ข้ามไปเนื้อหา

หมวกทรงอ่อน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หมวกทรงอ่อนแบบชาวบาสก์ดั้งเดิมพร้อมผ้าคาดศีรษะพับไว้ (ด้านบน); นางแบบแฟชั่นสวมหมวกทรงอ่อน (ด้านล่าง)

หมวกทรงอ่อน[1] หรือที่นิยมเรียกว่า หมวกเบเร่ต์[1] (อังกฤษ: beret UK: /ˈbɛr/ berr-ay,[2] US: /bəˈr/ -RAY;[3] ฝรั่งเศส: béret [beʁɛ]; บาสก์: txapel; สเปน: boina) เป็นหมวกทรงกลมแบนที่อ่อนนุ่ม ทำจากขนสัตว์ถักมือ ผ้าฝ้ายโครเชต์ สักหลาดขนสัตว์[4] หรือเส้นใยอะคริลิก

การผลิตหมวกทรงอ่อนจำนวนมากเริ่มต้นขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสและทางตอนเหนือของสเปน ซึ่งหมวกทรงอ่อนถือเป็นเครื่องประดับศีรษะที่พบเห็นได้ทั่วไปอยู่แล้ว และหมวกทรงอ่อนยังคงมีความเกี่ยวข้องกับประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะฝรั่งเศส หมวกทรงอ่อนถูกสวมใส่เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบของหน่วยทหารและตำรวจหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงโดยองค์กรอื่นๆ[5]

ประวัติ

[แก้]

ข้อมูลทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะระบุว่าหมวกที่คล้ายกับหมวกทรงอ่อนแบบสมัยใหม่นั้นถูกสวมใส่มาตั้งแต่ยุคสำริดในยุโรปตอนเหนือและไกลไปทางใต้จนถึงเกาะครีตโบราณและอิตาลี ซึ่งชาวไมนอส อิทรัสคัน และโรมันสวมใส่ หมวกดังกล่าวเป็นที่นิยมในหมู่ขุนนางและศิลปินทั่วทั้งยุโรปตลอดประวัติศาสตร์สมัยใหม่[4]

หมวกทรงอ่อนสไตล์บาสก์เป็นหมวกแบบดั้งเดิมของชาวเลี้ยงแกะชาวอารากอนและนาวาร์จากหุบเขาอันโซและรอนคัลในเทือกเขาพิรินี[6] ซึ่งเป็นเทือกเขาที่แบ่งฝรั่งเศสตอนใต้กับสเปนตอนเหนือ การผลิตหมวกทรงอ่อนสไตล์บาสก์ในเชิงพาณิชย์เริ่มขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในพื้นที่โอโลรง-แซ็งต์-มารีทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เดิมทีการผลิตหมวกทรงอ่อนเป็นงานฝีมือท้องถิ่น ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 การผลิตหมวกทรงอ่อนได้เริ่มมีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม โรงงานแห่งแรกคือ Beatex-Laulhere ซึ่งมีบันทึกการผลิตย้อนหลังไปถึง พ.ศ. 2353 ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 หมวกทรงอ่อนมีความเกี่ยวข้องกับชนชั้นแรงงานในส่วนหนึ่งของฝรั่งเศสและสเปน และใน พ.ศ. 2471 โรงงานในฝรั่งเศสมากกว่า 20 แห่ง รวมถึงโรงงานในสเปนและอิตาลีบางแห่งสามารถผลิตหมวกทรงอ่อนได้หลายล้านใบ[4]

ในแฟชั่นตะวันตก ผู้ชายและผู้หญิงสวมหมวกทรงอ่อนมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1920 โดยเริ่มจากการเป็นชุดกีฬาและต่อมาใช้เป็นแฟชั่น

