ข้ามไปเนื้อหา

พระเทพสังวรญาณ (พวง สุขินฺทฺริโย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเทพสังวรญาณ

(พวง สุขินฺทฺริโย)
ส่วนบุคคล
เกิด6 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 (81 ปี 301 วัน ปี)
มรณภาพ2 เมษายน พ.ศ. 2552
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษานักธรรมเอก
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดศรีธรรมาราม ยโสธร
อุปสมบท24 พฤศจิกายน 2490
พรรษา62
ตำแหน่งอดีตเจ้าอาวาสวัดศรีธรรมาราม
อดีตรองเจ้าคณะภาค 10 (ธรรมยุต)
อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 (ธรรมยุต)

พระเทพสังวรญาณ หรือที่ประชนชนทั่วไปมักเรียกองค์ท่านว่า หลวงตาพวง ได้รับการขนานนามว่า พระอริยเจ้าแห่งลุ่มน้ำชี เป็นพระภิกษุคณะธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดยโสธร เคยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีธรรมาราม, เจ้าคณะจังหวัดยโสธร (ธ), รองเจ้าคณะภาค 10 (ธ) และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 (ธ)

ประวัติ

[แก้]

กำเนิด

[แก้]

พระเทพสังวรญาณ หรือ หลวงตาพวง สุขินทริโย มีนามเดิมว่า “พวง” นามสกุล “ลุล่วง” ถือกำเนิดเมื่อวันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ปีเถาะ ที่บ้านศรีฐาน ตำบลกระจาย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร) เป็นบุตรคนที่ 4 ของนายเนียม และนางบัพพา ลุล่วง มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา จำนวน 6 คน เป็นชาย 3 คนและหญิง 3 คน ดังต่อไปนี้

  • นายจันทา ลุล่วง อดีตกำนันตำบลกระจาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร (ถึงแก่กรรม)
  • นางผา ละม่อม (ถึงแก่กรรม)
  • นางสา วันเที่ยง (ถึงแก่กรรม)
  • หลวงตาพวง สุขินทริโย
  • หลวงตาสรวง สิริปุญโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีฐานใน ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร (มรณภาพ)
  • นางจำปา ป้องกัน

ต้นตระกูลเดิมของหลวงตาพวง สุขินทริโย เป็นชาวนานับถือศาสนาพุทธมาแต่ดั้งเดิม โยมบิดาและโยมมารดา มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทำบุญตักบาตรหรือถวายภัตตาหารเป็นประจำทุกวันไม่ได้ขาด ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีมาโดยตลอด มีบุตรชายก็ต้องให้บวชพระเสียก่อนทุกคน ทั้งหลวงตาและน้องชายคือ หลวงตาสรวง สิริปุญโญ หลังจากบวชตามประเพณีแล้วได้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงครองสมณเพศมาจนถึงปัจจุบัน สภาพความเป็นอยู่ของบ้านศรีฐานในสมัยนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก ไม่ได้ทำไร่มันสำปะหลังหรือปลูกปอเช่นในปัจจุบัน ในสมัยก่อนชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างดี มีสัตว์ป่า ป่าไม้ พืชพรรณ ธัญญาหาร อุดมสมบูรณ์ นอกจากนั้นชาวบ้านศรีฐาน ยังมีอาชีพการทำหมอนขิด ที่มีชื่อเสียง ส่งออกขายทั่วประเทศ เป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ครอบครัวของหลวงตาถือได้ว่าอยู่ในระดับปานกลาง มีความเป็นอยู่สบาย ไม่เดือดร้อน มีอาชีพทำนาเป็นหลัก มีนาอยู่ 3 แปลง แต่จำไม่ได้ว่ามีแปลงละกี่ไร่ โดยมีลูกๆ ช่วยกันทำนา นอกจากนั้นก็เลี้ยงวัวเลี้ยงควายตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชนบท หลวงตาเองก็ได้ช่วยบิดา มารดา ทำนามาตั้งแต่เด็ก ๆ และหากมีเวลาว่างก็จะนำวัวควายออกไปเลี้ยงเป็นประจำเพื่อแบ่งเบาภาระของโยมบิดามารดา

การศึกษา

[แก้]
  • พ.ศ. 2486 สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี
  • พ.ศ. 2487 สอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท
  • พ.ศ. 2488 สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก

บรรพชา และอุปสมบท

[แก้]

ท่านบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2485 ณ พัทธสีมาอุโบสถวัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระครูพิบูลสมณกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ และอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 ณ อุเปกขสีมา(สีมาน้ำ) วัดป่าบ้านหนองโดก ตำบลช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า สุขินฺทริโย แปลว่า ผู้มีความสุขเป็นใหญ่[1] หลังจากอุปสมบทแล้ว พระภิกษุพวง สุขินทริโย ก็ได้เข้าศึกษาอบรมธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ต่อมาได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และขอนิสัยจากหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ บ้านธาตุนาเวง ตำบลพังขว้าง อำเภอเมืองสลกนคร จังหวัดสกลนคร

