พระวิหารในกรุงเยรูซาเลม
พระวิหารในกรุงเยรูซาเลม[1] (อังกฤษ: Temple in Jerusalem) หรือพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ (Holy Temple; ฮีบรู: בית המקדש (Bet HaMikdash = The Holy House)) หมายถึงพระวิหารที่สร้างต่อเนื่องกันมาบนเนินพระวิหารในตัวเมืองเก่าเยรูซาเลม ตามประวัติศาสตร์แล้วตำแหน่งนี้มีการก่อสร้างพระวิหารมาแล้วสองหลัง พระวิหารหลังต่อไปที่ยังไม่ได้สร้างถูกเรียกว่าพระวิหารที่สาม ซึ่งเชื่อว่าจะถูกสร้างขึ้นในอนาคตตามความเชื่อโบราณของศาสนายูดาห์ พระวิหารหรือเนินพระวิหารเป็นอุปมาของสถานที่ของพระเจ้า (Shechina) บนโลกมนุษย์ โดยสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมแบบฟินิเชียน
คัมภีร์ฮีบรูระบุว่าพระเจ้าซาโลมอน (ปกครองระหว่าง 971 - 931 ก่อน ค.ศ.)[2] โปรดให้สร้างพระวิหารแรก (First Temple) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนายูดาห์ตามบทบันทึกคัมภีร์ฮีบรู[3] เป็นที่เดียวที่เป็นที่ใช้ในการนมัสการ ตัวอาคารพระวิหารสร้างแทนพระวิหารศักดิ์สิทธิ์เดิมที่มีแท่นบูชาที่สร้างหยาบ ๆ บนเนิน[4] “พระวิหารแรก” ถูกทำลายโดยพวกบาบิโลน เมื่อ 587 ก่อนคริสต์ศักราชเมื่อบาบิโลนเข้าปล้นสะดมทำลายกรุงเยรูซาเลม การสร้างพระวิหารใหม่เริ่มขึ้นเมื่อปี 537 ก่อนคริสต์ศักราชแต่หยุดชะงักไปและมาเริ่มใหม่เมื่อปี 520 ก่อนคริสต์ศักราช และเสร็จเมื่อปี 516 ก่อนคริสต์ศักราช และสถาปนาในปี 515 ก่อนคริสต์ศักราช
หนังสือเอสรากล่าวว่าการสร้างพระวิหารเป็นคำสั่งของพระเจ้าไซรัสมหาราชและอนุมัติโดยพระเจ้าดาไรอัสมหาราช ห้าร้อยปีต่อมาพระเจ้าเฮโรดมหาราชก็โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารที่สองราว 20 ปีก่อนคริสต์ศักราช จึงรู้จักกันในชื่อพระวิหารของเฮโรด ต่อมาก็ถูกทำลายโดยโรมัน ในปี ค.ศ. 70 ระหว่างการล้อมเมืองเยรูซาเลม แต่กำแพงรอบนอกที่เห็นอยู่ทุกวันนี้มิได้ถูกทำลาย และเชื่อกันอยู่เป็นเวลานานว่ากำแพงตะวันตกเป็นสิ่งเดียวที่เหลืออยู่
ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมาเนินพระวิหารก็เป็นที่ตั้งของโดมแห่งศิลา (Dome of the Rock) และมัสยิดอัลอักศอ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามจากสมัยใกล้เคียงกัน
อวสานวิทยาศาสนายูดาห์ทำนายการก่อตั้งพระวิหารที่สามในเยรูซาเลมพร้อมกับการมาของพระเมสสิยาห์ ฉะนั้นผู้ที่นับถือศาสนายูดาห์นิกายออร์ทอดอกซ์และคอนเซอร์เวทีฟมีความเชื่อในการสร้าง “พระวิหารที่สาม” ที่จะเกิดขึ้น
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 2007 ก็มีการพบส่วนที่ดูเหมือนว่าจะเป็นส่วนเหลือจากพระวิหารที่สองระหว่างการติดตั้งท่อในบริเวณนั้น[5] ต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนักโบราณคดีก็อ้างว่าได้พบสิ่งของที่เชื่อว่าเป็นของ “พระวิหารที่หนึ่ง”[6]
ที่มา
