อาหารแบบแดช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อาหารแดช)

อาหารแบบแดช หรือการคุมอาหารแบบแดช (อังกฤษ: DASH diet) เป็นชื่อย่อจากคำภาษาอังกฤษว่า "Dietary Approaches to Stop Hypertension" ซึ่งแปลว่า วิธีการคุมอาหารเพื่อระงับความดันโลหิตสูง เป็นรูปแบบอาหารที่สถาบันหัวใจ ปอด และโลหิตแห่งชาติ (NHLBI ซึ่งเป็นส่วนของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา)) ส่งเสริมเพื่อป้องกันและควบคุมภาวะความดันโลหิตสูง เป็นรูปแบบอาหารที่สมบูรณ์ด้วยผลไม้ ผัก ข้าวไม่ขัดสี และอาหารจากผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ ตลอดจนเนื้อสัตว์ เนื้อปลา เนื้อไก่ ถั่วประเภทต่าง ๆ และจำกัดอาหารและเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล เนื้อแดง (สีแดงเมื่อยังไม่สุกเช่น เนื้อวัว หมู แกะ) และที่เติมไขมัน นอกจากจะมีผลดีต่อความดันโลหิต ก็เป็นอาหารสมดุลสำหรับบุคคลทั่วไปด้วย นอกเหนือจาก NHLBI แล้ว กระทรวงเกษตรกรรมสหรัฐ (USDA) ซึ่งเป็นองค์กรที่กำหนดแนวทางอาหารในสหรัฐ ก็แนะนำรูปแบบอาหารนี้ด้วยว่า เป็นแผนการทานอาหารที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับทุก ๆ คน[1]

โปรแกรมอาหารนี้มาจากงานศึกษาของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIH) ที่ได้ตรวจแผนการทานอาหาร 3 อย่างกับผลต่อสุขภาพ แผนทั้ง 3 อย่างนี้ไม่ใช่อาหารเจ แต่อาหารแบบแดชก็รวมผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำหรือปลอดไขมัน และถั่วมากกว่าแผนอื่น ๆ ในผู้มีความดันซึ่งใกล้จัดได้ว่าเป็นความดันโลหิตสูง การทานอาหารตามแบบจะลดความดันเลือดระยะหัวใจบีบตัวได้ 6 mm Hg และความดันระยะหัวใจคลายตัวได้ 3 mm Hg ในผู้มีความดันสูง ความดันจะลด 11 mm Hg และ 6 mm Hg ตามลำดับ ความดันโลหิตเปลี่ยนโดยไม่ได้เพิ่มหรือลดน้ำหนัก การทานอาหารจะปรับตามพลังงานที่ร่างกายต้องการเริ่มจากที่ 1,600 กิโลแคลอรีจนถึง 3,100 กิโลแคลอรี[2]

รูปแบบอาหารได้ทดสอบและพัฒนาเพิ่มขึ้นในงานทดลอง Optimal Macronutrient Intake Trial for Heart Health (OmniHeart)[3] "การทดลอง DASH และ DASH-sodium ได้แสดงว่า อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง, เน้นผลไม้ ผัก และผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ, ลดไขมันอิ่มตัว ไขมันโดยรวม และคอเลสเตอรอล จะลดความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลแบบไม่ดี คือ LDL ได้อย่างสำคัญ ส่วนการทดลอง OmniHeart แสดงว่าการแทนคาร์โบไฮเดรตบางส่วนด้วยโปรตีน (ครึ่งหนึ่งมาจากพืช) หรือด้วยไขมันไม่อิ่มตัว (โดยมากเป็นไขมันมีพันธะคู่เดี่ยว) จะลดความดัน ลดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี คือ LDL และลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้เพิ่มยิ่งขึ้น"[4]

ในปี 2018 นิตยสารสหรัฐ U.S. News & World Report ได้จัดแบบอาหารนี้ในบรรดา 40 แบบว่าดีสุดในหมวดการควบคุมอาหารที่ดีสุดโดยทั่วไป (Best Diets Overall) อาหารถูกสุขภาพ (For Healthy Eating) อาหารที่ถูกสุขภาพหัวใจ (Best Heart-Healthy Diet) และจัดเป็นอันดับสองในหมวดอาหารสำหรับโรคเบาหวาน (For Diabetes)[5]

