อาคารรัฐสภาไทย

พิกัด: 13°46′28″N 100°30′50″E / 13.7744°N 100.5140°E / 13.7744; 100.5140
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาคารรัฐสภาไทย
Parliament House of Thailand
ภาพอาคารรัฐสภาไทย (มุมมองด้านหน้า)
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทรัฐสภา
สถาปัตยกรรมโมเดิร์น
เมือง2 ถนนอู่ทองใน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ประเทศไทย ประเทศไทย
เริ่มสร้าง5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513
ผู้สร้างบริษัท พระนครก่อสร้าง จำกัด
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกพล จุลเสวก[2]
เว็บไซต์
parliament.go.th/
ปัจจุบัน กำลังก่อสร้างรัฐสภาแห่งที่สาม คือ สัปปายะสภาสถาน คาดว่าแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2562[3]

อาคารรัฐสภา หรือ อาคารรัฐสภาแห่งที่ 2 เป็นสถานที่ทำงานของสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศไทย หรือเรียกว่ารัฐสภาไทย ใช้เป็นที่ประชุมร่วมกันหรือแยกกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยและวุฒิสภาไทย ทั้งยังใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา รวมตลอดถึงหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐสภาด้วย สื่อมวลชน เรียก อาคารรัฐสภาแห่งนี้ว่า สภาหินอ่อน เนื่องจากอาคารรัฐสภาแห่งนี้สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง เดิมตั้งอยู่ที่ถนนอู่ทองใน ปัจจุบันได้ถูกทุบทิ้งและคืนพื้นที่ให้กับสำนักพระราชวัง

ประวัติ

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังการปฏิวัติสยามและประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรก ผู้แทนราษฎรจำนวน 70 คนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ได้ประกอบกันเป็นสภาผู้แทนราษฎรและประชุมกันเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วประเทศได้สำเร็จลง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดให้สภาผู้แทนราษฎรประชุมกันที่พระที่นั่งนี้ได้ต่อไป

ครั้นจำนวนสมาชิกรัฐสภาเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของจำนวนประชากร และจำต้องมีที่ทำการของข้าราชการฝ่ายรัฐสภา จึงจำต้องสร้างอาคารรัฐสภาที่รับความต้องการดังกล่าวได้ ในปีพ.ศ. 2512 ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ เลขาธิการรัฐสภา ได้เสนอความเห็นต่อประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ถึงความจำเป็นที่ต้องมีที่ประชุมสภาที่ประชุมกรรมาธิการและสำนักงานของเจ้าหน้าที่ของสภานิติบัญญัติ เพราะสถานที่ที่ใช้สอยแยกกันอยู่ ไม่เพียงพอแก่การปฏิบัติงาน ซึ่งประธานสภาทั้งสองได้เห็นชอบอนุมัติ และให้เร่งรัดไปทางคณะรัฐมนตรีขอให้พิจารณาอนุมัติจัดสร้างอาคารรัฐสภาโดยด่วน คณะรัฐมนตรี จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2512 อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้าง ภายในวงเงิน 78,112,628 บาท[4] ในการนี้มีการวางโครงการสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ถึงสี่ครั้ง แต่สามครั้งแรกไปไม่ตลอดรอดฝั่งเพราะคณะรัฐมนตรีซึ่งริเริ่มโครงการต้องพ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อน ในครั้งที่สี่ เริ่มโครงการก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 มีกำหนดสร้างเสร็จภายใน 850 วัน มีบริษัทพระนครก่อสร้างจำกัดเสนอราคาก่อสร้าง เฉพาะอาคาร 3 หลัง ต่ำที่สุด 51,027,360 บาท[5] ในภายหลังใช้งบประมาณอาคารทั้งหมดและครุภัณฑ์ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการตกแต่งบริเวณโดยรอบอาคารคิดเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 100 ล้านบาท[4] ประกอบด้วยอาคารหลัก 3 หลัง คือ

  • อาคารห้องประชุมรัฐสภา (หลังที่ 1) เป็นตึก 3 ชั้น ใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา และที่ประชุมร่วมกันของสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ และส่วนอื่นๆ เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ประธาน และรองประธานของสภาทั้งสอง
  • อาคารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (หลังที่ 2) เป็นตึก 7 ชั้น ใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาและโรงพิมพ์รัฐสภา
  • อาคารสโมสรรัฐสภา (หลังที่ 3) เป็นตึก 2 ชั้น

