วิกตอเรีย ยูจีนีแห่งบัทเทนแบร์ก สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน
วิกตอเรีย ยูจินีแห่งบัทเทินแบร์ค | |||||
---|---|---|---|---|---|
สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน | |||||
ดำรงพระยศ | 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1906 - 14 เมษายน ค.ศ. 1931 | ||||
ก่อนหน้า | มาเรีย คริสตินาแห่งออสเตรีย | ||||
ถัดไป | โซเฟียแห่งกรีซและเดนมาร์ก | ||||
พระราชสมภพ | 24 ตุลาคม ค.ศ. 1887 ปราสาทแบลมอรัล ประเทศสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร | ||||
สวรรคต | 15 เมษายน ค.ศ. 1969 โลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ | (81 ปี)||||
ฝังพระศพ | 18 เมษายน 1969 โบสถ์คาทอลิก โลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ 25 เมษายน 1985 เอลเอสโกเรียล ประเทศสเปน | ||||
คู่อภิเษก | พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 แห่งสเปน | ||||
พระราชบุตร | 7 พระองค์ | ||||
| |||||
ราชวงศ์ |
| ||||
พระราชบิดา | เจ้าชายเฮนรีแห่งบัทเทินแบร์ค | ||||
พระราชมารดา | เจ้าหญิงเบียทริซแห่งสหราชอาณาจักร |
เจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีแห่งบัทเทินแบร์ค (Princess Victoria Eugenie of Battenberg; พระนามเต็ม วิกตอเรีย ยูจีนี จูเลีย เอนา; 24 ตุลาคม ค.ศ. 1887 - 15 เมษายน ค.ศ. 1969) ทรงเป็นพระมเหสีในพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 แห่งสเปน และพระราชนัดดาพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย นอกจากนี้สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน ยังเป็นพระราชนัดดาของพระองค์อีกด้วย
พระชนม์ชีพในวัยเยาว์
[แก้]เจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีประสูติเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1887 ณ ปราสาทบัลมอรัล มณฑลอเบอร์ดีนไชร์ ประเทศสกอตแลนด์ พระชนกของพระองค์คือ เจ้าชายเฮนรีแห่งบัทเทินแบร์ค พระโอรสองค์ที่สี่และองค์ที่สองในเจ้าชายอเล็กซานเดอร์แห่งเฮสส์และไรน์ ที่ประสูติกับเคาน์เตสจูเลีย ฟอน ฮ็อค ส่วนพระชนนีคือ เจ้าหญิงเบียทริซแห่งสหราชอาณาจักร พระราชธิดาองค์ที่ห้าและองค์เล็กในสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย
เนื่องจากพระชนกของเจ้าหญิงทรงประสูติจากการอภิเษกสมรสต่างฐานันดรศักดิ์ (morganatic marriage) จึงยังผลให้เจ้าชายเฮนรีทรงดำรงพระอิสรยยศเป็นเจ้าชายแห่งบัทเทินแบร์คจากพระชนนี ซึ่งได้รับการเฉลิมพระยศเป็นเจ้าหญิงแห่งบัทเทินแบร์คตามสิทธิ์ของตน ฉะนั้นพระธิดาในเจ้าชายเฮนรี่จะต้องทรงเป็น เจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีแห่งบัทเทินแบร์ค (HSH Princess Victoria Eugenie of Battenberg) แต่ในวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1886 สมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียมีพระบรมราชโองการให้พระโอรสและธิดาในเจ้าชายเฮนรี่และเจ้าหญิงเบียบริซดำรงพระอิสริยยศชั้น Highness (ซึ่งเข้าใจกันว่าสูงกว่าชั้น Serene Highness สำหรับระบอบราชาธิปไตยที่ไม่ใช่ละติน) เจ้าหญิงทรงได้รับการขนานพระนามตามพระอัยยิกาสองทั้งพระองค์และตามแม่ทูนหัวคือ สมเด็จพระจักรพรรดินียูเจนีแห่งมอนติโจ พระมเหสีม่ายชาวสเปนในอดีตสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งประทับลี้ภัยอยู่ในประเทศอังกฤษ พระนามสุดท้ายของพระองค์ที่ตั้งขึ้นจากการประสูติในสกอตแลนด์ (เจ้าชายมอริส พระอนุชามีพระนาม "โดนัลด์" เป็นพระนามสุดท้ายในพระนามเต็มด้วยเหตุผลเช่นเดียวกัน) : เจ้าหญิงเบียทริซทรงเขียนว่า "Eua" ในเอกสารการประสูติ (ซึ่งเป็นชื่อภาษาเกลิก) แต่ดร. คาเมรอน ลีส์ ซึ่งเป็นประธานในพิธีศีลจุ่มได้อ่านผิดเป็น "Ena" ต่อมาเจ้าหญิงจึงทรงเป็นที่รู้จักในพระราชวงศ์และสาธารณชนอังกฤษทั่วไปว่า "เอนา" (Ena)
เจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีทรงเจริญพระชนม์ขึ้นในราชสำนักของสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย เนื่องจากองค์พระประมุขแห่งอังกฤษได้พระราชทาน พระบรมราชานุญาตอย่างลังเลพระราชหฤทัยให้เจ้าหญิงเบียทริซอภิเษกสมรสได้บนเงื่อนไขที่ว่าพระองค์จะยังคงทรงเป็นผู้ดูแลพระชนนีที่ใกล้ชิดตลอดเวลาและราชเลขานุการส่วนพระองค์ เจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีจึงทรงดำรงพระชนม์ชีพในวัยเยาว์ที่ปราสาทวินด์เซอร์ ปราสาทบัลมอรัล และตำหนักออสบอร์น บนเกาะไวท์ พระชนกของพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ขณะทรงปฏิบัติพระราชภารกิจทางทหารหลังจากประชวรด้วยโรคไข้ป่าในทวีปแอฟริกาในปี ค.ศ. 1896 ภายหลังจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียในปี ค.ศ. 1901 ครอบครัวบัทเทินแบร์คได้ย้ายไปยังกรุงลอนดอนและเข้าไปประทับในพระราชวังเคนซิงตัน ในช่วงฤดูร้อนที่ตำหนักออสบอร์น เจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีทรงพบกับแกรนด์ดยุคบอริส วลาดิมีโรวิชแห่งรัสเซีย ซึ่งเป็นพระญาติในสมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 แกรนด์ดยุคทรงต้องพระทัยในเจ้าหญิงอังกฤษแสนงามพระองค์นี้มากและเมื่อทรงพบกันอีกครั้งในปี ค.ศ. 1905 ที่เมืองนิซา พระองค์ก็ทรงขออภิเษกกับเจ้าหญิง เจ้าหญิงทรงเกือบจะตอบรับแต่ก็ทรงปฏิเสธในตอนสุดท้าย
การหมั้นหมาย
[แก้]ในปี ค.ศ. 1905 พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 แห่งสเปน ได้เสด็จเยือนประเทศอังกฤษอย่างเป็นทางการ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร พระราชปิตุลาของเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีได้พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่กษัตริย์แห่งสเปนที่พระราชวังบัคกิ้งแฮม พระองค์ประทับอยู่ระหว่างกลางของสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดราและเจ้าหญิงเฮเลนา พระขนิษฐาในองค์พระประมุขแห่งอังกฤษ ทันใดนั้นก็ได้ทรงสังเกตเห็นเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีและจึงตรัสถามเจ้าหญิงเฮเลนาว่าเจ้าหญิงที่มีเส้นพระเกศาเกือบจะสีขาวเป็นผู้ใด เมื่อเจ้าหญิงทรงรู้สึกว่ากษัตริย์แห่งสเปนกำลังทอดพระเนตรพระองค์ก็ทรงรู้สึกประหม่าเขินอาย ทุกพระองค์ล้วนทรงทราบว่าสมเด็จพระราชาธิบดีอัลฟอนโซทรงกำลังมองหาเจ้าสาวที่เหมาะกับตำแหน่งพระราชินีแห่งสเปนและหนึ่งในผู้ที่น่าได้รับเลือกมากที่สุดคือ เจ้าหญิงแพทริเซียแห่งคอนน็อต พระธิดาในเจ้าชายอาร์เธอร์ ดยุคแห่งคอนน็อตและสแตรเธิร์น พระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แต่ในตอนนี้เจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีทรงทำให้พระองค์หันมาสนพระทัยแทนได้และเจ้าหญิงแพทริเซียมิได้ทรงทำให้องค์พระประมุขแห่งสเปนพอพระทัยสักเท่าใดนัก พระองค์ทรงสนพระทัยในเจ้าหญิงมากขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้นการเกี้ยวพาราสีจึงเริ่มขึ้นและเมื่อพระองค์เสด็จกลับยังประเทศสเปนแล้วก็ยังคงทรงส่งไปรษณียบัตรมาหาเจ้าหญิงอยู่บ่อยครั้งและมีพระทัยจดจ่อกับเจ้าหญิงอย่างมาก สมเด็จพระราชินีมาเรีย คริสตินา พระบรมราชชนนีมิได้ทรงเห็นด้วยกับการเลือกว่าที่พระราชินีของพระองค์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตระกูลบัทเทินแบร์คไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง อันเนื่องจากภูมิหลังอันคลุมเครือของพระมารดาในเจ้าชายเฮนรี่ และอีกส่วนหนึ่งมาจากพระองค์ทรงต้องการให้พระโอรสอภิเษกในพระราชวงศ์ของพระองค์เองคือ ราชวงศ์ฮับส์บูร์กจากออสเตรีย นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคอันใหญ่หลวงต่อการอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีและพระองค์ทรงได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย เจ้าหญิงทรงเป็นพาหะที่น่าเป็นไปได้ของโรคเฮโมฟีเลีย ที่เป็นโรคเกี่ยวกับพระโลหิตซึ่งถ่ายทอดมายังเชื้อสายบางพระองค์จากสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย ในความจริงแล้ว เจ้าชายเลโอโพลด์ พระอนุชาในเจ้าหญิงทรงเป็นโรคเฮโมฟีเลีย (ผู้แต่งบางท่านยังกล่าว่า เจ้าชายมอริส พระอนุชาพระองค์เล็กก็ทรงเป็นโรคฮีโมฟีเลียด้วยเช่นกัน) ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ 50 เปอร์เซนต์ที่เจ้าหญิงจะทรงเป็นพาหะของโรคและถ้ากษัตริย์อัลฟอนโซอภิเษกสมรสกับพระองค์ พระราชโอรสและธิดาอาจทรงติดโรคมาด้วย แต่พระองค์ไม่ทรงสนพระทัยกับภยันตรายครั้งนี้ และยังคงทรงตัดสินพระทัยที่จะอภิเษกกับเจ้าหญิงอยู่ดี
หลังจากช่วงหนึ่งปีของข่าวลือเกี่ยวกับกษัตริย์แห่งสเปนจะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงองค์ใด ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1906 สมเด็จพระราชินีมาเรีย คริสตินา ทรงยอมรับการเลือกว่าที่พระราชินีของพระโอรสและมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าหญิงเบียทริซเกี่ยวกับความรักของพระโอรสที่มีต่อเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีและการขอติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 อย่างไม่เป็นทางการ ในหลายวันต่อมาที่ปราสาทวินด์เซอร์ พระองค์ทรงแสดงความปีติยินดีกับพระราชนัดดาในเรื่องการหมั้นหมายในอนาคต
เจ้าหญิงเบียทริซและพระธิดาเสด็จถึงยังเมืองบิอาร์ริตในวันที่ 22 มกราคมและประทับอยู่ในตำหนักมอริสโกต์ ซึ่งกษัตริย์อัลฟอนโซได้เสด็จมาพบในอีกหลายวันต่อมา และในที่นี้พระองค์และอนาคตเจ้าสาวของพระองค์ได้ทรงอยู่ในช่วงเวลาสามวันแห่งความรัก หลังจากนั้นก็ทรงนำเจ้าหญิงและพระชนนีไปยังเมืองซานเซบาสเตียนเพื่อพบกับสมเด็จพระราชินีมาเรีย คริสตินา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ กษ้ตริย์อัลฟอนโซก็เสด็จออกจากเมืองซานเซบาสเตียนเพื่อไปยังกรุงมาดริดและเจ้าหญิงกับพระชนนีเสด็จไปยังเมืองแวร์ซายส์ ซึ่งเป็นที่ทรงรับการถวายคำสอนตามแบบคาทอลิก ในฐานะที่จะทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสเปนในอนาคต พระองค์จะต้องทรงเปลี่ยนจากศานาคริสต์นิกายลูเธอรันมาเป็นนิกายโรมันคาทอลิก การรับเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีเข้ามาในนิกายโรมันคาทอลิกอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1906 ณ พระราชวังมิรามาร์ เมืองซานเซบาสเตียน
เงื่อนไขในการอภิเษกสมรสได้ทำออกมาเป็นข้อตกลงสองแบบคือ สนธิสัญญามหาชนและการจัดทำเอกสารสัญญาแบบไม่เป็นทางการ สนธิสัญญาได้จัดทำขึ้นระหว่างประเทศสเปนกับสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1906 ณ กรุงลอนดอน โดยผู้มีอำนาจเต็มจากทั้งสองประเทศคือ ดอน ลุยส์ โปโล เด แบร์นาเบ เอกอัครราชทูตสเปนประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ และ เซอร์ เอ็ดเวิร์ด เกรย์ บารอนเน็ต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ การอนุมัติสนธิสัญญาได้แลกเปลี่ยนกันในวันที่ 23 ของเดือนเดียวกัน นอกจากเงื่อนไขต่างๆ แล้ว ในสนธิสัญญายังกำหนดข้อต่อรองไว้ดังนี้
