พระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป

(เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป)
ส่วนบุคคล
เกิด16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 (84 ปี 2 เดือน 30 วัน ปี)
มรณภาพ15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
นิกายธรรมยุติกนิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดอรัญญวิเวก เชียงใหม่
อุปสมบท31 มีนาคม พ.ศ. 2502
พรรษา59

พระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป เป็นพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสี วัดอรัญญวิเวก สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย

ประวัติ[แก้]

กำเนิด[แก้]

พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป นามสกุลเดิม วงษาจันทร์ เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ตรงกับวันพฤหัสบดี ปีระกา ณ บ้านโคกคอน ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร บิดาชื่อ กิ่ง มารดาชื่อ อรดี สกุลเดิม จุนราชภักดี บิดามารดาทำการค้าขาย มีฐานะดี คุณตาเป็นกำนันอยู่ที่ตำบลโคกสี ชื่อ ขุนจุนราชภักดี และคุณยายรักท่านมากจึงรับท่านมาเลี้ยงดูตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 6 คน เป็นผู้ชาย 5 คน ผู้หญิง 1 คน มีชื่อตามลำดับ ดังนี้[1]

  1. นายสมบิน วงษาจันทร์ (ถึงแก่กรรม)
  2. นายคำปิ่น วงษาจันทร์ (ถึงแก่กรรม)
  3. พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
  4. นายเหรียญ (วงษาจันทร์) นันตสูตร (ถึงแก่กรรม)
  5. นางหนูจีน (วงษาจันทร์) ธรรมจิตร (ถึงแก่กรรม)
  6. นายถวิล วงษาจันทร์ (ถึงแก่กรรม)

การศึกษา[แก้]

การศึกษาในระยะแรก ได้เรียนกับคุณตาคุณยายที่บ้าน เพราะระหว่างนั้น เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านโคกคอน เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่ออายุ 11 ปี สอบได้ที่หนึ่งในชั้น ท่านมีความประสงค์จะเรียนต่อ แต่มารดาต้องการให้ท่านมาช่วยงานค้าขายของบิดา ท่านจึงต้องปฏิบัติตามความประสงค์ของมารดา

การประกอบอาชีพและชีวิตก่อนบวช[แก้]

ในการประกอบอาชีพค้าขายของท่านนั้น ท่านต้องออกเดินทางไปซื้อของถึงจังหวัดอุดรธานี โดยนั่งรถโดยสารบ้าง รถบรรทุกหรือรถขายถ่านบ้าง สินค้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ทั่วไป เมื่อถึงฤดูทำนาก็จ้างคนมาทำนา แต่ละปีสามารถเก็บเกี่ยวข้าวจากนาได้มาก จึงขยายกิจการไปค้าขายข้าวเปลือกกับโรงสีใหญ่ ๆ ด้วย

หลังจากผ่านการคัดเลือกทหารแล้ว ท่านหันไปสนใจการรักษาคนเจ็บป่วย ได้รับถ่ายทอดวิชาความรู้เรื่องยา การรักษาคนไข้จากหมอประจำอำเภอซึ่งเป็นญาติกัน คุณหมอจึงคิดจะส่งท่านไปเรียนต่อที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งคุณตาก็สนับสนุน แต่มารดาไม่อนุญาต ต้องการให้ท่านดูแลการค้าต่อไป

ในการทำการค้านั้น กิจการต่าง ๆ ดำเนินไปด้วยดี ฐานะการเงินของครอบครัวดี พระอาจารย์เปลี่ยนเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบในการงานสูง ญาติพี่น้องและผู้ใกล้ชิดจึงไว้ใจ ได้พากันนำเงินมาฝากท่านเหมือนหนึ่งเป็นธนาคาร ท่านก็เก็บรักษาให้เขาโดยไม่ได้อะไรตอบแทน ท่านทำให้กับทุกคนด้วยความรักและนับถือเหมือนกับที่เขาวางใจท่าน ส่วนในเรื่องการครองเรือนนั้น ท่านไม่คิดที่จะแต่งงานหรือตกลงใจกับใคร แม้ว่าจะมีเพศตรงข้ามพยายามเข้ามาสนิทสนมด้วยหลายคน

