วัดบุพพาราม (จังหวัดเชียงใหม่)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบุพพาราม
หอมณเฑียรธรรม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบุพพาราม, วัดอุปปาใน , วัดเม็ง
ที่ตั้งตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดบุพพาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา

ประวัติ[แก้]

วัดบุพพาราม วัดอุปปา วัดอุปปาใน หรือ วัดเม็ง สร้างในสมัยพญาแก้ว (พ.ศ. 2039–2069) มีบันทึกใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ถึงการสร้างวัดนี้ว่า หลังจากที่พญาแก้วได้อภิเษกแล้วในปีที่สอง ได้โปรดให้สร้างอารามขึ้นอารามหนึ่ง ในหมู่บ้านที่พระราชปัยกา (พระเจ้าติโลกราช) ครั้งเป็นยุพราช และพระบิดาของพระองค์ (พญายอดเชียงราย) เคยประทับมาก่อน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5 ปีมะโรง จุลศักราช 858 (พ.ศ. 2040) พระองค์ตั้งชื่ออารามว่า "บุพพาราม" มีความหมายว่า "อารามตะวันออก" ซึ่งหมายถึงอารามนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของราชธานีนครเชียงใหม่ ต่อมาในปีที่ 3 ของการครองราชย์ พญาเมืองแก้วทรงโปรดให้สร้างปราสาทขึ้นองค์หนึ่งท่ามกลางมหาวิหาร ในอารามนั้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และย่างเข้าปีที่ 4 พญาเมืองแก้วทรงฉลองพระไตรปิฎกฉบับลงทองและหอพระมณเฑียรธรรม ที่พระองค์โปรดให้สร้างไว้ในวัดบุพพาราม ตามที่ปรากฏในชินกาลมาลีปกรณ์ว่า

พระเจ้าพิลกปนัดดาธิราชองค์นี้ หลังจากได้อภิเษกแล้ว ในปีที่ ๒ ได้โปรดให้สร้างอารามขึ้นอารามหนึ่งในหมู่บ้านที่พระราชปัยกาครั้งเป็นยุพราช และพระบิดาของพระองค์เคยประทับมาก่อน เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง จุลศักราช ๘๕๘ (พ.ศ. ๒๐๔๐) และพระองค์ตั้งชื่ออารามนั้นว่า ปุพพาราม แปลว่าอารามก่อน โดยหมายถึงอารามนั้นมีอยู่ด้านทิศบูรพา (ทิศที่ตะวันขึ้นที่นั่นก่อน) แห่งราชธานีนครเชียงใหม่ ต่อแต่นั้นมา ย่างเข้าปีที่ 3 เป็นปีมะเมีย พระองค์ทรงสร้างปราสาทขึ้นองค์หนึ่งท่ามกลางมหาวิหารในอารามนั้น เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมา ต่อแต่นั้น ย่างเข้าปีที่ 4 เป็นปีระกา พระเจ้าพิลกปนัดดาธิราชทรงฉลองพระไตรปิฎกฉบับลงทองและหอพระมณเทียรธรรมที่พระองค์โปรดให้สร้างไว้ในวัดปุพพาราม

— ชินกาลมาลีปกรณ์

[1]

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ทรงนิมนต์พระมหาสังฆราชาปุสสเทวะให้มาจำพรรษา ณ วัดบุพพาราม และทรงสร้างพระพุทธรูปเงิน 1 องค์

เจ้าพระญาแก้วภูตาธิปติราชะเจ้าได้เปนพระญาแล้ว เจ้าค็กะทำบุญเปนต้นว่า ส้างปุพพาราม แล้วไพราทธนามหาสังฆราชาปุสสเทวะมาเปนสังฆนายกะรักษาพระเจ้าในอารามนั้นแล ในขณะอันเวนอารามหื้อเปนทานนั้น แผ่นดินไหวเปนอัจฉริยะนัก ลวดส้างพระพุทธรูปเงินองค์ ๑ ฐปนาไว้ปุพพารามหั้นแล

— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

[2]

ภายหลังการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2362 พระยาธรรมลังกา เจ้าเมืองเชียงใหม่ โปรดให้สร้างวิหารหลังเล็ก ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า

สกราช ๑๑๘๑ ตัว ปลีกัดเหม้า เดือน ๘ เพง เมงวัน ๕ เจ้ามหาเทพตนเปนราชนัตตาเปนปฐมมหามูลสัทธา ค็ได้ส้างยกปกยังวิหารวัดพานอ้น พระเปนเจ้าเปนมหาสัทธาค็ได้ปกวิหารวัดป้านพิง วัดดอกฅำ วัดเชียงยืน สาลาเทส วิหารวัดปุพพาหลังวันออก วันเดียวกัน

— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

[3]