หมวกทรงอ่อนทหารถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดย Chasseurs Alpins ของฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2432[7] หลังจากเห็นหมวกทรงอ่อนนี้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พลเอก ฮิว เอลส์ ของสหราชอาณาจักรได้เสนอให้กรมรถถังหลวง (Royal Tank Regiment) ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ใช้งานหมวกทรงอ่อน เนื่องจากต้องเป็นหมวกสามารถที่สวมได้ในขณะปีนเข้าและออกจากช่องเก็บของขนาดเล็กของรถถัง หมวกทรงอ่อนนี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้โดยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักรใน พ.ศ. 2467[8] แหล่งที่มาที่เป็นไปได้อีกประการหนึ่งของการใช้งานหมวกทรงอ่อนในกรมรถถังหลวง (Royal Tank Regiment) ก็คือ อีริก ดอร์แมน-สมิธ ได้เสนอให้ อเล็ก เกตเฮาส์ เป็นผู้เสนอ ในขณะที่นายทหารทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ ณ แซนด์เฮิสต์ ใน พ.ศ. 2467 เกตเฮาส์ซึ่งได้ย้ายไปประจำการที่กองพลทัพน้อยรถถังหลวง (Royal Tank Corps) ได้รับมอบหมายให้ออกแบบหมวกทรงอ่อนที่ใช้งานได้จริงสำหรับกองพลใหม่ ขณะที่ดอร์แมน-สมิธ ได้เดินทางไปทั่วทั้งสเปน รวมถึงในภูมิภาคบาสก์ กับ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ เพื่อนของเขาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และได้ซื้อหมวกทรงอ่อนบาสก์สีดำมาในระหว่างการเดินทางของเขา

คุณสมบัติคือต้องปกป้องเส้นผมของผู้ชายจากน้ำมันในรถถัง แต่ต้องไม่ใช้พื้นที่มากภายในที่คับแคบ และเขาก็พาเกตเฮาส์ตรงไปที่ห้องของเขา หมวกทรงอ่อนของชาวบาสก์จากปัมโปลนาที่แขวนอยู่บนผนัง เขาโยนมันข้ามไปให้ และเกตเฮาส์ก็ลองใส่มันอย่างระมัดระวัง จากนั้นจึงมีการนำการออกแบบหมวกทรงอ่อนมาใช้...
The specifications were that it had to protect men's hair from the oil in a tank but not take up space in the cramped interior, and he led Gatehouse straight to his room. Hanging on the wall was his Basque beret from Pamplona. He tossed it across, and Gatehouse gingerly tried it on. The beret design was adopted...[9]

หมวกทรงอ่อนกรมรถถังหลวง (RTR) สีดำถูกทำให้เป็นที่รู้จัก โดยจอมพลเบอร์นาร์ด มอนต์โกเมอรี ในสงครามโลกครั้งที่สอง[4]

การสวมใส่

[แก้]
ทหารหญิงของกองพลน้อยโฟลกอร์ของอิตาลี สวมหมวกทรงอ่อน

หมวกทรงอ่อนสวมพอดีกับศีรษะ และสามารถ "เข้ารูป" ได้หลายวิธี ในอเมริกา โดยทั่วไปจะสวมหมวกทรงอ่อนโดยดันไปด้านใดด้านหนึ่ง ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ประเพณีท้องถิ่นมักกำหนดลักษณะการสวมหมวกทรงอ่อน ไม่มีกฎสากล และสุภาพบุรุษที่มีอายุมากกว่ามักจะสวมมันเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสบนศีรษะและยื่นไปข้างหน้า สามารถสวมใส่ได้ทั้งชายและหญิง

