ข้ามไปเนื้อหา

สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์
พระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเลมอย่างผู้พิชิตในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันแรกของสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์
ประเภทวันสำคัญทางศาสนาคริสต์
วันที่สัปดาห์ก่อนวันอีสเตอร์
วันที่ในปี 2023
  • 02 เม.ย. 2023 – 08 เม.ย. 2023 (ตะวันตก)
  • 09 เม.ย. 2023 – 15 เม.ย. 2023 (ตะวันออก)
วันที่ในปี 2024
  • 24 มี.ค. 2024 – 30 มี.ค. 2024 (ตะวันตก)
  • 28 เม.ย. 2024 – 04 พ.ค. 2024 (ตะวันออก)
วันที่ในปี 2025
  • 13 เม.ย. 2025 – 19 เม.ย. 2025 (ตะวันตก)
  • 13 เม.ย. 2025 – 19 เม.ย. 2025 (ตะวันออก)
วันที่ในปี 2026
  • 29 มี.ค. 2026 – 04 เม.ย. 2026 (ตะวันตก)
  • 05 เม.ย. 2026 – 11 เม.ย. 2026 (ตะวันออก)
ส่วนเกี่ยวข้องวันอาทิตย์ใบลาน
วันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์
วันศุกร์ประเสริฐ

สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์[1] (อังกฤษ: Holy Week) เป็นสัปดาห์สำคัญในปีพิธีกรรมของศาสนาคริสต์ ตรงกับสัปดาห์สุดท้ายของเทศกาลมหาพรต ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลา 1 สัปดาห์ก่อนวันอีสเตอร์ ในสัปดาห์นี้มีวันสำคัญหลายวัน ได้แก่ วันอาทิตย์ใบลาน วันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ วันศุกร์ประเสริฐ และวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่รวมวันอีสเตอร์ สำหรับนิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์จะเริ่มจากวันเสาร์ลาซารัส (ก่อนวันอาทิตย์ใบลาน)

วันสำคัญในสัปดาห์

[แก้]

วันอาทิตย์ใบลาน

[แก้]

"วันอาทิตย์ใบลาน" (โรมันคาทอลิก) "วันอาทิตย์ใบปาล์ม" หรือ "วันอาทิตย์ทางตาล" (โปรเตสแตนต์) เป็นวันฉลองถึงเหตุการณ์ที่พระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเลมอย่างผู้พิชิต ซึ่งสื่อนัยะสำคัญ 2 ประการ คือ 1. พระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์ 2. พระเยซูเป็นกษัตริย์แห่งสันติภาพ

ตามพระวรสารนักบุญมัทธิวและพระวรสารนักบุญลูการะบุว่าก่อนการตรึงพระเยซูที่กางเขน พระเยซูได้เสด็จออกจากเมืองเยรีโค เพื่อเดินทางเข้าสู่กรุงเยรูซาเลม ครั้งนั้นพระองค์ทรงลา ชาวเยรูซาเลมออกมาต้อนรับพระองค์จำนวนมากด้วยความยินดี บ้างก็นำเสื้อและกิ่งไม้มาปูลาดพื้น ขณะเสด็จเข้าเมืองคนที่เดินนำน่าก็ตะโกนถวายพระพรว่า "โฮซันนา แก่บุตรของดาวิด ขอให้ท่านผู้ที่เสด็จมาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพระเจริญ โฮซันนา ในที่สูงสุด"[2]

วันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์

[แก้]

"วันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์" เป็นวันฉลองเหตุการณ์ที่พระเยซูทรงร่วมรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้ายกับเหล่าอัครทูต ในคราวนั้นพระเยซูทรงริเริ่มพิธีกรรมสำคัญ 2 ประการที่คริสตจักรยังคงรักษาสืบมาจนปัจจุบัน คือ 1. การล้างเท้าอัครทูต 2. การสถาปนาพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์

พระวรสารนักบุญยอห์นกล่าวว่าก่อนถึงวันปัสคา ระหว่างรับประทานอาหารเย็น พระเยซูได้ทรงล้างเท้าให้อัครทูตทั้ง 12 คน และตรัสทำนายว่ายูดาส อิสคาริโอท จะทรยศพระองค์[3] ส่วนพระวรสารสหทรรศน์ระบุว่าในคราวนั้นได้ทรงตั้งพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์ด้วย โดยบิขนมปังออก ตรัสว่า "จงรับไปกินเถิด นี่เป็นกายของเรา" แล้วแจกให้อัครทูตทุกคน จากนั้นทรงนำถ้วยเหล้าองุ่นมาให้ทุกคนแบ่งกันดื่ม ตรัสว่า "นี่เป็นโลหิตของเราอันเป็นโลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกเพื่อยกบาปโทษคนจำนวนมาก"[4] หลังจากเหตุการณืนี้พระเยซูทรงถูกจับกุมและนำตัวไปสอบสวนตลอดทั้งคืน

วันศุกร์ประเสริฐ

[แก้]

"วันศุกร์ประเสริฐ" หรือ "วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์" เป็นวันระลึกถึงการตรึงพระเยซูที่กางเขน ซึ่งคริสต์ศาสนิกชนถือว่าพระเยซูได้เป็นพระผู้ไถ่บาปให้มวลมนุษย์ที่เชื่อและยอมรับว่าพระองค์คือพระคริสต์ พระบุตรพระเป็นเจ้า

หลังจากถูกไต่สวนและรับทรมาน พระเยซูถูกตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยการตรึงกางเขน พร้อมกับโจรอีก 2 คน เหนือกางเขนของพระองค์มีป้ายติดชื่อว่า "เยซู กษัตริย์ของพวกยิว" ราวบ่าย 3 โมงจึงสิ้นพระชนม์[5] พระวรสารนักบุญยอห์นระบุเพิ่มเติมว่าหลังสิ้นพระชนม์ ได้มีทหารได้นำทวนมาแทงสีข้างของพระองค์ ก็มีน้ำและพระโลหิตหลั่งออกมา[6]

อ้างอิง

[แก้]
  • พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011, สมาคมพระคริสตธรรมไทย
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 221-2, 252-3, 395-6
  2. มัทธิว 21
  3. ยอห์น 13
  4. มัทธิว 26
  5. มัทธิว 27
  6. ยอห์น 19:34