ประวัติและการออกแบบ[แก้]

พื้นเพ[แก้]

ปัจจุบันเชื่อว่า ความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาสำหรับคนอเมริกัน 50 ล้านคน (จากประชากร 324 ล้านคนโดยมีผู้ใหญ่ประมาณ 245 ล้านคน) และคนทั่วโลก 1 พันล้านคน[6][7] ตามสถาบันหัวใจ ปอด และโลหิตแห่งชาติสหรัฐ (NHLBI) โดยอ้างอิงข้อมูลเริ่มตั้งแต่ปี 2002[6][7] ความดันโลหิตสูง (BP) สัมพันธ์กับความเสี่ยงการเกิดปัญหาโรคหัวใจร่วมหลอดเลือด (CVD) อย่างต่อเนื่อง คงเส้นคงวา และเป็นอิสระจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ความดันยิ่งสูงเท่าไร โอกาสเกิดหัวใจล้ม หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตก็สูงขึ้นเท่านั้น สำหรับผู้มีอายุระหว่าง 40-70 ปี ความดันระยะหัวใจบีบตัวที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 20 mm Hg หรือความดันระยะหัวใจคลายตัวที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 mm Hg จะเพิ่มความเสี่ยง CVD เป็นทวีคูณเริ่มตั้งแต่ความดัน 115/75 mm Hg จนถึง 185/115 mm Hg[7]

ความชุกของโรคความดันทำให้สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐได้เสนอให้งบประมาณเพื่อวิจัยผลของอาหารต่อความดัน ดังนั้น ในปี 1992 NHLBI จึงได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยการแพทย์ที่มีชื่อเสียง 5 แห่งทั่วสหรัฐเพื่อดำเนินงานวิจัยที่ใหญ่สุดและละเอียดสุดเท่าที่เคยทำ เป็นการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (RCT) ซึ่งเป็นรูปแบบการทดลองที่จัดว่าดีที่สุดอย่างหนึ่ง โดยมีแพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ นักสถิติ และผู้ประสานงาน ทำงานร่วมกันในศูนย์วิจัย 5 แห่งเพื่อเลือกผู้ร่วมการทดลองและประเมินผลที่ได้ ศูนย์วิจัยรวมทั้งมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ (เมืองบอลทิมอร์) ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยดุ๊ก (เมืองเดอร์แฮม รัฐนอร์ทแคโรไลนา) ศูนย์วิจัยสุขภาพขององค์กร Kaiser Permanente (เมืองพอร์ตแลนด์) Brigham and Women's Hospital (นครบอสตัน) และศูนย์วิจัยชีวเวชเพ็นนิงตัน (เมืองแบตันรูช)[2] งานทดลองเกี่ยวกับอาหารได้ทำสองครั้ง ออกแบบให้ทำในหลายศูนย์ จัดผู้ร่วมการทดลองเข้ากลุ่มโดยสุ่ม ให้อาหารทั้งหมดที่ผู้ร่วมการทดลองทาน โดยมุ่งทดสอบผลของรูปแบบอาหารต่อความดันโลหิต เกณฑ์วิธีที่ทำอย่างมีมาตรฐานและทำในหลายศูนย์เช่นนี้ ได้ใช้ในงานวิจัยขนาดใหญ่หลายงานที่ได้งบประมาณจาก NHLBI ลักษณะพิเศษของการทดลองนี้ก็คือ ได้เลือกใช้อาหารที่ทานกันเป็นปกติเพื่อให้ประชาชนยอมรับได้ง่ายถ้าได้ผล[8] งานเริ่มในเดือนสิงหาคม 1993 แล้วยุติในเดือนกรกฎาคม 1997[9]

งานทางวิทยาการระบาดอื่นได้แสดงแล้วว่า รูปแบบอาหารที่มีแร่ธาตุบางอย่างและมีใยอาหารสูงสัมพันธ์กับความดันเลือดที่ต่ำ แผนการอาหารนี้ได้แนวคิดจากงานวิจัยเช่นนี้[8]

อาหาร[แก้]

