อิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ
อิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ | |
---|---|
เกิด | 20 มีนาคม พ.ศ. 2490 |
เสียชีวิต | 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 (70 ปี) |
การศึกษา | โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ระดับปริญญาตรี ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น |
อาชีพ | นักจัดรายการวิทยุ นักธุรกิจ |
องค์การ | ไนท์สปอต บีเอ็นที มีเดีย พลัส แชนแนลวีไทยแลนด์ เอ็มทีวีไทยแลนด์ วีเอชวัน เอฟทีวีไทยแลนด์ |
พันตำรวจเอก อิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ (20 มีนาคม พ.ศ. 2490 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560) วิศวกร และนักธุรกิจสื่อมัลติมีเดีย ในอดีตเคยเป็นนักจัดรายการวิทยุ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทไนท์สปอต เป็นดีเจที่จัดรายการแบบสากลเป็นคนแรกของเมืองไทย และเป็นผู้สร้างวิทยุ 24 ชั่วโมงคลื่นแรก[1] ก่อตั้งค่าย WEA Records Ltd., โซนีมิวสิก (ซีบีเอส) และบีเอ็มจีไทยแลนด์ ในประเทศไทย ต่อมาก่อตั้งบริษัทมีเดีย พลัส ทำงานด้านผลิตรายการวิทยุควบคู่ไปพร้อมกับงานจัดคอนเสิร์ตจากศิลปินต่างประเทศ อิทธิวัฒน์ บุกเบิกวงการเคเบิลทีวี ด้วยการผลิตรายการโทรทัศน์ 24 ชั่วโมงให้กับยูบีซีถึง 5 ช่อง ผลงานชิ้นเอกในยุคนี้ของคุณอิทธิวัฒน์คือการก่อตั้ง แชนแนลวีไทยแลนด์ นอกจากนั้นยังได้ก่อตั้งเอ็มทีวีไทยแลนด์ , วีเอชวัน และ เอฟทีวีไทยแลนด์
ประวัติ
[แก้]อิทธิวัฒน์ ศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ระดับปริญญาตรี ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นเซลส์แมนบริษัทน้ำมันเอสโซ่พร้อมการจัดรายการวิทยุของตัวเอง ในชื่อไนท์สปอต เขาเปิดเพลงและพูดระหว่างเพลงคนแรก ไนท์สปอตโปรดักชั่นที่สร้างดีเจรุ่นใหม่เข้ามาในวงการขณะนั้น รุ่นแรก ๆ ก็มี เช่น วาสนา วีระชาติพลี, วิโรจน์ ควันธรรม, วินิจ เลิศรัตนชัย, ธเนศ วรากุลนุเคราะห์, หม่อมราชวงศ์รุจยาภา อาภากร[2]
นอกจากเป็นนักธุรกิจยังรับราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยศสุดท้าย คือพันตำรวจเอก เคยอยู่ศูนย์ประมวลข่าวสาร กรมตำรวจ (หน่วยคอมพิวเตอร์) และกองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ผลงานของ ไนต์สปอตโพรดักชันส์ คือนำเข้าคอนเสิร์ตจากศิลปินเพลงชื่อดังต่างประเทศเป็นเจ้าแรก ๆ ในประเทศไทย เริ่มต้นจาก วงดนตรีแนวโซลและอาร์แอนด์บี จากอเมริกา เดอะสไตลิสติกส์, วงร็อกเชอร์เบ็ต จากออสเตรเลีย, บลอนดี, คลิฟฟ์ ริชาร์ด, อีริก แคลปตัน, ร็อด สจ๊วต, สตีวี วันเดอร์, เบย์ซิตีโรเลอส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอนเสิร์ต เดวิด โบอี ที่สนามกีฬากองทัพบก ขายบัตรได้มากถึง 35,000 ใบ
อิทธิวัฒน์และไนต์สปอตยังขยายธุรกิจเพลง ด้วยการเปิดบริษัท WEA Records Ltd. เป็นตัวแทนของบริษัทแผ่นเสียงเครือ Warner Music Group ในประเทศไทย จัดจำหน่ายแผ่นเสียง ซีดี และเทปคาสเซ็ต ของศิลปินต่างประเทศ อาทิ มาดอนน่า, ร็อด สจ๊วต, ยูทู, ชิคาโก, พรินซ์ เป็นต้น และในปี 2527 ไนท์สปอตโปรดักชัน ก็เปิดธุรกิจค่ายเพลงไทย เริ่มต้นศิลปินเบอร์แรกด้วย ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุลในชุด ไปทะเล ถือเป็นผลงานชุดแรกของศิลปินไทยที่บันทึกเสียงไกลถึงอเมริกา และผลิตศิลปินอีกหลายศิลปิน อาทิ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ จากอัลบั้ม แดนศิวิไลซ์ ที่ไปบันทึกเสียงถึงประเทศอังกฤษและอัสนี-วสันต์ โชติกุล จากอัลบั้ม บ้าหอบฝาง และนอกจากนั้นไนท์สปอร์ตยังมีรายการเพลงไทย โลกสวยด้วยเพลง จัดรายการโดย วินิจ เลิศรัตนชัย ,ดารณี มณีดิษ, อัจฉรา บุนนาค เป็นต้น ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนั้น อิทธิวัฒน์ ยังเปิดค่ายเพลง โซนีมิวสิก (ซีบีเอส) และบีเอ็มจีไทยแลนด์
ด้วยนโยบายการทำงานที่ต่างกัน ทำให้ คุณอิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ ตัดสินใจแยกตัวออกจากไนท์สปอต และก่อตั้งบริษัทมีเดีย พลัส ในปี พ.ศ. 2529[3] ทำงานด้านผลิตรายการวิทยุควบคู่ไปพร้อมกับงานจัดคอนเสิร์ตจากศิลปินต่างประเทศ คลื่นวิทยุของมีเดีย พลัสในเวลานั้น คือ 88.0, 95.5 และ 105.0 เมกะเฮิร์ทซ์ มีรายการที่โดดเด่นคือ สไมล์ เรดิโอ ทาง เอฟเอ็ม 88.0 เมกะเฮิร์ทซ์ มีนักจัดรายการวิทยุอย่าง วินิจ เลิศรัตนชัย, หัทยา เกษสังข์, สาลินี ปันยารชุน, นิมิตร ลักษมีพงศ์, วิทวัส ศุภเมธากร, สุทธิธรรม สุจริตตานนท์, ธเนศ แสงโชติกุล, มณฑาณี ตันติสุข และ สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ คลื่นสไมล์ เรดิโอออกอากาศจากกรุงเทพกระจายผ่านดาวเทียม ไปยังสถานีวิทยุทั่วประเทศ
กระทั่งต่อมานับจากช่วงปีตั้งแต่ปี 2535 อิทธิวัฒน์บุกเบิกวงการเคเบิลทีวี ด้วยการผลิตรายการโทรทัศน์ 24 ชั่วโมงให้กับยูบีซีถึง 5 ช่อง ผลงานชิ้นเอกในยุคนี้ของคุณอิทธิวัฒน์คือการก่อตั้ง แชนแนลวีไทยแลนด์ ช่องโทรทัศน์ดนตรี 24 ชั่วโมงช่องแรกของเมืองไทย นอกจากนั้นยังได้ก่อตั้งเอ็มทีวีไทยแลนด์ , วีเอชวัน และ เอฟทีวีไทยแลนด์ อีกด้วย
อ้างอิง
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- จากไนท์สปอตสู่ออนป้า นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2543
- โลกดิจิตอลของ อิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2543
- คำตอบจากความบังเอิญ prateepjittibook.wordpress.com