วัดช่องลม (จังหวัดราชบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดช่องลม
แผนที่
ที่ตั้งตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดช่องลม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี

วัดช่องลมตั้งเมื่อ พ.ศ. 2411 แต่สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมชื่อว่า วัดช้างล้ม เนื่องจากสมัยก่อนทางทิศตะวันตกห่างจากวัดไป เป็นโรงสำหรับขังช้างของทางราชการ ฝูงช้างใช้เป็นที่เดินผ่านเพื่อไปกินน้ำและอาบน้ำที่แม่น้ำแม่กลองเป็นประจำ วันหนึ่งมีช้างเกิดพลาดติดหล่มล้มลง ชาวบ้านจึงเรียกสถานที่นี้ว่า "ช้างล้ม" ต่อมามีผู้ศรัทธาสร้าง ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2475 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จมาที่วัด เห็นว่าชื่อวัดไม่เป็นมงคล จึงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า "วัดช่องลม" วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2482 ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา[1]

ภายในวัดมีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดราชบุรี คือ หลวงพ่อแก่นจันทร์ เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ปางอุ้มบาตร แต่แปลกจากทั่วไป คือบาตรของหลวงพ่อเหมือนสวมอยู่ในถุงบาตรซึ่งมีที่จับ มีความสูงตั้งแต่พระเกตุมาลา ถึงพระบาท 2 เมตร 26 เซนติเมตร เล่ากันว่า หลวงพ่อแก่นจันทน์ลอยน้ำมาจากบ้านแก่งหลวง จังหวัดกาญจนบุรี จนกระทั่งมาถึงวัดช้างล้ม[2] ทางวัดจะมีการจัดงานสมโภชน์หลวงพ่อแก่นจันทร์ในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี และแห่รอบตลาดในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดช่องลม". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "พระคู่บ้านคู่เมือง - หลวงพ่อแก่นจันทน์ วัดช่องลม จ.ราชบุรี". bugaboo.tv.