ส้มเขียวหวาน
ส้มเขียวหวาน เป็นส้มพันธุ์ปลูกหนึ่ง ที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากส้มแมนดาริน (C. reticulata) มีผิวสีเขียวอมเหลืองเมื่อสุกต่างจากส้มแมนดารินเมื่อสุกสีส้มล้วน แหล่งปลูกที่เป็นที่รู้จักคือ บางมด
ประวัติ
[แก้]ในประเทศไทยมีผู้สันนิษฐานว่ามีผู้นำเข้าต้นพันธุ์มาจากประเทศจีนเมื่อระยะเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว
แหล่งที่ขึ้นชื่อว่าปลูกส้มเขียวหวานกันมากและมีชื่อเสียงในประเทศไทย คือ ตำบลบางมดในพื้นที่อำเภอราษฎร์บูรณะและอำเภอบางขุนเทียนของจังหวัดธนบุรี (ปัจจุบันคือแขวงบางมดในเขตทุ่งครุและแขวงบางมดในเขตจอมทองของกรุงเทพมหานคร) จนได้ชื่อว่า "ส้มบางมด" แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 มีน้ำทะเลได้หนุนเข้ามาทำให้ไม่สามารถปลูกได้ จึงได้เปลี่ยนมาปลูกที่ทุ่งรังสิต โดยเริ่มที่คลองสอง ธัญบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 จึงมาปลูกที่อำเภอหนองเสือ จนได้ชื่อว่า "ส้มรังสิต" แต่ปัจจุบันก็มีการเพาะปลูกน้อยลง รวมถึงในพื้นที่บางมดด้วย[1][2]
ส้มเขียวหวานที่ผลิตในแต่ละปีจะใช้บริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายประเทศเพื่อนบ้าน นำรายได้เข้าประเทศปีละหลายล้านบาท[3]
ชื่อ
[แก้]นอกจากนี้แล้ว ส้มเขียวหวานยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกตามพื้นที่ทำการเพาะปลูก เช่น "ส้มแก้วเกลี้ยง", "ส้มจันทบูร", "ส้มแป้นกระดาน", "ส้มแสงทอง", "ส้มแป้นเกลี้ยง", "ส้มจุก" หรือ "ส้มบางมด" เป็นต้น [4]
พันธุ์ย่อย
[แก้]เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันทั่วไป ติดผลดกขนาดผลปานกลาง ทรงผลค่อนข้างกลมถึงแป้นเล็กน้อย ผิวผลสีเขียวอมเหลือง แต่เมื่อปลูกทางภาคเหนือผิวผลจะมีสีเหลืองเข้ม ผิวเรียบ ก้นผลราบถึงเว้าเล็กน้อย กลีบแยกออกจากกันง่าย เนื้อผลสีส้ม ชานนิ่ม ฉ่ำน้ำ รสชาติหวาน อมเปรี้ยว
พันธุ์ส้มโชกุน
[แก้]ส้มโชกุน เป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับปลูกทางภาคใต้ รู้จักกันในชื่อ ส้มสายน้ำผึ้ง หรือส้มเพชรยะลา ลักษณะทรงต้นและขนาดต้นใกล้เคียงกับส้มเขียวหวาน แต่ทรงพุ่มค่อนข้างจะหนากว่า กิ่งและใบตั้งขึ้น ใบมีขนาดเล็กกวาส้มเขียวหวาน แต่สีใบเขียวเข้มกว่า[5]
ส้มโชกุนแหลมทอง พื้นที่ปลูกเดิมอยู่ในจังหวัดราชบุรี เป็นส้มที่มีลำต้นขนาดใหญ่ ออกดอกติดผลค่อนข้างยาก ขนาดผลปานกลาง และมีรสชาติหวานจัด
ลักษณะ
[แก้]โดยลักษณะทั่วไปของส้มเขียวหวานมีรูปกลมมน แป้นเล็กน้อย ฐานผลกลมมน ด้านล่างเป็นแอ่งตื้น ๆ ผิวผลเรียบ มีเปลือกบาง เนื้อส้มภายในเป็นสีส้มอมทอง ฉ่ำน้ำ กลีบแยกออกจากกันได้โดยง่าย มีรสชาติอร่อยหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เมื่อแกะออกมาแล้วกลิ่นจะติดจมูก ทำให้เป็นที่นิยมกันเป็นอย่างมาก ทั้งในรูปของผลไม้สดและในรูปของน้ำส้มคั้น ซึ่งนอกจากจะให้คุณค่าทางอาหารสูงแล้ว การบริโภคในลักษณะที่รวมทั้งเส้นใยและกากจะเป็นยาระบายอ่อน ๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
การปลูก
[แก้]สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
[แก้]ปกติส้มเขียวหวานไม่ชอบน้ำขัง จึงเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำดี ได้แก่ ดินร่วน ดินร่นปนทราย ดินเหนียวที่ปรับปรุงสภาพให้เหมาะสม เป็นไม้ผลที่ต้องการน้ำสม่ำเสมอ ดังนั้นพื้นที่ปลูกจึงควรมีแหล่งน้ำอย่างเพียงพอ[6]
ระยะปลูกและหลุมปลูก
[แก้]ส้มเขียวหวานที่ปลูกในพื้นที่ลุ่ม ขนาดทรงพุ่มมักจะไม่ใหญ่มากนักควรปลูกกลางร่อง โดยใช้ในระยะระหว่างต้น 3-4 เมตรส่วนส้มเขียวหวานที่ปลูกในพื้นที่ดอนส่วนมากจะมีทรงพุ่มค่อนข้างใหญ่และอายุยืน จึงใช้ระยะปลูกระหว่าต้น 4 เมตร ระหว่างแถว 6 เมตร หลุมการปลูกควรขุดให้มีความกว้าง ยาว และลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร ผสมดินปลูกด้วยปุ๋ยคิกหรือปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้วอัตรา 10 กิโลกรัม ปุ๋ยร็อคฟอสเฟต 500 กรัม และปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 100 กรัม คลุกเคล้าให้เข้ากับดิน แล้วกลบลงไปในหลุมจนเต็มปากหลุมทิ้งไว้ในระยะหนึ่งจนดินยุบตัวคงที่แล้วจึงเติมดินผสมลงไปอีกจนเต็มเสมอปากหลุม [7]
การให้น้ำ
[แก้]เมื่อต้นส้มเขียวหวานโตแล้วการให้น้ำก็ยังคงให้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะการเจริญเติบโตและสภาพทั่วๆไป เช่น ในระยะก่อนออกดอก จะต้องการน้ำน้อย เพื่อให้มีช่วงเก็บสะสมอาหาร แต่เมื่อติดผลแล้วส้มจะต้องการน้ำมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงผลแก่ เมื่อผลส้มเข้าสีแล้วถ้าลดปริมาณน้ำลงจากปกติจะช่วยให้ผลส้มแก่เร็วขึ้น และควรงดให้น้ำก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อช่วยทำให้ส้มมีรสหวานมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้าเพิ่มปริมาณน้ำในดินชุ่มชื้นอยู่เสมอจะช่วยชะลอการสุกของผลส้มได้ประมาณ 20 วัน วิธีการให้น้ำส้มเขียวหวานมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เช่น การให้น้ำทางสายยาง การใช้เรือรดน้ำ การให้น้ำด้วยระบบสปริงเกอร์ เป็นต้น ส่วนช่วงเลาการให้น้ำที่เหมาะสมคือ ระหว่างเวลา 08.00-10.00และ 14.00-16.00 น.[8]
การออกดอกติดผล
[แก้]ปกติส้มเขียวหวานสามารถออกดอกออกติดผลได้ตั้งแต่ปีแรกของการปลูก แต่ไม่นิยมเก็บไว้ เพราะจะทำให้ต้นโทรม ไม่เจริญเติบโต จึงควรปลิดดอกทิ้งทั้งหมด จนกระทั่งเมื่อส้มอายุได้ 3ปีจึงให้ติดผลได้ เพราะต้นใหญ่ขึ้นและแข็งแรงพอที่จะให้ติดผลได้ ปัจจุบันสามารถทำให้ส้มเขียวหวานออกนอกฤดูกาลได้โดยการบังคับการให้น้ำ กล่าวคือ หลังจากการให้น้ำแล้วอีกประมาณ 10 เดือน ก็จะเก็บเกี่ยวผลได้ ดั้งนั้นถ้าต้องการให้ส้มเขียวหวานแก่ในเดือนใดก็จะนับย้อนหลังไปประมาณ 10 เดือนแล้วเริ่มควบคุมการให้น้ำ ก็จะทำให้ส้มเขียวหวานออกดอกออกผลตรงตามเวลาที่ต้องการ[9]
การค้ำกิ่ง
