ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย เป็นแนวความคิดทางกฎหมายของฝรั่งเศส ซึ่งกำหนดลำดับชั้นระหว่างกฎหมายประเภทต่าง ๆ ซึ่งทำให้ผู้มีอำนาจในการตรากฎหมายที่มีศักดิ์ด้อยกว่าต้องเคารพและไม่สามารถตรากฎหมายที่ละเมิดกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าได้

กฎหมายไทยได้นำเอาหลักดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ อาทิ พระราชบัญญัติจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่า ไม่ได้ หรือ พระราชบัญญัติจะต้องไม่มีเนื้อหาขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ดังที่ มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

องค์กรหลักตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้ดูแลความสอดคล้องของกฎหมายต่าง ๆ ต่อกฎหมายสูงสุดหรือรัฐธรรมนูญ คือศาลรัฐธรรมนูญ

ลำดับศักดิ์ของกฎหมายในระบบกฎหมายไทย[แก้]

ลำดับศักดิ์ของกฎหมายในระบบกฎหมายไทย แบ่งอย่างละเอียดเป็น 7 ชั้น ได้แก่

  1. รัฐธรรมนูญ
  2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
  3. พระราชบัญญัติ
  4. พระราชกำหนด
  5. พระราชกฤษฎีกา
  6. กฎกระทรวง
  7. ข้อบัญญัติท้องถิ่น ได้แก่ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และข้อบัญญัติเมืองพัทยา

ลำดับศักดิ์ของกฎหมายในระบบกฎหมายฝรั่งเศส[แก้]

ลำดับศักดิ์ของกฎหมายในระบบกฎหมายฝรั่งเศส มี 6 ชั้น ได้แก่

  1. กฎหมายรัฐธรรมนูญ (Bloc de constitutionnalité) ซึ่งรวมถึงรัฐธรรมนูญและรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (Loi organique)
  2. ความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยสนธิสัญญาและกฎหมายสหภาพยุโรป (Bloc de conventionnalité)
  3. กฎหมายระดับรัฐบัญญัติ (Bloc de légalité) ซึ่งรวมถึงรัฐกำหนด (Ordonnance) ด้วย
  4. หลักกฎหมายทั่วไป (Principes généraux du droit)
  5. พระราชกฤษฎีกา (Règlement ซึ่งรวมถึงกฎหมายซึ่งออกโดยฝ่ายบริหาร หรือ Décret และกฎกระทรวง หรือ Arrêté)
  6. กฎหมายซึ่งออกโดยหน่วยงานทางปกครองอื่น ๆ (Actes administratifs ซึ่งรวมถึงหนังสือเวียนระดับกระทรวง หรือ Circulaire และ Directive)

ผลการจัดศักดิ์ของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร[แก้]

  • การออกกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายต่ำกว่าจะออกได้โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายที่ มีศักดิ์สูงกว่าหรือตามที่กฎหมายศักดิ์สูงกว่าให้อำนาจไว้
  • กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายศักดิ์สูงกว่า จะออกมาโดยมีเนื้อหาเกินกว่าขอบเขตอำนาจที่กฎหมายศักดิ์สูงกว่าให้ไว้มิได้ มิฉะนั้นจะใช้บังคับมิได้เลย
  • หากเนื้อหาของกฎหมายมีความขัดแย้งกัน ต้องใช้กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าบังคับ ไม่ว่ากฎหมายศักดิ์สูงกว่านั้นจะออกก่อนหรือหลังกฎหมายศักดิ์ต่ำกว่านั้น

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]