มีรูปแบบอาหารที่ทดสอบสองอย่างซึ่งใช้เทียบกับอาหารกลุ่มควบคุม อาหารกลุ่มควบคุมมีไขมันและโปรตีนที่เข้ากับรูปแบบ "อาหารอเมริกันปกติในเวลานั้น" แต่มีโพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียมต่ำกว่าโดยเฉลี่ย (ที่เปอร์เซ็นไทล์ 25 ของการบริโภคในสหรัฐ)[2][10] รูปแบบอาหารทดลองแรกมีผักผลไม้มากกว่า แต่ที่เหลือก็เหมือนกับของกลุ่มควบคุม (เป็นกลุ่ม "อาหารผักผลไม้"[9]) ยกเว้นมีของหวาน ๆ และของว่างน้อยกว่า มีใยอาหารมากกว่า มีโพแทสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียมมากกว่า (ที่เปอร์เซ็นไทล์ 75 ของการบริโภคในสหรัฐ)[10] ส่วนรูปแบบอาหารทดลองที่สองมีผักผลไม้มากและมีผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ ทั่วไปมีไขมันรวมและไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า มีใยอาหารและโปรตีนมากกว่าอาหารกลุ่มควบคุม อาหารกลุ่มนี้เรียกว่า อาหารแดช[6] เป็นแผนที่มีใยอาหารมากกว่า มีโพแทสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม มากกว่า (ที่เปอร์เซ็นไทล์ 75 ของการบริโภคในสหรัฐ)[10] มีข้าวกล้อง (ไม่ขัดสี) เนื้อเป็ดไก่ ปลา และถั่วมาก แต่มีเนื้ออื่น ๆ และของหวาน ๆ น้อย[11]

อาหารแดชออกแบบให้มีสารอาหารสำคัญที่เชื่อว่า มีส่วนลดความดันโลหิต โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษาทางวิทยาการระบาดที่มีมาก่อน งานพิเศษเพราะศึกษารูปแบบอาหาร ไม่ได้ศึกษาสารอาหารเดี่ยว ๆ[8] อาหารยังมีสารต้านอนุมูลอิสระมากซึ่งนักวิชาการบางพวกเชื่อว่า ช่วยชะลอหรือป้องกันปัญหาสุขภาพเรื้อรังต่าง ๆ รวมทั้งมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง[2] นักวิจัยยังพบด้วยว่าอาหารแดชมีประสิทธิผลป้องกันและรักษานิ่วไตได้ดีกว่าอาหารที่มีออกซาเลตต่ำ เป็นนิ่วไตแบบแคลเซียมออกซาเลตซึ่งสามัญที่สุด[12]

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างแผนการทานอาหารแบบแดชของกระทรวงเกษตรกรรมสหรัฐ (USDA) ที่ให้พลังงาน 2,000 กิโลแคลอรีต่อวัน อาหารแต่ละกลุ่มควรปรับให้เข้ากับพลังงานที่ร่างกายใช้ในแต่ละวัน

แผนการทานอาหารแบบแดช[13]
กลุ่มอาหาร จำนวนส่วนอาหารแต่ละวัน
(ยกเว้นตามกำหนด)
ขนาดส่วนอาหาร
ข้าวกล้องและผลิตภัณฑ์ข้าวกล้อง 7-8 ขนมปัง 1 แผ่น

ธัญพืช/ซีเรียลสำเร็จรูป* 1 ถ้วย
ข้าวกล้อง หรือพาสตา หรือธัญพืช ที่สุกแล้ว 1/2 ถ้วย

ผัก 4-5 ผักใบสด 1 ถ้วย

ผักสุก 1/2 ถ้วย
น้ำผัก 170 กรัม

ผลไม้ 4-5 ผลไม้ขนาดกลาง 1 ลูก

ผลไม้แห้ง 1/4 ถ้วย
ผลไม้สด แช่แข็ง หรือกระป๋อง 1/2 ถ้วย
น้ำผลไม้ 170 กรัม

ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำหรือปลอดไขมัน 2-3 นม 227 กรัม

โยเกิร์ต 1 ถ้วย
ชีส 43 กรัม

เนื้อไม่มีมัน เป็ดไก่ หรือปลา 2 หรือน้อยกว่า เนื้อไม่มีมัน หรือเป็ดไก่ไม่มีหนัง หรือปลา 85 กรัม
เมล็ดถั่ว เมล็ดพืช และถั่วแห้ง 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ เมล็ดถั่ว 1/3 ถ้วยหรือ 43 กรัม