อาคารรัฐสภาแห่งที่ 2 นี้ใช้ประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517 สมัยรัฐบาล สัญญา ธรรมศักดิ์ โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนแรกที่ได้ทำหน้าที่อาคารรัฐสภาแห่งที่ 2 นี้ ส่วนพระที่นั่งอนันตสมาคมจะถูกใช้แต่ในทางรัฐพิธีเกี่ยวกับรัฐสภา เช่น รัฐพิธีเปิดสมัยประชุม รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ และใช้ชั้นล่างของพระที่นั่งเป็นพิพิธภัณฑ์รัฐสภา[1]

ต่อมา ภายหลังมีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมอีกจำนวน 3 หลัง คืออาคารที่ทำการรัฐสภาและห้องประชุมกรรมาธิการ อาคารจอดรถ และอาคารกองรักษาการณ์ และฝ่ายอาคารสถานที่ ตามลำดับ[6]

อาคารรัฐสภาแห่งที่ 2 ให้บริการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้ง 12 ชุด โดยชุดสุดท้ายคือ สภาผู้แทนราษฎร ลำดับที่ 24 ผ่านการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภามาแล้ว 17 คน จากทั้งหมด 30 คน[5] (ก่อนการย้ายไปยังอาคารใหม่ที่ย่านถนนเกียกกาย)

ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2561 สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 ได้จัดประชุมเพื่อเลือกสถานที่ในการเป็นรัฐสภาชั่วคราวในระหว่างที่ สัปปายะสภาสถาน หรือรัฐสภาแห่งใหม่ที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ โดยคาดหมายว่าหอประชุมของบริษัท ทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ จะถูกใช้เป็นห้องประชุมรัฐสภาชั่วคราวในระหว่างเดือนมีนาคมจนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562[7] อาคารรัฐสภาแห่งที่ 2 ถนนอู่ทองใน ใช้ประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2562[8] และในวันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 พื้นที่รัฐสภาถูกส่งคืนให้ สำนักพระราชวัง ซึ่งมีอายุการใช้งานของอาคารรัฐสภาแห่งที่ 2 นาน 44 ปี[9]

ในวันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรซึ่งกำหนดให้หอประชุมของบริษัท ทีโอที เป็นอาคารรัฐสภาชั่วคราวโดยให้มีผลตั้งแต่วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 [10] ปัจจุบันได้ย้ายสถานที่ประชุมของสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ และสำนักงานเลขาธิการไปยัง สัปปายะสภาสถาน เป็นการถาวร

ความสำคัญทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม

ตัวอาคารรัฐสภาแห่งที่ 2 ออกแบบโดย พล จุลเสวก นายช่างสถาปนิกเอกของกรมโยธาธิการ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยอาจได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากอาคารรัฐสภาบราซิลที่ออกแบบโดย หรือ อาคารหลายแห่งที่ออกแบบโดยเลอกอร์บูซีเย มีโครงสร้างแบบ "เปลือกบาง" ไม่มีเสากลาง ครอบคลุมพื้นที่ราว 11,000 ตารางเมตร สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลังจึงมีชื่อเล่นว่า "สภาหินอ่อน" พื้นที่ทั้งหมดของอาคารรัฐสภาและอาคารบริวาร ราว 20 ไร่ มีบริษัทพระนครก่อสร้างจำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง[5][6]

ภูมิสถาปัตยกรรมรอบอาคารรัฐสภา อู่ทองใน ถูกออกแบบโดยสถาปนิก แสงอรุณ รัตกสิกร ประกอบด้วยประติมากรรมลอยตัว ด้านซ้ายของหน้าอาคารหลัก 'ดอกไม้ทอง' ทำด้วยเหล็ก ซ่อนนัยยะผ่านกลีบที่เบ่งบานลดหลั่นกันไป มีเพียงหนึ่งกลีบที่ผลิแย้มชูชันเด่น เป็นสัญลักษณ์ความงอกงาม ของระบอบการปกครองบรรลุตามครรลองประชาธิปไตย ส่วนกลีบที่ลดหลั่นกันไปบ่งบอกถึงอุปสรรคการพัฒนาระบบการปกครองของวันวาน ซึ่งแต่เดิมที่ลานด้านหน้าอาคารมีประติมากรรมลอยตัวรูปดอกไม้ทอง ผลงานของ อ.อรุณ รัตกสิกร ต่อมาเมื่อประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 จึงย้ายประติมากรรมนี้ไปไว้ที่บ่อน้ำด้านข้างแทน

