โรงเรียนวัด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โรงเรียนวัด เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในธรณีสงฆ์ หรือตั้งในบริเวณวัด หรือใช้ทุนทรัพย์ของวัด สืบเนื่องในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้จัดตั้งโรงเรียนในวัดต่างๆ เนื่องจากประชาชนชาวไทยในยุคก่อนการจัดตั้งโรงเรียนนิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษาตามวัดต่างๆตามขนบธรรมเนียมประเพณี[1] โดยโรงเรียนวัดแห่งแรกที่จัดตั้งคือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม (ปัจจุบันคือโรงเรียนวัดมหรรณพ์) [2]

ประวัติ[แก้]

ในช่วงก่อนการจัดตั้งโรงเรียน ชาวไทยมักเรียนหนังสือที่วัด โดยมีพระทำหน้าที่สอนหนังสือ ซึ่งเวลาของการเรียนการสอนไม่แน่นอน นักเรียนก็ล้วนเป็นเด็กผู้ชาย ส่วนเด็กผู้หญิงต้องอยู่ช่วยงานบ้านงานเรือน

การศึกษาของไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ เหล่าข้าราชการ ได้ส่งบุตรหลานเข้าเรียนหนังสือ ซึ่งพระองค์ได้มีพระบรมราชโองการบางตอนหนึ่งว่า[1] หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งได้นำบุตรทูลเกล้า ทูลกระหม่อม ถวายให้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณ มีเป็นอันมาก ทรงพระราชดำริตอนหนึ่งว่า บุตรหลานของท่านทั้งปวง บรรดาที่เข้ารับราชการ สนองพระเดชพระคุณอยู่นั้น แต่ล้วนเป็นผู้มีชาติมีตระกูล ควรจะรับราชการ เบื้องหน้าต่อไป แต่ยังไม่รู้หนังสือไทย แลขนบธรรมเนียมราชการอยู่โดยมาก และการรู้หนังสือนี้ ก็เป็นคุณสำคัญข้อใหญ่ เป็นเหตุจะให้ได้รู้วิชา แลขนบธรรมเนียมต่าง ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้จัดโรงสอนขึ้นไว้ที่ในพระบรมมหาราชวัง แล้วจัดคนในกรมพระอาลักษณ์ ตั้งให้เป็นขุนนางพนักงาน สำหรับเป็นครูสอนหนังสือไทย สอนคิดเลข และขนบธรรมเนียมราชการ พระราชทานเงินเดือนครูสอนให้ สมควรพอใช้สอย ส่วนผู้ที่เรียนหนังสือนั้น ก็จะพระราชทานเสื้อผ้านุ่งห่ม กับเบี้ยเลี้ยงกลางวันเวลาหนึ่งทุกวัน ครูสอนนั้น จะให้สอนโดยอาการเรียบร้อย ไม่ให้ด่าตีหยาบคาย

ปี พ.ศ. 2424 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขณะนั้นยังทรงดำรงพระยศ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ราชองค์รักษ์ ผู้บังคับการทหารมหาดเล็ก) ทรงตั้งโรงเรียนขึ้นอีกแห่งหนึ่งเพื่อสอนผู้ที่จะมาเป็นนายสิบ นายร้อย ในกรมทหารมหาดเล็ก ด้วยมีนักเรียนเข้าเรียนเป็นจำนวนมากสถานที่ในกรมทหารมหาดเล็กมีไม่เพียงพอ จึงทรงพระราชทานพระตำหนักสวนกุหลาบ ให้ใช้เป็นโรงเรียนสำหรับทหารมหาดเล็ก ปีพ.ศ. 2425 โดยนักเรียนส่วนใหญ่เป็นราชนิกูล และบุตรหลานของข้าราชการ

ต่อมารัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชปรารภว่า สมควรที่จะจัดตั้งโรงเรียนให้แก่บรรดาราษฎรโดยทั่วถึงกัน จึงได้โปรดให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นเป็นแห่งแรกที่วัดมหรรณพาราม พ.ศ. 2427 ซึ่งการตั้งโรงเรียนในวัด เพื่อจะใช้ศาลาวัดเพื่อทำการเรียนการสอนหนังสือ เป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดินในส่วนการก่อสร้างอาคารเรียนใหม่ ขนบธรรมเนียม ประเพณีของไทยก็นิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในวัดอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีข่าวลือและตื่นตระหนกในหมู่ราษฎรว่าการส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนเหมือนการถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารทำให้ไม่กล้านำบุตรหลานเข้าเรียนหนังสือ ซึ่งข่าวลือนี้ทำให้รัชกาลที่ 5 จำต้องมีพระบรมราชโองการประกาศไม่ให้เชื่อข่าวลือนี้ ซึ่งภายหลังจากมีพระบรมราชโองการออกมาทำให้ราษฎรกล้าส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนหลวง และได้สร้างโรงเรียนตามวัดวาอารามต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และ หัวเมืองต่างๆ ขึ้นอีกหลายแห่ง[1]

