รายาอูงู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รายาอูงู
รายาแห่งปาตานีดารุสซาลาม
ครองราชย์พ.ศ. 2167 - 2178 (11 ปี)
ก่อนหน้ารายาบีรู
ถัดไปรายากูนิง
รายามูดารายากูนิง
เบินดาฮาราเบินดาฮารา อาเยาะห์ดาโต๊ะตัรนัม
เปอร์ไมซูรีอากงแห่งรัฐสุลต่านปะหัง
อัครมเหสีพ.ศ. 2135 - 2157 (22 ปี)
ปาดูกา ชาห์อาลัม แห่งสมาพันธรัฐปาตานี
ดำรงพระยศพ.ศ. 2172 - 2178 (6 ปี)
เบินดาฮาราเบินดาฮารา ดาโต๊ะจรัคคิน (ดาโต๊ะเบอซาร์)
สวรรคตพ.ศ. 2178
กรือเซะ
คู่อภิเษกสุลต่านอับดุลฆอฟูร์ มูฮิยยุดดีน ชาห์แห่งรัฐปะหัง พระองค์ที่ 12
(สมรส พ.ศ. 2128 - 2157)
พระธิดารายากูนิง
ราชวงศ์ศรีวังสา
พระราชบิดาสุลต่านมันซูร์ ชาห์
ศาสนาอิสลาม นิกายซุนนี

รายาอูงู หรือ ราชินีอูงู (มลายู: Raja Ungu; راج اوڠو) เป็นพระประมุขของรัฐสุลต่านมลายูปาตานี รัชกาลที่ 8 ในราชวงศ์ศรีวังสา เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจาก รายาบีรู พระเชษฐภคินีของพระองค์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2167 - พ.ศ. 2178. รายาอูงู ในภาษามาเลย์หมายถึง ราชินีสีม่วง รายาอูงูเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 3 ในสุลต่านมันซูร์ ชาห์แห่งรัฐปาตานี.[1] พระองค์ทรงเป็นพระราชสวามีของสุลต่านอับดุลฆอฟูร์ มูฮิยยุดดีน ชาห์แห่งรัฐปะหัง และทรงมีพระธิดา พระนามว่า "รายากูนิง หรือ เจ้าหญิงสีเหลือง"[2] ซึ่งพระราชธิดาพระองค์นี้จะทรงเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระองค์ในภายภาคหน้า.

พระราชประวัติ[แก้]

เมื่อครั้งที่รายาอูงูทรงเจริญชันษาแล้ว รายาฮีเยา ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของพระองค์ขณะนั้นเพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นปฐมราชินีแห่งอาณาจักรปาตานี ในปี พ.ศ. 2127. และในปี พ.ศ. 2128 รายาฮีเยาเห็นสมควรให้รายาอูงูทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอับดุลฆอฟูร์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสที่ประสูติจากนางสนมในสุลต่านอับดุลกาดีร์ อาลาอุดดีน ชาห์แห่งรัฐปะหัง เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐเพื่อนบ้านทางตอนใต้ที่มีพรมแดนติดกับปาตานี เช่น รัฐปะหัง.[3]

อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา เจ้าชายอับดุลฆอฟูร์ได้รับการสนับสนุนจากรายาอูงูและพระเชษฐาภคินี ในการยึดอำนาจจากพระอนุชาต่างมารดาที่ประสูติจากพระมเหสีแต่ยังทรงพระเยาว์ คือ สุลต่านอะห์หมัด ชาห์ที่ 2 แห่งรัฐปะหัง ส่งผลให้เจ้าชายอับดุลฆอฟูร์ตัดสินใจทำการรัฐประหารพระอนุชาในปี พ.ศ. 2135 และสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครพระองค์ที่ 12 เฉลิมพระนามว่า"สุลต่านอับดุลฆอฟูร์ มูฮิยยุดดีน ชาห์แห่งรัฐปะหัง" พร้อมกับแต่งตั้งรายาอูงูขึ้นเป็น "เปอร์ไมซูรีอากง (มเหสี)" สุลต่านจึงมีพระองค์อยู่เคียงข้าง ทรงคอยให้คำปรึกษาต่างๆในระหว่างที่ออกว่าราชการต่อหน้าบรรดาขุนนางในท้องพระโรง.