ชีวิตในเพศบรรพชิต

[แก้]
  • พรรษาที่ 1 (พ.ศ. 2491) อุปสมบท ณ โบสถ์น้ำ วัดป่าบ้านหนองโดก ตำบลช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นอนุสาวนาจารย์ หลังจากอุปสมบทแล้ว ไปจำพรรษาที่วัดป่าท่าสองคอน ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
  • พรรษาที่ 2 (พ.ศ. 2492) ย้ายไปจำพรรษาร่วมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นพรรษาสุดท้ายของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
  • พรรษาที่ 3 (พ.ศ. 2493) หลังจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มรณภาพ และเสร็จงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่มั่นแล้ว ไปจำพรรษากับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ธาตุนาเวง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
  • พรรษาที่ 4-5 (พ.ศ. 2594-2495) จำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ธาตุนาเวง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ร่วมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
  • พรรษาที่ 6 (พ.ศ. 2496) หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เกิดนิมิตระหว่างนั่งสมาธิในกลางพรรษาว่าเห็นถ้ำที่สว่างไสว เหมาะแก่การปฏิบัติ จึงได้ไปค้นหาจนพบถ้ำขาม แล้วได้บุกเบิกจนเป็นวัดถ้ำขาม อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนครในปัจจุบัน ในพรรษานั้น หลวงตาพวง สุขินทริโยได้ไปบุกเบิกถ้ำขามและจำพรรษาที่นั่น
  • พรรษาที่ 7-8 (พ.ศ. 2497-2498) กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ธาตุนาเวง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
  • พรรษาที่ 9 (พ.ศ. 2499) กลับบ้านศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิด เพราะโยมบิดาเสียชีวิต ประกอบกับพระอาจารย์บุญช่วย ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีฐานในใน ที่เคยเป็นพระอาจารย์สมัยบวชเป็นเณร เกิดอาพาธ จึงอยู่ดูแลรับใช้ปรนนิบัติ
  • พรรษาที่ 10 (พ.ศ. 2500) พระอาจารย์บุญช่วย ธัมวโร เจ้าอาวาสวัดศรีฐานใน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดอุบลราชธานี มรณภาพ ไม่มีพระภิกษุดูแลวัด ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้รักษาการเจ้าอาวาสวัดศรีฐานในใน เพื่อดูแลวัด
  • พรรษาที่ 11 (พ.ศ. 2501) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีฐานในในอย่างเป็นทางการ
  • พรรษาที่ 12-18 (พ.ศ. 2502-2508) จำพรรษาที่วัดศรีฐานใน บูรณะปฏิสังขรณ์วัดศรีฐานในจนมีความเจริญรุ่งเรือง
  • พรรษาที่ 19 (พ.ศ. 2509) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรม ในราชทินนามที่ พระครูใบฎีกา พวง สุขินทริโย
  • พรรษาที่ 20 (พ.ศ. 2510) จำพรรษาที่วัดศรีฐานใน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดอุบลราชธานี
  • พรรษาที่ 21 (พ.ศ. 2511) เนื่องจากวัดศรีธรรมาราม อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลาชธานี ไม่มีเจ้าอาวาส เจ้าคณะจังหวัดและชาวบ้านไปนิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาส จึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดศรีธรรมาราม อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี
  • พรรษาที่ 22 (พ.ศ. 2512) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลในเมือง อำเภอยโสธร
  • พรรษาที่ 23 (พ.ศ. 2513) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่ พระครูอมรวิสุทธิ์
  • พรรษาที่ 24 (พ.ศ. 2514) พัฒนาวัดศรีธรรมาราม อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี
  • พรรษาที่ 25 (พ.ศ. 2515) อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี ยกฐานะเป็นจังหวัด ได้รับแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดยโสธร (โดยไม่ได้เป็นเจ้าคณะอำเภอมาก่อน)
  • พรรษาที่ 26 (พ.ศ. 2516) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระสุนทรธรรมภาณ และได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดยโสธรอย่างเป็นทางการ
  • พรรษาที่ 27-33 (พ.ศ. 2516-2523) จำพรรษาที่วัดศรีธรรมาราม อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร
  • พรรษาที่ 34 (พ.ศ. 2524) หลังจากบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถวัดศรีธรรมาราม อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เสร็จเรียบร้อย ได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัด กม.3 ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร
  • พรรษาที่ 35-46 (พ.ศ. 2525-2536) กลับมาจำพรรษาที่วัดศรีธรรมาราม อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร โดยตลอด พัฒนาวัดศรีธรรมารามจนเจริญก้าวหน้าและได้รับจนได้รับยกย่องให้เป็นวัดพัฒนา ตัวอย่างในปี พ.ศ. 2528 และยกระดับเป็นพระอารามหลวง ในปี พ.ศ. 2532
  • พรรษาที่ 47 (พ.ศ. 2537) ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชธรรมสุธี และได้รับพระราชทานธรรมจักรทองคำจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี พ.ศ. 2537
  • พรรษาที่ 51 (พ.ศ. 2541) ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะภาค 10 (ธรรมยุต)
  • พรรษาที่ 54 (พ.ศ. 2544) ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระเทพสังวรญาณ
  • พรรษาที่ 52 (พ.ศ. 2542) สร้างวัดป่าใหม่นิคมพัฒนาราม บ้านนิคม ตำบลกระจาย อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร และจำพรรษาอยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบัน
  • พรรษาที่ 62 (พ.ศ. 2552 ) หลวงตามรณภาพ พระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

