ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี
พระเจ้าวรวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นโท
ประสูติ25 ตุลาคม พ.ศ. 2435
วังวรวรรณ จังหวัดพระนคร อาณาจักรสยาม
สิ้นพระชนม์7 เมษายน พ.ศ. 2494 (58 ปี)
โรงพยาบาลศิริราช จังหวัดธนบุรี ประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2463 - พ.ศ.2464)
ราชวงศ์จักรี
ราชสกุลวรวรรณ
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
พระมารดาหม่อมอินทร์ วรวรรณ ณ อยุธยา
ศาสนาพุทธ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี (25 ตุลาคม พ.ศ. 2435 – 7 เมษายน พ.ศ. 2494) พระนามเดิม หม่อมเจ้าวรรณวิมล เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมอินทร์ วรวรรณ ณ อยุธยา เป็นที่รู้จักในฐานะเป็นอดีตพระคู่หมั้นในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับการสถาปนาเป็น พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ทั้งนี้พระองค์เป็นเสือป่าหญิงคนแรกของประเทศไทย[1] และเป็นผู้ริเริ่มการสวมเครื่องประดับที่คาดศีรษะจนเป็นที่นิยมของสตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

แต่ภายหลังก็ถูกถอดถอนหมั้นลง โดยให้เหตุผลว่า "พระราชอัธยาศัยมิได้ต้องกัน"[2] และถูกจำสนมในพระบรมมหาราชวังตลอดรัชกาล ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกษัตริย์องค์ต่อมา จึงมีพระบรมราชโองการให้ปลดปล่อยพระองค์ออกจากพระบรมมหาราชวังขณะมีพระชันษา 33 ปี และพระราชทานวังที่ประทับนาม "พระกรุณานิวาสน์"

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ได้เข้าประทับรักษาพระองค์ในโรงพยาบาลศิริราชด้วยโรคพระวักกะพิการ เป็นเวลา 60 วัน โดยพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการสงบ ในเวลา 06.07 น. ของวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2494 สิริพระชันษา 58 ปี

พระประวัติ

[แก้]

พระชนม์ชีพตอนต้น

[แก้]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีประสูติเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2435[3] เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมอินทร์ วรวรรณ ณ อยุธยา (สกุลเดิม อิ่มสุข)[4] มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวรรณวิมล วรวรรณ และมีพระนามเรียกกันในหมู่พระญาติว่า ท่านหญิงเตอะ หรือ ท่านหญิงขาว

พระองค์ได้รับการศึกษาและมีวิถีชีวิตเยี่ยงสตรีสมัยใหม่ ทรงมีความคิดอ่านอิสระเสรี ซึ่งพระบิดา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความรู้และความคิดที่กว้างไกลทันสมัย แม้กระทั่งการอบรมเลี้ยงดูพระโอรส-ธิดา ก็ทรงให้ได้รับการศึกษาสมัยใหม่ ไม่เข้มงวดดังการประพฤติปฏิบัติอย่างกุลสตรีโบราณ[5] ทำให้เหล่าพระธิดาในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์มีความคิดเห็นกว้างขวาง และกล้าที่จะแสดงออกในวัตรปฏิบัติผิดแผกแตกต่างไปสตรีส่วนใหญ่ในสมัยนั้นที่อยู่ในกรอบของม่านประเพณีโบราณ[6]

หม่อมเจ้าวรรณวิมล ทรงเปิดพระองค์อยู่ในสังคมชั้นสูงที่มีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสังคมและความบันเทิง ทำให้หลายคนต่างมองเห็นภาพความสนุกสดใสของบรรดาพระธิดาในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ได้ไม่ยากนัก ซึ่งในเรื่องนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงเล่าไว้ใน เกิดวังปารุสก์ ตอนหนึ่งว่า "... ไม่มีผู้หญิงคนไทยครอบครัวใดที่จะช่างคุยสนุกสนานเท่าองค์หญิงตระกูลวรวรรณ เท่าที่ข้าพเจ้าเคยรู้จักพบมา..."[6]

