พระคริสตราชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
"พระคริสตราชา" ผลงานของยัน ฟัน ไอก์

พระคริสตราชา[1] (อังกฤษ: Christ the King) เป็นสมัญญาที่คริสต์ศาสนิกชนถวายแด่พระเยซู ในฐานะที่เป็นพระคริสต์และเป็นกษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งหลาย

ความเชื่อ[แก้]

ในคัมภีร์ไบเบิลระบุไว้หลายตอนว่าพระเยซูเป็นพระมหากษัตริย์ เช่น ในพระวรสารนักบุญมัทธิวระบุว่าหลังการประสูติของพระเยซู บรรดาโหราจารย์ได้สังเกตเห็นดาวประจำพระองค์กษัตริย์ของชนชาติยิวปรากฏขึ้นทางทิศตะวันออก จึงเดินทางมาเข้าเฝ้าพระเจ้าเฮโรดมหาราชเพื่อสอบถามถึงกษัตริย์พระองค์นั้น[2] พระวรสารนักบุญยอห์นระบุว่า หลังจากพระเยซูทรงทวีขนมปังเลี้ยงคนจำนวนมากแล้ว ประชาชนต่างต้องการตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์ จนพระองค์ต้องหนีไปอยู่บนเขา[3] ในพระวรสารนักบุญลูการะบุว่าเมื่อพระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเลมอย่างผู้พิชิตนั้น ประชาชนต่างร้องถวายพระพรว่า “ขอให้พระมหากษัตริย์ ผู้เสด็จมา ในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงพระเจริญ ขอให้มีสันติในสวรรค์ และพระเกียรติในที่สูงสุด”[4]

อย่างไรก็ตามเมื่อทรงถูกปอนติอุส ปิลาตุส ไต่สวน ได้ทรงตอบเขาว่าอาณาจักร (หรือพระราชอำนาจ) ของพระองค์ไม่ได้มาจากโลกนี้[5] แต่มาจากสวรรค์ แม้จะมีการตรึงพระเยซูที่กางเขนจนสิ้นพระชนม์ แต่ในที่สุดพระองค์ก็ได้กลับคืนพระชนม์ และพระเจ้าทรงปราบทุกสิ่งลงไว้ใต้พระบาทของพระองค์ ให้ทรงเป็นเจ้านายเหนือทุก ๆ สิ่ง[6] และพระองค์จะครองราชย์ไปตลอดนิรันดร[7]

การฉลอง[แก้]

ปี ค.ศ. 1925 สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 ทรงออกสมณสาส์น Quas primas กำหนดวัดฉลองพระเยซูคริสตเจ้ากษัตริย์ เพื่อตอบโต้กระแสชาตินิยมและโลกิยนิยมที่พยายามแยกรัฐออกจากศาสนจักร[8] โดยกำหนดวันฉลองให้ตรงกับวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม และก่อนวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย[9] ในปี ค.ศ. 1960 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 ได้กำหนดให้เป็นวันฉลองอันดับหนึ่ง

ปี ค.ศ. 1969 สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ทรงกำหนดชื่อและสถานะใหม่เป็น วันสมโภชพระเยซูเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล (Our Lord Jesus Christ King of the Universe) และกำหนดเป็นวันสมโภช[10]ในวันอาทิตย์สุดท้ายของเทศกาลธรรมดา[11]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. วีระ อาภรณ์รัตน์. "พระคริสตราชา". คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกคริสตศาสนธรรม. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. มัทธิว 2
  3. ยอห์น 6:15
  4. ยอห์น 19:38
  5. ยอห์น 18:36
  6. เอเฟซัส 1:22
  7. วิวรณ์ 11:15
  8. Churchyear.net, a Catholic blog
  9. Pope Pius XI, Quas primas, §28, Libreria Editrice Vaticana
  10. motu proprio Mysterii Paschalis
  11. วีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช. "สมโภชพระเยซูเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล". มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-09. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
บรรณานุกรม