ขอให้ทุกคนที่ร่วมอยู่ในการทำสัญญาแจ้งแก่ใจว่าสมเด็จพระราชาธิบดีอัลฟอนโซที่สิบสาม กษัตริย์แห่งสเปนทรงเห็นสมควรที่จะประกาศพระราชประสงค์ในการเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจินี จูเลีย เอนาแห่งบัทเทินแบร์ค พระภาติยะในสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 กษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ และดินแดนในปกครองของอังกฤษโพ้นทะเลต่างๆ จักรพรรดิแห่งอินเดีย และพระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเบียทริซ แมรี่ วิกตอเรีย ฟีโอดอร่า (เจ้าหญิงเฮนรี่แห่งบัทเทินแบร์ค)... มาตราที่ 1 เป็นการสรุปและเห็นชอบแล้วว่าการอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระราชาธิบดีอัลฟอนโซที่ 13 ที่ได้กล่าวไปแล้วกับเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนี จูเลีย เอนาแห่งบัทเทินแบร์ค ที่ได้กล่าวไปแล้วจะประกอบพิธีทางศาสนาด้วยพระองค์เองที่กรุงมาดริดทันทีที่การอภิเษกดังกล่าวเสร็จสิ้นอย่างราบรื่นแล้ว มาตราที่ 2 สมเด็จพระราชาธิบดีอัลฟอนโซที่ 13ที่ได้กล่าวไปแล้วทรงรับปากที่จะทำให้เจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนี จูเลีย เอนาแห่งบัทเทินแบร์คที่ได้กล่าวไปแล้วแน่พระทัยถึงวันอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชาธิบดี และจะทรงได้รับเบี้ยหวัดประจำปีจำนวนสีแสนห้าหมื่นเปเซตา ตลอดระยะเวลาของการอภิเษกสมรส สมเด็จพระราชาธิบดีอัลฟอนโซที่ 13 ที่ได้กล่าวไปแล้วยังทรงรับปากเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนี จูเลีย เอนาแห่บัทเทินแบร์คที่ได้กล่าวไปแล้วด้วยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าว่าในกรณีที่ทรงเป็นม่าย เพื่อรับรองเจ้าหญิงจากการเสด็จสวรรคตของพระองค์ จะทรงได้รับเบี้ยหวัดประจำปีจำนวนสองแสนห้าหมื่นเปเซตา ยกเว้นหรือจนกว่าเจ้าหญิงจะทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสครั้งที่สอง เงินเบี้ยหวัดทั้งสองได้รับการลงมติจากรัฐสภาสเปนเรียบร้อยแล้ว ข้อตกลงลับต่างๆ ที่จะทำจากแต่ละฝ่ายเกี่ยวกับการอภิเษกสมรสดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบและเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรในสนธิสัญญาคนละฉบับ ซึ่งอย่างไรก็ดีจะถือว่าเป็นการสร้างส่วนสำคัญหนึ่งในสนธิสัญญาฉบับปัจจุบัน มาตราที่ 3 คณะการร่างสัญญาระดับสูงจดบันทึกเกี่ยวกับข้อเท็จจริงตามสำเนาเอกสารที่เหมาะสมของกฎหมายแห่งอังกฤษที่ว่าเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนี จูเลีย เอนา ทรงสละพระราชสิทธิตกทอดทั้งหมดในการสืบราชบัลลังก์และรัฐบาลแห่งบริเตนใหญ่...[1]
การอ้างอิงถึงการสละพระราชสิทธิในการสืบราชสมบัติอังกฤษของเจ้าหญิงในสนธิสัญญาไม่ได้สะท้อนให้เห็นทั้งคำติเตียนของรัฐบาลอังกฤษต่อความเป็นพันธมิตรและการสละพระราชสิทธิ์ใดๆ ที่กระทำโดยเจ้าหญิงเลย แต่มันค่องข้างจะเป็นการรับรู้ในความเป็นจริงได้อย่างชัดเจนว่าการอภิเษกสมรสกับชาวคาทอลิก ทำให้เจ้าหญิงทรงสูญเสียสิทธิในการสืบราชบัลลังก์อังกฤษ อันเป็นผลมาจากพระราชบัญญัติการสืบราชสมบัติของอังกฤษ การตัดสิทธิเกิดขึ้นเฉพาะบุคคลและมีขอบเขต กล่าวคือ เชื้อสายของเจ้าหญิงคนใดที่ไม่ใช่โรมันคาทอลิกจะยังคงอยู่ในสายลำดับการสืบราชบัลลังก์อังกฤษ