[แก้]หลังจากส้มเขียวหวานติดผลควรได้ทำการค้ำกิ่ง เพื่อช่วยป้องกันกิ่งฉีกขาดหรือหัก เนื่องจากน้ำหนักของผลที่ติดอยู่บนต้นมีแรงเหวี่ยงโยนสูงมาก หากมีลมพัดจะยิ่งทำให้ฉีกขาดได้มากขึ้น และยังช่วยยกระดับของผลให้สูงจากพื้นดินเพื่อลดความเสียหายอันเนื่องมาจากโรคและแมลงได้อย่างมาก[10]
โรคและแมลงศัตรู
[แก้]โรคและแมลงศัตรูนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นส้มเขียวหวาน ปริมาณและคุณภาพของผลผลิต และเป็นอุปสรรคต่อการผลิตส้มเขียวหวานให้มีคุณภาพดี เนื่องจากโรคและแมลงสามารถเข้าทำลายส้มได้ทุกระยะการเจริญเติบโตและทำลายได้ทุกส่วนของต้นส้ม รวมทั้งผลส้มด้วย ดังนั้นเกษตรกรควรได้ศึกษาและวางแผนควบคุมกำจัดโรคและแมลงศัตรูส้มไว้เสมอ สำหรับโรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ โรครากเน่าโคนเน่า โรคกรีนนิ่ง โรคแคงเกอร์ โรคทริสเทซ่า หนอนชอนใบ หนอมแก้วส้ม เพลี้ยไฟ ไรสนิมส้ม เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย เพลี้ยไก้แจ้ส้ม หนอนเจาะสมอฝ้าย ไรเหลืองส้ม เป็นต้น[11]
การเก็บเกี่ยว
[แก้]ผลส้มเขียวหวานจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 8-10 เดือน นับจากวันออกดอก ผิวส้มจะมีสีเขียวอมเหลืองหรือสีเหลืองเข้ม และความแข็งของผลลดลง วิธีการเก็บเกี่ยว ให้ใช้กรรไกรคมๆตัดที่ก้านผล ไม่ควรดึงหรือเด็ดเพราะจะทำให้ขั้วผลแยกตัวออกจากส่วนเนื้อ ขั้วผลฉีกเป็นแผล อันเป็นช่องทางให้เกิดโรคผลเน่าภายหลังเก็บเกี่ยวได้ง่าย[11]
โภชนาการ
[แก้]ส้มเขียวหวาน มีสรรพคุณทางยาและโภชนาการ ตรงที่ผลนำมารับประทานหรือคั้นน้ำดื่มมีรสชาติเปรี้ยวอมหวานบรรเทาอาการกระหายน้ำ ป้องกันโรคหวัดและการติดเชื้อแบคทีเรีย ลดปริมาณโคเลสเตอรอลในโลหิต ช่วยระบบย่อยอาหารของร่างกาย ระบายได้มีแก้อาการท้องผูก และมีคุณค่าทางอาหาร ส้มเขียวหวานน้ำหนัก 100 กรัม ให้วิตามินซี 42 มิลลิกรัม
อ้างอิง
[แก้]- รายการอ้างอิง
- ↑ พินิจนคร, รายการ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ สายน้ำพระราชทานในรัชกาลที่ 5 เมืองข้าว เมืองนาแห่งราชอาณาจักรสยาม: วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ทางไทยพีบีเอส
- ↑ "ต่อลมหายใจ "ส้มบางมด" อดทนสู้เพื่อคนรักส้ม". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-25. สืบค้นเมื่อ 2011-10-06.
- ↑ ขจรศักดิ์ พิทักษ์ศรี ไม้ผลเศรษฐกิจ กทม. เกษตรสยาม. 2557 หน้า 55
- ↑ ส้มเขียวหวาน
- ↑ ขจรศักดิ์ พิทักษ์ศรี ไม้ผลเศรษฐกิจ กทม. เกษตรสยาม. 2557 หน้า 55
- ↑ ขจรศักดิ์ พิทักษ์ศรี ไม้ผลเศรษฐกิจ กทม. เกษตรสยาม. 2557 หน้า 57
- ↑ ขจรศักดิ์ พิทักษ์ศรี ไม้ผลเศรษฐกิจ กทม. เกษตรสยาม. 2557 หน้า 58
- ↑ ขจรศักดิ์ พิทักษ์ศรี ไม้ผลเศรษฐกิจ กทม. เกษตรสยาม. 2557 หน้า 59
- ↑ ขจรศักดิ์ พิทักษ์ศรี ไม้ผลเศรษฐกิจ กทม. เกษตรสยาม. 2557 หน้า 62
- ↑ ขจรศักดิ์ พิทักษ์ศรี ไม้ผลเศรษฐกิจ กทม. เกษตรสยาม. 2557 หน้า 63
- ↑ 11.0 11.1 ขจรศักดิ์ พิทักษ์ศรี ไม้ผลเศรษฐกิจ กทม. เกษตรสยาม. 2557 หน้า 64
- บรรณานุกรม
- พิทักษ์ศรี, ขจรศักดิ์ (2014). ไม้ผลเศรษฐกิจ.กรุงเทพมหานคร. ธนธัชการพิมพ์.