน

ศาลเจ้านิกโกโทโช ในจังหวัดโทชิงิ

โอโงโชโทกูงาวะ อิเอยาซุ ถึงแก่อสัญกรรมในค.ศ. 1616 ที่ปราสาทซุนปุ อายุ 73 ปี หลังจากที่ถึงแก่อสัญกรรมแล้วโทกูงาวะ อิเอยาซุ ได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้า มีชื่อว่า โทโช ไดงนเง็น ( 東照大権現) เป็นพระโพธิสัตว์ที่ลงมาโปรดสัตว์บนโลกมนุษย์ มีศาลเจ้าคือ ศาลเจ้านิกโกโทโช ในเมืองนิกโก

ครอบครัว

[แก้]
  • บิดา: มัตสึไดระ ฮิโรตาดะ (松平広忠 ค.ศ. 1529 - 1549)
  • มารดา: นางโอะได-โนะ-กะตะ (於大の方 ค.ศ. 1528 - 1602)
  • ภรรยาเอก: นางสึกิยามะ-โดโนะ (築山殿 ค.ศ. 1542 - 1579) บุตรสาวของเซะกิงุชิ ชิกานางะ (関口親永)
    • บุตรชายคนแรก: มัตสึไดระ โนบุยะซุ (松平信康 ค.ศ. 1559 - 1579)
    • บุตรสาวคนแรก: คะเมะ-ฮิเมะ (亀姫 ค.ศ. 1560 - 1625) สมรสกับ โอกูไดระ โนบุมะซะ (奥平信昌)
  • ภรรยาเอก: นางอะซะฮิ-ฮิเมะ (朝日姫 ค.ศ. 1543 - 1590) น้องสาวของโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ
  • ภรรยาน้อย: โคโตกุ-โนะ-สึโบเนะ (小督局 ค.ศ. 1548 - 1620) หรือนางโชโช-อิง (長勝院)
    • บุตรชายคนที่สอง: ยูกิ ฮิเดยาซุ (結城秀康 ค.ศ. 1574 - 1607) ไปเป็นบุตรบุญธรรมของโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ และต่อมาเป็นบุตรบุญธรรมของยูกิ ฮะรุโตะโมะ (結城晴朝)
  • ภรรยาน้อย: ไซโง-โนะ-สึโบเนะ (西郷局 ค.ศ. 1552 - 1589)
    • บุตรสาวคนที่สอง: ท่านหญิงโทกุ (督姫 ค.ศ. 1565 - 1615) สมรสกับ โฮโจ อุจินะโอะ (北条氏直) และต่อมาสมรสกับอิเกะดะ เทะรุมะซะ (池田輝政)
    • บุตรชายคนที่สาม: โทกูงาวะ ฮิเดตาดะ (ค.ศ. 1579 - 1632) โชกุนคนที่ 2
    • บุตรชายคนที่สี่: มัตสึไดระ ทะดะโยะชิ (松平忠吉 ค.ศ. 1580 - 1607)
  • ภรรยาน้อย: นางทะเกะ (Take)
    • บุตรสาวคนที่สาม: ฟุริ-ฮิเมะ (振姫 ค.ศ. 1580 - 1617) หรือ นางโชเซ-อิง (正清院) สมรสกับกะโม ฮิเดะยุกิ (蒲生秀行) และต่อมาสมรสกับอะซะโนะ นะงะอะกิระ (浅野長晟)
  • ภรรยาน้อย: นางโอสึมะ (Otsuma) หรือชิโมะยามะ-โดโนะ (下山殿 ค.ศ. 1564 - 1591)
    • บุตรชายคนที่ห้า: ทาเกดะ โนบูโยชิ (武田信吉 ค.ศ. 1583 - 1603) ไปเป็นบุตรบุญธรรมของทาเกดะ โนบุฮะรุ (武田信治)
  • ภรรยาน้อย: ชะอะ-โนะ-สึโบเนะ (茶阿局 ? - ค.ศ. 1621)
    • บุตรชายคนที่หก: มัตสึไดระ ทาดาเตรุ (松平忠輝 ค.ศ. 1592 - 1683)
    • บุตรชายคนที่เจ็ด: มัตสึไดระ มัตสึชิโยะ (松平松千代 ค.ศ. 1594 - 1599)
  • ภรรยาน้อย: นางคะเมะ (Kame) ค.ศ. 1573 - 1642
    • บุตรชายคนที่แปด: มัตสึไดระ เซ็งชิโยะ (松平仙千代 ค.ศ. 1595 - 1600)
    • บุตรชายคนที่เก้า: โทกูงาวะ โยะชินะโอะ (徳川義直 ค.ศ. 1601 - 1650) ไดเมียวแห่งคิโยะซุ หนึ่งในโงะซังเกะ
  • ภรรยาน้อย: นางมัง (Man) หรือโยจูอิง (養珠院 ค.ศ. 1580 - 1653)
    • บุตรชายคนที่สิบ: โทกูงาวะ โยะริโนบุ (徳川頼宣 ค.ศ. 1602 - 1671) ไดเมียวแห่งคิอิ หนึ่งในโงะซังเกะ เป็นปู่ของโทกูงาวะ โยชิมูเนะ โชกุนคนที่ 8
    • บุตรชายคนที่สิบเอ็ด: โทกูงาวะ โยะริฟุซะ (徳川頼房 ค.ศ. 1603 - 1661) ไดเมียวแห่งมิโตะ หนึ่งในโงะซังเกะ

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Iyeyasu". Encyclopedia.com.
  2. "Iyeyasu". Merriam-Webster.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Perez, Louis G. (1998). The history of Japan. Westport, Conn.: Greenwood Press. ISBN 0-313-00793-4. OCLC 51689128.
  4. 4.0 4.1 "Japan - The bakuhan system". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-06-01.
ก่อนหน้า โทกูงาวะ อิเอยาซุ ถัดไป
ยุคเซ็งโงะกุ
โชกุนแห่งรัฐบาลเอโดะ
(ค.ศ. 1603 – 1605)
โทกูงาวะ ฮิเดตาดะ