สมชาติ เลขาลาวัณย์
สมชาติ เลขาลาวัณย์ | |
---|---|
อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน | |
ดำรงตำแหน่ง 4 มีนาคม พ.ศ. 2547 – 30 กันยายน พ.ศ. 2549 | |
ก่อนหน้า | สุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ |
ถัดไป | สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | จงเยี่ยน แซ่ไล่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2489 จังหวัดยะลา ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 15 มีนาคม พ.ศ. 2555 (65 ปี) จังหวัดอุตรดิตถ์ ประเทศไทย |
คู่สมรส | ฉวีทิพย์ โกมลเสน (สมรส 2525) |
บุตร | 2 คน |
ศิษย์เก่า | คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
อาชีพ | สถาปนิก |
วิชาชีพ | ข้าราชการพลเรือน |
สมชาติ เลขาลาวัณย์ (นามเดิม จงเยี่ยน แซ่ไล่ ; 20 มีนาคม พ.ศ. 2489 – 15 มีนาคม พ.ศ. 2555) เป็นสถาปนิกและข้าราชการพลเรือนชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่น ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานและอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 เพื่อการพัฒนาฝีมือแรงงานไทยให้ได้มาตรฐาน และมีศักยภาพทัดเทียมนานาประเทศในระดับสากล
ประวัติ
[แก้]ชีวิตส่วนตัว
[แก้]สมชาติ เลขาลาวัณย์ มีนามเดิมว่า จงเยี้ยน แซ่ไล่ เกิดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2489 ที่ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นบุตรคนที่ 3 ของยุ่นช่อง แซ่ไล่ และหยุ่นแจ่ว แซ่หลิ่ว ซึ่งเป็นชาวจีนแคะ
สมชาติ เลขาลาวัณย์ สมรสกับฉวีทิพย์ เลขาลาวัณย์ (สกุลเดิม โกมลเสน) ธิดาคนโตของพันตำรวจเอก สำเริง และนลินี โกมลเสน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 โดยได้รับเกียรติจาก พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร มาร่วมงานและรับไหว้ในวันดังกล่าว มีบุตรธิดารวม 2 คน คือ
- นิติพงศ์ เลขาลาวัณย์
- อนงค์นาถ เลขาลาวัณย์
การศึกษา
[แก้]สมชาติ เลขาลาวัณย์ สำเร็จการศึกษาดังนี้
- พ.ศ. 2497 – พ.ศ. 2500 : โรงเรียนยะลาบำรุง จังหวัดยะลา (ชั้น ป.1 – ป.4)
- พ.ศ. 2500 – พ.ศ. 2506 : โรงเรียนผดุงประชา จังหวัดยะลา (ชั้น ป.5 – ม.ศ.3)
- พ.ศ. 2506 – พ.ศ. 2508 : โรงเรียนอำนวยศิลป์ จังหวัดพระนคร (ชั้น ม.ศ. 4 – ม.ศ. 5)
- พ.ศ. 2508 – พ.ศ. 2513 : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สถ.บ.)
- พ.ศ. 2538 : หลักสูตรนักบริหารระดับสูง (นบส.1) รุ่นที่ 20 สำนักงาน ก.พ.
- พ.ศ. 2541 : หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ. รุ่น 11) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
- พ.ศ. 2542 : ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
การทำงาน
[แก้]การรับราชการ
[แก้]เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สมชาติ เลขาลาวัณย์ จึงเข้าทำงานครั้งแรกที่บริษัท แอลแคนไทย จำกัด แล้วต่อมาเข้ารับราชการครั้งแรกในตำแหน่งครูตรี ฝ่ายช่างเขียนแบบ กรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ได้รับการเลื่อนตำแหน่งตามลำดับเช่น หัวหน้าสถาบันพัฒนาฝืมือแรงงานภาคตะวันออกชลบุรี ต่อมาได้รับคำสั่งให้ไปดูแลการก่อสร้างสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนครสวรรค์ จนได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานตั้งแต่จังหวัดลำปาง, ขอนแก่น, ภาคตะวันออกชลบุรี และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานกลาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เมื่อปลายปี พ.ศ. 2545 และดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เมื่อต้นปี พ.ศ. 2547 จนเกษียณอายุราชการ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2549
งานพิเศษ
[แก้]หลังเกษียณอายุราชการ สมชาติ ได้ทำหน้าที่สำคัญในองค์กรต่างๆ เช่น เข้าร่วมทำหน้าที่สรรหาสภาร่างรัฐธรรมนูญ, ที่ปรึกษาและสถาปนิกอาวุโส บริษัท บุญถาวร เซรามิค จำกัด, ประธานมูลนิธิพัฒนาฝีมือแรงงาน, ประธานชมรมสูงวัย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, สร้างเครือข่ายชมรมศิษย์เก่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, กรรมการในคณะที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ชุดที่ 15, อนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, ร่วมก่อตั้งบริษัท ภูเก็ตทัศน์ จำกัด และช่วยกำกับดูแลการก่อสร้างรีสอร์ท ณ จังหวัดภูเก็ต, คณะอนุกรรมธิการติดตามศึกษาเชิงนโยบายและกฎหมายแรงงาน, วิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่องค์กรและหน่วยงานต่างๆ และงานสาธารณกุศลอื่นๆ อีกมากมาย
ถึงแก่อนิจกรรม
[แก้]สมชาติ เลขาลาวัณย์ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจขาดเลือด เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555 ระหว่างพักการบรรยายให้ความรู้ด้านการฝีมือแรงงาน ณ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จังหวัดอุตรดิตถ์ สิริอายุได้ 65 ปี 360 วัน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2546 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[1]
- พ.ศ. 2543 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[2]
- พ.ศ. 2526 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 ประเภทที่ 2 (ส.ช.)[3]
- พ.ศ. 2540 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[4]
- พ.ศ. ไม่ปรากฎ – เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 (เหรียญทอง)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๙ ข หน้า ๑๔, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๕๓, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๑๖๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖๕, ๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๒ ข หน้า ๔๑๓, ๑๘ มกราคม ๒๕๔๑