สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย (Soka Gakkai Thailand : SGT) เป็นองค์กรนอกภาครัฐและไม่แสวงหาผลกำไร (Non Governmental Organization : NGO) และเป็นเครือข่ายของ เอสจีไอ ซึ่งได้เริ่มต้นการเผยแผ่พุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนินในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) ในฐานะองค์กรแห่งมนุษยนิยมที่เป็นอิสระ เอสจีไอซึ่งมีข้อผูกพันอย่างเป็นทางการกับองค์การสหประชาชาติ [1] ในการสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างสันติภาพโลกด้วยนั้น จึงได้ร่วมมือร่วมใจกับหน่วยงานในสังคม หน่วยงานทางราชการและองค์กรศาสนาต่าง ๆ มากมาย ในการผลักดันเรื่องการลดและกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ สิทธิมนุษยชน การศึกษา การพัฒนาที่ยั่งยืน และการบรรเทาทุกข์ให้กับเพื่อนมนุษย์ทั่วโลก

สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย
泰國創價學會
ธงสัญลักษณ์สมาคมสร้างคุณค่า
ก่อตั้ง20 ธันวาคม พ.ศ. 2527 (39 ปี)  ไทย
สํานักงานใหญ่102/27 ถนนติวานนท์ ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120
ประธาน
นายสมศักดิ์ ลิขิตจาริยานนท์
เว็บไซต์www.sgt.or.th
ชื่อในอดีต
สมาคมธรรมประทีป (2513) ปัจจุบันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด
ตราสัญลักษณ์สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย

ประวัติการเผยแผ่ธรรมในประเทศไทย[แก้]

ปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961)[แก้]

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 อาจารย์ไดซาขุ อิเคดะ ประธานสมาคมสร้างคุณค่า และพระนิตตัตจึโชนิน ประมุขสงฆ์ลำดับที่ 66 พร้อมคณะได้เดินทางจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ขณะนั้นมีผู้ศรัทธาในประเทศไทย เพียง 2 คน คือ นายคิโยทาโร่ นิชิดะ ซึ่งเดินทางมาเป็นพ่อครัวในสถานทูตญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2502 และนายยาโงโร่ นากาโน่ ซึ่งได้รับการแนะนำธรรมจากนายคิโยทาโร่ นิชิดะ สมาชิกผู้ใหญ่ชายชาวญี่ปุ่น 2 ท่านนี้ได้ไปต้อนรับที่สนามบิน

การเดินทางมาประเทศไทยครั้งแรก และการพบสมาชิกของอาจารย์อิเคดะ ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่สำคัญของการหว่านเมล็ดพุทธธรรมแห่งการเผยแผ่ธรรมจากอาจารย์อิเคดะโดยตรงทำให้เมล็ดเหตุการเผยแผ่ธรรมไพศาลเจริญงอกงามขึ้นในประเทศไทย ตังแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังจากนั้น ในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 ก็ได้มีการก่อตั้งระบบการตำบลขึ้นเป็นครั้งแรก คือ “ตำบลบางกอก” โดยมีนายคิโยทาโร่ นิชิดะ เป็นหัวหน้าตำบล ตอนนั้นมีสมาชิก 5 ท่าน หนึ่งในนั้นมีนายกิมจุง แซ่พัว หรือบันซังอยู่ด้วย นายกิมจุง แซ่พัว เป็นชาวไต้หวันที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีอาชีพทำอาหารญี่ปุ่นส่งตามบ้านคนญี่ปุ่น จึงได้รับการแนะนำธรรมจากนายคิโยทาโร่ นิชิดะ ด้วยความศรัทธาและความทุ่มเทของนายกิมจุง แซ่พัว จึงได้แนะนำเพื่อนชาวไต้หวันอีกหลายคนเข้าศรัทธา และช่วยกันเผยแผ่ธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนินให้แก่บุคคลต่าง ๆ ทั่วไปที่มีความลำบากในการดำเนินชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้เสียงของผู้สวดนัมเมียวโฮเร็งเงเคียวแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง

ปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962)[แก้]

วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2505 อาจารย์อิเคดะ และคณะได้เดินทางมาประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 มีสมาชิกประเทศไทยไปต้อนรับที่สนามบิน อาจารย์อิเคดะได้ใช้เวลาเท่าที่มีเพียงเล็กน้อยพูดคุยให้กำลังใจผู้นำที่ไปต้อนรับว่า “…จากนี้ต่อไปประเทศไทยก็จะเป็นประเทศที่จะกลายเป็นศูนย์กลางของการเผยแผ่ธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันกับฮ่องกง เพื่อการดังกล่าว ผมเองก็จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือเต็มที่ครับ…”