การรณรงค์ทางทหาร[แก้]

  • ในปี พ.ศ. 2167 - เมื่อช่วงต้นปี อาณาจักรปาตานีสงบสุขมาระยะหนึ่งแล้วนับตั้งแต่เกิดข้อพิพาทชายแดนทางเหนือกับอยุธยา ขณะเดียวกันรายาอูงูทรงยุ่งอยู่กับการทำสงครามที่ชายแดนทางใต้ติดกับรัฐปะหัง และในช่วงปลายปีก็มีข้อพิพาทเกิดขึ้นอีกครั้งที่ชายแดนทางเหนือ ซึ่งเริ่มบานปลายจนกลายเป็นสงครามระหว่างปาตานีกับอยุธยา.[4]
    ประมาณช่วงปลายรัชสมัยรายาบีรู (ครองราชย์ปี พ.ศ. 2159 - 2167), มีพระบรมราชานุญาตให้ออกญาเดชา (ออกญาสีหราชเดชะ[5]) หมั้นหมายกับรายากูนิง ซึ่งไม่นานหลังจากนั้นก็อ้างว่ามีงานราชการที่ต้องเดินทางไปยังอยุธยา จนกระทั่งสามปีต่อมา รายาอูงูจึงใช้โอกาสนี้ประกาศยกเลิกการหมั้นหมายของพระราชธิดาโดยกล่าวหาว่าออกญาเดชาพยายามตีตัวออกห่างจากปาตานี.[6]
  • ในปี พ.ศ. 2168 - เช้าวันที่ 30 มกราคม แม่ทัพปาตานีชื่อ อินลาโก ได้นำกำลังทหารประมาณ 3,000 นาย พร้อมด้วยทหารอาสาชาวคริสต์ที่เป็นชาวต่างชาติ ภายใต้การบังคับบัญชาของชายหนุ่มชาวออสเตรียชื่อ คริสตอฟ คาร์ล เฟิร์นเบอร์เกอร์ (Christoph carl fernberger) ยกทัพไปป้องกันชายแดนทางเหนือและวางแผนขับไล่ทหารฝ่ายอยุธยาที่รุกล้ำเข้ามาในอาณาเขตของปาตานี ภายในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ทหารฝ่ายปาตานีเปิดฉากโจมตีค่ายทหารอยุธยาจนสามารถจับกุมแม่ทัพชาวสยามได้สำเร็จ ซึ่งนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการทำสัญญาสงบศึกไปตลอดกาล จนกระทั่งวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมประชุมกันที่หมู่บ้านเบีย(Bia) และบรรลุข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขทั้งหมด 5 ประการ อย่างเช่น ประการที่สองคือ"กษัตริย์แห่งสยามจะไม่เรียกร้องใดๆต่ออาณาจักรปาตานีอีกต่อไป".[4]
  • ในปี พ.ศ. 2169 - ปาตานีส่งกองเรือรบประมาณ 100 ลำ และทหาร 9,000 นาย เข้าโจมตีอาเจะห์.[7]
  • ในปี พ.ศ. 2171 - รายาอูงูเสด็จกลับจากสงครามสู่เมืองหลวงปาตานีและประกาศยกเลิกการหมั้นหมายระหว่างพระราชธิดากับออกญาเดชาซึ่งยังอยู่ในอยุธยา แต่เมื่อทราบข่าวก็บันดาลโทสะจึงรีบไปรายงานเรื่องนี้ต่อพระยากลาโหมสุริยวงศ์ (ต่อมาคือ พระเจ้าปราสาททอง) จนได้รับกำลังทหารบางส่วนจากอยุธยาร่วมสมทบกับทัพฝ่ายใต้ไปปราบชาวปาตานี[6] รายาอูงูทรงเตรียมการอย่างดีเพื่อรับมือกับวิกฤติครั้งนี้ เนื่องจากทรงมีพันธมิตรคอยให้การสนับสนุนปาตานี อย่างเช่น รัฐบาลพลัดถิ่นปะหัง ซึ่งนำโดย สุลต่านอาลาอุดดีน ริอายัต ชาห์ โอรสบุญธรรมของพระองค์.[8]
  • ในปี พ.ศ. 2172 - เมื่อข่าวการสำเร็จโทษสมเด็จพระเชษฐาธิราช โดยเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้แพร่สะพัดไปยังดินแดนต่างๆ รายาอูงูจึงทรงใช้โอกาสนี้ประกาศยุติความสัมพันธ์ระหว่างปาตานี-อยุธยา พร้อมทั้งสถาปนาพระราชอิสริยยศใหม่จาก “บระเจา (Beracau)” สู่ “ปาดูกา ชาห์อาลัม (Paduka Shah Alam)”[6] และกล่าวหาเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ว่าเป็นพวกอันธพาล, ฆาตกร, และคนทรยศ.[9] การรณรงค์ของรายาอูงูได้รับการสนับสนุนจากกองทหาร “เปินจูรัต เอิมปัตปูโละห์ (Pencurat Empat Puluh)” อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อหัวหน้าเสนาธิการประจำพระองค์ เบินดาฮารา ดาโต๊ะจรัคคิน (ดาโต๊ะเบอซาร์)[10] ซึ่งทำหน้าที่ลาดตระเวนสืบข่าวข้าศึกอยู่ตามหัวเมืองหน้าด่านบริเวณชายแดนรัฐกันชน ระหว่างปาตานี-อยุธยา เช่น เกอดะฮ์ ซิงโฆรา พัทลุง[10] คล้ายกับ “กองอาทมาต” หน่วยสอดแนมของอยุธยา.
