วิทเยนทร์ มุตตามระ
วิทเยนทร์ มุตตามระ ชื่อเล่น เอ๋ อดีตผู้ประกาศข่าวทางช่องท็อปนิวส์ และอดีตกรรมการผู้จัดการสถานีโทรทัศน์ฟ้าวันใหม่ รวมถึงเคยสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์
ประวัติ
[แก้]วิทเยนทร์เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2511 (55 ปี) เป็นบุตรของ น.ท.กมล มุตตามระ และนางสมทรง มุตตามระ (สกุลเดิม: กัมปนาทแสนยากร) เป็นหลานของ พล.อ.หลวงกัมปนาทแสนยากร อดีตองคมนตรี[1]
การศึกษา
[แก้]- ระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
- ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอกบริหารรัฐกิจ
- ปริญญาโท บริหารธุรกิจระหว่างประเทศ ศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจและวัฒนธรรมทางธุรกิจของประเทศชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก มหาวิทยาลัยโดมินิกันแห่งแคลิฟอร์เนีย รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ[2]
การทำงาน
[แก้]บทบาทด้านสิ่งแวดล้อม
[แก้]วิทเยนทร์เคยเป็นประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำกรุงเทพฯ (BDOC) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และเป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิเพื่อทะเล เมื่อประเทศไทยประสบเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปลายปี พ.ศ. 2547 ได้ประกาศรับอาสาสมัครนักดำน้ำมืออาชีพ เพื่อร่วมสำรวจความเสียหายของแนวปะการัง และเพื่อช่วยกันฟื้นฟูสภาพแนวปะการังที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิด้วย[3]
และจากบทบาทครั้งนั้น ทำให้วิทเยนทร์และมูลนิธิเพื่อทะเลได้มีบทบาทต่อเนื่องในเรื่องการทำปะการังเทียมบริเวณแหล่งดำน้ำฝั่งทะเลอันดามัน ผ่านโครงการ "ฝูงบินปะการัง" โดยขอเครื่องบินปลดประจำการจากกองทัพอากาศจำนวน 10 ลำ มาจมเป็นปะการังเทียม[4]
นอกจากนี้ วิทเยนทร์และมูลนิธิเพื่อทะเลยังทำหน้าที่รณรงค์ให้ความรู้เพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล[5] ยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการเยาวชนสัมผัสชีวิตใต้ท้องทะเลไทย เพื่อสอนเยาวชนให้เป็นนักดำน้ำและเรียนรู้ระบบนิเวศวิทยาทางทะเลด้วย
บทบาทด้านการเมือง
[แก้]- พ.ศ. 2550 สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 5 (ดอนเมือง สายไหม บางเขน) พรรคประชาธิปัตย์[6]
- เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สาทิตย์ วงศ์หนองเตย)[7]
- พ.ศ. 2554 สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 14 (บางเขน) พรรคประชาธิปัตย์[8]
บทบาทด้านการช่วยเหลือผู้ประภัยน้ำท่วม
[แก้]เมื่อเกิดอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้จัดตั้งศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยขึ้น มีอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ โดยวิทเยนทร์เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ ทำหน้าที่ประสานงานกับองค์กรต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย รวมทั้งการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์อุทกภัย[9] ต่อมาอภิรักษ์ได้ลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 2 กรุงเทพมหานคร ครม. มีมติให้วิทเยนทร์ทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยไปตลอดจนมีการเลือกตั้งใหม่
บทบาทด้านสื่อมวลชน
[แก้]เมื่อครั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี วิทเยนทร์ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ประสานงานสื่อมวลชน โดยมีบทบาทในช่วงรับมือวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2552–2553 และเป็นทีมงานจัดรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์
หลังการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2554 วิทเยนทร์ได้รับตำแหน่งเป็นผู้บริหารสถานีโทรทัศน์บลูสกายแชนแนล โดยมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ และเป็นผู้จัดรายการฟ้าวันใหม่ ร่วมกับถนอม อ่อนเกตุพล ด้วย แต่หลังเกิดวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 สถานีโทรทัศน์บลูสกายถูกระงับการออกอากาศเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามคำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ 6/2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 15/2557 ก่อนจะกลับมาออกอากาศอีกครั้งในชื่อสถานีโทรทัศน์ฟ้าวันใหม่ โดยยังมีวิทเยนทร์เป็นผู้บริหารสถานีตามเดิม และรับหน้าที่ผู้จัดรายการฟ้าวันใหม่ สายตรงบลูสกาย ถอนพิษ และข่าวคาใจ ซึ่งจัดคู่กับอัญชะลี ไพรีรัก
ในปี พ.ศ. 2564 วิทเยนทร์ได้มาร่วมงานกับช่องท็อปนิวส์ เพื่อจัดรายการคู่กับอัญชะลีอีกครั้ง ในชื่อ "ข่าวเที่ยงตรง" ก่อนที่หนึ่งเดือนต่อมาจะเปลี่ยนชื่อรายการเป็น "TOP ข่าวเที่ยง" จนในเวลาต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ประกาศข่าว ทำให้วิทเยนทร์กับอัญชะลี ไม่ได้จัดรายการคู่กันอีก
ในปี พ.ศ. 2567 วิทเยนทร์ได้มาร่วมงานกับแนวหน้าออนไลน์ เพื่อจัดรายการคู่กับอัญชะลีอีกครั้ง ในชื่อ แนวหน้า FRONTLINE ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างแนวหน้าออนไลน์ และ Around The World
รางวัลที่เคยได้รับ
[แก้]- พ.ศ. 2541 บุคคลตัวอย่างประจำปี สาขาธุรกิจบริการท่องเที่ยว
- พ.ศ. 2547 ศิษย์การบินดีเด่น หน่วยฝึกการบินพลเรือน ฝูงบิน 604 กองทัพอากาศ
- พ.ศ. 2547 ประกาศเกียติคุณชั้นสามัญ สภากาชาดไทย ประทานโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
- พ.ศ. 2549 ประกาศเกียติคุณชั้นสาม สภากาชาดไทย ประทานโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ[10]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2553 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[11]
- พ.ศ. 2552 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)[12]
- พ.ศ. 2556 – เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 (เหรียญทอง)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ คอลัมน์: คนตามข่าว: วิทเยนทร์ มุตตามระ รักษาการ ศชอ.'ชีวิตหนีไม่พ้นน้ำ' หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 12 เมษายน 2554 โดยดุษฎี สนเทศ
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-18. สืบค้นเมื่อ 2014-05-02.
- ↑ นิติวิทยาศาสตร์บี้ตร. โผล่หัวรับชอบสึนามิ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 14 มกราคม 2548
- ↑ http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9510000049523[ลิงก์เสีย]
- ↑ http://www.suranandlive.com/today-detail/152[ลิงก์เสีย]
- ↑ http://www.manager.co.th/politics/ViewNews.aspx?NewsID=9500000146692[ลิงก์เสีย]
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-21. สืบค้นเมื่อ 2014-05-02.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-06-16. สืบค้นเมื่อ 2014-05-02.
- ↑ มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 27 ตุลาคม 2553 เรื่องการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
- ↑ http://www.oknation.net/blog/youngcandidates/2007/11/16/entry-3
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๓, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๑๗๘, ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๒, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๓, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