ข้ามไปเนื้อหา

วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)

พิกัด: 18°46′58″N 98°57′04″E / 18.782837°N 98.951132°E / 18.782837; 98.951132
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดอุโมงค์
เจดีย์ประจำวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)
แผนที่
ที่ตั้งตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายเถรวาท มหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูสุคันธศีล (เจ้าคณะตำบลสุเทพเขต 2)
เว็บไซต์www.watumong.org
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา
ทางเข้าอุโมงค์หลัก

วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ บริเวณเชิงดอยสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่[1]

พญามังราย พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา (ครองราชย์ พ.ศ. 1805–1854) ทรงสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น[2] และวัดได้รับการบูรณะและเปลี่ยนชื่อหลายครั้งตราบจนปัจจุบัน

ใน พ.ศ. 2567 กรมศิลปากรได้เข้าบูรณะรูปปั้นโบราณในวัด โดยพอกปูนทับของเดิมแล้วปั้นขึ้นใหม่ ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง[3][4][5]

ประวัติ

[แก้]

วัดอุโมงค์เป็นวัดที่พญามังรายทรงสร้างขึ้น พระราชทานชื่อว่า "วัดเวฬุกัฏฐาราม" (วัดไผ่สิบเอ็ดกอ) เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณป่าไผ่เชิงดอยสุเทพ[2] พญามังรายทรงสร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อเป็นที่พำนักของคณะสงฆ์ซึ่งเชิญมาจากเกาะลังกาโดยเฉพาะ[6]

ต่อมาพญากือนา (ครองราชย์ พ.ศ. 1898–1928) ทรงเชิญมหาเถรจันทร์ พระภิกษุที่ทรงนับถือ ให้มาพำนัก ณ วัดนี้ พร้อมทั้งทรงบูรณะวัดโดยซ่อมแซมเจดีย์และสร้างอุโมงค์ทางเดินทั้งสี่ทิศ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอุโมงค์เถรจันทร์" ตามนามของวัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ที่มหาเถรเคยพำนักอยู่[2][7]

ในช่วงที่เมืองเชียงใหม่อยู่ใต้การปกครองของพม่า วัดอุโมงค์กลายเป็นวัดร้าง ไม่มีภิกษุจำพรรษา กระทั่งใน พ.ศ. 2492 เจ้าชื่น สิโรรส มาตั้งสำนักปฏิบัติธรรมขึ้น เนื่องจากได้รับแรงบันดาลใจจากสวนโมกขพลารามของพุทธทาสภิกขุ และตั้งนามใหม่ให้แก่วัดว่า "วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)" ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้มาจนปัจจุบัน[2]

ใน พ.ศ. 2567 กรมศิลปากรได้เข้าบูรณะรูปปั้นยักษ์อายุ 400–500 ปีหลายรูปภายในวัด โดยพอกปูนทับของเดิมแล้วปั้นขึ้นใหม่ ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ส่งผลให้สิ้นสภาพโบราณวัตถุ และไม่หลงเหลือฝีมือครูช่างแต่โบราณอีก[3][4][5]

ภาพจิตรกรรมภายในอุโมงค์

[แก้]

จิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์ในส่วนที่เหลือหลักฐานให้ชมในปัจจุบันอยู่บริเวณเพดานโค้งภายในอุโมงค์ ตัวอุโมงค์ตั้งอยู่บริเวณต่อเนื่องกับเจดีย์ทางทิศเหนือ โดยหันทางเข้าหลักไปยังทิศตะวันออกจำนวน 3 อุโมงค์ในด้านหน้า ซึ่งอุโมงค์กลาง (อุโมงค์ที่ 4) มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งสามารถเห็นได้ เพียง 3 อุโมงค์เท่านั้น คือ อุโมงค์ที่ 1, 2, และ 3 นอกเหนือจากนี้ไม่สามารถเห็นได้ อีกทั้งภาพหลักฐานจิตรกรรมฝาผนังในอุโมงค์มีสภาพลบเลือนไปมาก จำเป็นต้องใช้เทคนิคคัดลอกจิตรกรรมด้วยมือและคอมพิวเตอร์ควบคู่กัน โดยการคัดลอกลายเส้น และการคัดลอกเป็นภาพสี จึงทำให้ยังสามารถเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเก่าแก่ของศิลปะล้านนาซึ่งมีอายุกว่า 500 ปีได้ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม[8]