หมวกทรงอ่อนเครื่องแบบทหารมีแถบคาดศีรษะหรือผ้าคาดเหงื่อติดอยู่กับผ้าขนสัตว์ ซึ่งทำจากหนัง ผ้าไหม หรือริบบิ้นผ้าฝ้าย บางครั้งมีเชือกรูดทำให้ผู้สวมใส่สามารถรัดหมวกให้แน่นได้ ตามธรรมเนียมแล้ว เชือกรูดจะผูกและตัดออกหรือซุกเข้าไว้ หรือไม่ก็ปล่อยทิ้งไว้ให้ห้อย หมวกทรงอ่อนมักประดับด้วยตราหน้าหมวก ไม่ว่าจะทำด้วยผ้าหรือโลหะ หมวกทรงอ่อนบางชิ้นจะมีบักรัมหรือสารทำให้แข็งอื่น ๆ อยู่ในตำแหน่งที่จะประดับตรา

โดยปกติแล้วหมวกทรงอ่อนจะไม่มีซับใน แต่หมวกทรงอ่อนส่วนใหญ่จะมีซับในบางส่วนด้วยผ้าไหมหรือผ้าซาติน ในหมวกทรงอ่อนของทหาร จะสวมที่คาดศีรษะไว้ด้านนอก หมวกทรงอ่อนทหารมักจะมีแถบซับเหงื่อด้านนอกที่ทำจากหนัง หนังเทียม หรือริบบิ้น หมวกทรงอ่อนแบบดั้งเดิม (ซึ่งสวมใส่โดยหน่วยทหารที่ถูกคัดเลือก เช่น หน่วยทหาร Chasseurs Ardennais ของเบลเยียม หรือหน่วยทหาร Chasseurs Alpins ของฝรั่งเศส) มักจะพับ "แถบซับเหงื่อ" ด้านใน ในกรณีดังกล่าว หมวกทรงอ่อนเหล่านี้จะมีวัสดุขนสัตว์ชนิดเดียวกันที่พับเข้าด้านในเพิ่มขึ้นมาเพียงประมาณ 1 นิ้วเท่านั้น

หมวกทรงอ่อนรุ่นใหม่ที่ทำจากผ้าโพล่าฟลีซ (Polar fleece) ก็เป็นที่นิยมเช่นกัน

ประเพณีประจำชาติและรูปแบบต่างๆ

[แก้]

ประเทศบาสก์

[แก้]
โอเรนเชโร (Olentzero) บุคคลสำคัญในเทศกาลคริสต์มาสของชาวบาสก์ สวมหมวกทรงอ่อน

หมวกทรงอ่อนได้รับความนิยมไปทั่วยุโรปและส่วนอื่น ๆ ของโลกในฐานะหมวกสไตล์ชาวบาสก์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นในชื่อของพวกเขาในหลายภาษา (เช่น béret basque ในภาษาฝรั่งเศส, Baskenmütze ในภาษาเยอรมัน, Basco ในภาษาอิตาลี, Tascu/Birritta ในภาษาซิซิลี หรือ baskeri ในภาษาฟินแลนด์) ในขณะที่ชาวบาสก์เองก็ใช้คำว่า txapela หรือ boneta เป็นที่นิยมและแพร่หลายในประเทศบาสก์ สีที่ใช้สำหรับเครื่องแต่งกายพื้นบ้านแตกต่างกันไปตามภูมิภาคและวัตถุประสงค์ โดยสีดำและสีน้ำเงินจะสวมใส่บ่อยกว่าสีแดงและสีขาว ซึ่งมักใช้ในงานเฉลิมฉลองในท้องถิ่น ชาวอารากอนและประเทศบาสก์ใช้หมวกทรงอ่อนสีแดง ในขณะที่หมวกทรงอ่อนสีดำกลายเป็นหมวกทั่วไปของคนงานทั้งในสเปนและฝรั่งเศส[4]

หมวกทรงอ่อนสีดำขนาดใหญ่เพื่อเป็นอนุสรณ์เป็นถ้วยรางวัลตามปกติในการแข่งขันกีฬาหรือการแข่งขัน bertso รวมถึงกีฬาชนบทของชาวบาสก์ การแข่งขันตูร์ เดอ ฟรองซ์ของชาวบาสก์ และ Vuelta Ciclista al Pais Vasco อาจมีการเย็บประดับถึงความสำเร็จหรือการชนะการประกวด