มูลเหตุแห่งการหมั้น

[แก้]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ขณะเสด็จขึ้นนมัสการพระปฐมเจดีย์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะนั้นมีพระชนมพรรษา 40 พรรษา นับตั้งแต่ทรงเถลิงถวัลย์ราชสมบัติตั้งแต่พระชนมพรรษา 31 พรรษา ก็ยังมิได้ภิเษกสมรสหรือมีฝ่ายในดังพระมหากษัตริย์องค์ก่อน ๆ พระองค์ประทับกับข้าราชบริพารชายล้วน และมิใคร่มีโอกาสพบปะกับสตรี และบ้างก็ทรงพบแต่ก็ยังมิต้องพระทัย[7]

หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมล ทรงเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรกที่ห้องทรงไพ่บริดจ์ในงานประกวดภาพเขียน ณ โรงละครวังพญาไท ซึ่งนับเป็นงานชุมนุมของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งผู้ใหญ่และหนุ่มสาว[7] ในงานนี้บรรดาท่านหญิงทั้งหลายของราชสกุลวรวรรณจึงเสด็จมาในงานนี้ด้วยหลายองค์ ซึ่งในเรื่องนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงเล่าเกี่ยวกับการพบกันครั้งแรกของทั้งสองพระองค์ในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ ความตอนหนึ่งว่า[7]

"...ข้าพเจ้าดูรูปในที่ต่าง ๆ คุยกับคนต่าง ๆ แต่มักจะไปนั่งบนพื้นคุยกับทูลหม่อมลุงเสมอบ่อย ๆ ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าทูลว่า 'ทูลหม่อมลุงครับ ที่ห้องทางโน้นเขาเล่นไพ่บริดจ์กัน' ท่านทรงตอบว่า 'อย่างงั้นหรือ ลุงต้องไปดู บางทีจะไปเล่นกับเขาบ้าง' เมื่อท่านเสด็จไปเล่นจริง ๆ ก็เลยไปพบท่านหญิงขาว..."

ในการพบกันครั้งนั้นทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวถูกพระราชหฤทัยในรูปโฉมและคุณสมบัติเฉพาะของหม่อมเจ้าวรรณวิมล ยิ่งได้มีโอกาสสนทนากันก็พบว่ามีรสนิยมต้องกัน กล่าวคือมีรสนิยมในงานศิลปะประเภทวรรณกรรมและการแสดง ทั้งยังทรงมีไหวพริบ คารมคมคาย และความคิดอ่าน[8] ทำให้การสนทนามีรสชาติเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง[7]

ตำแหน่งพระวรกัญญาปทาน

[แก้]
ทรงร่วมแสดงละครเรื่อง โพงพาง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับบทเป็นนายพลเรือโท พระยาสมุทโยธิน และพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี รับบทเป็น คุณหญิงสมุทโยธิน

ในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2463 หลังจากที่ทรงพบปะกับหม่อมเจ้าวรรณวิมลเพียงไม่กี่วัน[8] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ให้พระธิดาทั้งหลายของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ดังนี้

ภายหลังจึงสถาปนาหม่อมเจ้าวัลลภาเทวี ขึ้นเป็น พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี[9] พระคู่หมั้น เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463 พร้อมพระราชทานตราปฐมจุลจอมเกล้า และมีพระบรมราชโองการ ขณะที่ได้รับสถาปนาเป็นพระคู่หมั้นนั้น พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีมีพระชันษา 28 ปี ส่วนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษา 40 พรรษา และการสถาปนานี้ก็เพื่อจะได้สมพระเกียรติยศสำหรับจะได้กระทำพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในภายหน้า[8]

ในช่วงของการหมั้นนั้น นับเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของทั้งสองพระองค์ เพราะมีพระทัยจดจ่อกันอยู่ตลอดเวลา โดยโปรดให้พระวรกัญญาปทานเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักสวนจิตรลดา ในขณะที่พระองค์เองทรงประทับอยู่ที่วังพญาไท ซึ่งอยู่ใกล้กัน โปรดเสด็จเสวยของว่างและโทรศัพท์คุยหากันเสมอ ๆ[8] เรื่องนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ตรัสเล่าความว่า[8]

"...ทูลหม่อมลุงเสด็จเสวยของว่างที่นั่นทุกวัน ข้าพเจ้าก็ไปเฝ้าท่านที่นั่น บางเวลาเมื่อข้าพเจ้านั่งเฝ้าท่านอยู่ที่วังพญาไทเวลาทรงพระอักษร ทูลหม่อมลุงก็ทรงคุยกับคู่หมั้นของท่านโดยโทรศัพท์สังเกตว่าโปรดมาก"

ในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ก็ต่างตื่นเต้นและยินดีกับพระคู่หมั้นทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เจ้าฟ้าด้วยกัน จึงได้มีการจัดเลี้ยงฉลองหมั้นที่เรียกว่า "สัปเปอร์เจ้าฟ้า" ซึ่งมีเพียงแต่เจ้าฟ้าเท่านั้นที่ประทับโต๊ะสัปเปอร์[8] แม้แต่ข้าราชการคนสนิทของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่าง พระยาประสิทธิศุภการ และพระยาอนิรุทธเทวาก็ยังไม่มีโอกาสร่วมโต๊ะ[8] นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงคัดเลือกสตรีจากตระกูลชนชั้นสูงเพื่อมาเป็นนางพระกำนัลตามเสด็จพระคู่หมั้นด้วยพระองค์เอง อาทิ ศรี ไกรฤกษ์ และเปรื่อง สุจริตกุล[10]

ระหว่างห้วงเวลาหลังการหมั้นหมายนั้นทรงพระราชนิพนธ์บทละครคำกลอน เรื่อง ศกุนตลา ซึ่งในหน้าแรกของพระราชนิพนธ์นั้น มีคำอุทิศว่า[11]

นาฏกะกลอนนี้ฉันมีจิต ขออุทิศแด่มิ่งมารศรี
ผู้เป็นยอดเสน่หาจอมนารี วัลลภาเทวีคู่ชีวัน
ขอหล่อนจงรับไมตรีสมาน เป็นพยานความรักสมัครมั่น
เหมือนแหวนแทนรักทุษยันต์ แก่จอมขวัญศกุนตลาไซร้
แต่ผิดกันตัวฉันไม่ลืมหล่อน จนสาครเหือดแห้งไม่แรงไหล
จนตะวันเดือนดับลับโลกไป จะรักจอดยอดใจจนวันตาย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ทรงออกงานสังคมร่วมกันอยู่เสมอ ๆ ดังปรากฏเช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเล่าถึงงานใหญ่งานหนึ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพร้อมด้วยพระวรกัญญาปทาน คืองานทำบุญพระชนมายุครบ 5 รอบ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ที่วังบูรพาภิรมย์ ดังความตอนหนึ่งว่า[11]

"...งานทำบุญแซยิดทูลหม่อมปู่น้อยวังบูรพา เป็นงานใหญ่ครั้งแรกที่ทูลหม่อมลุงเสด็จกับพระองค์วัลลภาเทวี ทูลหม่อมลุงทรงทำแบบฝรั่งทุกประการ เช่นเวลาเสด็จขึ้นก็ทรงเอาฉลองพระองค์คลุม คลุมประทานพระองค์วัลลภาฯ"

พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ทรงร่วมแสดงละคร และงานพระราชพิธี ร่วมกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งร่วมแสดงละครเรื่องศกุนตลา และ โพงพาง [12] บางครั้งก็ปรากฏพระองค์ในพื้นที่สาธารณะด้วยกันเสมอ โดยปราศจากข้าราชบริพารชายจนเป็นที่พูดถึง[13]

ดำริหญิงและพระจริยวัตร

[แก้]
พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

ด้วยความที่พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ทรงมีความคิดที่ล้ำสมัยสตรีไทยในยุคนั้น ทรงเขียนบทความชื่อ "ดำริหญิง" ในหนังสือดุสิตสมิธรายสัปดาห์เมื่อ พ.ศ. 2463 ในทำนองส่งเสริมให้สตรีมีความเท่าเทียมกับบุรุษ เพราะสตรีก็มีความสามารถ และจะอุ้มชูหรือชักบุรุษให้ต่ำลงก็ทำได้ แต่ก็มีพระประสงค์ให้บุรุษเข้าใจและเคารพสถานภาพของสตรี รู้จักหน้าที่ของบุรุษตามแบบสากล และขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้สตรีรู้จักทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง ความว่า[14]

"...หญิงโดยมากมักบูชาว่าชายเป็นมนุษย์ที่วิเศษกว่าตัวเทือกเทวดา ทั้งนี้ก็เพราะในบ้านโดยมากชายเป็นเจ้าบ้านมีอำนาจบังคับบัญชากดขี่หญิง การที่ชายได้อำนาจไปมากเช่นนั้น ตามความเข้าใจของข้าพเจ้า คิดว่าคงเป็นเพราะหญิงมิได้ถือหน้าที่ที่ตนควรประพฤติ..."