พระอาจารย์เปลี่ยนมีโอกาสดีได้คุ้นเคยกับพระสงฆ์มาตั้งแต่อายุ 11-12 ปี เมื่อทางบ้านมีงานบุญ ท่านจะทำหน้าที่ไปรับพระที่วัด จึงได้เห็นวิธีเดินจงกรมของพระอาจารย์ลี วัดป่าบ้านตาล และเป็นผู้ที่ได้แนะนำให้ไปหาหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ (ซึ่งบวชเมื่ออายุมากแล้วและติดตามหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการยกย่องด้านการบำเพ็ญเพียรไม่ท้อถอย) หลวงปู่พรหมได้เดินจงกรมให้ดู และสอนให้เดินด้วย จึงถือได้ว่าหลวงปู่พรหมเป็นพระอาจารย์องค์แรกของพระอาจารย์เปลี่ยน

พระอาจารย์เปลี่ยนได้ศึกษากับพระที่บวชกับหลวงปู่พรหมหลายองค์ ซึ่งสรรเสริญการบวชมาก ทำให้พระอาจารย์เปลี่ยนคิดบวชอยู่ตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่อายุ 12 ปี 14 ปี 16 ปี จนถึง 20 ปี แต่มารดาก็ไม่อนุญาตทั้ง ๆ ที่พี่ชาย 2 คนก็บวช แล้วตัวมารดาเองก็ไปวัดถือศีลทุกวันพระ และบางครั้งเดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตก็ตาม จนกระทั่งบิดาของท่านซึ่งป่วยด้วยวัณโรคถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2497 และอีก 5 ปีต่อมาคุณลุงก็ถึงแก่กรรมอีกคนหนึ่ง พระอาจารย์เปลี่ยนจึงใช้ความพยายามขอบวชอีกครั้งหนึ่งเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่เหมือนกับพี่ชายทั้ง 2 คน เพราะยังไม่เคยบวชเลย ขณะนั้นพี่ชายได้สึกออกมาประกอบอาชีพแล้ว มารดาและคุณตาทนการรบเร้าของพระอาจารย์ไม่ไหว จึงอนุญาตให้บวชแค่เพียง 7 วัน

ครั้นทำการฌาปนกิจศพคุณลุงแล้ว วันรุ่งขึ้นท่านก็ถือโอกาสเข้าวัดเพื่อเตรียมตัวบวช หัดขานนาคพร้อมกับคนอื่นซึ่งมาอยู่วัดถือศีลอีก 2 คน ฝึกสวดมนต์เจ็ดตำนานได้เกือบหมดเล่ม ใช้เวลา 40 วัน มีพระอาจารย์สุภาพ ธัมมปัญโญ เป็นครูผู้ฝึกสอน

การบวช[แก้]

พระอาจารย์เปลี่ยนเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดธาตุมีชัย บ้านโคกคอน ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2502 พระอุปัชฌาย์ชื่อ พระครูอดุลย์สังฆกิจ พระกรรมวาจาจารย์ชื่อ พระครูพิพิธธรรมสุนทร ได้ฉายาว่า ปัญญาปทีโป

เนื่องจากวัดธาตุมีชัยเป็นวัดฝ่ายมหานิกาย ดังนั้น เมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนบวชแล้วจึงย้ายไปอยู่วัดทุ่งสว่าง บ้านโคกคอน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ท่านมีความสบายกายสบายใจมากเพราะได้ปล่อยวางภาระต่าง ๆ ตั้งแต่การรับผิดชอบเงินทองจำนวนมาก ทั้งของท่านเองและเงินฝากของผู้อื่น ความกังวลในการค้าขายให้กับครอบครัวและญาติพี่น้อง รวมทั้งการดูแลรักษาไร่นา วัวควาย และทรัพย์สมบัติอื่น ๆ ที่ท่านแบกอยู่ผู้เดียวมาตั้งแต่อายุ 12 ปี ครั้นบวชได้ 18 วัน โยมมารดาก็ขอให้ท่านสึก เพราะเลยกำหนดเวลาที่อนุญาตแล้ว แต่ด้วยความฝักใฝ่ในการศึกษาธรรมะของท่าน จึงได้ขอโยมมารดาบวชต่อให้ครบ 1 พรรษา

แสวงโมกขธรรม[แก้]

