วัดเจ้าอาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเจ้าอาม
พระปรางค์วัดเจ้าอาม บรรจุอัฐิพระสนมอาม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเจ้าอาม
ที่ตั้งถนนบางขุนนนท์ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูนิวิฐสาธุวัตร (ทองล่ำ ยโสธโร ป.ธ.5)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดเจ้าอาม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมถนนบางขุนนนท์ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร วัดมีเนื้อที่ตั้งวัด 12 ไร่ เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างขึ้นเพื่ออุทิศพระราชกุศลให้กับพระสนมเอกที่มีนามว่า อาม หรือ เจ้าอาม ที่ถูกพระองค์สั่งให้ประหารชีวิตด้วยเข้าใจผิดว่ามีการคบชู้สู่ชาย พร้อมกับได้สร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ขึ้นองค์หนึ่งเพื่อบรรจุอัฐิพระสนมอาม

ประวัติ[แก้]

วัดสร้างขึ้นปี พ.ศ. 2322 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อแรกสร้าง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างขึ้นเพื่ออุทิศพระราชกุศลให้กับพระสนมเอกที่มีนามว่า อาม หรือ เจ้าอาม ที่ถูกพระองค์สั่งให้ประหารชีวิตด้วยเข้าใจผิดว่ามีการคบชู้สู่ชาย พร้อมกับได้สร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ขึ้นองค์หนึ่งเพื่อบรรจุอัฐิพระสนมอาม การก่อสร้างยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จไปปราบปรามชุมนุมข้าศึกต่าง ๆ เป็นระยะเวลายาวนานถึง 3 ปี การก่อสร้างวัดจึงได้ร้างมาเป็นเวลานานปี ต่อมาระยะหลัง ชาวบ้านได้ช่วยกันก่อสร้างวัด แต่เนื่องจากสิ่งก่อสร้างเหล่านั้น ได้ก่อสร้างมาเป็นเวลานานปี ขาดการบูรณปฏิสังขรณ์ จึงได้ชำรุดทรุดโทรมผุพังไปตามสภาพ อีกทั้งการคมนาคมไม่สะดวก จึงไม่ค่อยมีผู้ที่รู้จัก พระภิกษุสามเณร ไม่ค่อยมาจำพรรษาอยู่

ต่อมาปี พ.ศ. 2512 ในสมัยจอมพลประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น พร้อมด้วยท่านผู้หญิงไสว จารุเสถียร และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ฝ่ายพลเรือน ทหารและตำรวจ ได้นำกลองขนาดใหญ่มาถวายที่วัดเจ้าอาม พร้อมทั้งนำต้นศรีมหาโพธิ์, ต้นสาระ ที่เอกอัครราชทูตแห่งอินเดีย นำมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย มาปลูกที่วัดเจ้าอามนี้ และยังได้เป็นเจ้าภาพบริจาคทรัพย์บูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์ ได้ทาสีพระปรางค์องค์ขาวทั้งองค์ และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่ยอดพระปรางค์ด้วย แต่ได้เกิดเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้การก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์วัดได้ล้มเลิกไป ทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนระดับประถมศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร และศูนย์สาธารณสุขตั้งอยู่ในที่วัดอีกด้วย[1]

ระยะหลังในสมัยท่านพระครูนิวิฐสาธุวัตร ได้พยายามเร่งพัฒนาวัดเจ้าอาม โดยการก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่าง ๆ

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อาคารเสนาสนะ ประกอบไปด้วยอุโบสถ 1 หลัง ภายในประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหน้าตัก 3 ศอกเศษ หล่อด้วยโลหะ เป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง[2] ยังมีหลวงพ่อโตในวิหารเป็นศิลาแลงปางมารวิชัย หน้าตัก 3 ศอกเศษ ปรางค์ใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่สวยยอดซุ้มปรางค์ได้ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนสูงประมาณ 3 ศอกทั้งสี่ทิศ มีพัทธสีมารอบอุโบสถเป็นพัทธเสมาคู่ (ปกติจะมีเฉพาะพระอารามหลวงเท่านั้น) วัดมีวิหาร 1 หลัง ศาลาการเปรียญ 1 หลัง สร้างใน พ.ศ. 2520 และกุฏิสงฆ์จำนวน 16 หลัง

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระอธิการเฉย (ดำรงตำแหน่งอยู่กี่ปีไม่ปรากฏหลักฐาน)
  • พระอธิการเทศ (ดำรงตำแหน่งอยู่กี่ปีไม่ปรากฏหลักฐาน)
  • พระอธิการยัง (ดำรงตำแหน่งอยู่กี่ปีไม่ปรากฏหลักฐาน)
  • พระอธิการไปล่ ดำรงตำแหน่งถึง พ.ศ. 2511
  • พระครูนิวิฐสาธุวัตร (ทองล่ำ ยโสธโร ป.ธ.5) ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 จนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดเจ้าอาม" (PDF).[ลิงก์เสีย]
  2. ""บางขุนนนท์" แหล่งของกิน ถิ่นวัดเก่า". ผู้จัดการออนไลน์. 21 พฤศจิกายน 2557.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]