ตำแหน่ง และหน้าที่

[แก้]
  • พ.ศ. 2501 เจ้าอาวาสวัดศรีฐานใน
  • พ.ศ. 2511 เจ้าอาวาสวัดศรีธรรมาราม
  • พ.ศ. 2512 เจ้าคณะตำบลในเมือง
  • พ.ศ. 2516 เจ้าคณะจังหวัดยโสธร (ธ)
  • พ.ศ. 2532 เจ้าอาวาสวัดศรีธรรมาราม (พระอารามหลวง)
  • พ.ศ. 2537 รองเจ้าคณะภาค 10 (ธ)
  • พ.ศ. 2542 ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 (ธ)

การสาธารณสงเคราะห์

[แก้]

สร้างวัดป่าใหม่นิคมพัฒนาราม

[แก้]

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2542 หลวงตาพวงได้กลับมาบ้านศรีฐาน บ้านเกิดของท่าน ได้ดำริที่จะสร้างวัดที่บ้านนิคม ต.กระจาย อ.ป่าติ้ว เพื่อให้ชาวบ้านได้พึ่งพิง เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 ท่านได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดป่าใหม่นิคมพัฒนารามแห่งนี้ จากเดิมมีที่เพียงป่าช้าบ้านนิคมที่รกร้างมานานเพียง 10 ไร่ ปัจจุบันสามารถขยายออกไปได้กว่า 80 ไร่ ด้วยบารมีของท่าน ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย ก็ติดตามมาที่วัดป่าใหม่นิคมพัฒนารามเพื่อช่วยท่านพัฒนาวัดแห่งนี้ ได้เงินเพื่อใช้ในการสร้างวัดกว่า 7 ล้านบาท ท่านพาชาวบ้านตัดถนน ต่อไฟฟ้า นำความเจริญมาสู่มาตภูมิของท่านเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังพาชาวบ้านเข้าวัดทำบุญ ปฏิบัติธรรม พัฒนาจิตใจให้มีความสงบร่มเย็น เป็นที่พึ่งของชาวบ้านแถบนั้น ถึงแม้ว่าท่านจะดำรงสมณศักดิ์ถึงระดับท่านเจ้าคุณพระราชธรรมสุธี รองเจ้าคณะภาค 10 (ธ) อายุของท่านกว่า 75 ปีแล้ว ท่านก็ยังพาพระเณรในวัดบิณฑบาตทุกเช้าเป็นประจำทุกวัน อีกทั้งยังดูแลความเรียบร้อยภายในวัด ดูแลการก่อสร้างต่าง ๆ ด้วยตัวของท่านเองมิได้ขาด ท่านเป็นพระเถรานุเถระผู้ใหญ่ที่ทำงานหนักโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เป็นแบบอย่างที่ดีกับพระเณรรุ่นต่อ ๆ มาเป็นอย่างดี

สมณศักดิ์

[แก้]

อาพาธ และมรณภาพ

[แก้]

ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2550 และรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลศิริราช ก่อนจะมาพักรักษาต่อที่โรงพยาบาลยโสธร เมื่อเวลา 10.54 น. ของวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2552 พระเทพสังวรญาณ (พวง สุขินทริโย) ได้ละสังขารเข้าสุ่แดนอนุปาทิเสสนิพพาน สิริรวมอายุ 82 ปี พรรษา 57 พรรษา ที่โรงพยาบาลยโสธร ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร หลังจากอาพาธด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีระยะสุดท้าย สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปในการพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553 ณ วัดศรีธรรมาราม อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร

อ้างอิง

[แก้]

[2] [3] [4]

  1. https://sangkhatikan.com/monk_view.php?ID=15227
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-09. สืบค้นเมื่อ 2019-05-23.
  3. https://sangkhatikan.com/monk_view.php?ID=15227
  4. http://www.visityasothon.com/?destination=%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A7%E0%B8%87