ฝรั่งเศส

[แก้]
Purple velvet beret with red pompom
หมวกทรงอ่อน พ.ศ. 2427

หมวกทรงอ่อนสีดำเคยถือเป็นหมวกประจำชาติของฝรั่งเศสในกลุ่มประเทศแองโกล-แซกซอน และเป็นส่วนหนึ่งของภาพลักษณ์เหมารวมของหัวหอมจอห์นนี่ (Onion Johnny) ปัจจุบันหมวกทรงอ่อนไม่ได้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป แต่ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของเอกลักษณ์เฉพาะตัวของท้องถิ่นในฝรั่งเศสตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อชาวฝรั่งเศสต้องการนึกภาพตัวเองเป็น "ชาวฝรั่งเศสทั่วไป" ในฝรั่งเศสหรือในต่างประเทศ พวกเขามักใช้ภาพลักษณ์แบบแผนนี้จากประเทศแองโกล-แซกซอน[หมายเหตุ 1] ปัจจุบันมีผู้ผลิตในฝรั่งเศสสามราย Laulhère (ซึ่งได้เข้าซื้อกิจการผู้ผลิตที่เก่าแก่ที่สุดในอดีตอย่าง Blancq-Olibet ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557[10]) ผลิตหมวกทรงอ่อนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2383 หมวกทรงอ่อนยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของเอกลักษณ์เฉพาะตัวของฝรั่งเศสตะวันตกเฉียงใต้ และมักสวมใส่ในงานเฉลิมฉลองตามประเพณี

สเปน

[แก้]
ช่างฝีมือชาวแคนตาเบรียสวมโบอิน่า

ในสเปน หมวกทรงอ่อนมักเรียกกันว่า โบอินา (boina) บางครั้งเรียกว่าบิลไบนา (bilbaína)[11] หรือบิลบา (bilba)[12] หมวกทรงอ่อนเคยเป็นเครื่องหัวของผู้ชายทั่วไปในพื้นที่ตอนเหนือและตอนกลางของประเทศ พื้นที่แรกที่สวมหมวกทรงอ่อนคือแคว้นบาสก์ นาวาร์ อารากอน และคาสตีล แต่การใช้หมวกทรงอ่อนได้แพร่หลายไปทั่วส่วนอื่น ๆ ของสเปนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19[13]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 หมวกทรงอ่อนกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพลักษณ์การเหมารวมของชาวชนบท โดยมักจะมีความหมายเชิงลบว่าเงอะงะและงุ่มง่าม พบได้ในสำนวนเช่น "paleto de boina a rosca" ("คนบ้านนอกที่สวมหมวกทรงอ่อนแบบขันเกลียว") ซึ่งทำให้ความนิยมของหมวกทรงอ่อนในสเปนลดลงอย่างมาก[14][15][16][13]

หมวกแบบดั้งเดิมของนักธนู Kilwinning แห่งสกอตแลนด์

สกอตแลนด์

[แก้]

หมวกทรงอ่อนแบบสก็อตแลนด์ดั้งเดิมมีอยู่หลายแบบ เช่น หมวกทรงอ่อนสก็อตแลนด์หรือบลูบอนเนต[17] (เดิมเรียกว่าโบนาอิด bonaid ในภาษาเกลิก Gaelic) ซึ่งริบบิ้นและขนนก จะระบุตระกูลและยศของผู้สวมใส่ หมวกทรงอ่อนสก็อตแลนด์แบบอื่น ๆ ได้แก่ หมวกแก็ป-โอ-แชนเตอร์ tam-o'-shanter (ตั้งชื่อตามตัวละครของโรเบิร์ต เบิร์นส์ในบทกวีของเขา) และหมวกทรงอ่อนลายทางของคิลมาร์น็อค ซึ่งทั้งสองแบบมีปอมปอมขนาดใหญ่ตรงกลาง[4]