รอบด้านหน้าอาคารและหลังอาคาร 4 มุม เป็นประติมากรรมหินอัด ไล่เรียงตามลำดับจากด้าน คือ ประติมากรรมรูปหญิง สีขาว "หญิงยืนแบกหม้อน้ำไว้บนไหล่" สื่อถึงน้ำ 'หญิงยืนแบกท่อนไม้' สื่อถึงดิน และประติมากรรมหินอัดด้านหลังอาคาร เป็น "รูปปั้นนก" สื่อถึงลม ความเย็น ความสงบ และสันติสุข และ "รูปปั้นไฟ" สื่อถึงพลังงาน ทั้ง 4 ด้านจึงสื่อความหมายถึง "ความแข็งแกร่ง ความเจริญรุ่งเรือง ความสงบสุข และความมั่นคงของรัฐสภา" [11]

นอกจากนี้ยังมีศิลปกรรมกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณของทั้ง 3 อาคาร ที่สะท้อนถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย จำนวน 50 ภาพ เช่น อาคารแรก มีภาพวาดติดผนังบันไดทางขึ้นชั้น 3 ช่วงทางเชื่อมไปอาคารรัฐสภา 2 "รูปเด็กในไข่ทอง" หมายถึง ประชาชนรุ่นใหม่ของประเทศ พร้อมพันธุ์ไม้ผลิดอกรับแสง และรังผึ้ง สะท้อนถึงความสมบูรณ์ และ ภาพติดผนังทางเข้าห้องฟังการประชุม เช่น "ภาพบ้านเมือง" มีพื้นสีแดงเรื่อ หมายถึง ความรุนแรงก่อนที่จะใช้ตึกแห่งนี้เป็นที่ประชุม เมื่อปลายปี 2517 "ภาพรัฐธรรมนูญ" อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ วางอยู่บนมัดของธัญพืชเป็นสัญลักษณ์ของสังคมและการกสิกรรมของประเทศไทย[11]

ระเบียงภาพ

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 พระที่นั่งอนันตสมาคมและรัฐสภา, รัฐสภาไทย .สืบค้นเมื่อ 20/05/2559
  2. 100 Amazing Architectures with SCG 100th Year Anniversary, SCG Experience. สืบค้นเมื่อ 08/05/2017
  3. "ซิโนไทย"เจ๊กอั้กเข้าเนื้อพันล้าน สร้างรัฐสภาใหม่เลื่อนเปิด 2 ปี ,ประชาชาติ .วันที่ 28 ก.ย. 2558
  4. 4.0 4.1 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประวัติความเป็นมา สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563.
  5. 5.0 5.1 5.2 วอยส์ออนไลน์ ดูสถิติน่าจดจำอำลา 44 ปี รัฐสภาอู่ทองใน - สถาปัตยกรรมรับใช้ 'เลือกตั้ง - ลากตั้ง' สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563.
  6. 6.0 6.1 มติชน (7 ธันวาคม 2561) ย้อนตำนาน 44ปี รัฐสภาอู่ทองใน นับถอยหลังสู่สัปปายะสภาสถาน สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563.
  7. โพสต์ทูเดย์ (5 ธันวาคม 2561). "สนช.เตรียมหาที่ประชุมสภาชั่วคราวระหว่างรอสภาใหม่สร้างเสร็จ". www.posttoday.com. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. หอสมุดรัฐสภา อาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563.
  9. เดลินิวส์ (2 มกราคม 2562). "แจ้งสนช.ใช้ห้องประชุมรัฐสภา-กรรมาธิการฯได้ถึง28ก.พ.นี้". www.dailynews.co.th. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. ประกาศสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง กำหนดสถานที่สำหรับใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นการชั่วคราว
  11. 11.0 11.1 หอสมุดรัฐสภา จิตรกรรมและประติมากรรมบริเวณอาคารรัฐสภา สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563.

แหล่งข้อมูลอื่น

13°46′28″N 100°30′50″E / 13.7744°N 100.5140°E / 13.7744; 100.5140