ข้ามไปเนื้อหา

วัดสุนทราวาส (จังหวัดพัทลุง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสุนทราวาส
แผนที่
ที่ตั้งตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดสุนทราวาส เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

ประวัติ

[แก้]

วัดสุนทราวาส เดิมเรียกว่า วัดปลายนา หรือ วัดชายนา ไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด ในเอกสารเรื่องจังหวัดพัทลุงของหน่วยศึกษานิเทศก์จังหวัดพัทลุง ได้กล่าวว่าวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2015 และตามทำเนียบวัดของพระครูอริยสังวร (เอียด) ว่าวัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2285 แต่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 1983 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2385[1] ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดหัวสุนทรา หรือ วัดสนทรา เพื่อให้สอดคล้องกับนิทานเรื่องนางสิบสอง ที่ว่าเมื่อนางสนทราตายแล้วได้นำศพมาทิ้งไว้ที่วัดนี้ จนกระทั่ง พ.ศ.2482 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสุนทราวาส[2]

แต่หลักฐานทางศิลปะเป็นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเท่านั้น ยังมีตำนานว่ามีชายคนหนึ่งได้ขุดสระน้ำขึ้นที่บ้านสุนทรา เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำ พร้อมกับได้สร้างวัดขึ้น คือ วัดสุนทราวาส กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และประกาศแนวเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 99 ตอนที่ 130 วันที่ 28 กันยายน 2525 เนื้อที่ 1 ไร่ 94 ตารางวา

อาคารและเสนาสนะ

[แก้]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถหลังเดิมที่สร้างด้วยไม้ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2385 ได้บูรณะเป็นอาคารก่ออิฐ ถือปูน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบการสร้างอุโบสถหลังนี้ด้วย ยังได้รับอุปถัมภ์พระยาพัทลุง (จุ้ย) อุโบสถรูปแบบสถาปัตยกรรมพระราชนิยม ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย 3 องค์ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ฝีมือการปั้นเป็นแบบพื้นเมือง พระประธานประดิษฐานบนฐานชุกชีลายแข้งสิงห์ ฝาผนังอุโบสถทั้งสี่ด้านเขียนภาพจิตรกรรมด้วยสีฝุ่น ภาพส่วนใหญ่ลบเลือนมาก รอบอุโบสถมีลานประทักษิณและกำแพงแก้วล้อมรอบ[3]

ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์วัดสุนทราวาส เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว สร้างขึ้นในสมัยพระครูสุนทรานุกูล อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 22 เพื่อเก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุ วัตถุอันเนื่องมาจากศาสนา และข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของชิ้นสำคญ เช่น พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทรทรงเครื่อง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระพุทธรูปปูนปั้นและพระพุทธรูปจำหลักด้วยงาช้าง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ เตียงจำวัดของพระอุดมปิฏก (อดีตเจ้าอาวาส) ขันทองเหลืองต้มย้อมจีวร โต๊ะหมู่บูชาสมัยรัชกาลที่ 3 เครื่องปั้นดินเผา โอ่งเคลือบ เครื่องทองเหลือง ตะบันหมาก หนังสือบุด ตำรายา เป็นต้น[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดสุนทราวาส". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. กรมศิลปากร. "วัดสุนทราวาส" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 16 ธันวาคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
  3. "วัดสุนทราวาส". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง.[ลิงก์เสีย]
  4. "พิพิธภัณฑ์วัดสุนทราวาส". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).