แม้ในเนื้อความจะเป็นความจริงก็ตาม แต่ในขณะนั้นก็ยังไม่มีสตรีคนใดที่สามารถตีแผ่ความจริงได้อย่างห้าวหาญแจ่มชัดอย่างที่พระองค์ได้พระนิพนธ์ไว้ในบทความตอนหนึ่ง ความว่า[6]

"...ความเข้าใจของข้าพเจ้าคิดว่ามนุษย์ทุกคนมีความบกพร่องอยู่ในตัวอย่างที่ไม่รู้จักกันพอ เช่นหญิงชายแรกคบกันคงจะต้องสรรท่าที่ตัวคิดว่าดีออกอวดกัน ต่างคนก็บูชากันว่าเป็นผู้วิเศษในขณะนั้น ความพอใจย่อมมีต่อกันมาก ก็อาจให้สัญญาต่อกันทุกอย่างในความต้องการของฝ่ายใด ครั้นเมื่อคุ้นกันเข้า ความบกพร่องซึ่งเป็นของธรรมดาตามมากน้อยก็ต้องเกิดความรู้กันขึ้นทั้งสองฝ่าย ความนับถือซึ่งกันก็ย่อมซาไป..."

นอกจากนี้ในบทความของพระองค์ที่ทรงนิพนธ์ขึ้น แสดงให้เห็นถึงความมั่นพระทัยในบทบาทและความสามารถของสตรีในการผลักดันบุรุษให้ทำกิจการต่าง ๆ ความว่า[6]

"...ข้าพเจ้าเห็นว่ามือเบา ๆ ของหญิงนี่แหละ อาจลูบหลังชายให้ออกไปต้านศึกได้ง่าย ๆ ยิ่งกว่าจะใช้ปืนจ้องให้ต้องกลับหลังหันไป"

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระองค์ที่กล่าวขานเชิงนินทาในเรื่องเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระวรกัญญาปทานอย่างหนึ่ง คือการปฏิบัติพระองค์ต่อข้าราชบริพารซึ่งเคยรับใช้สนองพระเดชพระคุณใกล้ชิดก่อนจะทรงหมั้น[15] เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระวรกัญญาปทานเสด็จมาถึงพระราชวังพญาไท มหาดเล็กเดิมคนหนึ่งได้เข้าไปเพื่อจะรับพระหัตถ์ตามธรรมเนียมตะวันตก แต่พระองค์ไม่ทรงยินยอม[15] ครั้นเมื่อเรื่องไปถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็กลายเป็นว่าทรงสะบัดมือ และแสดงพระกิริยาดูถูกมหาดเล็กเดิมคนนั้น ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้ว และอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการถอดถอนหมั้น[15] ซึ่งในเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระบายความทุกข์ในพระทัยด้วยรูปแบบพระราชหัตถเลขาถึงหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ วรวรรณ พระน้องนางเธอของพระวรกัญญาปทาน[16]

อนึ่งพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี เป็นเจ้านายที่ทรงริเริ่มการสวมเครื่องประดับคาดที่ศีรษะเป็นพระองค์แรก จนกลายเป็นที่นิยมของสุภาพสตรีช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[17][18]

ทรงถอดถอนหมั้น

[แก้]

อย่างไรก็ตาม บทความ ดำริหญิง ดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก กับทั้งยังมีพระวิสัยถือพระองค์จากเหตุการณ์สะบัดมือนั้น เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธ และประพันธ์กลอนเชิงบริภาษว่า[19]

อย่าทะนงอวดองค์ว่างามเลิศ สวยประเสริฐยากที่จะเปรียบได้
อย่าทะนงอวดองค์ว่าวิไล อันสุรางค์นางในยังมากมี
อย่าทะนงอวดองค์ว่าทรงศักดิ์ จะใฝ่รักแต่องค์พระทรงศรี
นั่งรถยนต์โอ่อ่าวางท่าที เป็นผู้ดีแต่ใจไพล่เป็นกา
อย่าดูถูกลูกผู้ชายที่เจียมตน อย่าดูถูกฝูงชนที่ต่ำกว่า
อย่าทะนงอวดองค์ว่าโสภา อันชายใดฤๅจะกล้ามาง้องอน