จิตรกรรมผาผนังภายในอุโมงค์ของวัดอุโมงค์ตามสภาพปัจจุบันนั้น อยู่ในสภาพที่ชำรุดลบเลือนมาก จนหลายคนเข้าใจว่าคงไม่มีภาพจิตรกรรมหลงเหลือแล้ว แต่จากการสำรวจของโครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์ กลับพบหลักฐานของจิตรกรรมฝาผนังมากกว่าที่คาดคิด เป็นเหตุให้กรมศิลปากรช่วยเหลือโดยจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน เพื่อมาทำการสำรวจ และอนุรักษ์จิตรกรรมแห่งนี้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2542-กลางปี พ.ศ. 2543

นอกจากนี้ ภัทรุตม์ สายะเสวี ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการอนุรักษ์จิตรกรรมวัดอุโมงค์ของกรมศิลปากรในขณะนั้น ได้เข้าร่วมทำงานอนุรักษ์จิตรกรรมอีกด้วย โดยการให้คำแนะนำและดูแลการปฏิบัติงานของทีมงานโครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์ เป็นอย่างดี

ส่วนการอนุรักษ์งานจิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์นั้นได้นำกระบวนการทางเคมีและศิลปะ ซึ่งมีขั้นตอนตั้งแตทำการสำรวจ, ทำความสะอาดภาพจิตรกรรม, เสริมความแข็งแรงของผนังปูนฉาบ, ชั้นสีของงานจิตรกรรมให้มั่นคงแข็งแรงพร้อมทั้งบันทึกหลักฐานตลอดงานการอนุรักษ์ทั้งภาพถ่าย แผนผัง และภาพลายเส้น ระหว่างขั้นตอนดังกล่าวทีมงานได้ค้นพบภาพจิตรกรรมฝาผนังเพิ่มเติมด้วยความบังเอิญ คือ เหตุที่ทำให้อุโมงค์ชำรุดเนื่องจากมีรอยร้าวที่อุโมงค์ เมื่อฝนตกทำให้น้ำไหลซึมเข้ารอยร้าว จึงเกิดการสะสมของหินปูนที่เคลือบลายจิตรกรรมจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ทีมงานจึงเอาคราบหินปูนออกโดยใช้น้ำยาเคมีที่ทำให้คราบหินปูนอ่อนตัวลง จากนั้นใช้มีดฝานหินปูนออกทีละนิดจนหมด จึงปรากฏภาพจิตรกรรมที่สวยงาม[9]

  • ภาพจิตรกรรมนกสลับดอกโบตั๋น
  • ภาพจิตรกรรมดอกบัวสลับลายเมฆ
  • ภาพจิตรกรรมดอกบัวสลับลายประจำยาม

การใช้สี

[แก้]

ภาพจำลองจิตรกรรมภายในอุโมงค์สร้างขึ้นโดยการใช้ข้อมูลที่ได้จากการคัดลอกงานจิตรกรรม และการปฏิบัติงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังด้วยกระบวนการทางเคมี ทำให้สามารถเห็นจิตรกรรมฝาผนังในสภาพเดิมก่อนการชำรุดเมื่อราว 500 ปีก่อน พบว่างานจิตรกรรมนี้มีสีที่ใช้มากอยู่ 2 สี คือสีแดงสด (แดงชาด) และลีเขียวสด สองสีนี้เป็นสีตรงข้าม ส่วนอัตราการใช้สีอยู่ที่ 70:30 หรือ 80:20 ซึ่งตรงกับทฤษฎีสีที่พบในงานจิตรกรรม ในสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รวมถึงภาพจากการถ่ายด้วยกล้องดิจิทัล ซึ่งเป็นทฤษฎีสีตรงข้ามตามอัตราส่วนดังที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นจึงสามารถสันนิษฐานได้ว่า ช่างล้านนาสมัยนั้นรู้จักแนวคิดทฤษฎีสีและองค์ประกอบทางศิลปะก่อนที่ศิลปะจากตะวันตกจะแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยภายหลังอีกหลายร้อยปีต่อมา[10]