สนธิสัญญาข้างต้นมิได้เป็นการปฏิบัติตามกฎระเบียบของพระราชบัญญัติการอภิเษกสมรสในพระราชวงศ์ปี ค.ศ. 1772 ที่กำหนดว่าเชื้อสายในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 2 ต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากองค์พระประมุขแห่งอังกฤษก่อนหน้าที่จะอภิเษกสมรสด้วยพระบรมราชโองการที่พระราชทานโดยคำแนะนำจากองคมนตรี (Order-in-Council) ในขณะที่มีข้อยกเว้นบางประการในพระราชบัญญัติเกิดขึ้นกับเชื้อสายในเจ้าหญิงต่างๆ ที่อภิเษก "เข้าไปยังราชวงศ์ต่างประเทศ" พระชนกในเจ้าหญิงก็ได้ทรงแปลงสัญชาติเป็นชาวอังกฤษมาก่อนการอภิเษกสมรสแล้ว แต่กระนั้นความห่วงใยในปฏิกิริยาต่อการอภิเษกสมรสของชาวโปรเตสแตนต์กระตุ้นให้รัฐบาลอังกฤษหลีกเลี่ยงการขอความเห็นชอบจากองค์พระประมุขต่อการอภิเษกสมรสในคณะองคมนตรีในพระองค์ การละเว้นเช่นนี้จะทำให้การอภิเษกสมรสไม่มีผลตามกฎหมายในประเทศอังกฤษ แต่รัฐบาลยึดหลักที่ว่าเจ้าหญิงมิได้ทรงผูกติดกับพระราชบัญญัติการอภิเษกในพระราชวงศ์ ซึ่งอิงอยู่บนการใช้กฎหมายในการสร้าง"ครอบครัวต่างประเทศ"แบบละมุนละม่อมอย่างชัดเจน เนื่องจากพระชนกในเจ้าชายเฮนรี่ทรงเป็นชาวเยอรมันและพระชนนีเป็นชาวโปแลนด์
สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน
[แก้]เจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีได้ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระเจ้าอัลฟอนโซในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1906 ณ พระอารามหลวงซานเคโรนิโม ในกรุงมาดริด โดยมีพระชนนีม่ายของเจ้าหญิง พร้อมด้วยเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ (ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร และ มาเรียแห่งเท็ค) ซึ่งเป็นพระญาติใกล้ชิดของเจ้าหญิงเสด็จมาร่วมในงานพระราชพิธี
หลังจากพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ขบวนเสด็จกำลังมุ่งหน้ากลับสู่พระราชวังหลวงเมื่อมีเหตุการลอบปลงพระชนม์องค์พระประมุขและพระมเหสีองค์ใหม่ (ซึ่งตอนนี้คือ "สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ยูจีเนีย" หรือ "พระราชินีเอนา" ในแบบเป็นไม่เป็นทางการ) มาเตอู มอร์ราล ซึ่งเป็นพวกลัทธิอนาธิปไตยได้ขว้างระเบิดลูกหนึ่งจากระเบียงตึกไปยังรถม้าพระที่นั่ง พระราชินีทรงปลอดภัยเนื่องจากขณะที่เกิดการระเบิดขึ้นทรงหันพระพักตร์ไปเพื่อจะทอดพระเนตรโบสถ์เซนต์แมรี่ ซึ่งพระราชสวามีกำลังทรงชี้ให้ทอดพระเนตร พระองค์ทรงรอดพ้นจากการบาดเจ็บ แม้ว่าฉลองพระองค์จะเต็มไปด้วยจุดเลือดของราชองครักษ์ ซึ่งได้ขี่ม้าขนาบข้างรถม้าพระที่นั่งก็ตาม
หลังจากการเริ่มต้นที่ไม่เป็นมงคลของการดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสเปน พระองค์ทรงโดดเดี่ยวจากพสกนิกรชาวสเปนและไม่เป็นที่นิยมชมชอบในประเทศใหม่ของพระองค์ แต่ชีวิตการสมรสของพระองค์ก็พัฒนาขึ้นเมื่อทรงมีประสูติกาลพระโอรสและรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์คือ เจ้าชายอัลฟอนโซ อย่างไรก็ตาม ขณะที่เจ้าชายน้อยกำลังทรงรับการขลิบอวัยวะเพศนั้น เหล่าแพทย์ได้สังเกตว่าพระโลหิตไม่หยุดไหล อันเป็นสัญญาณแรกที่เจ้าชายรัชทายาททรงเป็นโรคฮีโมฟีเลีย พระราชินีทรงเป็นต้นตอของสาเหตุอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งทรงถ่ายทอดไปยังพระโอรสองค์ใหญ่และองค์เล็ก ทั้งนี้แตกต่างจากการตอบสนองของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ซึ่งพระราชโอรสและรัชทายาทในราชบัลลังก์อันประสูติแต่พระราชนัดดาอีกพระองค์ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงได้รับความทุกข์ทรมานที่คล้ายคลึงกัน พระเจ้าอัลฟอนโซมิเคยพระราชทานอภัยโทษแก่พระราชินีเอนาหรือทรงตระหนักถึงสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแม้แต่น้อยเลย แม้กระนั้นพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 และสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ยูจีเนียมีพระราชโอรสและธิดาเจ็ดพระองค์ พระราชโอรสห้าพระองค์และพระราชธิดาสองพระองค์ พระธิดาทั้งสองพระองค์มิได้ทรงเป็นพาหะของโรคเฮโมฟีเลีย