ด้วยความมุ่งมั่นของพระอาจารย์เปลี่ยนที่จะศึกษาธรรมะให้ถึงจุดหมายปลายทางของศาสนา ท่านจึงพยายามบ่ายเบี่ยงโยมมารดาในการสึกและหนีออกไปธุดงค์ตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อแสวงหาโมกขธรรม และได้พบกับพระอาจารย์ที่ได้ยินกิตติศัพท์ ทั้งภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคเหนือ แต่ที่พระอาจารย์เปลี่ยนอยู่ฝึกปฏิบัติธรรมด้วยนาน ๆ และรับใช้ใกล้ชิดอย่างสนิทสนมคือ หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม และ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ส่วนองค์อื่น ๆ เช่น อาจารย์จวน กุลเชฏโฐ หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่คำดี ปภาโส หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระสุธรรมยานเถร (อินถา อินฺทจกฺโก) หลวงปู่สาม อกิญฺจโน พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (วัน อุตฺตโม) หลวงปู่แว่น ธนปาโล หลวงพ่อผาง จิตฺตคุตฺโต พระอาจารย์ที่ท่านได้พบนั้นต่างมีเมตตาเทศน์อบรม ทำให้ท่านมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมยิ่งขึ้นไปเป็นลำดับ [2]

พระอาจารย์เปลี่ยนเป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญญวิเวก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน ท่านมีลูกศิษย์มากมายที่ติดตามและฝึกปฏิบัติตามแนวทางของท่าน พระอาจารย์เปลี่ยนได้รับการยอมรับในหมู่นักปฏิบัติว่าเป็นพระป่ากรรมฐานผู้เคร่งครัดในธรรมวินัย มีความเพียรอันยิ่งในการปฏิบัติ เป็นพระสุปฏิปันโนและเป็นพระแท้ที่เปี่ยมด้วยความเมตตา ท่านเขียนหนังสือหลายเล่มเพื่อถ่ายทอดธรรมะต่อสาธุชนแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ธรรมบรรยายของท่านนั้นล้วนเป็นสิ่งที่ถูกต้องตรงจริตของผู้ฟังและสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาการปฏิบัติของตนเองได้เป็นอย่างดี การสอนของพระอาจารย์เปลี่ยนที่สำคัญนั้นมุ่งเน้นการปฏิบัติที่นำไปสู่นิพพานซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

มรณภาพ[แก้]

พระวิหาร วัดอรัญญวิเวก (บ้านปง) ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป ได้ละสังขารอย่างสงบ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เวลา 15.03 น. อายุ 84 ปี 59 พรรษา มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ วัดอรัญญวิเวก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

หนังสือของพระอาจารย์เปลี่ยน[แก้]

หนังสือของพระอาจารย์เปลี่ยน มีดังนี้ [3]

  • อริยทรัพย์ ๗ อย่าง
  • สัปปุริสธรรม ๗ อย่าง
  • พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป ประวัติส่วนตัว การจำพรรษา และการออกธุดงค์
  • ประวัติโดยย่อ วัดอรัญญวิเวก บ้านปง
  • การถวายสิ่งของแด่พระภิกษุสงฆ์ที่ญาติโยมควรปฏิบัติ
  • ตายแล้วไปไหน
  • มรณานุสติ
  • เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
  • ขันติ - ความอดทน
  • จิตตภาวนา
  • ทางปฏิบัติไปสู่ความสงบ
  • ทางปฏิบัติไปสู่ความสว่าง
  • กิเลส
  • ความโกรธ
  • มรรค ๘ ขันธ์ ๕ และไตรลักษณ์
  • มองดูตนเอง
  • สติ-สัมปชัญญะ
  • สติปัฏฐานสี่
  • ไม่รู้จักความพอดี มีความทุกข์ รู้จักความพอดี มีความสุข
  • ทำบุญอย่างไรจึงได้บุญมาก
  • กรรมสนองกรรม
  • อภัยทาน
  • ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป ประวัติส่วนตัว การจำพรรษา และการออกธุดงค์" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-08-06. สืบค้นเมื่อ 2016-01-09.
  2. "ประวัติย่อพระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-30. สืบค้นเมื่อ 2016-01-09.
  3. "หนังสือของพระอาจารย์เปลี่ยน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-25. สืบค้นเมื่อ 2016-01-09.