การสร้างอุโมงค์ของคนโบราณ

[แก้]
ทางเดินภายในช่องอุโมงค์

ชาวล้านนาสร้างอุโมงค์โดยการก่ออิฐถือปูน แล้วฉาบปูนปิดทับโครงสร้างอิฐอีกชั้นหนึ่ง แต่ปัจจุบันชั้นปูนฉาบนี้ได้หลุดกะเทาะเกือบหมดสิ้นแล้ว คงเหลือก็เพียงส่วนของเพดานโค้งภายในอุโมงค์ที่ปรากฏจิตรกรรมฝาผนังเท่านั้น ส่วนบริเวณด้านนอกเกือบทั้งหมดนั้นไม่ปรากฏชั้นของปูนฉาบแล้ว เหลือเพียงอิฐก่อผนัง และอิฐก่อโครงสร้างอุโมงค์เท่านั้น

ในปี พ.ศ. 2546 ในระหว่างราวปลายเดือนเมษายน-กันยายน ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อุโมงค์ครั้งใหญ่ที่ดำเนินงานโดยการรับเหมาผ่านเอกชน ภายใต้การกำกับของกรมศิลปากร มีการซ่อมแซมโครงสร้างของอุโมงค์ให้แข็งแรงขึ้น โดยขุดเปิดหน้าดินที่อยู่เหนืออุโมงค์ทั้งหมดจนลึกถึงระดับเดียวกับพื้นอุโมงค์ จึงพบหลักฐานเพิ่มเติม คือโครงสร้างแต่ละอุโมงค์ก่อด้วยอิฐถือปูน แยกไปแต่ละช่อง โดยเริ่มก่ออิฐเรียงสลับกันจากผนังอุโมงค์ขึ้นมาทั้งสองด้านจนได้ความสูงระดับที่เป็นเพดานก่ออิฐให้โค้งเข้าหากัน โดยใช้ด้านสันของอิฐที่มีทรงสี่เหลี่ยมคางหมูหันด้านสันเข้าหากัน จึงเป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลม จำเป็นต้องก่ออิฐผนังหนามากเพื่อรองรับโครงสร้างของอุโมงค์ ส่วนเหนือสุดก็มีการก่ออิฐเหลื่อมเรียงสลับกันปิดอยู่ด้านบนอีกชั้นหนึ่ง และพบว่าพื้นที่ระหว่างอุโมงค์แต่ละช่องนั้นล้วนเป็นดินลูกรังสีน้ำตาลอมส้มจนถึงระดับพื้นดินทั้งสิ้น ไม่ปนเศษอิฐ ปูน หรือเศษเครื่องเคลือบดินเผาเลย และชั้นดินลูกรังนี้ปิดมิดคลุมเพดานทุกอุโมงค์ด้วย และชั้นบนสุดจะมีอิฐปูทับอีกหลายชั้น ดังนั้น ภายในอุโมงค์ล้วนเป็นดินลูกรังและปิดทับด้วยอิฐภายนอกทั้งสิ้น และไม่มีห้องลับใดๆซ่อนอยู่ในระหว่างอุโมงค์ตามที่สงสัยกันแต่แรกแต่อย่างใด และบ่งชี้ได้ว่าเป็นอุโมงค์ที่ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เกิดจากการก่อสร้างของมนุษย์ขึ้นมาอย่างจงใจ[11]