เมล็ดพืช 1 ช้อนโต๊ะหรือ 14 กรัม
ถั่วแห้งสุก 1/2 ถ้วย

ไขมันและน้ำมัน 2-3 เนยเทียม "นิ่ม" 1 ช้อนชา

มายองเนสไขมันต่ำ 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำสลัด (แบบน้ำมันผสมของเปรี้ยว) 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำมันพืช 1 ช้อนชา

ของหวาน 5 ต่ออาทิตย์ น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ

แยม 1 ช้อนโต๊ะ
ขนม Jelly bean 14 กรัม
น้ำมะนาว 227 กรัม

  • *ส่วนหนึ่งจะต่าง ๆ ระหว่าง 1/2 ถ้วยจนถึง 1 1/4 ถ้วย ดูป้ายผลิตภัณฑ์อาหาร
  • รูปแบบไขมันจะเปลี่ยนจำนวนส่วนของไขมันและน้ำมัน ยกตัวอย่างเช่น น้ำสลัดธรรมดา 1 ช้อนโต๊ะเท่ากับ 1 ส่วน, น้ำสลัดไขมันต่ำ 1 ช้อนโต๊ะเท่ากับ 1/2 ส่วน และน้ำสลัดปลอดไขมัน 1 ช้อนโต๊ะเท่ากับ 0 ส่วน

แบบงานศึกษา[แก้]

ผู้ร่วมการทดลองทานอาหาร 3 รูปแบบโดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ (1) ตรวจคัด (screening) (2) การเดินเครื่อง (run-in) และ (3) การรักษา (intervention) ระยะแรกเป็นการตรวจคัดผู้ร่วมการทดลองอาศัยผลการวัดความดันโลหิตหลายครั้งรวม ๆ กัน ระยะที่สองทำเป็นเวลา 3 อาทิตย์ ให้ผู้ร่วมการทดลองทานอาหารกลุ่มควบคุม วัดความดันโลหิตทุกวัน ตรวจปัสสาวะครั้งหนึ่ง และตอบคำถามเกี่ยวกับอาการ ในที่สุดของระยะนี้ ผู้ที่สามารถทานตามโปรแกรมอาหารได้จะจัดเข้ากลุ่มอาหาร 3 กลุ่มดังที่ว่าโดยสุ่ม โดยจะเริ่มทานในอาทิตย์ที่ 4 ซึ่งเป็นระยะต่อไป เป็นระยะที่ทำ 8 อาทิตย์ที่ผู้ร่วมการทดลองจะทานอาหารตามที่ให้ (ตามกลุ่มที่จัดเข้าโดยสุ่ม) มีการวัดความดันโลหิตและตรวจปัสสาวะเหมือนกันในระยะนี้ บวกกับให้ตอบคำถามเกี่ยวกับอาการและการออกกำลังกาย ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มแรกเริ่มโปรแกรมระยะที่สองในเดือนกันยายน 1994 และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ 5 เริ่มในเดือนมกราคม 1996[9]

อาหารแต่ละโปรแกรมมีโซเดียม 3,000 ม.ก. เหมือน ๆ กัน ซึ่งเป็นค่าบริโภคเฉลี่ยทั่วประเทศในขณะนั้น ผู้ร่วมการทดลองยังได้เกลือ 2 ถุงพิเศษแต่ละถุงมีเกลือ 200 ม.ก. เพื่อใช้ตามแต่จะชอบ จำกัดให้ทานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 2 ที่แต่ละวัน และเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนไม่เกิน 3 ที่[11]

ผลการศึกษา[แก้]

การทดลองนี้แสดงว่า รูปแบบอาหารมีผลต่อความดันโลหิตในผู้มีความดันสูงในเกณฑ์ปกติและโรคความดันสูงในระดับกลาง ๆ (ความดันช่วงหัวใจบีบตัว < 180 mm Hg และความดันช่วงหัวใจคลายตัวระหว่าง 80-95 mm Hg)[9] อาหารแบบแดชลดความดันโลหิตโดยเฉลี่ย 5.5 mm Hg (ช่วงหัวใจบีบตัว) และ 3.0 mm Hg (ช่วงหัวใจคลายตัว) เทียบกับกลุ่มควบคุม โดยคนจำนวนน้อยส่วนหนึ่งและผู้มีความดันโลหิตสูงจะลดความดันโลหิตได้สูงสุด ผู้มีความดันสูงลดความดันได้โดยเฉลี่ย 11.4 mm Hg (ช่วงหัวใจบีบตัว) และ 5.5 mm Hg (ช่วงหัวใจคลายตัว)[9] กลุ่มผักผลไม้ก็ได้ผลเหมือนกัน แม้ความดันจะลดน้อยกว่า คือโดยเฉลี่ยลด 2.8 mm Hg (ช่วงหัวใจบีบตัว) และ 1.1 mm Hg (ช่วงหัวใจคลายตัว)[11]