ครั้นแล้วจึงมีพระบรมราชโองการให้ถอนหมั้น เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2464 และโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี[2] ความตอนหนึ่งว่า

"...มีความเสียพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาทรงทราบตระหนักแน่ชัดขึ้นว่า การจะไม่เป็นไปโดยเรียบร้อย สมพระราชประสงค์อันดีที่กล่าวมาแล้ว เพราะเหตุที่พระราชอัธยาศัยของพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีมิได้ต้องกัน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพระองค์เจ้าวัลลภาเทวีมีพระโรคประจำพระองค์อันเป็นไปในทางพระเส้นประสาทไม่ปรกติ ทรงพระราชดำริว่า ถ้าแม้จะคงให้การดำเนินต่อไปจนถึงกระทำการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ก็อาจจะมีผลอันไม่พึงปรารถนา..."

และแล้วก็มีพระบรมราชโองการให้ท้าวนางจ่าโขลนนำโซ่ตรวนทองคำไปจับกุมพระองค์เจ้าวัลลภาเทวีมายังพระบรมมหาราชวัง แต่ด้วยทรงพระทิฐิมานะ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีจึงไม่ทรงทูลขอพระราชทานอภัย กับทั้งยังส่งหนังสือ "ศกุนตลา" ที่พระราชทานกลับพร้อมขีดเส้นใต้กลอนบทเหล่านี้[20]

ทรงภพผู้ปิ่นโปรดฦๅสาย
พระองค์เองสิไม่มียางอาย พูดง่ายย้อนยอกกรอกคำ
มาหลอกลวงชมเล่นเสียเปล่าเปล่า ทิ้งให้คอยสร้อยเศร้าทุกเช้าค่ำ
เด็ดดอกไม้มาดมชมจนช้ำ ไม่ต้องจดจำนำพา
เหมือนผู้ร้ายย่องเบาเข้าลักทรัพย์ กลัวเขาจับวิ่งปร๋อไม่รอหน้า
จงทรงพระเจริญเถิดราชา ข้าขอลาแต่บัดนี้

ด้วยเหตุนี้ จึงทรงถูกจำขังลงโซ่ตรวนทองคำอยู่ในพระบรมมหาราชวังนับแต่นั้นจนตลอดทั้งรัชกาล[20]

ปลายพระชนม์

[แก้]

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลต่อมา จึงมีพระบรมราชโองการให้ปลดปล่อยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีออกจากพระบรมมหาราชวัง และพระราชทานวังที่ประทับให้อยู่บริเวณสี่แยกพิชัย ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระบิดา ประทานชื่อว่า พระกรุณานิวาสน์ ขณะทรงได้รับการปล่อยออกมานั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี มีพระชันษา 33 ปี ทรงประทับอยู่ที่วังพระกรุณานิวาสน์ และสนพระทัยในพระพุทธศาสนาตลอดมา

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีเข้าประทับรักษาพระองค์ในโรงพยาบาลศิริราชด้วยโรคพระวักกะพิการเป็นเวลา 60 วัน โดยพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการสงบในเวลา 06.07 น. ของวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2494 สิริพระชันษา 58 ปี 5 เดือน[21] และทรงได้รับพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495[22][23][24]

หลังสิ้นพระชนม์พระกรุณานิวาสน์ได้ตกเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ครั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงรับสภาสตรีแห่งชาติไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์จึงถูกเช่าสำหรับเป็นสำนักงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ถึง พ.ศ. 2518 ปัจจุบันบ้านพระกรุณานิวาสน์หลังเดิมถูกรื้อเพื่อสร้างอาคารหลังใหม่สำหรับจัดกิจกรรมและกิจการอื่น ๆ ในการหารายได้เข้าสภาสตรีแห่งชาติ[25]