รายชื่อวัดและนิกายสงฆ์โบราณซึ่งสำรวจเมื่อพ.ศ. 2400 โดยหนานอุ่นเมือง กองธรรมการสงฆ์เชียงใหม่ สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ระบุว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดนิกายเม็ง (มอญ) อยู่ในหมวดอุโบสถวัดพันตาเกิน (วัดชัยศรีภูมิ์) ขึ้นกับวัดมหาวัน จึงมีอีกชื่อว่าวัดเม็ง และวัดอุปปาใน คู่กันกับวัดชัยมงคลที่เรียกว่าวัดอุปปานอก[4]

วัดบุพพารามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2070 ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนและขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอน 145 วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2522 หน้า 2953 พื้นที่โบราณสถาน ประมาณ 2 ไร่ 3 งาน 87 ตารางวา[5]

อาคารและเสนาสนะ[แก้]

เจดีย์

เจดีย์แบบพม่าตั้งอยู่บนฐานย่อเก็จ 2 ชั้น ลักษณะลวดลายและการย่อเป็นแบบพม่า รวมทั้งตัวองค์ระฆัง และส่วนปล้องไฉนด้วย และมีเจดีย์บริวารอยู่มุมฐาน 2 ชั้น ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เจดีย์สร้างเมื่อ จ.ศ. 872 (พ.ศ. 2053) ได้มีการบูรณะองค์เจดีย์โดยหลวงโยนะการพิจิตร (หม่องปันโหย่ อุปะโยคิน) ในปี จ.ศ. 1260 (พ.ศ. 2441) โดยเปลี่ยนรูปทรงเจดีย์ใหม่ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ขยายฐานให้กว้าง 38 ศอก ความสูง 45 ศอก มีฉัตรขนาดเล็กจำนวน 4 ฉัตร รวมทั้งมีต้นดอกไม้เงินดอกไม้ทอง อย่างละ 4 ต้น และมีฉัตรขนาดใหญ่ตรงยอดสูดขององค์เจดีย์ 1 ฉัตร และได้มีการบูรณะเจดีย์อีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2499 โดยพระพุทธิญาณ

วิหารใหญ่ ศิลปกรรมล้านนา สร้างโดยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้นแบบพม่า ภายในประดิษฐานพระพุทธมหาปฏิมากร ศิลปกรรมล้านนาซึ่งหล่อด้วยทองแดงล้วนมีน้ำหนัก 1 โกฏิ และมีพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนขนาบซ้ายขวาอีก 2 องค์ โดยหล่อด้วยทองสำริดทั้งคู่ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติและพระเวสสันดรชาดกซี่งเขียนด้วยสีฝุ่น โดยจิตรกร ปั๋น ช่างบ้านฮ่อ

วิหารหลังเล็ก ศิลปกรรมล้านนา เจ้าหลวงช้างเผือกธรรมลังกาโปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2362 ภายในประดิษฐานพระพุทธไชยลาภประสิทธิโชค (พระประธาน) ซึ่งก่อด้วยอิฐถือปูน หน้าตักกว้าง 7 ศอก สูง 9 ศอก ภายหลังเมื่อวิหารหลังเล็กได้รับการดัดแปลงแก้ไขในสมัยครูบาหลาน (อินต๊ะ) ต่อมาเจ้าแม่ทิพสม ณ เชียงใหม่ ได้ทำการบูรณะวิหารหลังเล็ก เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2445 ภายหลังเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดองค์ปัจจุบันได้ทำการบูรณะซ่อมแซมในรูปเดิมและเสริมในบางส่วน คือ ปั้นมอม (สัตว์หิมพานต์) 2 ตัว ไว้ที่บันได รวมทั้งบานประตูใหญ่ของวิหารซึ่งปั้นปูนเป็นเทพนม

หอมณเฑียรธรรมเป็นมณฑปปราสาทจัตุรมุขทรงล้านนา 2 ชั้น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2523 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระราชทานว่า พระพุทธบุพพาภิมงคล ภปร. และพระพุทธนเรศร์สักชัยไพรีพินาศ แกะด้วยไม้สัก ขนาดหน้าตักกว้าง 1 วาเศษ มีอายุประมาณ 400 ปี[6] ชั้นล่างของหอมณเฑียรธรรมจัดเป็นห้องสมุดศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนา

อ้างอิง[แก้]

  1. พระรัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์. พิมพ์ครั้งที่ 1 : กรมศิลปากร, 2501.
  2. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี|จังหวัด = เชียงใหม่| พิมพ์ที่ = ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่| ปี = 2538| ISBN = 974-8150-62-3|
  3. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี|จังหวัด = เชียงใหม่| พิมพ์ที่ = ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่| ปี = 2538| ISBN = 974-8150-62-3|
  4. https://www.finearts.go.th/chiangmailibrary/view/19186-เส้นทางจักรยานสู่แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เชียงใหม่-เล่มที่-3--วัดในนครเชียงใหม่-
  5. "วัดบุพพาราม". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
  6. "วัดบุพพาราม". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).