[แก้]พระคัมภีร์เรียกพระวิหารแห่งเยรูซาเลมว่า “Beit HaMikdash” หรือ “พระวิหาศักดิ์สิทธิ์” และเป็นพระวิหารเดียวในเยรูซาเลมที่ใช้ชื่อนี้ แต่ก็ได้รับชื่ออื่น ๆ ในคัมภีร์ฮีบรูที่รวมทั้ง “Beit Adonai” (พระนิเวศของพระเจ้า) หรือเพียง “Beiti” (นิเวศของฉัน) หรือ “Beitechah” (พระนิเวศของพระองค์)
พระวิหารแห่งซาโลมอน (พระวิหารของพระเจ้าโซโลมอน) สร้างตามแบบที่พระเจ้าทรงวางไว้โดยเฉพาะให้แก่พระเจ้าดาวิด พระเจ้าดาวิดทรงหวังว่าจะสร้างพระวิหารแรกแต่ถูกพระเจ้าทรงสั่งห้ามและบอกให้รอให้พระโอรสเป็นผู้สร้างพระวิหารแรก ระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าเดวิดพระองค์ก็เริ่มรวบรวมวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ต่อไป ตั้งแต่ไม้, หินสำหรับสร้างฐาน ไปจนถึงทอง, เงิน, บรอนซ์ และโลหะต่างที่ต้องใช้ จุดประสงค์ของการสร้างพระวิหารก็เพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งหีบแห่งพันธสัญญา (Ark of the Covenant) สำหรับชนทุกชาติโดยเฉพาะชนชาติอิสราเอล และสำหรับเป็นที่ให้ทุกคนสามารถเข้ามาสักการบูชาพระยาห์เวห์ได้
พระวิหารแรกเรียกว่า “พระวิหารโซโลมอน” สันนิษฐานกันว่าสร้างโดยผู้ที่มาจากชนสิบสองเผ่าแห่งอิสราเอล (12 tribes of Israel) เพราะทั้งสิบสองเผ่ามารวมตัวกันภายใต้การนำของพระเจ้าเดวิดและต่อมาพระเจ้าโซโลมอน หลังจากรัชสมัยของพระเจ้าโซโลมอนแล้วเรโฮโบอัม (Rehoboam) พระราชโอรสผู้มีพระนิสัยที่หยิ่งยโสที่ทำให้เผ่าอิสราเอล 10 แยกตัวออกไปก่อตั้งเป็นอาณาจักรเหนือ ขณะที่เผ่ายูดาห์, เบนจามิน และส่วนใหญ่ของลีไวยังอยู่กับราชอาณาจักรยูดาห์ พระวิหารที่สองต่อมาสร้างโดยเผ่ายูดาห์ที่ยังหลงเหลืออยู่ผู้ที่ถูกพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 (Nebuchadnezzar) นำไปเป็นเชลยราว 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช เผ่าอิสราเอล 10 อื่นขณะนั้นก็สลายตัวไปก่อนหน้านั้นแล้วหลายร้อยปีเมื่ออาณาจักรถูกทำลายโดยราชอาณาจักรอัสซีเรีย (Assyria)
พระวิหารแรกและพระวิหารที่สอง
[แก้]พระวิหารทั้งสองครั้งสร้างต่อเนื่องกันบนเนินพระวิหารในกรุงเยรูซาเลม:
พระวิหารแรกหรือพระวิหารโซโลมอนสร้างราวหนึ่งพันปีก่อนคริสต์ศักราชและได้รับการบ่งทางดาราศาสตร์ว่าสร้างเมื่อ 957 ปีก่อนคริสต์ศักราช[7] แทนที่แท่นบูชาเดิม พระวิหารนี้มาถูกทำลายโดยพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 เมื่อ 586 ปีก่อนคริสต์ศักราช ฉะนั้นพระวิหารแรกจึงตั้งอยู่ราว 375 ก่อนที่จะถูกทำลาย ธรรมเนียมทัลมุด (Talmud) กล่าวว่า 410 ปี ตัวสิ่งก่อสร้างมีบทบาทสำคัญในธรรมเนียม
พระวิหารที่สองสร้างหลังจากที่พระเจ้าไซรัสมหาราชพระราชทานพระบรมราชนุญาตให้ชาวยิวกลับมาจากบาบิโลนหลังจากถูกจับไปเป็นเชลยโดยพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ การย้ายกลับมาเกิดขึ้นราว 537 ปีก่อนคริสต์ศักราช และจากที่ชะงักการก่อสร้างไปหลายครั้งในที่สุดก็สร้างเสร็จในปี 516 ปีก่อนคริสต์ศักราช สัดส่วนของเนินพระวิหารขณะนั้นคือ 150 เมตร x 50 เมตร[8]