จากนั้นอาจารย์อิเคดะ และคณะก็เดินทางต่อไปตามกำหนดการที่วางไว้

ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 อาจารย์อิเคดะ และคณะได้เดินทางมาจากประเทศอินเดีย กลับมาแวะและพักที่กรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง เป็นการแวะพักค้างแรมครั้งที่ 2 เพื่อที่จะเดินทางต่อไปที่ฮ่องกงในวันรุ่งขึ้นและกลับประเทศญี่ปุ่น

คืนวันนั้น ได้มีการจัดประชุมสนทนาธรรมขึ้นที่ห้องพักในโรงแรมเอราวัณ ถนนราชดำริ มีสมาชิกมาร่วมประมาณ 15 ท่าน และได้ก่อตั้ง “เขตบางกอก” ขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นเขตแรกของเอเชียเท่านั้น ยังเป็นเขตที่เล็กที่สุดในโลกด้วย

หลังจากที่มีเขตบางกอกแล้ว ก็เริ่มมีการสอนวิธีสวดมนต์และสอนธรรมะ มีการจัดสวดมนต์เช้าทุกวันอาทิตย์ที่บ้านของผู้นำ อธิษฐานเพื่อการเผยแผ่ธรรมไพศาลในประเทศไทย ผู้มาร่วมสวดมนต์มีมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้สมาชิกเพิ่มขึ้นในยุคนั้น การมอบโงะฮนซนให้แก่ผู้ศรัทธาใหม่ล้วนเป็นโงะฮนซนที่จารึกโดยพระนิชิคันโชนิน ประมุขสงฆ์ลำดับที่ 26

ปี พ.ศ. 2506 (ค.ศ. 1963)[แก้]

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 อาจารย์อิเคดะและคณะ ซึ่งจะเดินทางไปอเมริกา ตามกำหนดการจะแวะค้างคืนที่นิวเดลี ประเทศอินเดีย แต่เที่ยวบินได้เสียเวลาอยู่เบรุต ประเทศเลบานอน ทำให้ไม่สามารถไปค้างแรมที่นิวเดลีได้ เครื่องบินได้แวะเติมน้ำมันที่สนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ ตอนเช้าพอดีวันนั้นเป็นวันตรุษจีน จึงมีสมาชิกมาคอยต้อนรับมากมายประมาณ 50 คน ที่ห้องโถงสนามบิน อาจารย์อิเคดะใช้เวลาที่มีเพียงเล็กน้อยนี้ทักทาย และส่งเสริมกำลังใจให้กับสมาชิก จากนั้นก็บินต่อไปที่ฮ่องกง

ปี พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964)[แก้]

วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2507 อาจารย์อิเคดะและคณะก็ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง (ครั้งที่ 3) ขณะนั้น ระบบการในประเทศไทยมี 1 เขต 6 ตำบล จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 785 ครอบครัว

ปี พ.ศ. 2509 (ค.ศ. 1966)[แก้]

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ได้มีการก่อตั้งระบบการระดับเขตใหญ่ขึ้น คือ “เขตใหญ่ไทยแลนด์” ประกอบด้วย 6 เขต 25 ตำบล มีจำนวนสมาชิก 3,415 ครอบครัว มีนายกิมจุง แซ่พัว เป็นหัวหน้าเขตใหญ่ชาย และนางคัวชิโกะ อาซาคาวะ (บัน คาสึโกะ) ผู้เป็นภรรยา เป็นหัวหน้าเขตใหญ่หญิง และเริ่มต้นจัดให้มีการสอบธรรมะสำหรับสมาชิกเป็นครั้งแรก ฝ่ายยุวชนได้ช่วยกันจัดทำวารสารภาษาไทยฉบับแรก ชื่อว่า “มิตร” จำนวน 200 ฉบับ

ปี พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967)[แก้]

การเผยแผ่ธรรมได้เติบโตอย่างรวดเร็ว และก่อตั้งเป็นระบบการภาคขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2510 โดยนายเฮอิอิจิ ทากากิ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลสมาชิกเอเชียอาคเนย์พร้อมกับเป็นหัวหน้าภาคฝ่ายผู้ใหญ่ชายของประเทศไทย และนายกิมจุง แซ่พัว เป็นผู้ช่วยหัวหน้าภาค ขณะนั้นระบบการ มี 3 เขตใหญ่ 15 เขต 39 ตำบล มีสมาชิก 9,816 ครอบครัว

ปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970)[แก้]

การเผยแผ่ธรรมมีการก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จึงได้ย้ายศูนย์กลางการเผยแผ่ธรรมจากซอยสว่าง ถนนพระราม 4 มาอยู่ที่ซอยพิพัฒน์ ถนนสีลม

  • วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2513 ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ชื่อ “สมาคมธรรมประทีป” ขณะนั้นมีสมาชิก 13,337 ครอบครัว
  • วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2513 ออกวารสารรายเดือน ชื่อวารสาร “บัวขาว” จำนวนตีพิมพ์ 5,200 ฉบับ
  • วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2513 ก่อตั้งยุวชนหญิงภาคประเทศไทย มี 3 เขตใหญ่ 11 เขต มีจำนวนยุวชนหญิง 1,746 คน

ปี พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973)[แก้]

จัดงานกีฬาสามัคคีของยุวชนขึ้นเป็นครั้งแรก

ปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975)[แก้]

วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 อาจารย์อิเคดะได้ประกาศก่อตั้งสมาคมสร้างคุณค่าสากล (Soka Gakkai International : SGI) ขึ้นที่เกาะกวม สหรัฐอเมริกา

ปี พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984)[แก้]

วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2527 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ชื่อ “สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย” และย้ายสถานที่ทำการมาอยู่ที่ถนนวิทยุ (สมาคมฯ สาขาถนนวิทยุ)

ปี พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986)[แก้]

วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2529 เริ่มตีพิมพ์ วารสาร “สร้างคุณค่า” จำนวน 9,600 เล่ม

วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 ประกาศก่อตั้งระบบการรวมภาคประเทศไทยเป็นครั้งแรก ขณะนั้น ระบบการมี 4 ภาค 12 เขตใหญ่ 73 เขต 236 ตำบล

ปี พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988)[แก้]

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 อาจารย์อิเคดะเดินทางเยือนประเทศไทย นับเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งที่ 4 หลังจากที่สมาชิกเฝ้ารอคอยมานาน 24 ปี

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 อาจารย์อิเคดะ ได้เดินทางไปเยือนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อพบกับ ดร.เกษม สุวรรณกุล อธิการบดี และร่วมในพิธีมอบหนังสือ จำนวน 1,100 เล่ม ให้แก่มหาวิทยาลัย ณ หอประชุมใหญ่ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 อาจารย์อิเคดะ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นครั้งแรก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ในโอกาสนี้อาจารย์อิเคดะได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต นำภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะโตเกียวฟูจิ ที่ประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2532 ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2533 และที่สหราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2534 ซึ่งในพิธีเปิดงานแสดงภาพฝีพระหัตถ์ที่ประเทศญี่ปุ่น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จเป็นองค์ประธาน มีผู้เข้าชมทั้งสิ้น จำนวน 38,000 คน

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 อาจารย์อิเคดะได้มาเยือนสมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย ณ ถนนวิทยุ เป็นครั้งแรก เพื่อพบปะกับสมาชิกชาวไทย จากนั้นได้ปลูกต้นไม้ที่ระลึกเพื่อการเผยแผ่ธรรมของประเทศไทยที่ด้านหน้าสมาคมฯ ในตอนค่ำอาจารย์อิเคดะ ได้เข้าร่วมประชุมสังสรรค์ระลึก ครบรอบ 27 ปีของการเผยแผ่ธรรมในประเทศไทย ร่วมกับสมาชิกชาวไทย ณ ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี

ปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992)[แก้]

วันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 อาจารย์อิเคดะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 5 โดยมีกำหนดการดังนี้

  • วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 อาจารย์อิเคดะร่วมประชุมที่ระลึก การเผยแผ่ธรรมในประเทศไทย ครบรอบ 31 ปีที่อาคารแสงทอง
  • วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 อาจารย์อิเคดะร่วมถ่ายรูปกับตัวแทนหัวหน้าตำบลฝ่ายผู้ใหญ่ชาย-หญิง และตัวแทนยุวชนชาย-หญิง และนักศึกษาโซคา ที่โรงยิม สวนลุมพินี
  • วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 อาจารย์อิเคดะเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ครั้งที่ 2
  • วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 อาจารย์อิเคดะร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่โรงแรมดุสิตธานี

วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2535 พิธีตักทรายเพื่อเริ่มการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี มีผู้เข้าร่วม 9,225 คน

ปี พ.ศ. 2537 (ค.ศ. 1994)[แก้]

