สันติ กีระนันทน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สันติ กีรนันทน์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 (62 ปี)
พรรคการเมืองชาติไทยพัฒนา
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
พลังประชารัฐ
สร้างอนาคตไทย
ศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สันติ กีระนันทน์ เป็นนักการเมืองชาวไทย เลขานุการคณะที่ปรึกษาว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ในปี 2562 เป็นอดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐที่นำโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์[1]

ประวัติ[แก้]

สันติ กีระนันทน์ เกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 เขาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ระดับละ 2 ปริญญา คือ บัญชีบัณฑิต (การบัญชี) เกียรตินิยม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เศรษฐศาสตรบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ) จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (Computer Science) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพาณิชยศาสตรมหาบัณฑิต (การบริหารธุรกิจ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้นเขายังจบการศึกษาระดับปริญญาเอก บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต (Finance) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[2][3] ภายใต้โครงการนานาชาติ (International Program) ร่วมผลิตดุษฎีบัณฑิตทางบริหารธุรกิจร่วม 3 สถาบัน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (Joint Doctoral program in Business Administration - JDBA) ซึ่่งได้รับการสนับสนุนจาก Canadian International Development Agency (CIDA) โดยเขาได้รับ Merit Award ตลอดการเรียนในหลักสูตร

การทำงาน[แก้]

สันติ กีระนันทน์ เคยทำงานเป็นอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาบริหารธุรกิจ เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต[2] ตามคำชักชวนของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เคยทำงานในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตำแหน่งรองผู้จัดการ โดยรับผิดชอบสายงานการตลาดผู้ลงทุน และการตลาดผู้ระดมทุน เป็นผู้ริเริ่มการจัดทำ Live platform เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสนับสนุน startup โดยใช้กลไกตลาดทุน นอกจากนั้น เขายังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาผู้ประเมินผลงานของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ และบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับเครดิตสัญชาติไทย เพียงบริษัทเดียวในประเทศไทย โดยทำงานอยู่ใน 2 บริษัทดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี ก่อนจะกลับมาทำงานที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

หลังจากออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ได้ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้สร้าง InnoSpace เพื่อสนับสนุนให้เกิด startup ในประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือในการก่อตั้งจาก CyberPort, Hong Kong.

เขาเข้ามาทำงานร่วมกับพรรคพลังประชารัฐโดยการชักชวนของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหนึ่งในผู้ที่ขับเคลื่อนเบื้องหลังการทำนโยบายพรรคชุด "ประชารัฐ" ร่วมกับ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ และ วิเชียร ชวลิต[1]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ผศ.ดร.สันติ ได้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ในลำดับที่ 6 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยแรก โดยสันติ เป็นสมาชิกในกลุ่ม 4 กุมารในพรรคพลังประชารัฐ[4] ต่อมาเขาได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับ สุพล ฟองงาม เพื่อไปร่วมงานกับ พรรคสร้างอนาคตไทย ของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และได้รับหน้าที่เป็นรองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย[5] ต่อมาในปี 2566 เขาได้ลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรคสร้างอนาคตไทย และเข้าร่วมงานกับพรรคชาติไทยพัฒนา[6]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 มาจากไหน สันติ กีระนันทน์ "ผมไม่ใช่นักการเมือง"
  2. 2.0 2.1 สภาผู้แทนราษฎร
  3. ฉะใคร? 'สันติ กีระนันทน์' โพสต์ ‘botox-big eyes ไม่สามารถปกปิดสันดานต่ำทราม’
  4. พปชร.เดือด!!! เด็ก4กุมาร โพสต์ด่าไฟแล่บ‘บิ๊กอาย’เนรคุณ-หักหลังเพื่อน
  5. พรรคสร้างอนาคตไทย: อุตตม-สนธิรัตน์ลั่น “ไม่ซ้ายสุดขั้ว ไม่ขวาสุดโต่ง ไม่เสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ในบัญชี”
  6. ชทพ.เปิดตัว ‘สันติ กีระนันทน์’ ทีมสมคิด หลังไขก๊อกพรรคสร้างอนาคตไทย
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๓, ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๓, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๑๑, ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