พระพุทธรูปทรงเครื่อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพุทธรูปทรงเครื่อง พระประธานภายในพระอุโบสถวัดนางนองวรวิหาร กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นในยุครัชกาลที่ 3 ล้อกันกับภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถ ที่เขียนเรื่องการปราบท้าวชมพูบดี

พระพุทธรูปทรงเครื่อง เป็นพระพุทธรูปแบบหนึ่ง ที่องค์พระจะแลดูสง่างามและฉลองพระองค์ทรงเครื่องขัตติยราชแบบกษัตริย์ เช่น สวมมงกุฎ กรองศอทับทรวง ฉลองพระบาท ฯลฯ พระพุทธรูปลักษณะนี้เกิดขึ้นจากคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ[1]

การกําเนิดของพระพุทธรูปทรงเครื่องในอินเดีย เกิดจากความเชื่อในฐานะของสมเด็จพระบรมศาสดาที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยยกย่องว่าพระพุทธเจ้าทรงมีสภาวะที่เหนือมนุษย์ธรรมดาทั่วไป คตินิยมนี้เริ่มเด่นชัดในคัมภีร์มหายานและได้แผ่ขยายเข้ามาถึงอาณาจักรพุกาม เรียก พระพุทธปฏิมาทรงเครื่องกษัตริย์นี้ว่า "ชมภูบดี" หรือ "ชมพูบดี" หรือ "มหาชมพู" ก็มี แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ในชมพูทวีป

ต่อมาชื่อ "ชมภูบดี" ปรากฎอยู่ในคัมภีร์ ชมพูบดีสูตร เป็นคัมภีร์ที่ไม่ปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎก มีเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์นามว่า "ชมพูบดี" ที่ครองกรุงปัจจาละ มีฤทธิ์ด้วยของวิเศษ เช่น ฉลองพระบาทที่ใส่แล้วสามารถเหาะได้ ด้วยราตรีหนึ่ง พระองค์ได้เหาะไปยังเมืองราชคฤห์ ด้วยความริษยาจึงคิดทำลายเมือง แต่ด้วยอานุภาพบุญแห่งพระเจ้าพิมพิสารคุ้มครอง แต่ของวิเศษเหล่านี้ถูกทำลายไป คราวนี้ทรงพิโรธจัดจึงกลับเมืองปัจจาละและนำศรจะมาทำร้ายพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารจึงกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงจำแลงมาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช มีพระอินทร์ พระพรหม เทพยดา นาค ครุฑ คน ธรรพ์ เป็นบริวาร ทรงปราบทิฏฐิมานะของพระเจ้าชมพูบดีได้สำเร็จ พระเจ้าชมพูบดีสำนักผิดออกผนวช จนบรรลุอรหัตผล[2] บางคติพระพุทธรูปทรงเครื่องบ้างว่าหมายถึง พระศรีอารยเมตไตรย หรือพระอนาคตพุทธเจ้า[3]

คตินิยมการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องนี้ได้แผ่ขยายเข้ามายังอาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง และอาณาจักรขอม และปรากฏเด่นชัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา สืบทอดจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งนอกจากปรากฏเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องแทนองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าแล้วยังเป็นพระราชสัญลักษณ์แทนองค์ผู้สร้างพระพุทธปฏิมาองค์นั้นอีกด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระพุทธรูปทรงเครื่อง:เครื่องทรงเยี่ยงกษัตริยาธิราช". สยามรัฐพระเครื่อง.
  2. ชัชวาล อัชฌากุล. "คติการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องในสังคมไทย" (PDF). มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-09-09. สืบค้นเมื่อ 2021-09-09.
  3. "พระพุทธรูปทรงเครื่อง". พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร.