ข้ามไปเนื้อหา

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (อังกฤษ: Thailand Development Research Institute) หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) [1] เป็นมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2527 ที่มีพันธกิจหลักคือ การทำการวิจัยเชิงนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านเศรษฐกิจ กฎหมาย สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเผยแพร่ต่อภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อการกำหนดนโยบายระยะยาวอันมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ทีดีอาร์ไอถูกก่อตั้งขึ้นโดยความริเริ่มของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ต้องการให้มีหน่วยงานวิจัยและเสนอนโยบายเป็นอิสระของอำนาจการเมืองและข้าราชการ ด้วยเหตุนี้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น และ ปิแอร์ ทรูโด (Pierre Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา จึงได้ลงนามในข้อตกลงให้ความช่วยเหลือเพื่อมอบทุนดำเนินการจัดตั้งสถาบันในระยะเริ่มแรก ผ่านทาง องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งแคนาดา (Canadian International Development Agency) นอกจากนี้ ยังมี องค์กรเพื่อการพัฒนานานาชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development) ร่วมให้ทุนสนับสนุนการก่อตั้ง เช่นเดียวกับบริษัทเอกชนอื่นๆ เช่น บริษัทในกลุ่มมิตซุย บริษัทยูโนแคล ประเทศไทย เป็นต้น

นับตั้งแต่ก่อตั้ง สถาบันได้ดำเนินงานวิจัยไปแล้วมากกว่า 800 โครงการ ในหัวข้อต่าง ๆ ทั้งระดับประเทศ ทั้งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ โดยมีเป็นหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานต่างประเทศเป็นผู้ว่าจ้างหลัก

นอกเหนือจากรายได้จากการถูกว่าจ้างจากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานต่างประเทศแล้ว ทีดีอาร์ไอยังใช้งบประมาณของตนเองในการผลิตงานวิจัยเชิงนโยบายในหัวข้อที่กำหนดเอง โดยเน้นหัวข้อที่ทีดีอาร์ไอคิดว่าสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต เช่น การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน การพัฒนาระบบศึกษาไทย และโมเดลใหม่ทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

ปัจจุบัน ทีดีอาร์ไอมีทรัพยากรบุคคลประมาณ 120 คน ในฝ่ายการวิจัย 19 ฝ่าย ได้แก่

  1. นโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม
  2. นโยบายการเกษตรสมัยใหม่และการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจชนบท
  3. นโยบายด้านการกำกับดูแลที่ดี
  4. นโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์
  5. นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา
  6. นโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง
  7. นโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์
  8. นโยบายด้านสาธารณสุขและการเกษตร
  9. นโยบายเพื่อการพัฒนาสังคม
  10. นโยบายพลังงานเพื่อความยั่งยืน
  11. นโยบายด้านแรงงาน
  12. นโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา
  13. นโยบายการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
  14. นโยบายด้านอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ
  15. นโยบายด้านหลักประกันทางสังคม
  16. นโยบายทรัพยากรธรรมชาติและการลดแก๊สเรือนกระจก
  17. นโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว
  18. กฎหมายเพื่อการพัฒนา
  19. นโยบายทรัพยากรมนุษย์

นักวิชาการของสถาบันฯในปัจจุบัน เช่น ศ. พิเศษ ดร. อัมมาร สยามวาลา ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รศ. ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร รศ. ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ และ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นต้น และในอดีต เช่น ดร. วีรพงษ์ รามางกูร ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]