พระวิหารที่สองถูกทำลายโดยจักรวรรดิโรมันภายใต้การนำของไททัส ใน ค.ศ. 70 ก่อนหน้านั้นพระวิหารที่สองก็ถูกรื้อโดยนายทหารโรมันปอมเปย์ (Pompey) เมื่อยึดเยรูซาเลมเมื่อ 63 ปีก่อนคริสต์ศักราช นักประวัติศาสตร์โจซีฟัสบันทึกว่าปอมเปย์มิได้ยึดสิ่งของใด ๆ จากพระวิหารหรือจากที่เก็บสมบัติของพระวิหาร แต่สังหารปุโรหิตหลวงที่มายืนขวางไม่ให้เข้าพระวิหาร
ในที่สุดปอมเปย์ก็สิ้นอำนาจและเสียชีวิตเมื่อถูกตามไล่สังหาร ซึ่งชนยิวเห็นว่าเป็นการลงโทษโดยพระเจ้า ประมาณ 20 ปีก่อนคริสต์ศักราชพระเจ้าเฮโรดมหาราชก็ทรงเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์กลุ่มสิ่งก่อสร้างของพระวิหารเพื่อจะให้มีความใหญ่โตและมีความเป็นสง่าขึ้นกว่าเดิม แต่แทบจะยังไม่ทันสร้างเสร็จก็ถูกทำลายอย่างไม่เหลือหรอจนถึงฐานโดยจักรวรรดิโรมัน[9]
ระหว่างการปฏิวัติครั้งสุดท้ายของชนยิวต่อการยึดครองของโรมันราวระหว่างปี ค.ศ. 132 ถึงปี ค.ศ. 135 ไซมอน บาร์ โครห์บา (Simon bar Kokhba) และรับบีอะคิวา ต้องการจะสร้างพระวิหารใหม่แต่การปฏิวัติล้มเหลวและชาวยิวถูกห้ามไม่ให้เข้ากรุงเยรูซาเลมโดยจักรวรรดิโรมัน
การพยายามสร้างพระวิหารใหม่ริเริ่มขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 363 เมื่อจูเลียนผู้เลิกศรัทธา (Julian the Apostate) สั่งให้บูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเยรูซาเลมเพื่อเป็นการแสดงการประท้วงคริสต์ศาสนาแต่ไม่สำเร็จ นักประวัติศาสตร์นอกศาสนาร่วมสมัยอัมมิอานัส มาร์เซลลินัส (Ammianus Marcellinus) บันทึกว่ามีเปลวเพลิงพลุ่งขึ้นมาจากฐานและฆ่าคนงานไปหลายคน[ต้องการอ้างอิง]
พระวิหารที่สาม
[แก้]ตั้งแต่พระวิหารที่สองถูกทำลายไปการสวดมนต์สำหรับการก่อสร้างพระวิหารที่สามก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสวนมนตร์ประจำวันสามครั้งของชาวยิว แต่คำถามที่ว่าเมื่อใดที่จะเหมาะสมในการสร้างพระวิหารที่สามก็ยังเป็นที่ไม่ตกลงกันในบรรดาชาวยิว บางกลุ่มก็เห็นด้วยกับการสร้างแต่บางกลุ่มก็ไม่เห็นด้วย ขณะที่การขยายตัวของศาสนาอับราฮัมตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 เป็นต้นมาเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันในความเป็นเจ้าของกรุงเยรูซาเลมซึ่งเป็นเมืองสำคัญของทั้งสามศาสนา—ศาสนายูดาห์, ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นที่ตั้งของกรุงเยรูซาเลมในปัจจุบันก็เป็นการยากที่จะก่อสร้างพระวิหารใหม่บนบริเวณที่ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมัสยิดอัลอักศอ และโดมแห่งศิลาซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม
แผนผังพระวิหาร