เจดีย์ในวัดอุโมงค์

[แก้]
ช่องทางเดินภายในอุโมงค์

เจดีย์วัดอุโมงค์ เชิงดอยสุเทพ เชียงใหม่ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ต่อเนื่องกับอุโมงค์ทางทิศเหนือ ซึ่งอยู่ภายในวัดอุโมงค์เจดีย์วัดอุโมงค์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังระยะแรกของศิลปะล้านนาที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 19 ปรับปรุงมาจากเจดีย์ทรงระฆังแบบหนึ่งในศิลปะพุกาม ครั้นล่วงมาถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องกับต้นพุทธศตวรรษถัดมา เจดีย์ทรงนี้คลี่คลายไปโดยมีรูปทรงที่สูงโปร่ง และในช่วงเวลาของพุทธศตวรรษที่ 21 รูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังจึงมีการคลี่คลายปรับเปลี่ยนค่อนข้างรวดเร็ว เพราะได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ในศิลปะสุโขทัย อีกทั้งเป็นเจดีย์องค์สำคัญยุคต้นๆของพัฒนาการเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะล้านนา งานก่อสร้างเริ่มขึ้นในรัชกาลของพระเจ้ามังรายคงสร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ต่อมาได้รับการบูรณะในรัชกาลของพระเมืองแก้ว มีการปั้นปูนประดับลวดลายที่ส่วนฐานใต้ทรงระฆังมีการปรับเปลี่ยนที่ทรงกรวยซึ่งเป็นส่วนบนของเจดีย์ โดยประดับรูปกลีบบัวทรงยาวประกอบกันเป็นบัวคว่ำและบัวหงาย (ปัทมบาท) ตามแบบอย่างของเจดีย์มอญพม่า ส่วนองค์เจดีย์ในปัจจุบัน ยังเหลือแบบแผนที่น่าจะเป็นเค้าเดิม คือระเบียบของฐานในผังกลม 3 ฐานซ้อนลดหลั่น เป็นชุดฐานรองรับทรงระฆังใหญ่ ต่อขึ้นไปคือบัลลังก์สี่เหลี่ยม ส่วนยอดที่ทรงกรวยประกอบด้วยส่วนสำคัญที่ทางภาคกลางเรียกว่า ปล้องไฉน และปลี ที่ท้องไม้ของบานกลมแต่ละฐานประดับด้วยแถวช่องสี่เหลี่ยมไว้โดยรอบงานประดับเช่นนี้รวมทั้งขนาดที่ใหญ่ของทรงระฆัง เกี่ยวข้องกับแบบแผนของเจดีย์แบบหนึ่งของพุกาม สร้างเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่18 เช่นเจดีย์ในบริเวณวัดถิทสวดี (Thitsavadi Temple) ในหมู่บ้านปวาสอ (Pwasaw) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง[12]

ข้อมูลจำเพาะ

[แก้]

การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

[แก้]

วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 0ง วันที่ 8 มีนาคม 2478 พร้อมกับวัดอีกหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่[14]

คลังภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ปิยะรัตน์ โกมาศ. ประวัติวัดอุโมงค์. [ลิงก์เสีย] (เชียงใหม่ : โครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์, ม.ป.ป.)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล (2023-04-05). "วัดงามแห่งเขตอรัญญิก วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) วัดป่าเชิงดอยสุเทพที่สร้างในสมัยพญามังราย และมีเจดีย์ประธาน-จิตรกรรมเก่าแก่ที่สุดในเชียงใหม่". readthecloud.co.
  3. 3.0 3.1 "โวย บูรณะยักษ์ล้านนาวัดอุโมงค์ อายุ 500 ปี กลายเป็นของใหม่". thairath.co.th. 2024-06-08.
  4. 4.0 4.1 "ไม่เหลือสภาพโบราณวัตถุ!!! อ.เปิดภาพเทียบชัดๆ "วัดดัง" โบกปูนทับยักษ์โบราณ 500 ปี". sanook.com. 2024-06-08.
  5. 5.0 5.1 "โบกปูนทับ ยักษ์โบราณล้านนา อายุ 400 ปี จนใหม่เอี่ยม ที่แท้ผู้ว่าฯสั่ง". khaosod.co.th. 2024-06-09.
  6. "เที่ยว...วัดอุโมงค์ วัดเก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ ยุคพระเจ้ากือนาธรรมิกราช". smk.co.th. 2017.
  7. "ย้อนประวัติ "วัดอุโมงค์ เชียงใหม่" สัมผัสความสงบงามท่ามกลางเมือง". thairath.co.th. 2022-09-16.
  8. จิตรกรรมฝาผนังล้านนา : การค้นพบใหม่ที่วัดอุโมงค์. เก็บถาวร 2007-11-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เชียงใหม่ : โครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์, ม.ป.ป.)
  9. เมื่อมีดผ่าตัดช่วยไขปริศนาในงานจิตรกรรมโบราณ. เก็บถาวร 2007-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เชียงใหม่ : โครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์, ม.ป.ป.)
  10. สีสันในจิตรกรรม. [ลิงก์เสีย] (เชียงใหม่ : โครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์, ม.ป.ป.)
  11. คนโบราณเขาสร้างอุโมงค์กันอย่างไร. เก็บถาวร 2007-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เชียงใหม่ : โครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์, ม.ป.ป.)
  12. ที่มาของเจดีย์วัดอุโมงค์. [ลิงก์เสีย] (เชียงใหม่ : โครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์, ม.ป.ป.)
  13. "กันยารัตน์ บุตทนุ,นางสาว.รายงานวิชาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย.ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2547". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2007-09-12.
  14. ประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

18°46′58″N 98°57′04″E / 18.782837°N 98.951132°E / 18.782837; 98.951132