โรงเรียนวัดในปัจจุบัน[แก้]

จากการสำรวจโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ใช้คำว่า วัด นำหน้าชื่อทั่วประเทศมีทั้งหมด 21,125 แห่ง เป็นโรงเรียนระดับประถม 20,907 แห่ง และโรงเรียนระดับมัธยมอีก 218 แห่ง

ได้มีโรงเรียนหลายแห่งเปลี่ยนชื่อโดยเอาคำว่า วัด ออก โรงเรียนที่เปลี่ยนชื่อนั้นฝ่ายผู้บริหารโรงเรียน หรือผู้ปกครอง มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อชื่อวัดนำหน้า โดยคิดว่าเป็นโรงเรียนชั้นสอง และไม่นิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนวัด เป็นเหตุให้ คณะอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนา ในคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ของสภาผู้แทนราษฎร เสนอต่อมหาเถรสมาคมเพื่อให้ออกคำสั่งแก่โรงเรียนวัดที่ใช้พื้นที่ของวัดหรือธรณีสงฆ์ที่เปลี่ยนชื่อแล้วรวมทั้งกำลังจะเปลี่ยนชื่อให้นำชื่อ วัด ใส่ไปดังเดิม ซึ่งมหาเถรสมาคมเห็นชอบตามข้อเสนอ จึงได้ออกมติมหาเถรสมาคมห้ามเปลี่ยนชื่อโรงเรียนโดยตัดคำว่าวัดออกส่วนโรงเรียนที่เปลี่ยนชื่อไปแล้วให้เปลี่ยนกลับใช้ชื่อเดิม ทั้งนี้ให้ยกเว้นโรงเรียนที่ใช้ชื่อพระราชทาน ส่วนโรงเรียนใดไม่ปฏิบัติตามจะห้ามใช้พื้นที่ของวัด ตลอดจนที่ธรณีสงฆ์อื่นๆ นอกจากคำสั่งเรื่องการเปลี่ยนชื่อแล้วยังได้ให้สถาบันการศึกษาหรือโรงเรียนวัดร่วมมือกับทางวัดในการพัฒนาโรงเรียน[3]

ปี พ.ศ. 2554 มหาเถรสมาคมได้ออกมติเกี่ยวกับโรงเรียนวัด โดยไม่อนุญาตให้นักเรียนหญิงมุสลิมแต่งกายโดยคลุมฮิญาบมาโรงเรียนวัด ทั้งนี้เพื่อปฏิบัติตามขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี วิถีไทย และวิถีพุทธ และกฎระเบียบของวัด ซึ่งกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นกับโรงเรียนวัดหนองจอก ซึ่งได้มีมติออกมาดังนี้

  1. โรงเรียนหรือหน่วยราชการใดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ การใช้พื้นที่ต้องปฏิบัติตามขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี วิถีไทย และวิถีพุทธ และกฎระเบียบของวัด
  2. ให้คณะสงฆ์มีส่วนร่วมในการพิจารณาการแต่งตั้งผู้บริหารของโรงเรียนหรือหน่วยราชการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดหรือที่ธรณีสงฆ์
  3. ควรให้พระสงฆ์เข้าไปมีบทบาทในการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา หลักคุณธรรมจริยธรรมทุกระดับชั้น
  4. โรงเรียนหรือหน่วยราชการใดขอใช้พื้นที่ของวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ จักต้องหารือและได้รับความยินยอมจากเจ้าอาวาส และคณะสงฆ์ผู้ปกครองทุกระดับ จนถึงเจ้าคณะจังหวัดก่อน

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "กำเนิดโรงเรียนของไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-07. สืบค้นเมื่อ 2011-11-22.
  2. ประวัติโรงเรียนวัดมหรรณพ์[ลิงก์เสีย]
  3. จับตา...มติ"มหาเถรสมาคม" ห้าม"ร.ร."ตัดคำว่า"วัด"??

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]