[แก้]ตามคัมภีร์ทาลมุดพระวิหารมี “Ezrat Nashim” (เอซรัท นาชิม) บริเวณสำหรับสตรีทางด้านตะวันออก และบริเวณหลักทางด้านตะวันตก บริเวณหลักมีบริเวณสำหรับฆ่าสัตว์สำหรับการสังเวย และ “Mizbaeach” หรือแท่นบูชานอกที่ใช้เป็นที่เผาสิ่งที่ใช้ในการสักการะเกือบทั้งหมดและเป็นที่เทหรือพรมเลือด ตัวอาคารพระวิหารประกอบด้วย “Ulam” (อูลาม) หรือห้องรอ (antechamber), “Heichal” (ไฮคาล) และ “Kadosh Hakadashim” (คาโดช ฮาคาดาชิม) หรือห้องศักดิ์สิทธิ์สูงสุด (ห้องอภิสุทธิสถาน) ห้องไฮคาลกับห้องคาโดช ฮาคาดาชิมแยกจากกันด้วยกำแพงในพระวิหารแรกแต่ในพระวิหารที่สองด้วยม่านสองผืน ห้องไฮคาลเป็นที่เก็บคันประทีป (Menorah), ขนมปังเฉพาะพระพักตร์ (Showbread) และแท่นของหอม (Incense Altar)
ลานกลางมีสิบสามประตู ทางด้านใต้เริ่มจากทางมุมตะวันตกเฉียงใต้มีสี่ประตู:
- “Shaar Ha'Elyon” (ประตูบน)
- “Shaar HaDelek” (ประตูฟืน) เป็นประตูสำหรับนำฟืนเข้าพระวิหาร
- “Shaar HaBechorot” (ประตูบุตรคนโต) เป็นประตูสำหรับผู้มีบุตรคนโตที่นำสัตว์สำหรับพิธีสังเวยและพ่อและลูกเข้าเพื่อทำพิธี “Pidyon HaBen”
- “Shaar HaMayim” (ประตูน้ำ) ประตูสำหรับนำ Water Libation เข้ามาสำหรับเทศกาล “Sukkot”
ทางด้านเหนือเริ่มจากทางมุมตะวันตกเฉียงเหนือมีสี่ประตู:
- “Shaar Yechonyah” (ประตูเยโคนยาห์) เป็นประตูสำหรับผู้สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าเดวิดเข้าและเยโคนยาห์ออกเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะถูกจับ
- “Shaar HaKorban” (ประตูสักการะ) เป็นประตูสำหรับนักบวชที่นำเครื่องสักการะ “kodshei kodashim” เข้า
- “Shaar HaNashim” (ประตูสตรี)[10]
- “Shaar Hashir” (ประตูนักดนตรี) เป็นประตูทางเข้าสำหรับนักดนตรีและเครื่องดนตรี
ทางด้านตะวันออกเป็น “Shaar Nikanor” ระหว่างลานฝ่ายสตรีและลานหลักของพระวิหารมีประตูเล็ก ๆ สองประตู ประตูซ้ายและประตูขวาซึ่งไม่มีความสำคัญเท่าใดนัก และมีอีกสองประตูที่ไม่มีชื่อ
พระวิหารในบทเขียนของผู้เผยพระวจนะ
[แก้]พระวิหารในพระคัมภีร์บรรยายมโนทัศน์ของการปรากฏตัวของพระเจ้ามายังที่ตั้งของพระวิหาร
อิสยาห์บันทึกว่า “ในปีที่กษัตริย์อุสซียาห์สิ้นพระชนม์ ข้าพเจ้าเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าประทับ ณ พระที่นั่งสูงและเทิดทูนขึ้น และชายฉลองพระองค์ของพระองค์เต็มพระวิหาร” (พระธรรมอิสยาห์ 6:1) ในบันทึกของเยเรมีย์ “เพราะเห็นแก่พระนามของพระองค์ ขออย่าทรงเกลียดพวกข้าพระองค์ ขออย่าให้พระที่นั่งรุ่งเรืองของพระองค์ต้องเสื่อมเสีย ขอทรงระลึกถึงและอย่าทรงหักพันธสัญญาของพระองค์ซึ่งมีไว้กับข้าพระองค์” (เยเรมีย์ 14:21)[11] และกล่าวว่า “ที่ตั้งแห่งสถานนมัสการของเราทั้งหลาย เป็นพระที่นั่งรุ่งเรืองซึ่งตั้งอยู่สูงตั้งแต่เดิมนั้น” (เยเรมีย์ 17:12)[12] อิสยาห์กล่าวถึงความสำคัญของการสวดมนต์เท่ากับการทำพิธีสังเวยในพระวิหารและถึงจุดประสงค์โดยทั่วไป:
