อวย เกตุสิงห์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อวย เกตุสิงห์

เกิดอวย เกตุสิงห์
3 กันยายน พ.ศ. 2451
ตำบลรังสิต อำเภอรังสิต จังหวัดพระนคร
เสียชีวิต20 ธันวาคม พ.ศ. 2533 (82 ปี)
สัญชาติไทย
อาชีพแพทย์, อาจารย์
องค์การคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
มีชื่อเสียงจากบิดาแห่งแพทย์แผนไทยประยุกต์
ตำแหน่งอาจารย์
คู่สมรสพญ.ม.ร.ว.ส่งศรี เกษมศรี (2452–2552)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เรือโท นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ เป็นแพทย์ชาวไทย เกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2451 เป็นชาวจังหวัดพระนคร สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จาก คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วได้ทุนไปศึกษาเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนี ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาสรีรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อวยได้รับการยกย่องว่าเป็นนายแพทย์ที่มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาสูง รู้จักประยุกต์ใช้คำสอนของพระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์ทางการบำบัดผู้ป่วยกับวิชาแพทย์แผนใหม่รุ่นบุกเบิกของไทย ในขณะเดียวกัน ท่านยังเป็นนายแพทย์ผู้บุกเบิกเอาวิชาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และแพทยศาสตร์มาประยุกต์และได้รับสมญานามว่าเป็น บิดาแห่งแพทย์แผนไทยประยุกต์

ประวัติ[แก้]

อวยเกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2451 ณ ตำบลรังสิต อำเภอรังสิต จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนที่สองของรองอำมาตย์เอก หลวงศรีนาวาพล (อู่ เกตุสิงห์) และนางลูกจันทร์ ศรีนาวาพล มีพี่น้องรวม 7 คน อวยได้รับการศึกษาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และกวีนิพนธ์จากบิดาแต่ก่อนครั้งเข้าวัยเรียน และได้รับการหล่อหลอมให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรมจากคุณยาย อวยเริ่มต้นการศึกษาในระดับประถมศึกษา ณ โรงเรียนประถมจักรวรรดิ และศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรภิมุขและโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยตามอันดับ และเข้าสอบชิงทุนศึกษา ณ ต่างประเทศ แต่พลาดทุนดังกล่าวจึงเปลี่ยนมุ่งหมายสู่การศึกษาด้านแพทยศาสตร์

อวยเข้าศึกษา ณ โรงเรียนเตรียมแพทย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเมื่อเริ่มฝึกปฏิบัติ ณ โรงพยาบาลศิริราชนั้น ได้ศึกษาในแผนกวิชาสรีรวิทยา อวยเป็นเด็กที่เรียนเก่งจนได้รับทุนของพระยาอุเทนเทพโกสินทร์สำหรับการสอบได้เป็นอันดับหนึ่ง เมื่อจบการศึกษาแล้วนั้น (เวชชบัณฑิต) ได้รับรางวัลเหรียญทองสำหรับการเรียนยอดเยี่ยมตลอดหลักสูตรและรางวัลเหรียญทองแดงสำหรับความเป็นเยี่ยมในวิชาสรีรวิทยา พยาธิวิทยา อายุรศาสตร์ ศัลยศาตร์ และสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

อวยเข้ารับราชการเป็นอาจารย์และทำงานพร้อมศึกษาต่อ ณ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล และสอบได้ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตใน พ.ศ. 2478 ในปีต่อมาอวยสามารถสอบทุนอเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมโบลท์ ไปศึกษาเพิ่มเติมในวิชาสรีรวิทยา เภสัชวิทยา และเคมี ณ มหาวิทยาลัยฮัมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ภายหลังสำเร็จการศึกษาแล้วนั้น อวยได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยได้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ อาทิ หัวหน้าแผนกสรีรวิทยา, รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน), หัวหน้าแผนกเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์, คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ อวยยังเป็นบิดาแห่งแพทย์แผนไทยประยุกต์ เป็นผู้บุกเบิกก่อตั้ง อายุรเวทวิทยาลัย ให้ความสำคัญแก่วิธีการรักษาแบบตะวันออก ตามแนวของหมอชีวกโกมารภัจจ์

เขาเคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[1]

อวยสมรสกับแพทย์หญิง หม่อมราชวงศ์ส่งศรี เกษมศรี ธิดาในหม่อมเจ้าปฏิพัทธเกษมศรี เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2486

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

ไทย[แก้]

ต่างประเทศ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๘๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๙, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๕
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๒ ตอนที่ ๑๑๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๓, ๒๓ ธันวาคม ๒๕๐๘
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๐ ตอนที่ ๕๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๓, ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๑๖
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๑๓ ง หน้า ๗๗๐, ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตต์ภายใน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๙๔๘, ๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๔
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2021-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๕ ตอนที่ ๑๐๙ ง หน้า ๓๓๔๑, ๒๓ ธันวาคม ๒๕๐๑
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง พระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี, เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๕๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗, ๘ กรกฎาคม ๒๕๐๙

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]