วันที่ 4-9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 สมาชิกชาวไทยได้มีโอกาสต้อนรับอาจารย์อิเคดะ ในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งที่ 6

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 อาจารย์อิเคดะได้เข้าร่วมงานประชุมใหญ่สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย ครั้งที่ 1 ณ อาคารสำนักใหญ่ พร้อมกับปลูกต้นไม้ที่ระลึกไว้บริเวณด้านหน้าอาคารสมาคม

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 อาจารย์อิเคดะเข้าร่วมงานพิธีเปิดนิทรรศการ "ภาพวาดเด็กชายหญิงจากทั่วโลก" ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดโดยสมาคมฯ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยสมเด็จพระเจ้าพี่น้างเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นประธานในพิธี มีผู้เข้าชมกว่า 15,000 คน

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 อาจารย์อิเคดะเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต นับเป็นการเข้าเฝ้าฯ ครั้งที่ 3 ในคราวนี้ อาจารย์อิเคดะได้กราบบังคมทูลอัญเชิญภาพวาดฝีพระหัตถ์ ไปจัดแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น

การดำเนินของแต่ละฝ่าย[แก้]

สมาชิกของสมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย มีอยู่ทั่วไปในทุก ๆ จังหวัดของประเทศ ทั้งในเมืองและในชนบทที่ห่างไกล แต่ละคนจะปฏิบัติศาสนกิจตามที่สมาคมฯ ได้กำหนดแนวทางไว้บนพื้นฐานพุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนิน คือ ปฏิบัติเพื่อความสุขของตนเอง ด้วยการสวดมนต์เช้า-เย็นเป็นประจำ และปฏิบัติเพื่อความสุขของผู้อื่น ด้วยการบอกกล่าวคุณความดีของพุทธธรรมที่ตนเองปฏิบัติ การปฏิบัติภารกิจของสมาชิก จะแบ่งออกเป็น 4 ฝ่าย คือ​

  1. ฝ่ายผู้ใหญ่ชาย เสาหลักทองคำของการเผยแผ่ธรรม​
  2. ฝ่ายผู้ใหญ่หญิง ดวงตะวันแห่งโซคาผู้การุณย์​
  3. ฝ่ายยุวชนชาย วีรบุรุษแห่งการเผยแผ่ธรรม​
  4. ฝ่ายยุวชนหญิง เจ้าหญิงแห่งความสุขชั่วนิรันดร์​

ภายใต้กรอบโครงสร้างภาระความรับผิดชอบดูแลสมาชิกจากน้อยไปมาก คือ ระดับหมู่ ระดับตำบล ระดับเขต ระดับภาค ระดับรวมภาค ระดับภูมิภาค ระดับฝ่าย​ จนกระทั่งถึงระดับคณะกรรมการ​บริหาร โดยแต่ละฝ่ายจะจัดประชุมสนทนาธรรม ศึกษาธรรม และแนะนำธรรมให้กับผู้อื่น เฉพาะในฝ่ายที่ตนเองเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดระบบการ 4 ฝ่ายที่เป็นระบบ และสมาคมฯ ก็ได้ถือระบบการ 4 ฝ่ายนี้ปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อการบรรลุวิสัยทัศน์แห่ง “มนุษยนิยม”​​

อาคารสำนักงาน[แก้]

ในปัจจุบันสมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทยมีอาคารสำนักงานทั้งหมด 10 แห่งทั่วประเทศไทย และมี่อาคาร 1 แห่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง [2] ดังนี้

อาคารที่ยังมีการใช้งาน[แก้]

ลำดับ อาคาร ที่ตั้ง วันที่เปิดใช้งาน หมายเหตุ
1 สำนักงานใหญ่ (ติวานนท์)​ จังหวัดนนทบุรี ค.ศ.1993
2 สาขาตะวันออก จังหวัดชลบุรี 18​ มกราคม​ ค.ศ.1998
3 สาขาธนบุรี กรุงเทพมหานคร 18​ ตุลาคม​ ค.ศ.1998
4 สาขาสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส 1​ กันยายน​ ค.ศ.2001
5 สาขาลำปาง จังหวัดลำปาง 22​ มีนาคม​ ค.ศ.2003
6 สาขาอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 7​ กันยายน​ ค.ศ.2003
8 สาขาหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 7​ เมษายน​ ค.ศ.2008
8 สาขาเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 30​ เมษายน​ ค.ศ.2016
9 สาขาชุมพร จังหวัดชุมพร 1​ ธันวาคม​ ค.ศ.2018
10 สาขานครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 6 เมษายน ค.ศ.2019
ศูนย์ฝึกอบรมสันติภาพเอเชีย
แห่งสมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย
จังหวัดระยอง 22 ตุลาคม ค.ศ.2022 (ศูนย์ฝึกอบรมแห่งแรกของประเทศไทย)​