คนเหล่านี้เราจะนำมายังภูเขาบริสุทธิ์ของเรา และกระทำให้เขาชื่นบานอยู่ในนิเวศอธิษฐานของเรา เครื่องเผาบูชาของเขาและเครื่องสักการบูชาของเขา จะเป็นที่โปรดปรานบนแท่นบูชาของเรา เพราะนิเวศของเราเขาจะเรียกว่าเป็นนิเวศอธิษฐาน สำหรับบรรดาชนชาติทั้งหลาย (อิสยาห์ 56:7)[13]
พิธีกรรม
[แก้]พระวิหารเป็นที่ประกอบการสักการบูชาที่บรรยายในคัมภีร์ฮีบรูที่รวมทั้งการสังเวยประจำวันเช้าและบ่าย และการสังเวยพิเศษในวันสะบาโต และวันสำคัญทางศาสนาของศาสนายูดายอื่น ๆ ชนเลวีขับเพลงสดุดีระหว่างพิธี หรือเพลงสดุดีที่เหมาะแก่โอกาสตามความเหมาะสมเช่นในโอกาสขอบคุณพระเจ้า
อุปมาของสวนอีเด็น
[แก้]ลานภาพในพระวิหารโซโลมอนเต็มไปด้วยต้นไม้, ดอกไม้ และน้ำพุ เพราะแต่เดิมผู้สร้างพระวิหารตั้งใจจะให้เป็นเป็นการสร้างสวนเอเดน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ดาเนียล 5:2". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2011-11-25.
- ↑ "Temple, the." Cross, F. L., ed. The Oxford dictionary of the Christian church. New York: Oxford University Press. 2005
- ↑ Books of Chronicles, 1 Chronicles, chapter 22 - 29
- ↑ Will Durant. Our Oriental Heritage. New York: Simon and Schuster. 1954. p. 307. See 1 Kings 3:2.
- ↑ "Possible remains of second temple found in Jerusalem". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-11. สืบค้นเมื่อ 2009-04-24.
- ↑ Finds on Temple Mount from First Temple
- ↑ Erwin Reidinger: "The Temple Mount Platform in Jerusalem from พระเจ้าโซโลมอน to Herod: An Archaeological Re-Examination." In Assaph, Studies in Art of History, Volume 9, Tel Aviv 2004, 1-64.
- ↑ Hecateus of Abdere or pseudo-Hecateus of Abdere, transmitted by Josephus and Eusebius of Caesarea (Contra Appium: 1/22; Evangelical Preparation: 9/4.)
- ↑ Josephus, Judaic Antiquities : 15/14
- ↑ Sheyibaneh Beit Hamikdash:Women in the Azarya?
- ↑ เยเรมีย์ 14
- ↑ เยเรมีย์ 17
- ↑ อิสยาห์ 56:7
- ↑ Juan Rafael de la Cuadra Blanco (2005). «King Philip of Spain as Solomon the Second. The origins of Solomonism of the Escorial in the Netherlands», en The Seventh Window. The King's Window donated by Phillip II and Mary Tudor to Sint Janskerk (1557), p. 169-180 (concept & editing Wim de Groot, Verloren Publishers, Hilversum ed.). ISBN 90-6550-822-8.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พระวิหารแรกและพระวิหารที่สองแห่งเยรูซาเลม วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ การทำลายพระวิหารแห่งเยรูซาเลม