ในบุคคลทั้งที่มีความดันสูงและไม่มี อาหารแดชได้ผลดีกว่าอาหารผักผลไม้และกลุ่มควบคุม ความดันลดลงภายในสองอาทิตย์หลังเริ่มทานอาหาร[11] ผลที่ได้ขยายไปถึงกลุ่มตัวอย่าง (สหรัฐ) ใหญ่สุดที่ได้เก็บข้อมูล[9] ผลข้างเคียงไม่สำคัญ แต่งานศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์รายงานว่า บางคนท้องผูก เมื่อระยะรักษา (3) สิ้นสุดลง กลุ่มควบคุม 10.1% กลุ่มผักผลไม้ 5.4% และกลุ่มแดช 4.0% รายงานว่าท้องผูก ซึ่งแสดงว่ากลุ่มการทดลองทั้ง 2 กลุ่มลดอาการท้องผูกเทียบกับกลุ่มควบคุม อาการทางกระเพาะลำไส้อื่น ๆ เกิดน้อยมากยกเว้นผู้ร่วมการทดลองผู้หนึ่ง (ในกลุ่มควบคุม) ที่มีถุงน้ำดีอักเสบ

งานศึกษาแดช-โซเดียม[แก้]

แบบการศึกษา[แก้]

งานศึกษาแดช-โซเดียมได้ทำต่อจากงานศึกษาแดชเพื่อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างการทานเกลือ อาหาร และภาวะความดันโลหิตสูงรวมทั้ง[14][15]

  • ผลของการลดโซเดียมในอาหารอเมริกันและอาหารแดช
  • ผลของการลดโซเดียมอย่างเดียว ของอาหารแดชอย่างเดียว และของทั้งสองอย่าง ต่อคนที่ความดันโลหิตปกติ

งานตรวจผลของระดับโซเดียมต่าง ๆ 3 ระดับ ทำระหว่างเดือนกันยายน 1997 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 1999 มีจำนวนตัวอย่าง 412 คน ทำในศูนย์การทดลองหลายศูนย์ จัดผู้ร่วมการทดลองเข้ากลุ่มโดยสุ่ม และจัดอาหารทั้งหมดที่ผู้ร่วมการทดลองทาน[15]

ผู้ร่วมการทดลองเป็นผู้ใหญ่ที่มีความดันสูงในเกณฑ์ปกติจนถึงความดันสูงระยะหนึ่ง (เฉลี่ยความดันช่วงหัวใจบีบตัวระหว่าง 120-159 mm Hg และความดันช่วงหัวใจคลายตัวระหว่าง 80-95 mm Hg) และจัดเข้ากลุ่มอาหาร 2 กลุ่มโดยสุ่ม[11] กลุ่มแรกทานอาหารแดช และกลุ่มที่สองทาน "อาหารอเมริกันปกติ" คล้ายกับในการทดลองก่อน ซึ่งมีสารอาหารสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งโพแทสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียมค่อนข้างน้อย ส่วนอาหารแดชก็เหมือนกับการทดลองก่อน

ในระยะเดินเครื่อง (ระยะ 2) สองอาทิตย์ ทุกคนจะทานอาหารกลุ่มควบคุมมีโซเดียมสูงเหมือนกัน หลังจากจัดเข้ากลุ่ม ผู้ร่วมการทดลองจะได้โซเดียมทุกวันที่ระดับใดระดับหนึ่งในสามระดับ คือ สูง (3,000 ม.ก.) กลาง (2,400 ม.ก.) และต่ำ (1,500 mg) จัดลำดับโดยสุ่ม แต่ละระดับเป็นเวลา 30 วันติดต่อกัน เป็นวิธีการทดลองแบบข้ามกลุ่ม (crossover)[11] ตลอดระยะรักษา (ระยะ 3) 30 วันต่อมา แต่ละคนจะทานอาหารของกลุ่มที่ตนอยู่โดยมีโซเดียมที่ระดับเดียว และในระยะรักษาอีก 2 รอบต่อมา ก็จะได้อาหารมีระดับโซเดียมที่เหลืออีก 2 ระดับแต่ะละระดับ 30 วันติดต่อกัน[15] ดังนั้น ผู้ร่วมการทดลองทั้งในกลุ่มอาหารแดชและกลุ่มควบคุม จะได้อาหารในกลุ่มของตนแต่มีโซเดียมในระดับต่าง ๆ กัน 3 อย่าง ซึ่งเมื่อสุดระยะรักษา 30 วัน 3 รอบ ทุกคนจะได้ทานอาหารมีโซเดียมทั้ง 3 ระดับแล้ว