    ทางด้านสุลต่านอับดุลญาลิล ชาห์ที่ 3 แห่งรัฐยะโฮร์ตระหนักดีถึงอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะนั้นตัวสุลต่านเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก จึงตัดสินใจเลือกข้างอยู่กับฝ่ายปาตานี โดยมีพระบัญชาแต่งตั้งราชทูต 2 นาย คือ ศรี ซโรญา(Seri Seroja) และตุน อัตมา(Tun Atma) ให้ไปเยือนปาตานี เพื่อทำการสู่ขอเจ้าหญิงรายากูนิง ธิดาของรายาอูงู อภิเษกสมรสกับสุลต่านอับดุลญาลิล.[6] รายาอูงูทรงตกลงที่จะทำเช่นนั้นเพื่อเสริมสร้างอำนาจผ่านความสัมพันธ์ทางครอบครัวระหว่างสองราชวงศ์ให้สอดคล้องกับความปรารถนาเดิมของรายาฮีเยา ที่พยายามใช้นโยบายทางการฑูตเจรจากับรัฐมลายูต่างๆเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาพันธรัฐและร่วมรณรงค์ทางทหารเพื่อต่อต้านอิทธิพลจากดินแดนทางตอนเหนือ เช่น ชาวสยาม และดินแดนทางตอนใต้บริเวณช่องแคบมะละกา เช่น ชาวโปรตุเกส, ชาวอาเจะห์ และชุมนุมขุนศึกต่างๆ เช่น ชุมนุมของขุนศึกลักษมณาแห่งยะโฮร์.
    เมื่อพิธีการอภิเษกสมรสระหว่างรายากูนิงกับสุลต่านอับดุลญาลิล รวมถึงพิธีถวายคำสัตยาบันของสุลต่านแห่งยะโฮร์ในการเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อรายาอูงูนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ถึงกระนั้นด้วยความทะนงตนของฝ่ายยะโฮร์ก็ย่อมสวามิภักดิ์ด้วยความไม่เต็มใจ.[11]
    เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ขณะนั้นกำลังคิดที่จะก่อการกบฏ จึงต้องวางกลอุบายให้ ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ) ไปปราบกบฏที่นครศรีธรรมราช เพื่อจะสะดวกในการชิงบัลลังก์จากสมเด็จพระเชษฐาธิราชในเวลาถัดมา. ฝ่ายออกญาเสนาภิมุขที่ถูกขับออกจากเมืองหลวงอยุธยาจึงมุ่งหน้าไปสมทบกับฝ่ายออกญาเดชาที่กำลังเคลื่อนทัพลงใต้ในการโจมตีเมืองปาตานี. ในเวลานั้นป้อมปราการแห่งเมืองลำปำ ที่เป็นหนึ่งในฐานที่มั่นสำคัญของฝ่ายปาตานียังบูรณะไม่แล้วเสร็จ[12] ต่อมาป้อมปราการแห่งนี้ถูกออกญาเดชากับออกญาเสนาภิมุขตีแตกจนทัพปาตานีที่เหลือต้องล่าถอยกลับไปตั้งหลักบริเวณชานเมืองกรือเซะ ชุมชนใกล้เคียงจึงได้รับผลกระทบจากสงคราม เช่น ชุมชนชาวคุชราต และชุมชนชาวชวา ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสุไหงปันดัน.[13]
  • ในปี พ.ศ. 2173 - ออกญาเสนาภิมุข ผู้ที่สามารถยุติความขัดแย้งและการก่อจลาจลในหัวเมืองลิกอร์ได้ไม่ถึงปีก็เสียชีวิตลงอย่างกระทันหันจากบาดแผลในระหว่างการรบกับชาวปาตานี ส่งผลให้ฝ่ายออกญาเดชาประสบความล้มเหลวในการปิดล้อมเมือง จึงเปิดโอกาสให้ฝ่ายปาตานีพลิกสถานการณ์กลายเป็นฝ่ายโจมตีโต้กลับจนฝ่ายออกญาฯต้องแตกขบวนทัพถอยร่นกลับไปตั้งหลักยังเมืองลิกอร์.
