รายาฮีเยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รายาฮีเยา
รายาแห่งปตานีดารุสซาลาม
ครองราชย์พ.ศ. 2127 - 2159 (32 ปี)
ก่อนหน้าสุลต่านบะห์ดูร์ ชาห์
ถัดไปรายาบีรู
รายามูดารายาบีรู
อัครมหาเสนาบดีเบินดาฮารา กายูเคอลัต
สวรรคตพ.ศ. 2159
กรือเซะ
ราชวงศ์ศรีวังสา
พระราชบิดาสุลต่านมันซูร์ ชาห์
ศาสนาอิสลามนิกายซุนนี

รายาฮีเยา (มลายู: راج هيجاو) เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ จากพระราชธิดาทั้งหมดห้าพระองค์ในสุลต่านมันซูร์ ชาห์[1] รายาฮีเยาสืบราชสันตติวงศ์รัฐสุลต่านปตานีดารุสซาลามช่วงปี พ.ศ. 2127–2159 โดยพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากสุลต่านบะห์ดูร์ ชาห์ ซึ่งเป็นพระอนุชาที่ถูกปลงพระชนม์ และหลังจากพระองค์สวรรคตผู้เป็นพระขนิษฐาของพระองค์พระนามว่า" รายาบีรู "ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ ในภาษามลายู พระนามของพระองค์หมายถึง "สีเขียว" หรือ "ราชินีสีเขียว"

เบื้องต้น[แก้]

รายาฮีเยาเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในสุลต่านมันซูร์ ชาห์ จากพระราชธิดาทั้งหมด 5 พระองค์และพระราชโอรสทั้งหมด 2 พระองค์[1] เนื่องจากเกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นภายในพระราชวังหลวง จนทำให้พระราชโอรส 2 พระองค์ในสุลต่านมันซูร์ ชาห์ ล้วนต้องถูกปลงพระชนม์[2][3] จึงไม่มีพระราชโอรสองค์ใดที่มีคุณสมบัติตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ต่อมาได้มีการเปิดประชุมสภาขุนนางเพื่อตามหาผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ แต่ก็ไม่สามารถหาทางออกในเรื่องนี้ได้ จึงต้องเชิญฝ่ายนักวิชาการศาสนาหรือเหล่าบรรดาอูลามะให้มาตัดสินชี้ขาดในประเด็นนี้โดยเร็ว จนมีข้อสรุปว่าด้วยการอนุโลมให้มีการนับสตรีเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์เป็นการชั่วคราว จึงมีการจัดงานเฉลิมฉลองในพิธีราชาภิเษกแด่พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในสุลต่านมันซูร์ ชาห์ มีพระนามว่า "รายาฮีเยา" ซึ่งเป็นผู้ปกครองสตรีพระองค์แรกที่ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระอนุชาของพระองค์ และทรงปกครองอาณาจักรปาตานีสืบไป[4]

ขึ้นครองราชย์[แก้]

เมื่อเหล่าขุนนางราชสำนักเห็นพ้องต้องกันโดยการสนับสนุนรายาฮีเยาขึ้นครองราชย์ เหล่าบรรดาขุนนางต่างพร้อมใจกันเดินทางเพื่อมาถวายสัตย์ปฏิญาณสาบานตนเพื่อแสดงความจงรักภักดีตามธรรมเนียมต่อหน้าพระพักตร์ ขาดแต่อัครมหาเสนาบดีปาตานี เบินดาฮารา (Bendahara) กายูเคอลัต ขุนนางผู้ทรงอิทธิพลแห่งเมืองสายที่ไร้วี่แววการมาถึง

ต่อมามีแหล่งข่าวที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างแน่ชัด ได้รายงานมาว่า เบินดาฮารากายูเคอลัต เตรียมกำลังซ่องสุมไพร่พลในสังกัดประมาณ 5,000 นาย และมีทหารเอกคู่ใจประมาณ 40 นาย ซึ่งกล่าวกันว่าทหารเอกเหล่านี้ได้ผ่านพิธีทางไสยศาสตร์ให้อยู่ยงคงกระพัน เพื่อใช้ในการก่อกบฏต่อรายาฮีเยา ขณะที่เบินดาฮาราเคลื่อนกำลังประชิดเมืองหลวง เหล่าบรรดาขุนนางที่ใกล้ชิดต่างอ้างลาป่วยเพื่อหลบหนีจากภัยทางการเมือง เมื่อฝ่ายวังหลวงทราบข่าวการมาถึงของฝ่ายเบินดาฮารา ซึ่งกำลังเดินผ่านประตูรั้วพระราชวังไพลินเพื่อมุ่งหน้าสู่ท้องพระโรงอย่างอุกอาจ รายาฮีเยาจึงรีบเสด็จไปยังประตูทางเข้าท้องพระโรงในฉลองพระองค์สีเขียว มีสร้อยพระศอเป็นด้ายทองคำร้อยด้วยบุปผชาติ ทรงประทับยืนอยู่บนบันไดท้องพระโรงอย่างสง่างาม มีเพียงราชองครักษ์สองนายพร้อมดาบเคลือบทองคำประจำกายถวายอารักขาอยู่เบื้องล่าง กับบรรดาข้าราชบริพารและนางกำนัลหมอบกายอยู่บนพื้นด้านหน้าท้องพระโรง