ผลและข้อสรุป[แก้]

ผลหลัก (primary outcome) ของการทดลองนี้ก็คือ ความดันโลหิตช่วงหัวใจบีบตัว และผลรอง (secondary outcome) ก็คือ ความดันระยะหัวใจคลายตัว งานทดลองนี้พบว่า การลดการทานโซเดียมลดความดันทั้งสองชนิดอย่างสำคัญทั้งในกลุ่มทดลองและในกลุ่มควบคุม

การลดโซเดียมในอาหารกลุ่มควบคุมมีอิทธิพลต่อความดันโลหิตเป็น 2 เท่าของกลุ่มอาหารแดช ยิ่งกว่านั้น การลดระดับโซเดียมในกลุ่มควบคุมจากกลางเป็นต่ำมีผลต่อความดันช่วงหัวใจบีบตัวมากกว่าการลดระดับจากสูงเป็นกลาง (ลดโซเดียม 40 mmol ต่อวัน หรือเท่ากับเกลือประมาณ 1 กรัม)[16][14]

นักวิชาการได้ชี้ว่า ถ้าบุคคลปกติทานโซเดียมในระดับที่แนะนำ (RDA) โดยวิทยาลัยการแพทย์แห่งชาติสหรัฐ (NAM) อยู่แล้ว ผลลดความดันเพราะลดเกลือจะดีกว่าถ้าทานในระดับเฉลี่ยของสหรัฐอยู่ ทำให้นักวิจัยคาดว่า การยอมรับค่าโซเดียมมาตรฐานต่อวันที่ต่ำกว่า 2,400 ม.ก. ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานในปี 2004 เป็นการตัดสินใจที่สมกับหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่ได้จากการศึกษานี้[15] ส่วน USDA (ผ่าน U.S. Dietary Guidelines for Americans) แนะนำให้ทานอาหารมีเกลือ 2,300 ม.ก. ต่อวันหรือน้อยกว่านั้น และแนะนำให้ทาน 1,500 ม.ก. ต่อวันถ้าความดันโลหิตสูง ค่าหลังก็คือค่าโซเดียมระดับต่ำที่ศึกษาในการทดลองนี้

ทั้งอาหารแบบแดชปกติและอาหารกลุ่มควบคุมที่มีเกลือต่ำสามารถลดความดันโลหิต แต่จะได้ผลดีสุดเมื่อทานอาหารแดชแบบมีเกลือต่ำ (1,500 ม.ก./วัน) ซึ่งลดความดันโดยเฉลี่ย 8.9/4.5 mm Hg (ความดันระยะหัวใจบีบตัว/คลายตัว) โดยผู้มีความดันสูงลดได้โดยเฉลี่ย 11.5/5.7 mm Hg[11] คือผลของงานแสดงว่า อาหารแดชแบบมีโซเดียมต่ำมีสหสัมพันธ์กับการลดความดันโลหิตมากที่สุดในทั้งผู้มีความดันสูงแต่ในเกณฑ์ปกติและผู้มีโรคความดันสูง โดยได้ผลดีกว่าสำหรับผู้มีความดันสูง

OmniHeart และ OmniCarb[แก้]