    ขณะนั้นรายาอูงูกำลังเสด็จออกมาที่ประตูเมืองพร้อมด้วยสุลต่านอับดุลญาลิลและไพร่พลชาวยะโฮร์ทั้งหมด สุลต่านอับดุลญาลิลจึงกราบทูลขออนุญาตจากพระองค์เพื่อออกไปชนช้างกับออกญาเดชา.[12] ในตอนแรกรายาอูงูทรงอนุญาตให้ชาวยะโฮร์ไปร่วมสมทบกับทัพปาตานีซึ่งกำลังขับไล่ศัตรูออกไปไกลถึงเมืองลิกอร์ แต่หลังจากเกิดการสู้รบกันที่"สมรภูมิทุ่งหยาม"นานเจ็ดวันเจ็ดคืนจนกระทั่งฝ่ายออกญาฯอ่อนล้าอิดโรยลงเพราะเมืองถูกฝ่ายปาตานีปิดล้อม ทำให้เส้นทางการขนเสบียงและการติดต่อถูกตัดขาด.[14][9] รายาอูงูที่เห็นด้วยกับคำแนะนำของเหล่าขุนนางที่กังวลว่าชาวยะโฮร์จะได้หน้าในการศึกนี้ พระองค์จึงมีพระบัญชาให้ไพร่พลยะโฮร์ที่กำลังเตรียมออกศึกทำการถอนทัพกลับไปรักษาแนวรบในเมืองหลวงเช่นเดิม.[12]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Hikayat Patani The Story Of Patani 1 (ภาษาEnglish). p,90
  2. "pahang2". www.royalark.net.
  3. A History of Pahang
  4. 4.0 4.1 เปิดบันทึก “แฟร์นแบร์เกอร์” ชาวออสเตรียผู้นำทัพปตานี รบชนะอยุธยา
  5. "พระท้ายน้ำคือใคร... - GotoKnow". www.gotoknow.org.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Hikayat Patani The Story Of Patani 1 (ภาษาEnglish). p,107-108
  7. Anthony Reid (1993). Southeast Asia in the Early Modern Era : Trade, Power, and Belief. Cornell University Press, internet archive, pp.212
  8. Hj.abdullah, Hj Mohammad Rani Bin (2017-05-10). "MRBA COIN COLLECTIONS: Alauddin Riayat Shah علاء الدين رعاية شاه". MRBA COIN COLLECTIONS.
  9. 9.0 9.1 Bradley, Francis R. (2009). "Moral order in a time of damnation: The Hikayat Patani in historical context". Journal of Southeast Asian Studies. 40 (02): 267. ISSN 0022-4634. p,277.
  10. 10.0 10.1 Hikayat Patani The Story Of Patani 1 (ภาษาEnglish). p,135-136
  11. Hikayat Patani The Story Of Patani 1 (ภาษาEnglish). p,109
  12. 12.0 12.1 12.2 Hikayat Patani The Story Of Patani 1 (ภาษาEnglish). p,111-112
  13. Hikayat Patani The Story Of Patani 1 (ภาษาEnglish). p,113
  14. watsritawee (2021-06-21). ""ทุ่งหยาม" ทุ่งนาแห่งสมรภูมิรบและการพลีชีพ เพื่อปกป้องเมืองนครศรีธรรมราช พื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม (๒๑ มิ.ย. ๒๕๖๔) "Thung Yam", the Field of Battle and Martyr to Protect Muang Nakorn Sri Dhammaraj, the Forgotten Historical Area (June 21, 2021)". วัดศรีทวี Wat Sritawee (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).