การใช้งาน

[แก้]

เครื่องสวมศีรษะในเครื่องแบบ

[แก้]

จากประโยชน์ของหมวกทรงอ่อน ทำให้กลายมาเป็นเสื้อผ้าของทหาร ตำรวจ และเครื่องแบบอื่น ๆ มานานแล้ว

ตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงบางส่วน ได้แก่ ทหารสก็อตแลนด์ซึ่งสวมหมวกสีน้ำเงินในศตวรรษที่ 17 และ 18 ขณะที่กองกำลังอาสาสมัครกันตาเบรีย (Volontaires Cantabres) ของฝรั่งเศสที่เติบโตขึ้นในแคว้นบาสก์ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1740 ถึง 1760 ซึ่งสวมหมวกทรงอ่อนสีน้ำเงินเช่นกัน และกลุ่มกบฏคาร์ลิสต์ซึ่งสวมหมวกทรงอ่อนสีแดงในสเปนช่วงคริสต์ทศวรรษ 1830

กองทหารภูเขาเชสเซอร์อัลพิน (Chasseurs alpins) ของฝรั่งเศส ซึ่งก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2431 เป็นกองทหารชุดแรกที่ก่อตั้งถาวรและสวมหมวกทรงอ่อนทหารเป็นหมวกมาตรฐาน หมวกทรงอ่อนของเชสเซอร์ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยหมวกทรงอ่อนเป็นเครื่องหัวขนาดใหญ่และพลิ้วไหวเล็กน้อย[18]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้มีพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้กองกำลังราชยานเกราะ (Royal Tank Corps) สวมหมวกทรงอ่อนสีดำใน พ.ศ. 2467[19] โดยกองทหารม้าที่ 11 (11th Hussars) สวมหมวกทรงอ่อนสีน้ำตาลใน พ.ศ. 2471[19] ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รอยัลดรากูนส์ (Royal Dragoons) ได้สวมหมวกทรงอ่อนสีเทาในช่วงปลาย พ.ศ. 2482 ส่วนหน่วยยานยนต์อื่น ๆ ของกองทัพสหราชอาณาจักร เช่น กองกำลังราชยานเกราะ และกองพลยานเกราะรักษาพระองค์ ได้สวมหมวกทรงอ่อนสีดำใน พ.ศ. 2484[19] นายทหารชาวอังกฤษ เบอร์นาร์ด มอนต์โกเมอรี ("มอนตี้") สวมหมวกทรงอ่อนสีดำซึ่งคนขับรถบังคับบัญชาของเขาให้มาใน พ.ศ. 2485 และหมวกทรงอ่อนนี้กลายมาเป็นเครื่องหมายประจำตัวของเขา[20]

หมวกทรงอ่อนสีมะรูน (อย่าสับสนกับหมวกทรงอ่อนสีแดง) ได้รับการแนะนำอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2485 ตามคำสั่งของ พลตรี เฟรเดอริก บราวนิง ผู้บัญชาการกองพลส่งกำลังทางอากาศที่ 1 ของสหราชอาณาจักร และในไม่ช้าก็กลายเป็นสัญลักษณ์สากลของกองกำลังทหารอากาศ[19] ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 หน่วยรบพิเศษของกองทัพบกสหรัฐได้เริ่มสวมหมวกทรงอ่อนสีเขียวเป็นหมวกประจำตัว โดยยึดตามธรรมเนียมของราชนาวิกโยธิน ซึ่งนำมาใช้เป็นทางการใน พ.ศ. 2504 โดยหน่วยรบดังกล่าวเป็นที่รู้จักในชื่อ "หมวกทรงอ่อนสีเขียว" และกองกำลังพิเศษอื่น ๆ ในกองทัพบก กองทัพอากาศสหรัฐ และหน่วยงานอื่น ๆ ก็ใช้หมวกทรงอ่อนเป็นหมวกประจำตัวด้วยเช่นกัน