เมื่อเบินดาฮาราเดินมาถึงหน้าพระพักตร์ รายาฮีเยาจึงทรงถอดผ้าพันพระศอโยนพระราชทานให้แก่เบินดาฮารา ด้วยทีท่าของพระองค์ที่เต็มไปด้วยความสงบเยือกเย็นอย่างยิ่งโดยไร้ความหวาดหวั่น ทั้งสองฝ่ายจึงเกิดการประจันหน้ากันไม่แม้แต่จะทรงเปิดพระโอษฐ์เจรจาสิ่งใด เบินดาฮาราได้นั่งลงถวายคำนับเบื้องพระบาท จากนั้นดึงกริชประจำกายออกมาวางไว้บนพื้นแล้วหยิบเอาผ้าพันพระศอมาพันไว้รอบศีรษะ พร้อมเปล่งวาจาถวายพระพรว่า" ขอองค์กษัตริยาทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ขอจงบุญญาบารมีของพระองค์ทรงเพิ่มพูนสู่ราชบัลลังก์อาณาจักรแห่งนี้ตลอดไป (Daulat Tuanku bertambah-tambah daulat sa'adat Duli Tuanku diatas takhta kerajaan yang mahamulia.) เบินดาฮารากายูเคอลัตจึงกล่าวสรรเสริญพระบารมีซ้ำอีกครั้ง จากนั้นจึงถ่ายทอดคำสั่งให้ถอนกำลังไพร่พลและเตรียมตัวเดินทางกลับตาแกะห์ ส่วนรายาฮีเยาเสด็จกลับเข้าตำหนักโดยมิได้รับสั่งอันใด ภายในค่ำคืนนั้น เบินดาฮาราได้กล่าวกับบรรดาผู้ติดตามว่า ผ้าพันพระศอที่พระองค์พระราชทานนั้นคือเครื่องหมายที่พระองค์ทรงขอชีวิตกับตนไว้ แต่ถึงอย่างไรนั้นเหตุการณ์นี้สร้างความเคารพยำเกรงให้แก่ขุนนางในราชสำนัก จนไม่มีใครกล้าท้าทายพระราชอำนาจขององค์กษัตริยาอีกต่อไป[5][6]

รัชกาล[แก้]

ในสมัยของพระองค์ บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองมาก เป็นยุคทองด้านการค้ากับต่างประเทศ[7] กษัตริย์จากยุโรปและเมืองต่าง ๆ ได้ส่งคณะทูตมาเจริญสัมพันธไมตรี รวมทั้งสยามและญี่ปุ่น ถือเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเข้ามาค้าขายกับปาตานี ชาวฮอลันดาเข้ามาทำการค้ากับปาตานีครั้งแรก ต่อมา พ.ศ. 2148 ชาวสเปนได้เดินทางเข้ามาค้าขายที่เมืองปาตานี และ พ.ศ. 2153 ชาวอังกฤษได้เดินทางเข้ามาค้าขายที่เมืองปาตานี[8]

รายาฮีเยา ขณะทรงพระคชาธาร

นอกจากนั้นยังมีการขุดคลองกือเซะ ดังความว่า "...รายาฮีเยาทรงรับสั่งให้ราษฎรพร้อมกันขุดคลอง โดยเริ่มจากรือเซะมุ่งไปทางทิศเหนือจนถึงแม่น้ำที่อ่าวเตอร์มางัน (ใกล้กับหมู่บ้านปรีกีปัจจุบัน) เมื่อสามารถขุดคลองเชื่อมกับแม่น้ำแล้ว น้ำก็ไหลมาตามคลองแห่งใหม่ผ่านคลองกรือเซะแล้วไหลออกทะเลตรงอ่าวรา เมื่อน้ำทางเหนือไหลออกคลองกรือเซะก็เป็นผลให้น้ำจืดลง ทุ่งนาบริเวณนั้นก็ให้ผลเป็นที่พอใจ..."[9]

การสวรรคต[แก้]

จนถึงปี พ.ศ. 2159 รายาฮีเยาเสด็จสวรรคต โดยมีการเฉลิมพระนามถวายแด่พระองค์ภายหลังเสด็จสวรรคตว่า "มัรฮูมตัมบางัน" (Marhum Tambangan) และในเวลาต่อมารายาบีรูซึ่งเป็นพระขนิษฐภคินี (น้องสาว) ก็ขึ้นครองราชย์แทน ตามด้วยรายาอูงู และรายากูนิง[10] เรียกรวมกันว่า สมัย 4 ราชินี สุสานรายาฮีเยา รวมถึงรายาบีรูและรายาอูงู ที่เรียกว่า สุสานราชินีสามพี่น้อง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านปาเระ ตำบลบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี[11]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.90 Internet Archive [1]
  2. Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.96 Internet Archive [2]
  3. Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.100 Internet Archive [3]
  4. Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.100 Internet Archive [4]
  5. Hikayat Patani The Story Of Patani 1 (ภาษาอังกฤษ).
  6. Hikayat Patani The Story Of Patani 1 (ภาษาอังกฤษ).
  7. ""ทวี" เล็งพัฒนาแหล่งประวัติศาสตร์ 400 ปียุคทองปัตตานี สุสานราชินี 3 พี่น้อง". มติชนสุดสัปดาห์.
  8. "รายาฮิเยา" (PDF).
  9. "คลองสำคัญในประวัติศาสตร์ปัตตานี". กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์.
  10. "กษัตริยาแห่งปัตตานี".
  11. "สุสานราชินีสามพี่น้อง (รายาฮีเยา)". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.