หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล
หม่อมเจ้า ชั้น 4
ประสูติ25 สิงหาคม พ.ศ. 2424
ชีพิตักษัย19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 (61 ปี)
ราชสกุลเทวกุล
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
พระมารดาหม่อมใหญ่ เทวกุล ณ อยุธยา

หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล (25 สิงหาคม พ.ศ. 2424 - 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486) อดีตอาจารย์ใหญ่และผู้จัดการของโรงเรียนราชินี และ โรงเรียนราชินีบน ผู้ทรงมีคุณูปการอย่างยิ่งแก่วงการการศึกษาของสตรีไทย

พระประวัติ[แก้]

หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล เป็นพระธิดาองค์ที่ 3 ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ กับหม่อมใหญ่ เทวกุล ณ อยุธยา ( สกุลเดิม สุจริตกุล ) ประสูติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2424 ณ วังสะพานถ่าน ( ปัจจุบัน เป็น ตลาดบำเพ็ญบุญ ) ได้รับพระราชทานพระนาม "พิจิตรจิราภา" จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

มีเชษฐภคินี อนุชา ร่วมหม่อมมารดา คือ

  1. หม่อมเจ้าอัปษรสมาน กิติยากร
  2. หม่อมเจ้าบรรสานสนิท เทวกุล
  3. หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล *องค์เอง
  4. หม่อมเจ้าสุธาสิโนทัย เทวกุล
  5. หม่อมเจ้าจันทรนิภา เทวกุล
  6. หม่อมเจ้าพงศ์ทินเทพ เทวกุล
  7. หม่อมเจ้าทิพรัตนประภา เทวกุล
  8. หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล
  9. หม่อมเจ้าดาราจรัสศรี เทวกุล
  10. หม่อมเจ้าไตรทิพเทพสุต เทวกุล
  11. หม่อมเจ้าอนันตนรชัย เทวกุล

เมื่อทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงรับเป็นพระราชธิดาแทน เจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภา ซึ่งสิ้นพระชนม์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศึกษาหนังสือไทย กับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภัศร พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนเมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนสุนันทาลัยขึ้น พระบิดาจึงส่งไปศึกษา จนถึงชั้นมัธยมปีที่ 5 แต่ยังไม่จบชั้นมัธยมปีที่ 6 ก็ต้องทรงลาออก เพราะสมัยนั้นไม่นิยมให้กุลสตรีเรียนในชั้นสูง แต่ทรงมีอุตสาหะ ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเสมอ จึงทรงมีความรู้แตกฉานทั้งภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ ภายหลังสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดฯ ให้เป็นผู้ถวายพระอักษรแก่พระราชธิดา ตลอดจนพระญาติในสำนักของพระองค์

ในปี พ.ศ. 2450 ภายหลังการจัดตั้งโรงเรียนราชินี ที่ปากคลองตลาด ได้ 4 ปี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ท่านรับหน้าที่เป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2450 และต่อมาเมื่อมีตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียนขึ้น ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ ก็ได้ทรงรับตำแหน่งนี้ด้วย ซึ่งได้ทรงดำรงตำแหน่งทั้งสองนี้ มาตลอดจนสิ้นชีพิตักษัย รวมระยะเวลากว่า 36 ปี

โรงเรียนราชินีจัดการสอนตามหลักสูตร ของ กระทรวงศึกษาธิการ หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล ก็โปรดที่จะสอนประจำชั้นเองบ้างในบางวิชา เช่น ภาษาอังกฤษ และการเรือน ในบางคราวถึงกับเสด็จไปประทับประจำในโรงเรียน เพื่อที่จะทรงทำหน้าที่"ครู"ได้อย่างเต็มที่ ได้ทรงสั่งสอนนักเรียนหญิงหลายคนด้วยพระวิริยะอุตสาหะ จนเป็นกำลังสร้างนักเรียนให้สามารถเรียนจนจบ และไปศึกษาต่อ ยังต่างประเทศก็ไม่น้อย ศิษย์นั้นมีมากหลายพันคน และบางครั้ง ก็ทรงสอนถึงสามชั่วคน ( ตั้งแต่รุ่นยายจนถึงรุ่นหลาน )

ต่อมาเมื่อ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงจัดตั้งโรงเรียนราชินีบนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2472 ก็ได้ทรงรับตำแหน่งอาจารย์ใหญ่และผู้จัดการโรงเรียนด้วย จนถึง พ.ศ. 2480 จึงทรงมอบตำแหน่งให้ หม่อมเจ้าหญิงวงศ์ทิพย์สุดา เทวกุล พระภคินีต่างพระมารดา เป็นอาจารย์ใหญ่แทน โดยทรงเป็นเพียงผู้จัดการ ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ฉบับใหม่ ที่ห้ามไม่ให้บุคคลคนเดียว เป็นอาจารย์ใหญ่พร้อมกัน 2 โรงเรียน

มีพระอัจฉริยะภาพ และก้าวหน้า ได้ทรงจัดตั้งสมาคมนักเรียนเก่าราชินีขึ้น โดยมีพระประสงค์ ให้เป็นที่ประสานสามัคคีของนักเรียนทุกรุ่น นับว่าเป็นสมาคมนักเรียนเก่าแห่งแรก ของไทยด้วย

นอกจากนี้ ยังทรงดำรงตำแหน่งพิเศษอีกหลายอย่าง คือ

1. ประธานกรรมการราชินีมูลนิธิ

2. นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมนักเรียนเก่าราชินี

3. ผู้จัดการผลประโยชน์ ของ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

4. กรรมการมูลนิธิช่วยและให้การศึกษาแก่คนตาบอด

5. กรรมการสภากาชาดไทย

6. กรรมการกลางอนุสภากาชาด

พระปรีชาสามารถของพระองค์อีกสิ่ง ที่สำคัญ คือ ด้านกวีนิพนธ์ ได้ทรงพระนิพนธ์ กาพย์ กลอน ไว้มากมาย ทั้งที่เป็นบทดอกสร้อย บทเพลง บทละครตลอดจนคำอวยพรที่ประทานให้นักเรียนอีกมาก พระนิพนธ์ที่สำคัญชิ้นหนึ่ง คือ พระนิพนธ์ " เรื่องการศึกษาของโรงเรียนผู้หญิง " ลงพิมพ์ในหนังสือดุสิตสมิต ฉบับพิเศษ พ.ศ. 2463

นอกจากนี้ ยังได้ทรงริเริ่มให้มีการออกหนังสือพิมพ์ของโรงเรียน ชื่อ "สตรีพจน์" ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2456 เพื่อให้นักเรียนหญิง มีความชำนาญในการเขียน ทั้งร้อยแก้วร้อยกรอง และฝึกฝนให้รักการอ่าน ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า "ราชินีบำรุง" หนังสือพิมพ์นี้ได้ทรงประทานบทความลงแทบจะทุกฉบับ โดยมีพระนามแฝงว่า " พ.จ." และ " คนครึ " และคงออกเรื่อยมาจนสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงยุติการพิมพ์ เพราะไม่สามารถหากระดาษได้

หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล สิ้นชีพิตักษัย เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ด้วยอาการหทัยวายเฉียบพลัน ณ บ้านตากอากาศของคุณหญิงสวาท โทณวณิกมนตรี อำเภอบางแสน จังหวัดชลบุรี สิริชันษา 62 ปี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2464/D/2471.PDF
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 2020-08-13.
  3. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2464/D/2378.PDF
  4. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2463/D/3731.PDF