วัดต่อแพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดต่อแพ
แผนที่
ที่ตั้งตำบลแม่เงา อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูพิศิษฐ์พรหมคุณ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดต่อแพ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลแม่เงา อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ทางฝั่งขวาของลำน้ำยวม วิหารของวัดมีหลังคาสูงคล้ายวิหารที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง และมีเสากลม ตัวเพดานเขียนลวดลายอย่างสวยงาม ได้รับการยกย่องว่าเป็นวิหารที่สวยงามที่สุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน[1] ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 6 ไร่[2]

ประวัติ[แก้]

เดิมเป็นวัดร้าง ไม่ทราบว่าสร้างมาแต่สมัยไหน มีเจดีย์เก่าแก่ กองอิฐ ซากปรักหักพัง และป่ารกทึบ กระทั่งในปี พ.ศ. 2461 มีพระธุดงค์ชาวไทใหญ่เดินทางมาจากพม่า แล้วมาตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น หลังจากนั้นพ่อค้าที่เดินทางไปค้าขายยังแม่สะเรียงและพม่าด้วยการล่องแพไปจากที่นี่ ได้ร่วมมือกับชาวบ้านสร้างศาลาการเปรียญขึ้น พร้อมกับทำการบูรณะเจดีย์ที่พักพังด้วยการสร้างเจดีย์องค์ใหม่ครอบโดยได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระอรหันต์ และสร้างวิหารคู่กับองค์เจดีย์ ตั้งชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้าน ที่มีนามมาจากการที่ชาวบ้านจะใช้ไม้ไผ่ต่อเป็นแพ เพื่อให้เป็นพาหนะบรรทุกสินค้าไปทำการติดต่อค้าขายในอำเภอแม่สะเรียง ได้ขึ้นทะเบียนตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2461 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2525

สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง วัดเป็นที่พักทหารญี่ปุ่นจะเดินทางต่อไปยังพม่า บริเวณวิหารเล็กที่ตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์ใช้เป็นสถานที่พิมพ์ธนบัตร พื้นที่ใต้ถุนศาลาวัดใช้เป็นสถานพยาบาล รวมทั้งเมื่อทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยหรือสู้รบก็นำมาฝังไว้ภายในบริเวณวัดแห่งนี้ด้วย ปัจจุบันจึงมีอนุสรณ์สถานของทหารญี่ปุ่นให้เห็น ซึ่งตั้งอยู่บริเวณกำแพงด้านหน้าของทางเข้าวัด

อาคารเสนาสนะและโบราณวัตถุ[แก้]

เจดีย์และวิหารที่ตั้งเคียงข้างกันเป็นศิลปะไทยใหญ่ผสมพม่า ฐานเจดีย์แปดเหลี่ยมด้านล่างเป็นสีขาว ช่วงบนเป็นสีทอง ตามทิศต่าง ๆ ของเจดีย์จะมีซุ้มพระประจำ และมีสิงห์ตั้งอยู่ทั้ง 4 มุม ส่วนยอดประดับด้วยฉัตรโลหะ 7 ชั้น บนฉัตรมีระฆังแขวนห้อยอยู่จำนวนมาก[3]

ศาลาการเปรียญเป็นศิลปะไทยใหญ่ผสมพม่า เป็นศาลาชั้นเดียวใต้ถุนสูง หลังคาซ้อนหลายชั้น มีการประดับตกแต่งลวดลายฉลุ บริเวณใต้ถุนศาลาแขวนไว้ด้วยเถาลูกสะบ้าเขียนข้อความคติเตือนใจ ส่วนในอาคารศาลามีของาพถ่ายเก่าแกของวัด ปูชนียวัตถุ ได้แก่ พระพุทธรูปศิลปะพม่า ไทใหญ่ ที่มีทั้งพระประธาน พระพุทธรูปทรงเครื่อง พระบัวเข็ม และอีกมากมายหลายองค์ มีธรรมาสน์สวยงามเก่าแก่ จองพารา ผ้าม่านประดับทับทิมมีอายุมากกว่า 150 ปี เป็นเรื่องพุทธประวัติตอนพระเวสสันดรเสด็จประพาสอุทยาน ทำขึ้นในพม่าแล้วมีผู้ใจบุญนำมาถวายให้เจ้าอาวาสวัดต่อแพรูปแรก[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดต่อแพ". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  2. อรรจนีลดา วุฒิจันทร์, อ่อนเดือน เทียนทอง (2533). "ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 9". กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. p. 991. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-17. สืบค้นเมื่อ 2021-03-09.
  3. "'วัดต่อแพ'แม่ฮ่องสอน จิตวิญญาณชาวไตใหญ่". ข่าวสด.
  4. ปิ่น บุตรี (24 กุมภาพันธ์ 2553). "งามเป็นต่อ ที่"วัดต่อแพ" แม่ฮ่องสอน/ปิ่น บุตรี". ผู้จัดการออนไลน์.