วัดป่าเขาน้อย (จังหวัดพิจิตร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดป่าเขาน้อย
แผนที่
ที่ตั้งหมู่ที่ 5 ตําบลวังทรายพูน อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายธรรมยุติกนิกาย
เจ้าอาวาสพระเสถียร กันตฺสีโล
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดป่าเขาน้อย เป็นวัดราษฎร์สังกัดธรรมยุติกนิกาย ก่อตั้งขึ้นตามแบบแผนแห่งวัดที่มุ่งลักษณะวิปัสสนาธุระทั่วไป วัดตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านเนินหัวโล้ หมู่ที่ 5 ตําบลวังทรายพูน อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ปัจจุบันมี พระเสถียร กันตฺสีโล อยู่ในตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดป่าเขาน้อยมีคณะนักบวชประพฤติจริยาเป็นประจำอยู่ประมาณ 15-25 รูป

ประวัติ[แก้]

วัดป่าเขาน้อยเริ่มก่อตั้งเป็นวัดสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อปี พ.ศ. 2536 ทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) ในที่ดินพื้นที่บริเวณ “ หนองแฟบ ” ซึ่งมีขอบเขตที่เนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ 1 งาน 51 ตารางวา ให้กับ นายวงเดือน อัสโย ซึ่งเป็นอุบาสกผู้ริเริ่มก่อสร้างวัดในครั้งแรก และนายวงเดือน ได้มีศรัทธาถวายที่ดินแปลงดังกล่าวให้เป็นที่สร้างวัด

ปี พ.ศ. 2537 นายวงเดือน อัสโย ได้ดำเนินการขออนุญาตสร้างวัดต่อทางราชการในที่ดินแปลงที่ได้รับเอกสารสิทธิ์แล้วนั้น และได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนา ด้วยความเห็นชอบของกระทรวงศึกษาธิการ และมหาเถรสมาคม อนุญาตให้สร้างวัดได้ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2537

ปี พ.ศ. 2538 นายวงเดือน อัสโย ได้จัดทำรายงานขอตั้งวัด โดยขอตั้งชื่อวัดว่า “ วัดป่าเขาน้อย ” โดยมี หลวงปู่อ่ำ ธัมมกาโม (หมายถึงพระครูสันติวรญาณ ซี่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสันติวรญาณ ตำบลวังศาล อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ด้วย) เป็นเจ้าอาวาส เมื่อมีรายงานเสนอต่อทางราชการ จากนั้นกระทรวงศึกษาธิการ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมได้ออกประกาศตั้งวัดป่าเขาน้อยให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2538 และโดยมีพระอ่ำ ธัมมกาโม เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่นั้น

ปี พ.ศ. 2539 ได้มีประกาศพระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่วัดป่าเขาน้อยลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 113 ตอนที่ 18 ง เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2539 มีนายอำเภอวังทรายพูนเป็นผู้ปักหมายเขตวิสุงคามสีมา ณ บริเวณพระอุโบสถที่อยู่กลางหนองน้ำ ชื่อ หนองแฟบ ในพื้นที่เป็นบริเวณ กว้าง 30 เมตร ยาว 40 เมตร โดยประมาณ

โดยทั่วไปแล้ว ทราบกันดีว่าหลวงปู่จันทา ถาวโร เป็นพระอาจารย์ใหญ่แห่งสำนักวิปัสนาแห่งนี้ แต่หลวงปู่จันทาไม่ยอมรับในการแต่งตั้งให้ตนเองเป็นเจ้าอาวาส ต่อมาได้ยอมรับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าเขาน้อย เมื่ออยู่ในวัยชราภาพแล้ว โดยรับการเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2549 จวบกระทั่งวันมรณภาพ อนึ่งวัดป่าเขาน้อยในอดีตกาลนั้น เมื่อสมัยตั้งแต่ก่อตั้งวัดเป็นต้นมาคราคร่ำไปด้วยผู้คน และบรรดานักปฏิบัติธรรม พบว่าในอดีต มีภิกษุมาพำนักจำพรรษาอยู่อาศัยประกอบสมณะกิจ ที่ประมาณ 50-70 เป็นประจำ แตกต่างจากปัจจุบันซึ่งมีพระสงฆ์และนักปฏิบัตธรรมจำนวนน้อย ซึ่งอยู่ช่วยกันดูแลศาสนวัตถุ และศาสนสถานไม่ให้รกร้างและชำรุดทรุดโทรมมากเกินไป

สถานที่ภายในวัด[แก้]

งานปูนปั้นเรื่องราวพุทธประวัติภายในบริเวณวัด

พระอุโบสถกลางน้ำ, หอพระไตรปิฎก, ศาลาโรงฉัน, กุฏิถาวรประมาณ 60 หลัง, ศาลาโรงฉันน้ำร้อน, อาคารผู้มาพักปฏิบัติธรรม 6 อาคาร, อาคารเก็บรักษาของบริจาค, พระเมรุ, ถังคอนกรีตเก็บกักน้ำ 3 ถัง ถนนและกำแพงคอนกรีตในพื้นที่ประมาณ 280 ไร่, อาคารที่ล้างบาตร, สระน้ำ, บ่อน้ำบาดาล, ถ้ำประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อเพชร, วิหารรายรอบพื้นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์, พระพุทธรูปพระพุทธมณฑลมงคลบพิตร, เจดีย์ศรีโอภาสพระบรมธาตุ

อ้างอิง[แก้]