หลังจากตีพิมพ์ผลงานเรื่องโซเดียมและความดันโลหิต ทีมวิจัยเดียวกันได้ตีพิมพ์ผลงานในเรื่องโปรตีน ไขมันไม่อิ่มตัว และคาร์โบรไฮเดรต กับผลที่มีต่อความดันโลหิตและไขมันในเลือด (OmniHeart)[17] และเรื่องคาร์โบรไฮเดรตกับผลที่มีต่อโรคหัวใจร่วมหลอดเลือดและปัญหาเกี่ยวกับอินซูลิน (OmniCarb)[18]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. The USDA recommends the USDA Food Patterns including their vegetarian and vegan adaptations, the Mediterranean, and the DASH Eating Plan, in U.S. Department of Agriculture and U.S. Department of Health and Human Services (2010). "2010 Dietary Guidelines for Americans" (PDF). health.gov (Chapter 5 in 7 ed.). U.S. Government Printing Office. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 17 October 2018. สืบค้นเมื่อ 15 December 2014.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "Your Guide To Lowering Your Blood Pressure With DASH" (PDF). nhlbi.nih.gov. U.S. Department of Health and Human Services. April 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 23 July 2018. สืบค้นเมื่อ 28 December 2011.
  3. Appel, LJ (16 November 2005). "Effects of protein, monounsaturated fat, and carbohydrate intake on blood pressure and serum lipids: results of the OmniHeart randomized trial". JAMA. 294 (19): 2455–64. doi:10.1001/jama.294.19.2455. PMID 16287956.
  4. Miller, ER (November 2006). "The effects of macronutrients on blood pressure and lipids: an overview of the DASH and OmniHeart trials". Curr Atheroscler Rep. 8 (6): 460–5. doi:10.1007/s11883-006-0020-1. PMID 17045071.
  5. "U.S. News Reveals Best Diets Rankings for 2018". U.S. News & World Report.
  6. 6.0 6.1 6.2 Chobanian, Aram; Bakris, George; Black, Henry; Cushman, William; Green, Lee; Izzo Jr, Joseph; Jones, Daniel; Materson, Barry; และคณะ (2003). Seventh Report of the Joint National Committee on Prevention, Detection, Evaluation, and Treatment of High Blood Pressure. Vol. 42. Bethesda: U.S. Department of Health and Human Services. p. 1206. doi:10.1161/01.HYP.0000107251.49515.c2. ISSN 0194-911X. PMID 14656957. สืบค้นเมื่อ 28 December 2011.
  7. 7.0 7.1 7.2 Sacks, Frank M; Obarzanek, Eva; Windhauser, Marlene; Svetkey, Laura; Vollmer, William; McCullough, Marjorie; Karanja, Njeri; Lin, Pao-Hwa; และคณะ (March 1995). "Rationale and design of the Dietary Approaches to Stop Hypertension trial (DASH)". Annals of Epidemiology. Elsevier. 5 (2): 108–118. doi:10.1016/1047-2797(94)00055-X. ISSN 1047-2797. PMID 7795829.
  8. 8.0 8.1 8.2 Appel, Lawrence J; Moore, Thomas J; Obarzanek, Eva; Vollmer, William; Svetkey, Laura; Sacks, Frank; Bray, George; Vogt, Thomas; และคณะ (17 April 1997). "A Clinical Trial of the Effects of Dietary Patterns on Blood Pressure". The New England Journal of Medicine. Massachusetts Medical Society. 336 (16): 1117–1124. doi:10.1056/NEJM199704173361601. ISSN 0028-4793. PMID 9099655.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 Moore, Thomas; Svetkey, Laura; Appel, Lawrence; Bray, George; Volmer, William (2001). The DASH Diet for Hypertension. New York: Simon & Schuster. ISBN 978-0-7432-0295-4. OCLC 47243951.
  10. 10.0 10.1 10.2 "Dietary Approaches to Stop Hypertension: The DASH Diet". Georgetown Food Studies Blog. 23 June 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 November 2018. สืบค้นเมื่อ 10 November 2018.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 11.6 Lewington, S; Clarke, R; Qzilbash, N; Peto, R; Collins, R (14 December 2002). "Age-specific relevance of usual blood pressure to vascular mortality: A meta-analysis of individual data for one million adults in 61 prospective studies". Lancet. London: Elsevier. 360 (9349): 1903–13. doi:10.1016/S0140-6736(02)11911-8. PMID 12493255.
  12. Bellman, Gary. "DASH Diet May Lower Risk of Recurrent Kidney Stones". Southern California Urology Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2016. สืบค้นเมื่อ 21 April 2015.
  13. "Your Guide To Lowering Your Blood Pressure" (PDF). nhlbi.nih.gov. U.S. Department of Health and Human Services. May 2003. บทความนี้รวมเอาเนื้อความจากแหล่งอ้างอิงนี้ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ
  14. 14.0 14.1 "Effects on blood pressure of reduced dietary sodium and the Dietary Approaches to Stop Hypertension (DASH) diet" (PDF). N Engl J Med. 2001. PMID 11136953.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 Karanja, Njeri; Erlinger, TP; Pao-Hwa, Lin; Miller 3rd, Edgar R; Bray, George (September 2004). "The DASH Diet for High Blood Pressure: From Clinical Trial to Dinner Table". Cleveland Clinic Journal of Medicine. Lyndhurst, Ohio: The Cleveland Clinic Foundation. 71 (9): 745–53. doi:10.3949/ccjm.71.9.745. ISSN 0891-1150. PMID 15478706. สืบค้นเมื่อ 28 December 2011.
  16. "Dietary Approaches to Stop Hypertension - Sodium Study (DASH-Sodium)". nhlbi.nih.gov. National Heart, Lung, and Blood Institute.
  17. Appel, Lawrence J.; Sacks, Frank M.; Carey, Vincent J.; Obarzanek, Eva; Swain, Janis F.; Miller, Edgar R.; Conlin, Paul R.; Erlinger, Thomas P.; Rosner, Bernard A. (16 November 2005). "Effects of protein, monounsaturated fat, and carbohydrate intake on blood pressure and serum lipids: results of the OmniHeart randomized trial". JAMA. 294 (19): 2455–2464. doi:10.1001/jama.294.19.2455. ISSN 1538-3598. PMID 16287956.
  18. Sacks, Frank M.; Carey, Vincent J.; Anderson, Cheryl A. M.; Miller, Edgar R.; Copeland, Trisha; Charleston, Jeanne; Harshfield, Benjamin J.; Laranjo, Nancy; McCarron, Phyllis (17 December 2014). "Effects of high vs low glycemic index of dietary carbohydrate on cardiovascular disease risk factors and insulin sensitivity: the OmniCarb randomized clinical trial". JAMA. 312 (23): 2531–2541. doi:10.1001/jama.2014.16658. ISSN 1538-3598. PMC 4370345. PMID 25514303.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • Soltani, Sepideh; Chitsazi, Maryam J; Salehi-Abargouei, Amin (2018). "The effect of dietary approaches to stop hypertension (DASH) on serum inflammatory markers: A systematic review and meta-analysis of randomized trials". Clinical Nutrition. 37 (2): 542–550. doi:10.1016/j.clnu.2017.02.018. PMID 28302405.
  • "Description of the DASH Eating Plan". NHLBI.nih.gov. The National Heart, Lung, and Blood Institute. 16 September 2015.
  • Heller, Marla (2011). The DASH Diet Action Plan: Based on the National Institutes of Health Research, Dietary Approaches to Stop Hypertension. New York: Grand Central Life & Style. ISBN 978-1-4555-1280-5. OCLC 162507208.
  • Learning Visions (2013). The DASH Diet Solution and 60 Day Weight Loss and Fitness Journal. Los Angeles, California: Learning Visions. ISBN 978-1-936583-29-4.
  • Liebman, Bonnie (October 1997). "DASH: A Diet For All Diseases". cspinet.org (US ed.). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 June 2016. สืบค้นเมื่อ 29 October 2018.
  • Nowlan, Sandra (2008). Delicious DASH Flavours: The proven, drug-free, doctor-recommended approach to reducing high blood pressure. Halifax N.S.: Formac. ISBN 978-0-88780-766-4. OCLC 185022611.
  • Sacks, Frank M; Svetkey, Laura; Vollmer, William; Appel, Lawrence; Bray, George; Harsha, David; Obarzanek, Eva; Conlin, Paul; และคณะ (2001-01-04). "Effects on blood pressure of reduced dietary sodium and the Dietary Approaches to Stop Hypertension (DASH) diet". New England Journal of Medicine. Massachusetts Medical Society sunshinehs. 344 (1): 3–10. doi:10.1056/NEJM200101043440101. ISSN 0028-4793. PMID 11136953.
  • Underbakke, Gail. VIDEO - Which Diet Works: A Nutritional Review. University of Wisconsin School of Medicine and Public Health.
  • "NUTRITION: DASH for Women". Women's Heart Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 June 2008. สืบค้นเมื่อ 29 October 2018.