หลังจากการประสูติของพระราชโอรสและธิดาแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างของพระราชินีเอนากับกษัติรย์อัลฟอนโซก็คลอนแคลนมากขึ้น กษัตริย์อัลฟอนโซทรงถูกระแวงว่ามีความสัมพันธ์นอกสมรสมากมาย รวมถึงการทรงใช้เวลาว่างอย่างเสเพลกับเจ้าหญิงเบียทริซแห่งออร์เลอ็อง-บอร์บอน พระญาติชาวอังกฤษของพระราชินีเอนา
พระราชินีเอนาทรงอุทิศพระองค์ในการทรงงานในโรงพยาบาลและการช่วยเหลือคนยากจน รวมถึงการศึกษาด้วย พระองค์ยังทรงมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดตั้งองค์กรกาชาดแห่งสเปนขึ้นมาใหม่อีกด้วย
การเสด็จลี้ภัยไปยังต่างแดน
[แก้]พระราชวงศ์สเปนได้เสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1931 หลังจากการเลือกตั้งเทศบาลได้ทำให้พวกริพับลิกันขึ้นมามีอำนาจตามเมืองใหญ่ส่วนมาก ซึ่งนำไปสู่การประกาศสาธารณรัฐสเปนครั้งที่สอง พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 ทรงหวังว่าการเสด็จออกนอกประเทศอย่างโดยดีอาจจะช่วยป้องกันสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคริพับลิกันกับพรรคชาตินิยมได้ พระราชวงศ์ก็ได้เสด็จไปประทับยังประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี ต่อมาพระราชินีเอนาและกษัตริย์อัลฟอนโซทรงแยกทางกัน พระองค์ทรงประทับในประเทศอังกฤษบ้างและประเทศสวิตเซอร์แลนด์บ้าง ในปี ค.ศ. 1939 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้น พระราชินีเอนาทรงถูกขอให้เสด็จออกจากสหราชอาณาจักร ในฐานะที่มิได้ทรงเป็นสมาชิกในพระราชวงศ์อังกฤษแล้ว พระองค์ได้ทรงซื้อปราสาทหลังหนึ่งคือ Vielle Fontaine นอกเมืองโลซาน
ในปี ค.ศ. 1938 พระราชวงศ์ทั้งหมดได้รวมตัวกันที่กรุงโรมในงานพิธีศีลจุ่มของเจ้าชายฆวน การ์โลสแห่งสเปน พระโอรสองค์โตในเจ้าชายฆวน และเมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1941 พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 ซึ่งทรงรู้สึกว่าพระองค์ใกล้จะเสด็จสวรรคตจึงได้โอนพระราชสิทธิทั้งหมดในราชบัลลังก์สเปนให้แก่เจ้าชายฆวน เคานท์แห่งบาร์เซโลนา พระราชโอรส ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พระองค์ทรงมีอาการพระหทัยวายเป็นครั้งแรกและเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1941
พระราชินีเอนาเสด็จกลับยังประเทศสเปนช่วงสั้น ๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1968 เพื่อเป็นแม่ทูนหัวในงานพิธีศีลจุ่มของเจ้าชายเฟลิเป พระราชปนัดดาซึ่งเป็นพระโอรสในเจ้าชายฆวน การ์โลสแห่งสเปน (ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน) กับ เจ้าหญิงโซฟีแห่งกรีซและเดนมาร์ก (ต่อมาคือ สมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน)
ปลายพระชนม์ชีพ
[แก้]พระราชินีเอนาเสด็จสวรรคตในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1969 ณ เมืองโลซาน ซึ่งมีช่วงระยะเวลา 38 ปีพอดีหลังจากการเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศสเปน พระศพของพระองค์ฝังอยู่ที่โบสถ์พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ (Sacré Coeur) ในเมืองโลซาน ต่อมาในวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1985 พระอัฐิของพระองค์ได้ถูกนำกลับสู่ประเทศสเปนและฝังลงที่ห้องใต้ดินหลวง พระอารามหลวงเอสกอเรียล ตั้งอยู่นอกกรุงมาดริด เคียงข้างพระอัฐิของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 พระราชสวามี เจ้าชายอัลฟอนโซ เจ้าชายไฆเม และเจ้าชายกอนซาโล พระราชโอรสของพระองค์
พระอิสริยยศ
[แก้]- 24 ตุลาคม 1887 - 1906: พระองค์เจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีแห่งบัทเทินแบร์ค (Her Highness Princess Victoria Eugenie of Battenberg)
- 1906 - 31 พฤษภาคม 1906: สมเด็จพระบรมวงศ์ เจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีแห่งบัทเทินแบร์ค (Her Royal Highness Princess Victoria Eugenie of Battenberg)
- 31 พฤษภาคม 1906 - 28 กุมภาพันธ์ 1941: สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน (Her Majesty The Queen of Spain)
- 28 กุมภาพันธ์ 1931 - 15 เมษายน 1969: สมเด็จพระราชินีบิกตอริอา ยูจีนิอาแห่งสเปน (Her Majesty Queen Victoria Eugenia of Spain)
พระราชโอรสและธิดา
[แก้]- สมเด็จเจ้าฟ้าชายอัลฟอนโซแห่งสเปน เจ้าชายแห่งอัสตูเรียส (อัลฟอนโซ ปิโอ คริสติโน เอดูอาร์โด ฟรานซิสโก กิลแยร์โม คาร์ลอส เอ็นริเก แฟร์นันโด อันโตนิโอ เบนันซิโอ บอร์บอน อี บัตเต็นแบร์ก; 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1907 - 6 กันยายน ค.ศ. 1938) ทรงเป็นโรคเฮโมฟีเลีย และ สิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา
- ทรงสละพระราชสิทธิ์ในพระราชบัลลังก์สเปนทั้งหมดของพระองค์เองและเชื้อสายของพระองค์ (เนื่องจากการอภิเษกต่างฐานันดรศักดิ์โดยตั้งใจ) ในวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1933 ภายหลังทรงได้ดำรงพระอิสริยยศเป็น เคานท์แห่งโคบาดองกา
- อภิเษกสมรสครั้งแรกวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1933 ณ เมืองโลซาน ต่อมาทรงหย่าร้างวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1937 กับ ดอนญา เอเดลมิรา อิกนาเซีย อาเดรียนา ซัมเปรโด อี โรคาบาโต (5 มีนาคม ค.ศ. 1906 - 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1994)
- อภิเษกสมรสครั้งที่สองในวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1931 ณ กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ต่อมาทรงหย่าร้างวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1938 กับ มาร์ธา เอสเธอร์ โรคาฟอร์ต อี อัลตูซาร์รา (18 กันยายน ค.ศ. 1913 - 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1993)
- สมเด็จเจ้าฟ้าชายไฆเมแห่งสเปน ดยุคแห่งเซโกเบีย (พระนามเต็ม ไฆเม ลูอิตโพลด์ อิซาเบลิโน เอ็นริเก อัลแบร์โต อัลฟอนโซ วิกตอร์ อาคาซิโอ เปโดร มาเรีย เด บอร์บอน อี บัตเต็นแบร์ก; 23 มิถุนายน ค.ศ. 1908 - 20 มีนาคม ค.ศ. 1975)
- ทรงสละพระราชสิทธิ์ในพระราชบัลลังก์สเปนทั้งหมดของพระองค์เองและเชื้อสายของพระองค์ (เนื่องจากความบกพร่องทางร่างกาย) ในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1933 เมื่อพระชนมายุ 4 พรรษา ประชวรด้วยโรคปุ่มกกหูของกระดูกขมับอักเสบ (mastoiditis) และผลจากการผ่าตัดทำให้พระองค์ทรงหูหนวก การพูดของพระองค์ไม่เคยพัฒนาขึ้นอย่างสมบูรณ์เลย
- อภิเษกสมรสครั้งแรกวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1935 ณ กรุงโรม ต่อมาทรงหย่าร้างวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1947 และ สิ้นสุดลงวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1949 กับ วิตตอเรีย ฌานน์ โจเซฟีน ปิแยร์ เอมานูเอลา เดอ ดัมปิแยร์ (เกิด 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1913 - 3 พฤษภาคม ค.ศ. 2012 )
- อภิเษกสมรสครั้งที่สองวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1949 ณ เมืองอินส์บรุค ประเทศออสเตรีย กับ ชาร์ล็อต หลุยส์ ออกุสตา ทีเดมันน์ (2 มกราคม ค.ศ. 1919 - 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1979)
- สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเบียทริซแห่งสเปน (พระนามแบบเต็ม เบียบริซ อิซาเบล เฟเดริกา อัลฟองซา เอวเคเนีย คริสตินา มาเรีย เทเรซา เบียนเบนิดา ลาดิสลา เด บอร์บอน อี บัตเต็นแบร์ก; 22 มิถุนายน ค.ศ. 1909 - 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002)
- อภิเษกสมรสวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1935 ณ กรุงโรม กับ อเลสซานโดร ตอร์โลเนีย เจ้าชายผู้ครองรัฐที่ 5 แห่งชีวีเตลลา-เชซี (7 ธันวาคม ค.ศ. 1911 - 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1986) มีพระโอรสและธิดา 4 พระองค์
- สมเด็จเจ้าฟ้าชายแฟร์นันโดแห่งสเปน (ประสูติ และ สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1910)
- สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงมารีอา กริสตีนาแห่งสเปน (พระนามรูปเต็ม มารีอา กริสตีนา กัวดาลูเป มาเรีย เด ลา กอนเซปซิโอน อิลเดฟอนซา วิกตอเรีย เอวเคเนีย เด บอร์บอน อี บัตเต็นแบร์ก; 12 ธันวาคม ค.ศ. 1911 - 23 ธันวาคม ค.ศ. 1996)
- อภิเษกสมรสวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1940 ณ กรุงโรม กับ เอ็นริโก เอวเจนิโอ ฟรานเชสโก อันโตนิโอ มาโรเน ชินซาโน, เค้านท์แห่งมาโรเน (15 มีนาคม ค.ศ. 1895 - 23 ตุลาคม ค.ศ. 1968) มีพระธิดา 4 พระองค์
- สมเด็จเจ้าฟ้าชายฆวนแห่งสเปน เคาท์แห่งบาร์เซโลนา (พระนามรูปเต็ม ฆวน คาร์ลอส เทเรซา ซิลเวสเตร อัลฟอนโซ เด บอร์บอน อี เด บัตเต็นแบร์ก; ประสูติ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1913 สิ้นพระชนม์ 1 เมษายน ค.ศ. 1993)
- ทรงเป็นที่ยอมรับว่าเป็นรัชทายาทที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ในราชบัลลังก์สเปนและดำรงพระอิสริยยศ เจ้าชายแห่งอัสตูเรียส (มกุฎราชกุมารแห่งสเปน) ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1936 แต่ประสงค์ที่จะดำรงพระอิสริยยศเป็น เคานท์แห่งบาร์เซโลนา ต่อมาได้ทรงสละพระราชสิทธิ์ทั้งหมดในราชบัลลังก์ให้แก่เจ้าชายฆวน การ์โลสแห่งสเปน พระโอรสในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1977
- อภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1935 ณ กรุงโรม กับ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงมาเรีย เด ลาส แมร์เซเดสแห่งบูร์บง-ราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสอง (23 ธันวาคม ค.ศ. 1910 - 2 มกราคม ค.ศ. 2000) มีพระโอรสและธิดา 3 พระองค์
- สมเด็จเจ้าฟ้าชายกอนซาโลแห่งสเปน (พระนามแบบเต็ม กอนซาโล มานูเอล มาเรีย แบร์นาโด นาซิโซ อัลฟอนโซ มอริซิโอ เด บอร์บอน อี บัตเต็นแบร์ก; 24 ตุลาคม ค.ศ. 1914 - 13 สิงหาคม ค.ศ. 1934) ทรงเป็นโรคเฮโมฟีเลีย และ สิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในประเทศออสเตรีย
อ้างอิง
[แก้]- Eilers, Marlene A., Queen Victoria’s Descendants, Rosvall Royal Books, Falköping, 1997, 2nd Edition.
- ↑ แปลจาก "Hoelseth's Royal Corner". Spanish royal family links. Dag Trygsland Hoelseth. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-20. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1906.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
ก่อนหน้า | วิกตอเรีย ยูจีนีแห่งบัทเทนแบร์ก สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
มาเรีย คริสตินาแห่งออสเตรีย สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน | สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน (ราชวงศ์บูร์บง) (31 พฤษภาคม ค.ศ. 1906 - 14 เมษายน ค.ศ. 1931) |
สิ้นสุดระบอบกษัตริย์ (โซเฟียแห่งกรีซและเดนมาร์ก) |