อาคารที่ยกเลิกการใช้งาน[แก้]

ลำดับ อาคาร ที่ตั้ง ปีที่เปิดใช้งาน ปีที่ยกเลิกใช้งาน
1 สาขาถนนวิทยุ กรุงเทพมหานคร ค.ศ.1985 ค.ศ.2020

กิจกรรม[แก้]

กิจกรรมของเครือข่ายเอสจีไอ

กิจกรรมหลักที่เน้นควบคู่ไปกับการศึกษาธรรม การสนทนาธรรม และการปฏิบัติธรรม คือกิจกรรมด้านสันติภาพ[3] วัฒนธรรม และการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของเครือข่ายเอสจีไอใน 192 ประเทศและเขตการปกครอง ก็คือ

  1. ส่งเสริมสันติภาพ วัฒนธรรม และการศึกษาไปสู่ทั่วโลก โดยอยู่บนพื้นฐานของพุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนิน
  2. ส่งเสริมให้ทั่วโลกเกิดสันติภาพ โดยการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนธรรมดาของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
  3. ส่งเสริมการศึกษาและปฏิบัติพุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนิน ซึ่งเป็นคำสอนแห่งสันติภาพที่แท้จริง ด้วยพื้นฐานเช่นนี้ มุ่งให้ทุกคนเป็นพลเมืองที่ดีตามขนบธรรมเนียมและกฎหมายของแต่ละประเทศ

กิจกรรมของสมาคมสร้างคุณค่า

เมื่อมีสมาคมฯ เกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้เกิดกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้น ได้แก่ กลุ่มบัวขาว (เบียะขุเร็ง) กลุ่มกะโยไก-โซคาฮัน กลุ่มโอโจไก กลุ่มโยธวาทิต (ชยรพ) กลุ่มรักษ์สมาคม เป็นต้น ในส่วนของกิจกรรมนั้น แบ่งได้เป็นกิจกรรมภายในสมาคมและกิจกรรมออกสู่สังคม

กิจกรรมภายในสมาคม คือการจัดกิจกรรมทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมประจำเดือน เช่น การจัดประชุม 4 ฝ่าย การจัดประชุมยุวชนชาย การจัดประชุมยุวชนหญิง การจัดประชุมผู้ใหญ่ชาย การจัดประชุมผู้ใหญ่หญิง และการจัดประชุมมิไรบุ นอกจากนี้ยังมีการจัดประชุมที่เน้นการลงพื้นที่ เช่น การจัดประชุมกลุ่มย่อยในระดับตำบลหรือหมู่บ้าน การใช้สมาคมเป็นศูนย์กลางในการรับและแจ้งข่าวของผู้นำในระดับต่าง ๆ เพื่อกระจายข่าวสารของสมาคมให้สมาชิกในท้องถิ่นทราบ

กิจกรรมออกสู่สังคมมีขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ให้บุคคลภายนอกรู้จักสมาคมและได้ทราบว่าสมาคมสร้างคุณค่าของเรา มีวัตถุประสงค์อะไร ทั้งนี้ยังจัดขึ้นเพื่อให้สมาชิกได้ทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่นและยังเป็นเสมือนเวทีใหญ่ให้กับยุวชนของทางสมาคมได้แสดงออกและพัฒนาตนเองผ่านกิจกรรมออกสู่สังคม อาทิเช่น การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การจัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตของวัยรุ่น การจัดนิทรรศการเพื่อสันติภาพ การร่วมมือทำหนังสือเสียงเพื่อคนตาบอด การทำสื่อการสอนให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน การบริจาคสิ่งของและเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. "UN Office for Disarmament Affairs Meets Youth Representatives of Soka Gakkai Japan and of SGI-USA Engaged in Disarmament Issues". un.org. Aoi Sato. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2022-05-02.
  2. "ช่องทางติดต่อสมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย". sgt.or.th. สืบค้นเมื่อ 2022-05-02.
  3. "วธ.ร่วม สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย เปิดนิทรรศารศิลปะสันติภาพ 20 28 ก.พ.นี้ ที่ศูนย์การค้าสยามพาร". sanook.com. sanook.com. 2010-02-19. สืบค้นเมื่อ 2022-05-02.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]