ด้านแฟชั่นและวัฒนธรรม

[แก้]
รูปถ่ายของริชชาร์ท วากเนอร์พร้อมกับหมวกทรงอ่อนของเขา

หมวกทรงอ่อนเป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนเก่าแก่ของนักวิชาการ, ผู้กำกับภาพยนตร์, ศิลปิน, ฮิปสเตอร์, กวี, โบฮีเมียน, และบีตนิก จิตรกรแร็มบรันต์ และนักประพันธ์เพลงริชชาร์ท วากเนอร์ เป็นต้น สวมหมวกทรงอ่อน[21] ในสหรัฐและอังกฤษ กลางศตวรรษที่ 20 หมวกทรงอ่อนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้หญิง ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 หมวกทรงอ่อนได้รับการยอมรับจากชาวจีนทั้งในฐานะแฟชั่นและความหมายแฝงทางการเมือง หมวกทรงอ่อนยังถูกสวมใส่โดยนักดนตรีแนวบีบ็อปและแจ๊ส เช่น ดิซซี กิลเลสพี, จีน ครูปา, วาร์เดลล์ เกรย์ และทีโลเนียส มังค์

สัญลักษณ์แห่งการปฏิวัติ

[แก้]
ภาพ เกร์ริเยโรเอรอยโก ของเช เกบารา

เกร์ริเยโรเอรอยโก ภาพถ่ายอันเป็นสัญลักษณ์ของ เช เกบารา นักปฏิวัติชาวอาร์เจนตินา แสดงให้เห็นว่าเขาสวมหมวกทรงอ่อนสีดำพร้อมดาวทองเหลือง

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 กลุ่มนักเคลื่อนไหวหลายกลุ่มได้นำหมวกทรงอ่อนสีดำมาใช้ ได้แก่ กองทัพเฉพาะกาลสาธารณรัฐนิยมไอริช (Provisional Irish Republican Army หรือ PIRA) กลุ่ม ETA (ซึ่งสวมหมวกทรงอ่อนสีดำทับเครื่องหัวเมื่อปรากฏตัวต่อสาธารณะ) กลุ่มพรรคเสือดำแห่งสหรัฐอเมริกา (Black Panther Party) ซึ่งก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2509[22][23] และ "Black Beret Cadre" (องค์กร Black Power ที่คล้ายคลึงกันในเบอร์มิวดา)[24] นอกจากนี้ Brown Berets ยังเป็นองค์กรของชาวชิคาโนที่ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2510

พรรคยังลอร์ด (Young Lords Party) ซึ่งเป็นองค์กรปฏิวัติละตินในสหรัฐอเมริกาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 และ คริสต์ทศวรรษ 1970 ก็สวมหมวกทรงอ่อนเช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับหน่วยลาดตระเวนพลเมืองต่อต้านอาชญากรรมที่ไม่มีอาวุธ กราเดียนแองเจิล (Guardian Angels) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย เคอร์ติส สลิวา (Curtis Sliwa) ในนครนิวยอร์กในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 เพื่อลาดตระเวนตามท้องถนนและรถไฟใต้ดินเพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรม (สวมหมวกทรงอ่อนสีแดงและเสื้อเชิ้ตสีเดียวกัน)

ราสตาฟารี

[แก้]
ชาวราสตาฟารีพร้อมด้วยหมวกทรงอ่อน

ผู้ที่นับถือขบวนการราสตาฟารีมักสวมหมวกทรงอ่อนสีดำถักหรือโครเชต์ขนาดใหญ่ที่มีวงกลมสีแดง ทอง และเขียวบนเดรดล็อก สไตล์นี้มักเรียกผิด ๆ ว่ากูฟี (kufi) ตามชื่อเครื่องหัวที่เรียกว่า คูฟูเนะ (kufune) พวกเขาถือว่าหมวกทรงอ่อนและเดรดล็อกเป็นสัญลักษณ์ของพันธสัญญาในพระคัมภีร์ระหว่างพระเจ้ากับชนชาติที่พระองค์เลือก ซึ่งก็คือ "ชาวอิสราเอลผิวดำ"[4] หมวกสไตล์นี้เรียกอีกอย่างว่า ราสตาแคป (Rastacap)