พระเกียรติยศ

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี
การทูลฝ่าพระบาท
การแทนตนเกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน
การขานรับเกล้ากระหม่อม/เพคะ
นายกองเอกพิเศษ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี
รับใช้กองเสือป่า
ประจำการพ.ศ. 2463–2468
ชั้นยศ นายกองเอกพิเศษ
หน่วย
  • กรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์
  • กรมเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • 28 ตุลาคม พ.ศ. 2435 – 21 ตุลาคม พ.ศ. 2463 : หม่อมเจ้าวรรณวิมล
  • 21 ตุลาคม พ.ศ. 2463 – 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463 : หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี
  • 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463 – 15 มีนาคม พ.ศ. 2464 : พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี
  • 15 มีนาคม พ.ศ. 2464 – 7 เมษายน พ.ศ. 2494 : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

พระยศทางเสือป่า

[แก้]
  • พ.ศ. 2463 - นายกองเอกพิเศษ สังกัดกองร้อยหลวง กรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์ และกองร้อยหลวง กรมเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์[29]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ครูตุ๊เจ้า. เสือป่าหญิงพระองค์แรก[ลิงก์เสีย]. เรียกดูเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2555
  2. 2.0 2.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เลิกการพระราชพิธีหมั้น, เล่ม ๓๗, ตอน ๐ ก, ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๓, หน้า ๔๓๕
  3. นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ, 2404-2474, ผู้รวบรวม. บาญชีมหามกุฏราชสันตติวงศ์ พุทธศก 2468 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงรวบรวม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2468. 167 หน้า.
  4. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. ฉัฬะทิศะธรรมะประฏิบัติ์ และนิทานคำกลอนสามเรื่อง. พระนคร : ประชาช่าง. 2495, ไม่มีเลขหน้า
  5. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 249
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 250
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 251
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 252
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี, เล่ม ๓๗, ตอน ๐ ก, ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๓, หน้า ๒๘๖
  10. ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" สมัยรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2556, หน้า 7-8
  11. 11.0 11.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 253
  12. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-26. สืบค้นเมื่อ 2007-02-01.
  13. Greene, Stephen Lyon Wakerman. Absolute Dreams : Thai Goverment under Rama VI, 1910-1925. Bangkok : White Lotus. 1999, p. 132 อ้างใน ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" สมัยรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2556, หน้า 7-8
  14. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 249
  15. 15.0 15.1 15.2 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 255
  16. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 254
  17. โครงการพัฒนาศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ (13 มีนาคม 2555). การแต่งกายของไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 (2453-2468) เป็นต้นมา[ลิงก์เสีย]. เรียกดูเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2555
  18. วัฒนธรรมไทยภาคกลาง. การแต่งกายภาคกลาง ยุครัตนโกสินทร์สมัยใหม่ (รัชกาลที่ ๕ - ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๐)[ลิงก์เสีย]. เรียกดูเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555
  19. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 256
  20. 20.0 20.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 257
  21. สิทธิพร ณ นครพนม. "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี พระวรกัญญาปทาน หนึ่งเดียวในสยาม". ใน ศิลปวัฒนธรรม. 16, 1 (พ.ย. 2537), หน้า 138-143
  22. "หมายกำหนดการ ที่ 2/2495 พระราชทานเพลิง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี และ พลเอก พระยาเทพหัสดิน 2495" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 69 (7): 306–309. 29 มกราคม พ.ศ. 2495. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  23. เกร็ดประวัติศาสตร์ตอนที่ ๑ ตอน พระองค์เจ้าวัลภาเทวี[ลิงก์เสีย] สุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของพระองค์เจ้าวัลลภาเทวี
  24. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี เก็บถาวร 2010-10-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน KingVajiravudh.org
  25. "ประวัติความเป็นมา". สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ฯ. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  26. 26.0 26.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตราวัลลภาภรณ์ฝ่ายใน, เล่ม ๓๗, ตอน ๐, ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๓, หน้า ๓๓๘๙
  27. พระบรมราชโองการ ประกาศ ถอนสิทธิที่พระราชทานไว้แก่พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ตามประกาศเพิ่มเติมข้อความในพระราชบัญญัติตราวัลลภาภรณ์ พุทธศักราช ๒๔๖๓ ลงวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๓
  28. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๗, ตอน ๐, ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๓, หน้า ๒๘๐๒
  29. "พระราชทานยศเสือป่า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 37: หน้า 3793. 13 กุมภาพันธ์ 2463.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]