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ในภาพยนตร์เรื่อง Crazy for Love ซึ่งถ่ายทำหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน นอร์ม็องดี พระเอกสวมหมวกในช่วงต้นเรื่อง แต่หลังจากนั้นเขาก็เปลี่ยนเป็นหมวกทรงอ่อนเพื่อให้ดู "เป็นชาวฝรั่งเศสมากขึ้น" ต่อมามีผู้หญิงคนหนึ่งตามหาเขาในหมู่บ้านและถามทุกคนว่า "คุณเห็นใครสวมหมวกทรงอ่อนเดินผ่านไปไหม...?"

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 พันธเศรษฐ, สุรศักดิ์; พันธเศรษฐ, นันทนา (2540). คู่มือศัพท์ และ คำย่อทางทหาร (PDF). ISBN 9747517701.[ลิงก์เสีย]
  2. Oxford English Dictionary (2nd ed.). 1989.
  3. "Dictionary.com Unabridged". สืบค้นเมื่อ 2007-11-09.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 Chico, Beverly (2005). "Beret". ใน Steele, Valerie (บ.ก.). Encyclopedia of Clothing and Fashion. Vol. 1. Thomson Gale. pp. 149–150. ISBN 0-684-31394-4.
  5. Kilgour, Ruth Edwards. A Pageant of Hats Ancient and Modern. R. M. McBride Company, 1958.
  6. calatorao.com. "Amigos de la Boina de Calatorao (Zaragoza". calatorao.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 June 2013. สืบค้นเมื่อ 27 March 2018.
  7. Mollo, John (1972). Military Fashion. Barrie and Jenkins. p. 200. ISBN 0-214-65349-8.
  8. Forty, George. A Pictorial History of the Royal Tank Regiment, Halsgrove Publishing 1988, ISBN 978-1-84114-124-4
  9. Greacen, Lavinia. Chink: A Biography, MacMillan London Ltd., London, 1989, pp. 93, 95.
  10. "US". independent.co.uk. สืบค้นเมื่อ 27 March 2018.
  11. thefreedictionary.com
  12. wikilengua.org
  13. 13.0 13.1 asc-castilla.org
  14. elnaviocastellano.blogspot.com
  15. diariojaen.es
  16. cervantesvirtual.com
  17. "Bluebonnet". Collins English Dictionary - Complete & Unabridged 10th Edition. HarperCollins Publishers. สืบค้นเมื่อ 9 July 2012.
  18. Carman, W.Y. (1977). A Dictionary of Military Uniform. Scribner. p. 26. ISBN 0-684-15130-8.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 Bull, Stephen (2016). Churchill's Army: 1939–1945 The men, machines and organisation. Bloomsbury Publishing. p. 287 Retrieved 16 January 2020. ISBN 978-1-84486-399-0.
  20. "Jim Fraser obituary". The Guardian. 27 May 2013.
  21. Bruyn, J., van de Wetering, Ernst & Rembrandt Harmenszoon van Rijn A Corpus of Rembrandt Paintings IV: Self-Portraits Springer, 18 Oct 2005, p. 290.
  22. Ogbar, Jeffrey Ogbanna Green. Black Power: Radical Politics and African American Identity, p. 119. 2004 JHU Press
  23. MacDonell, Nancy (2 February 2022). "How Berets Became a Part of Black History, from the Black Panthers to Beyoncé". Wall Street Journal.
  24. "Black Berets". www.bermuda.org.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 January 2016. สืบค้นเมื่อ 27 March 2018.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Berets